The Social Construction of Reality
A Treatise in the Sociology of Knowledge
Peter Berger & Thomas Luckmann
การสร้างความจริงทางสังคม
โดย ดร. อนุรักษ์ วัฒนะถาวรวงศ์
บทนำ (Introduction)
จากบทนำ Berger และ Luckmann ได้กล่าวถึงสังคมวิทยาของความรู้ (sociology of knowledge) เป็นเรื่องเกี่ยวกับการวิเคราะห์การสร้างความจริงทางสังคม (social construction of reality) ซึ่ง Marx ได้เสนอว่าสังคมวิทยาของความรู้มาจากจิตสำนึก (consciousness) ของมนุษย์ที่กำหนดโดยการดำรงอยู่จริงทางสังคม (social being) ของมนุษย์ Scheler จะมองสังคมวิทยาของความรู้เป็นความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยในอุดมคติ (ideal factor) และปัจจัยที่เป็นจริง (real factor) โดยปัจจัยที่เป็นจริงจะเป็นตัวควบคุมเงื่อนไขของปัจจัยในอุดมคติที่จะเกิดขึ้น กล่าวคือ สังคมจะเป็นตัวกำหนดความเป็นตัวตนที่มีอยู่ นอกจากนั้นความรู้ของมนุษย์ก็ถูกกำหนดโดยสังคม ซึ่งเป็นความรู้ที่มีมาก่อน (priori) ประสบการณ์ของบุคคล ขณะที่ Manheim มองว่าสังคมวิทยาของความรู้เป็นการศึกษามุมมองความคิดของมนุษย์ ซึ่งจะมองเป็นความสัมพันธ์นิยม (realtionism) มากกว่า และตรงข้ามกับความสัมพัทธ์นิยม (relativism) ในการแสวงหาความรู้ กล่าวคือ สิ่งที่เป็นความคิดจะค่อยพัฒนาจนมีความชัดเจนขึ้นเมื่อมีการสั่งสมมุมมองที่มีความแตกต่างกันเกิดขึ้น ซึ่งเป็นหน้าที่สังคมวิทยาของความรู้ Robert Merton ได้ผนวกแนวทางสังคมวิทยาของความรู้กับทฤษฏีโครงสร้างหน้าที่ (structural-functional theory) โดยแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างความคิดที่ตั้งใจและอยู่ในจิตสำนึก กับความคิดที่ไม่ได้ตั้งใจและไม่ได้อยู่ในจิตสำนึก จากทั้งหมดนี้ สังคมวิทยาของความรู้ก็เป็นส่วนหนึ่งของหลักการเชิงประจักษ์ของสังคมวิทยา ซึ่งจะถูกมองว่าเป็นทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาเป็นความรู้ที่อยู่ในสังคม ดังนั้นการสร้างทฤษฎีของความจริง ไม่ว่าจะเป็นความจริงทางวิทยาศาสตร์ (scientific) ความจริงทางปรัชญา (philosophical) หรือความจริงทางตำนาน (mythological) หรือไม่ ก็จะถึอว่าเป็นความจริงสำหรับผู้คนในสังคมทั้งสิ้น ดังนั้น จะกล่าวได้ว่าสังคมวิทยาของความรู้เป็นอย่างแรกที่เกี่ยวกับสิ่งที่ผู้คนรับรู้เป็นความจริงที่เกิดขึ้นในชีวิตของทุก ๆ วัน (reality of everyday life)
สังคมวิทยาของความรู้เป็นสิ่งที่เกี่ยวกับการสร้างความจริงทางสังคม Alfred Shutz ได้ให้ความหมายใหม่ในฐานะที่เป็นทั้งนักปราชญ์และนักสังคมวิทยา โดยให้ความสำคัญกับโครงสร้างของโลกที่เป็นสามัญสำนึกของชีวิตในทุก ๆ วัน (commonsense world of everyday life) ซึ่งการับรู้ร่วมกันของสังคม (typification) จากความ คิดที่เป็นสามัญสำนึกทั้งหมดจะเป็นองค์ประกอบหลักของแนวคิดโลกของชีวิต (Lebenswelt) ที่เป็นรูปธรรมทั้งทางสังคมและทางวัฒนธรรม โครงสร้างนี้จะเป็นตัวกำหนดการกระจายความรู้ของสังคม (social distribution of knowledge) และความสัมพันธ์ (relativity) รวมถึงความสอดคล้อง (relevance) ต่อสภาพแวดล้อมทางสังคมที่เป็นรูปธรรม ดังนั้นความรู้จึงถึงกระจายหรือแพร่หลายต่อไปในสังคมได้ และกลไกที่จะใช้ในการกระจายก็คือสังคมวิทยาของความรู้นั่นเอง
ทฤษฎีทางสังคมของ Durkheim ได้เสนอมุมมองแบบวิภาษวิธี (dialectical perspective) ซึ่งมาจาก Marx และให้ความสำคัญกับการสร้างความจริงทางสังคมผ่านความหมายเชิงอัตวิสัย (subjective meaning) ที่มาจาก Weber ขณะที่ความรู้ที่มีอยู่ก่อน (presupposition) ทางด้านสังคมจิตวิทยามีความสำคัญในการวิเคราะห์การรับรู้ความจริงทางสังคม (internalization of social reality) ที่ได้พัฒนาโดย George Herbert Mead ซึ่งเป็นแนวคิดของการปฏิสัมพันธ์เชิงสัญลักษณ์ (symbolic-interaction)
สิ่งที่ได้กล่าวมาที่เป็นความหมายต่าง ๆ ของลักษณะและขอบเขตสังคมวิทยาของความรู้ข้างต้นนี้ ทำให้สัง คมวิทยาของความรู้ที่เคยอยู่ชายขอบ ก็สามารถจะเข้ามาสู่ศูนย์กลางของทฤษฎีทางสังคมวิทยาได้ Durkheim ได้เขียน The Rule of Sociological Method โดยเสนอกฎพื้นฐานของสังคมวิทยาว่า จะต้องพิจารณาข้อเท็จจริงทางสังคมเป็นเหมือนสิ่งต่าง ๆ (consider social facts as things) ขณะที่ Weber สังเกตว่าการรับรู้ของวัตถุต่าง ๆ เป็นการกระทำที่มีความหมายอัตวิสัยที่ซับซ้อน (subjective meaning-complex) สังคมมีเงื่อนไขความจริงที่เป็นวัตถุวิสัย (objective facticity) และตัวสังคมก็ถูกสร้างขึ้นมาจากกิจกรรมที่แสดงออกถึงความหมายที่เป็นอัตวิสัย (subjective meaning) ดังนั้นลักษณะทางสังคมสองแบบนี้ ทั้งเงื่อนไขความจริงที่เป็นวัตถุวิสัยและความหมายที่เป็น อัตวิสัยจะทำให้เกิดความจริงที่เป็นลักษณะเฉพาะขึ้น (reality sui generis) ขึ้น จึงเกิดคำถามว่า จะทำอย่างไรให้ความหมายที่เป็นอัตวิสัยไปสู่เงื่อนไขความจริงที่เป็นวัตถุวิสัย กล่าวคือ เพื่อที่จะเข้าใจความจริงที่เป็นลักษณะ เฉพาะของสังคมจะต้องมีการสืบค้นวิธีในการสร้างความจริงขึ้นมา ซึ่งการสืบค้นนี้ก็คืองานของสังคมวิทยาแห่งความรู้
ความจริงของชีวิตในทุกๆ วัน (The Reality of Everyday Life)
งานเขียนของ Berger และ Luckmann มีวัตถุประสงค์เพื่อการวิเคราะห์ทางสังคมวิทยาของความจริงของชีวิตในทุกๆวัน (reality of everyday life) ซึ่งหมายถึง ความรู้ที่ชี้นำความประพฤติที่เกิดขึ้นในทุก ๆ วัน การทำความเข้าใจความจริงเป็นการสร้างโลกของชีวิตที่เกิดขึ้นในทุก ๆ วัน ชีวิตในทุก ๆ วันจะแสดงถึงความจริงที่ถูกตีความโดยมนุษย์และมีความหมายที่เป็นอัตวิสัยซึ่งสอดคล้องกับโลกที่อยู่ ในกรอบอ้างอิงของสังคมวิทยาที่เป็นวิทยาศาสตร์เชิงประจักษ์ (empirical science) ถือว่าความจริงที่เกิดขึ้นเป็นปรากฎการณ์เฉพาะ ไม่จำเป็นต้องไปสืบค้นหาพื้นฐานของความจริงซึ่งเป็นงานทางปรัชญา ดังนั้น โลกของชีวิตในทุก ๆ วันไม่เพียงแต่เป็นการทึกทักเอา (taken for granted) ว่าเป็นความจริงของผู้คนในสังคมในการแสดงออกอย่างมีความหมายที่เป็นอัตวิสัย นั่นก็คือ เป็นโลกที่มาจากความคิดและการกระทำ ซึ่ง Berger และ Luckmann พยายามที่จะอธิบายพื้นฐานของความรู้ในชีวิตทุก ๆ วัน ว่าเป็นกระบวนการที่ทำให้เป็นวัตถุวิสัย (objectivation) จากความหมายที่เป็นอัตวิสัย เพื่อสร้างโลกที่เป็นสามัญสำนึกร่วมกัน (intersubjective common-sense world) วิธีที่ใช้อธิบายพื้นฐานของความรู้ในชีวิตทุก ๆ วัน คือ การวิเคราะห์เชิงปรากฎการณ์ (phenomenological analysis) ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้อธิบายสิ่งที่เป็นเชิงประจักษ์ไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ (empirical but not scientific)
การวิเคราะห์เชิงปรากฎการณ์ของชีวิตทุก ๆ วัน เป็นประสบการณ์ที่เป็นอัตวิสัยของชีวิตทุก ๆ วัน ซึ่งจะต้องใช้การตีความ (interpretation) ในการอธิบายความจริงที่เป็นสามัญสำนึก (reality of common sense) และสิ่งที่เราทึกทักเอาหรือคิดเอาเอง ในทางปรากฏการณ์วิทยาจะให้ผู้ศึกษาใส่วงเล็บไว้ (bracketing) ก่อนเข้าไปทำการศึกษา ในการวิเคราะห์เชิงปรากฎการณ์วิทยาเป็นการเปิดเผยชั้นที่มีความแตกต่างกันของประสบการณ์ และโครง สร้างที่แตกต่างของความหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น การถูกสุนัขกัด ทำให้จำได้ว่าเคยถูกกัดโดยสุนัข หรือเป็นโรคที่กลัวสุนัขไปเลย เป็นต้น สิ่งที่ทำให้เกิดขึ้นก็คือ จิตสำนึก (consciousness) ที่เกิดขึ้นจากความตั้งใจ วัตถุที่แตกต่างกันที่แสดงต่อจิตสำนึก ทำให้เกิดความจริงที่มีความแตกต่างกัน
โลกประกอบด้วยความจริงหลายอย่าง (multiple realities) ซึ่งหนึ่งในนั้นก็เป็นความจริงในปัจจุบันที่ต้องทำในขณะนี้ (reality par excellence) ซึ่งเป็นความจริงของชีวิตทุก ๆ วัน ประสบการณ์ของชีวิตทุก ๆ วันทำให้เรามีตื่นตัว รู้ตัวดี (wide-awake) ทำให้เข้าใจความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในชีวิตทุก ๆ วัน จนเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นปกติและมีความชัดแจ้งในตัวเอง (self-evident) ซึ่งนำไปสู่ทัศนคติ (attitude) เมื่อความจริงของชีวิตในทุก ๆ วันได้ถูกทำให้เป็นรูปธรรม (objectified) ผ่านการใช้ภาษา (language) เพื่อให้ความหมายชีวิตทุก ๆ วัน
ความจริงของชีวิตทุก ๆ วันขึ้นอยู่กับกาลเทศะ (here and now) ซึ่งทำให้เราให้ความสนใจกับความจริงของชีวิตทุกๆวัน กาลเทศะของความจริงของชีวิตทุกวันเป็นจิตสำนึก หมายความว่า เรามีประสบการณ์ของชีวติทุก ๆ วันที่มีความแตกต่างทางสถานที่และเวลา ความเป็นชีวิตทุก ๆ วันเป็นโลกที่รับรู้ร่วมกัน (intersubjective world) ซึ่งเราจะมีส่วนร่วมกับผู้อื่น เราจะไม่สามารถอยู่ได้ในชีวิตทุก ๆ วันถ้าไม่มีการปฏิสัมพันธ์และสื่อสารกับคนอื่น ซึ่งคนอื่นก็จะมีมุมมองโลกเดียวกันที่ไม่เหมือนกับของเรา เพราะสิ่งที่อยู่ตรงนี้ (here) อาจจะเป็นสิ่งที่อยู่ตรงนั้น (there) ของเขา หรือสิ่งที่เป็นปัจจุบัน (now) ของเราไม่ได้เกี่ยวกับเขาเลย หรืออาจเรียกได้ว่ากาลเทศะของเรากับเขาไม่เหมือนกัน
ความจริงของชีวิตทุก ๆ วันก็ถูกทึกทักเอาว่าเป็นความจริง ซึ่งไม่จำเป็นต้องทำการพิสูจน์ เพราะมีความชัดแจ้งในตัวเอง (self-evident) และเป็นเงื่อนไขความจริง (facticity) เรารู้อยู่แล้วว่าเป็นความจริง แต่ไม่ใช่ความจริงทุกอย่างที่เกิดขึ้นจะไม่มีปัญหา เพราะชีวิตทุก ๆ วันที่ทำเป็นประจำพบกับปัญหาที่ไม่เคยเจอ เช่น เมื่อเรามีความรู้ในการรถอเมริกันและซ่อมเป็นประจำ พอวันหนึ่งมีคนมาให้ซ่อมรถ Volkswagen ก็จะเจอปัญหา เพราะไม่เคยซ่อมเลย ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำในชีวิตทุก ๆ วันถ้าไม่ถูกรบกวนก็จะไม่มีปัญหาเกิดขึ้น แต่ถ้าถูกรบกวนก็จะมีปัญหาทันที เช่น เมื่อได้ยินซุบซิบนินทาเสียงเบา เราจะรู้สึกถึงสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้น
นอกจากความจริงของชีวิตทุกๆวัน ก็ยังมีความจริงอื่นๆที่เกิดขึ้น เช่น ในโรงละครเมื่อม่านเปิดการแสดงขึ้น เราก็จะอยู่ในอีกโลกหนึ่งของการแสดงละคร และเมื่อม่านปิดฉากลง เราก็จะกลับเข้าสู่โลกแห่งความเป็นจริงเหมือนเดิม
ความจริงของชีวิตทุก ๆ วันจะต้องมีส่วนร่วมกับผู้อื่น ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่จะต้องเจอกันตัวต่อตัว (face-to-face) เรียกว่าการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม (social interaction) เป็นการแลกเปลี่ยนความเป็นกาลเทศะ (here and now) ซึ่งกันและกัน เช่น เรารู้ว่าผู้อื่นเป็นใคร เป็นผู้ชาย เป็นอเมริกัน เป็นเซลล์แมน เป็นเพื่อน ซึ่งเป็นการกำหนดรับรู้ร่วมกันของสังคม (typification) ซึ่งโครงสร้างทางสังคม (social structure) จะเป็นการรวบรวมการรับรู้ร่วมกันของสังคมและลักษณะการปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นบ่อย และโครงสร้างทางสังคมนี้เป็นปัจจัยที่สำคัญต่อความจริงของชีวิตทุก ๆ วัน
บทบาทภาษาและความรู้ของชีวิตทุกๆ วัน (Language and Knowledge in Everyday Life)
การแสดงออกของมนุษย์เป็นความสามารถในการสร้างความจริงเชิงวัตถุวิสัย (objectivation) ให้แสดงออกมาเป็นกิจกรรมของมนุษย์ เช่น เมื่อเราโกรธ อาการท่าทางจะแสดงออกมาทางหน้าและร่างกาย หรือถ้าเราพกมีด ก็จะแสดงออกถึงความรุนแรงหรือก้าวร้าวของเรา ดังนั้นอาวุธจึงเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น ไม่ว่าจะมีจุดประสงค์ในการล่าสัตว์หรือเป็นลักษณะของความก้าวร้าวและความรุนแรง ทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการในการสร้างความจริงเชิงวัตถุวิสัยของความเป็นอัตวิสัยของมนุษย์ (human subjectivity)
สัญลักษณ์ (sign) ระบบของสัญลักษณ์ (sign system) เป็นกระบวนการสร้างความจริงเชิงวัตถุวิสัย เพื่อที่ จะแสดงออกถึงความตั้งใจที่เป็นอัตวิสัยของกาลเทศะ (here and now) ซึ่งตัวภาษา (language) ก็เป็นสัญลักษณ์ที่ใช้เสียงพูดออกมาและเป็นระบบของสัญลักษณ์ที่มีความสำคัญในสังคมของมนุษย์ นอกจากนั้นภาษายังเป็นพื้นฐานของความสามารถที่อยู่ภายในระบบของร่างกายในการแสดงออกคำพูด แต่เราจะพูดให้เป็นภาษาที่เข้าใจกันได้เมื่อมีการส่งผ่านความเป็นอัตวิสัยของกาลเทศะที่อยู่ในตัวเองในขณะนั้น ดังนั้น กระบวนการที่ทำให้เป็นวัตถุวิสัย (objectivation) ที่เกิดขึ้นเป็นปกติของชีวิตทุก ๆ วันจะทำได้โดยการให้ความสำคัญกับการใช้ภาษา จึงทำให้ภาษาเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นในการทำความเข้าใจกับความจริงของชีวิตทุก ๆ วัน
ภาษาเป็นจุดเริ่มต้นของการพบกันตัวต่อตัวซึ่งไม่สามารถที่จะแยกจากกันได้ เพราะถ้าแยกจากกันแล้วก็ไม่สามารถที่จะสื่อสารความหมายที่เป็นอัตวิสัยของกาลเทศะ (here and now) ได้ ภาษาจึงทำหน้าที่ในการให้ความหมายและประสบการณ์ที่สั่งสมกันมา ซึ่งสามารถที่จะจัดเก็บไว้และสามารถที่จะส่งผ่านต่อในรุ่นต่อรุ่นได้ เราสามารถสร้างความเป็นตัวตนของตัวเราเองให้เป็นจริงได้โดยใช้ภาษาเป็นเครื่องมือผ่านการสนทนา ในฐานะที่ภาษาเป็นระบบของสัญลักษณ์ (sign system) ที่มีคุณสมบัติของการทำให้เป็นรูปธรรม (objectivity) ภาษาทำให้มีสิ่งที่พร้อมสำหรับการทำให้ประสบการณ์ของเรามีความเป็นจริงและเป็นรูปธรรมได้ ภาษาจึงเป็นแบบอย่างของการสร้างประสบการณ์ในการรับรู้ร่วมกัน
ภาษามีความสามารถที่จะส่งผ่าน (transcend) สิ่งที่เป็นความจริงของกาลเทศะ (here and now) และทำหน้าที่เป็นสะพานที่จะเชื่อมความแตกต่างที่เกิดขึ้นภายในความจริงของชีวิตทุก ๆ วัน และยังทำหน้าที่รวบรวมสิ่งต่าง ๆ ให้มีความหมายเกิดขึ้น การส่งผ่าน (transcendence) จะมีมิติของสถานที่ (spatial) เวลา (temporal) และสังคม (social) อยู่ เราสามารถใช้ภาษาในการส่งผ่านความแตกต่างที่เกิดขึ้นจากมิติที่แตกต่างกันเหล่านี้ได้กับคนอื่น การสั่งสมประสบการณ์และความหมายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากกาละเทศะ (here and now) ที่ผ่านการใช้ภาษาทำให้โลกที่อยู่ในอัตวิสัยกลายเป็นความจริงขึ้นมาได้
ภาษาเป็นทำให้เราแสดงออกถึงความจริงของชีวิตทุก ๆ วันได้อย่างเต็มที่ ภาษาไม่เพียงสร้างสัญลักษณ์ที่เป็นนามธรรมจากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นทุก ๆ วัน แต่ก็ยังสามารถนำสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์กลับมาใช้เพื่อสร้างความ หมายในชีวิตทุกๆวันได้ ภาษาเป็นการสร้างความหมายที่ใช้ในการสื่อสาร โดยประกอบด้วยคำศัพท์ (vocabulary) ไวยากรณ์ (grammar) และความสัมพันธ์ระหว่างถ้อยคำในประโยค (syntax) ซึ่งใช้จัดรูปแบบในการสร้างความหมายและการจัดแบ่งประเภทของวัตถุที่มีความแตกต่างกันตามเพศหรือตามจำนวน รูปแบบของข้อความของการกระทำที่เกิดขึ้น หรือระดับความสัมพันธ์กันทางสังคม (social intimacy)
การสั่งสมความรู้ทางสังคม (social stock of knowledge) ไว้ใช้ในชีวิตประจำวันจะรวมถึงความรู้ที่มีอยู่ตามสถานการณ์และข้อจำกัดต่าง ๆ เช่น ถ้าเรารู้ว่าจน เราก็จะไม่สามารถที่จะอยู่ในตัวเมืองที่มีความทันสมัยได้ เพราะความรู้จะจำกัดให้อยู่แค่การแสดงออกที่เกิดขึ้นเป็นประจำ ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของความรู้ที่สั่งสมมาทางสังคม ซึ่งก็คือการแยกความแตกต่างระหว่างความจริงโดยใช้ความคุ้นเคยนั่นเอง เรารู้ว่าเราต้องทำอะไร ขึ้นอยู่กับเหตุ การณ์ในชีวิตประจำวัน เป็นสิ่งที่ทุกคนรู้กันดีตามหลักตรรกะ (logic) ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้ได้สิ่งต่าง ๆ ที่เรารู้
ความรู้ในชีวิตประจำวันก็มีโครงสร้างมาจากความสอดคล้อง (relevance) ซึ่งหมายถึง ชีวิตประจำวันที่เกิดขึ้นถูกกำหนดไว้แล้วโดยการสั่งสมความรู้ของสังคม เช่น การศึกษาความเคลื่อนไหวของดวงดาวจะไม่สอดคล้องกับการพยากรณ์หุ้นในตลาดหลักทรัพย์ นอกจากนั้น ความรู้ก็ยังสามารถที่จะเผยแพร่ได้ในสังคม (social distribution of knowledge) เราสามารถแบ่งปันความรู้ได้โดยให้ความรู้เรื่องที่เรามีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านให้กับคนอื่น ๆ ได้
กระบวนการสร้างความจริงเชิงวัตถุวิสัย (Objectivation of Reality)
กระบวนการสร้างความจริงเชิงวัตถุวิสัย (objectivation reality) เป็นการเปลี่ยนความจริงที่เชื่อว่ามีอยู่จริงหรือรับรู้ได้ว่ามีอยู่จริง (subjective reality) ให้เป็นความจริงที่เป็นรูปธรรมของโลกที่มีสามัญที่มีการรับรู้ร่วมกัน (intersubjective common-sense world) การแสดงออกของมนุษย์ (human expressitivity) ก็เป็นความสามารถในการสร้างความจริงเชิงวัตถุวิสัย ซึ่งเปลี่ยนความจริงให้ผลผลิตที่เป็นกิจกรรมของมนุษย์ในโลกที่มีการรับรู้ร่วมกัน การสร้างความจริงเชิงวัตถุวิสัยเป็นกระบวนการที่แสดงออกถึงผลผลิตที่เป็นกิจกรรมของมนุษย์ จึงเป็นการสร้างความจริงให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม เช่นเดียวกับการสร้างความจริงผ่านสถาบันซึ่งทำให้กิจกรรมของมนุษย์เป็นรูปธรรม
รูปแบบของการสร้างความจริงเชิงวัตถุวิสัยมีสองรูปแบบ คือ การสร้างความจริงเชิงวัตถุวิสัยในลำดับแรก (first-order objectivation) เป็นการสร้างความจริงผ่านสถาบัน ซึ่งจะเป็นพื้นฐานของการสร้างความจริงในลำดับที่สอง (second-order objectivation) โดยเป็นกระบวนการในการสร้างความจริงของความหมายให้เป็นความชอบธรรม (legitimation) ซึ่งใช้ในการสร้างความหมายใหม่โดยการรวบรวมความหมายต่าง ๆ เข้าด้วยกันกับกระบวน การสร้างความจริงผ่านสถาบัน ดังนั้น หน้าที่ของความชอบธรรมจึงเป็นการนำความจริงที่มีอยู่จริงและความจริงที่เชื่อมามีอยู่จริงหรือรับรู้ได้มารวมกันผ่านความจริงทางสถาบัน ความชอบธรรมจึงเป็นกระบวนการที่ใช้อธิบาย(explaining) และให้เหตุผล (justifying) กับความหมายของความจริงที่มีอยู่ ความชอบธรรมใช้อธิบายระเบียบที่กำหนดขึ้นโดยสถาบันถึงความถูกต้องเที่ยงตรงของการรับรู้ของความหมายเชิงวัตถุวิสัย และความชอบธรรมให้เหตุผลระบบที่กำหนดขึ้นโดยสถาบันโดยเปรียบเทียบกับปทัสถานเพื่อนำไปปฏิบัติ ความชอบธรรมนี้ไม่ใช่เป็นเพียงแค่คุณค่า แต่ยังเป็นความรู้ที่ใช้ในการปฎิบัต โดยที่เราจะใช้ความรู้นี้ในการกำหนดการกระทำว่าอะไรเป็นการกระทำที่ถูกหรือผิดในสังคม เช่น เรารู้ว่าไม่ควรแต่งงานกับญาติพี่น้องของตัวเอง
สิ่งที่เป็นเชิงประจักษ์ไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ (Empirical but not Scientific)
การสร้างสถาบันแห่งความจริง (Institutionalization)
ระบบที่มีชีวติและกิจกรรม (Organism and Activity)
มนุษย์จะต้องมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ทำให้โลกทัศน์มีการเปิดกว้าง ซึ่งลักษณะเฉพาะ (peculiarity) ของมนุษย์จะค่อนข้างเป็นตามองค์ประกอบของสัญชาตญาน (instinctual component) ซึ่งมนุษย์จะมีน้อยกว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่น ๆ คือ หลังจากที่เซลล์ได้พัฒนาจนเป็นตัวอ่อนจนกระทั่งออกมาเป็นทารก ในกรณีของสัตว์จะถือว่าการพัฒนานั้นสิ้นสุดสมบูรณ์แล้วตั้งแต่ออกมาจากมดลูก แต่เมื่อเทียบกับคนแล้ว ทารกที่เกิดมายังต้องมีการปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางสังคมต่อไป ซึ่งจะถูกกำหนดโดยตัวแปรต่าง ๆ ทางด้านสังคมและวัฒนธรรม กล่าวได้ว่า มนุษย์สร้างตัวเองจากธรรมชาติ และสร้างตัวตนของตัวเองขึ้น โดยตัวตนนั้นจถเป็นการพัฒนาระบบที่มีชีวิตอย่างต่อเนื่องและมีกระบวนการทางสังคม (social process) กับสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและคนอื่น ๆ ที่มีความสำคัญ (significant others)
ความสัมพันธ์ของมนุษย์ระหว่างการมีชีวิตและการมีตัวตนเป็นความสัมพันธ์แปลก ในด้านหนึ่ง มนุษย์คือร่างกาย (is a body) เหมือนกับสิ่งมีชีวิตที่เป็นสัตว์อื่น ๆ ในอีกด้านหนึ่งมนุษย์จะมีตัวตน (has a body) ซึ่งจะต้องมีประสบการณ์กับสรรพสิ่งต่าง ๆ เพื่อสร้างความสมดุลย์ระหว่างสิ่งที่เป็นอยู่และความมีตัวตน การสร้างตัวตนของมนุษย์เป็นสิ่งที่จำเป็นของความเป็นสังคม (social enterprise) มนุษย์ทุกคนมาอยู่รวมกันเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมของมนุษย์ด้วยกันในรูปแบบของการสร้างวัฒนธรรม จึงเป็นไปไม่ได้ที่มนุษย์จะแยกตัวออกมาอยู่เพียงลำพัง เพราะเราเป็นสัตว์สังคม ความเป็นมนุษย์และความเป็นสังคมจึงมีความเชื่อมต่อสัมพันธ์กันอย่างแยกกันไม่ออก เราจึงจัดมนุษย์ให้ไปอยู่ในสปีชีส์ของ Homo sapiens ซึ่งหมายถึงมนุษย์ผู้รู้ในภาษาลาติน
การดำรงอยู่ของมนุษย์ (human existence) จะเกิดขึ้นมาในบริบทของความเป็นระเบียบเรียบร้อย (order) การควบคุม (direction) และความมีเสถียรภาพ (stability) ตัวที่กำหนดให้มีความมีเสถียรภาพของมนุษย์และมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ก็คือ ระเบียบทางสังคม (social order) ที่มีมาก่อนการพัฒนาระบบชีวิตของมนุษย์ จากโลกที่เปิดอยู่ภายใน (intrinsic world-openness) ของการดำรงอยู่ของมนุษย์จะถูกแปลงไปเป็นโลกที่ปิดอยู่ที่มีความสัมพันธ์กันซึ่งควบคุมโดยระเบียบทางสังคม ดังนั้น ระเบียบทางสังคมก็คือสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นนั่นเอง จึงเป็นผลผลิตของมนุษย์ (human product) ที่ใช้แสดงออกมา (externalization) เพราะระเบียบทางสังคมไม่ใช่สิ่งที่มาจากกฎของธรรมชาติ แต่จะเกิดจากกิจกรรมที่มนุษย์สร้างขึ้นมาต่างหาก
จุดกำเนิดของการสร้างสถาบันแห่งความจริง (Origin of Institutionalzation)
กิจกรรมทุกอย่างของมนุษย์ได้รับอิทธิพลมาจากกระบวนการสร้างการกระทำเดิม ๆ (habitualization) ซึ่งเป็นการแสดงออกของการกระทำแบบเดิมที่เกิดขึ้นแล้วเกิดขึ้นอีกทำให้เกิดเป็นรูปแบบขึ้น และสามารถเกิดขึ้นได้ในอนาคตอีกด้วย การกระทำเดิม ๆ นี้เป็นจดจำลักษณะต่าง ๆ ที่มีความหมายของบุคคล แม้ว่าความหมายนั้นจะถูกฝังอยู่ในความรู้ที่สั่งสมมาเป็นประจำ การกระทำเดิม ๆ จะใช้ในการกำหนดทิศทาง (direction) และการทำให้กิจกรรมมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน (specialization) เกิดขึ้น
กระบวนการสร้างการกระทำเดิม ๆ (process of habitualization) จะต้องมาก่อนการสร้างสถาบันแห่งความจริง (institutionalization) ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อมีจัดเก็บข้อมูลและเป็นหมวดหมู่ของการกระทำซึ่งเกิดขึ้นแบบเดิม ๆ และซ้ำกันของผู้กระทำ สถาบัน (institution) จึงหมายถึงความเป็นประวัติศาสตร์ (historicity) และการควบคุม (control) สถาบันจึงมาความเป็นมาและใช้ในการควบคุมความประพฤติของมนุษย์ (human conduct) โดยระบุรูปแบบของพฤติกรรมหรือแนวทางปฏิบัติที่มีการกำหนดไว้ก่อน ซึ่งใช้ควบคุมหรือกำหนดทิศทางของการกระ ทำที่เกิดขึ้นในสังคม เราอาจเรียกกลไกของสถาบันที่ทำงานแบบว่าเป็นระบบที่ใช้ควบคุมทางสังคม (system of social control) ซึ่งหลาย ๆ สถาบันเมื่อมารวมกันเราจะเรียกว่าเป็นสังคม (society) ดังนั้นการควบคุมในขั้นแรกจะเกิดขึ้นจากสถาบันก่อนอื่น เช่น เมื่อเราทำผิดสิ่งต้องห้าม (taboo) อย่างร้ายแรง เราจะต้องโดนตัดหัว ซึ่งเป็นการลงโทษ แต่ถ้าเป็นเรื่องทางเพศของมนุษย์จะไม่เหมือนกัน เพราะไม่ได้ถูกควบคุมทางสังคมให้ถูกตัดหัว แต่จะเป็นการควบคุมทางสังคมที่ถูกำหนดโดยสถาบันมากกว่า
เมื่อ A กับ B มีปฏิสัมพันธ์กัน A ดูว่า B ทำอะไร ทำอย่างไร แต่ละคนก็จะสามารถในการทำนายการกระ ทำของอีกฝ่ายหนึ่งได้ กล่าวได้ว่า การปฏิสัมพันธ์กันของทั้งสองทำให้สามารถทำนายได้ การสร้างพฤติกรรมของสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำทำให้เกิดมีการแบ่งงานกันทำ (division of labour) ระหว่างกัน ทำให้นำไปสู่สิ่งใหม่ (innovation) ซึ่งทำให้เป็นกระบวนการที่ทำให้เป็นนิสัย (habitualization) แบบใหม่ โดยทั่วไปแล้วการกระทำต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ กันเป็นกระบวนการที่ทำให้เป็นนิสัย ซึ่งสามารถสังเกตได้โดยผู้อื่นและทำให้รับรู้ร่วมกันได้
เราสามารถเข้าใจโลกได้สร้างขึ้นมาเองได้ สิ่งที่เกิดขึ้นและมีการเปลี่ยนแปลงรับรู้ได้โดยการส่งความจริงจากรุ่นสู่รุ่น การสร้างความจริงให้เป็นรูปธรรมของสถาบันส่งผลต่อทั้งเด็กและทั้งพ่อแม่ โดยที่เด็กจะมีรับรู้โดยใช้กระบวนการทางสังคมในช่วงแรก ๆ และสร้างความจริงให้เป็นโลกของตนเอง ในช่วงนี้เด็กยังไม่สามารถที่จะแยกแยะปรากฎการณ์ของความจริงทางธรรมชาติและความจริงที่ก่อรูปมาจากสังคม สถาบันจะทำหน้าที่ส่งผ่านความจริงโดยผ่านพ่อแม่ในสิ่งที่ได้เกิดขึ้นทางประวัติศาสตร์และความจริงที่มีอยู่จริง
ความจริงของสถาบันที่มีอยู่จริงเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม กระบวนการนี้เป็นการแสดงออกมาของกิจกรรมที่เป็นผลผลิตของมนุษย์ เรียกว่า การสร้างความจริงให้เป็นรูปธรรม (objectivation) มนุษย์จะต้องมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน จะต้องมีการแสดงออก (externalization) และการสร้างความจริงให้เป็นรูป ธรรมผ่านกระบวนการวิภาษวิธี สังคม (society) เป็นผลผลิตของมนุษย์ (human product) สังคมเป็นความจริงที่มีอยู่จริง (objective reality) คนก็เป็นผลผลิตทางสังคม (social product) ในจุดนี้โลกของสถาบันจึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีความชอบธรรม (legitimation) ซึ่งสามารถเรียนรู้ได้โดยคนรุ่นใหม่ในระหว่างกระบวนการเดียวกันที่ใช้สร้างกระบวนการทางสังคมผ่านระเบียบทางสถาบัน (institutional order)
การพัฒนาของกลไกที่ใช้ควบคุมสังคม (social control) เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นในการสร้างประวัติศาสตร์และการสร้างความจริงให้เป็นรูปธรรมของสถาบัน ยิ่งพฤติกรรมถูกทำให้มีความเป็นสถาบันมากเท่าไร ก็ยิ่งสามารถที่จะทำนายและควบคุมพฤติกรรมนั้นได้ (the more conduct is institutionalized, the more predictable and more controlled) ดังนั้นกระบวนการทางสังคมผ่านทางสถาบันจะมีประสิทธิผลถ้ามีการใช้มาตรการได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม สถาบันเป็นสิ่งที่รวบรวมความจริงต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ระเบียทางสถาบันก็สามารถเรียกได้ว่าเป็นความรู้ (knowledge) ความรู้เบื้องต้นของระเบียบทางสถาบันก็คือความรู้ที่มีมาก่อนการสร้างเป็นทฤษฎี (pre-theoretical) เป็นสิ่งที่เรารับรู้ในโลกของสังคม (social world) กฎความจริง (maxim) คุณธรรม (moral) ปัญญา (wisdom) คุณค่า (value) ตำนาน (myth) และอื่นๆ เป็นต้น ความรู้แบบนี้จะมีส่วนในการสร้างพฤติกรรมของสถาบันที่มีความเป็นพลวัตร (dynamic) ซึ่งสามารถใช้ในการควบคุมและพยากรณ์พฤติกรรมทั้งหมดได้
ความรู้นี้เป็นสิ่งที่เรียนรู้ได้ในกระบวนการทางสังคมและใช้ในการอบรมสั่งสอนเพื่อในกระบวนการรับรู้ความจริงให้อยู่ในจิตสำนึก (consciousness) ของบุคคลโดยมีโครงสร้างของโลกทางสังคมที่เป็นรูปธรรม ความ รู้นี้เป็นหัวใจของหลักวิภาษวิธีของสังคม โดยสามารถสร้างให้เป็นรูปธรรมได้โดยผ่านการใช้ภาษา (language) ที่เป็นเครื่องมือในการสร้างการรับรู้และความเข้าใจ เช่น องค์ความรู้ของการแบ่งงานกันทำจะถูกพัฒนาโดยอ้างอิงถึงกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง จึงจำเป็นต้องใช้ภาษาในการสร้างความเข้าใจของความรู้ที่อยู่และไม่สามารถที่จะแยกออกจากโปรแกรมของสถาบันในการกำหนดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องได้ ความรู้ที่เหมือนกันนี้สามารถส่ง ผ่านจากรุ่นสู่รุ่นได้ โดยเรียนรู้เป็นความจริงที่เกิดขึ้นผ่านกระบวนการทางสังคมและรับรู้ความจริงที่เกิดขึ้นนี้ สร้างเป็นบุคคลิกของมนุษย์ที่มีความเป็นเฉพาะเจาะจง (specific type of person)
การตกตะกอนทางความจริงและประเพณีดั้งเดิม (Sedimentation and Tradition)
บางส่วนในประสบการณ์ของมนุษย์เท่านั้นที่จะเป็นจิตสำนึก (consciousness) โดยที่ประสบการณ์จะต้องมีการคงไว้และมีการตกตะกอนทางความจริง (sedimentation) ซึ่งเป็นความจริงที่รับรู้ร่วมกัน (intersubjective reality) ภาษาเป็นสิ่งที่ทำให้ประสบการณ์ที่รับรู้ร่วมกันเป็นรูปธรรมหรือเป็นความจริงขึ้นมา เป็นเครื่อง มือที่ใช้ในการรวบรวมความรู้ที่สั่งสมมา ยิ่งไปกว่านั้น ภาษายังเป็นเครื่องมือในการสร้างประสบการณ์ใหม่ให้เป็นความจริงที่เป็นรูปธรรมขึ้น โดยรวมเข้ากับการสั่งสมของความรู้ที่มีอยู่เดิมแล้ว ทำให้เกิดการตกตะกอนทางความจริงที่มีการรับรู้ร่วมกัน เช่น เราจะรับรู้กันว่าผู้หญิงไม่มีหน้าที่ไปล่าสัตว์ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้ชาย เนื่องจากข้อจำกัดทางร่างกายซึ่งมีความแข็งแรงน้อยกว่า
ภาษาเป็นสิ่งที่เก็บสะสมการตกตะกอนทางความจริงมารวบรวมไว้ เป็นการสื่อและส่งต่อของความหมายของความเป็นสถาบันที่มีพื้นฐานมาจากการรับรู้ทางสังคม (social recognition) ที่มีแนวทางในคำตอบของปัญหาที่มีความแน่นอนและถาวร (permanent solutions to permanent problems) ที่มีการรับรู้ร่วมกัน ดังนั้นการกระทำทางที่ผ่านความเป็นสถาบันเที่มีความคุ้นเคยกันอย่างเป็นระบบ (systematically acquainted) ผ่านความหมายต่างๆนี้ ซึ่งการกำหนดความหมายผ่านความเป็นสถาบันทำให้เกิดความสามารถในการจดจำขึ้น (memorability)
ความรู้ (knowledge) เป็นสิ่งที่กำหนดทางสังคม เป็นการแสดงออกถึงว่ารู้ (knowing) หรือไม่รู้ (not knowing) ของความจริงที่สังคมกำหนด ความรู้อาจจะสื่อผ่านวัตถุที่เป็นสัญลักษณ์ขึ้นอยู่กับความสอดคล้องทางสังคม ความซับซ้อน และความสำคัญของการรวมเป็นกลุ่ม เช่น กองทัพ หรือ กลุ่มศาสนา ก็จะมีเครื่องแบบหรือพิธีกรรมเพื่อที่ใช้สื่อความเป็นสัญลักษณ์เป็นรูปแบบของความหมายที่เป็นความจริงทางสถาบัน ก็จะใช้แนวทางในการควบคุมหรือสร้างความชอบธรรมได้
บทบาท (Roles)
บทบาท (Role) เป็นลักษณะที่เป็นรูปแบบของผู้กระทำ (actors) ซึ่งจะเป็นได้ทั้งการกระทำต่อตนเอง (acting self) และการกระทำต่อผู้อื่น (acting others) ซึ่งการกระทำทั้งสองแบบนี้มีความสัมพันธ์ที่สลับเปลี่ยนกันได้ (interchangeable) และเป็นการสร้างพฤติกรรมที่รับรู้ร่วมกันได้ การสร้างบทบาทจะมีความสัมพันธ์กับแนว ทางหรือพฤติกรรม (conduct) ที่กำหนดโดยสถาบันโดยผ่านประสบการณ์ของบุคคล ดังนั้นบทบาทจึงเป็นส่วน ประกอบที่มีความสำคัญในสังคมที่มองโลกอย่างเป็นรูปธรรม
จุดเริ่มต้นของบทบาทมีพื้นฐานมาจากกระบวนการทำให้เป็นนิสัย (habitualization) และการสร้างความจริงให้เป็นรูปธรรม (objectivation) เช่นเดียวกับจุดเริ่มต้นของการสร้างความจริงผ่านสถาบัน บทบาทก็เป็นการสั่งสมความรู้ร่วมกันอย่างหนึ่ง เป็นพฤติกรรมที่มีการรับรู้ร่วมกันที่สร้างขึ้นมา และพฤติกรรมเชิงสถาบันก็เกี่ยวข้องกับบทบาททั้งสิ้น ดังนั้นบทบาทจึงมีส่วนร่วมในการควบคุมลักษณะของการสร้างความจริงผ่านสถาบัน บทบาทเป็นตัวแทนของระเบียบทางสถาบัน (institutional order) ในสองระดับ คือ การแสดงออกของตัวบทบาทเอง เช่น บทบาทของผู้พิพากษา และบทบาที่เป็นตัวแทนของพฤติกรรมทางสถาบัน เช่น ผู้พิพากษาต้องยึดถือกฎหมายและระเบียบของศาลหรือกระทรวงยุติธรรม การแสดงผ่านบทบาททำให้การสร้างความจริงผ่านสถาบันมีตัวตนขึ้นมาในสังคมและเป็นประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจริงของบุคคล ตัวอย่างของการใช้บทบาทเป็นตัวแทนของสถาบัน เช่น การใช้ภาษาทางกฎหมาย ตัวบทกฎหมาย ทฤษฎีการพิพากษา เป็นตัวแทนของสถาบันทางด้านกฎหมาย บทบาทจึงช่วยให้มีการคงไว้ซึ่งการรวมเอาจิตสำนึกและพฤติกรรมหรือแนวทางปฏิบัติของสมาชิกที่อยู่ในสังคมมาไว้ด้วยกัน ข้อดีของบทบาทก็คือ การทำให้ความจริงทางสังคมให้เป็นรูปธรรมผ่านการรับรู้ และเป็นความรู้ที่เป็นปทัสถาน คุณค่า และมีความรู้สึก
ความรู้ที่สั่งสมมาในอดีตของสังคมที่เกิดจากการแบ่งงานกันทำ (division of labour) ทำให้ความรู้ของบทบาทเฉพาะอย่าง (role-specific knowledge) มีการเติบโตอย่างรวดเร็วมาก เพราะงานที่มีลักษณะเฉพาะเจาะจงมีความแตกต่างกันหลายๆแบบที่เกิดจากการแบ่งงานกันทำตามความถนัด ส่งผลให้มีแนวทางการแก้ปัญหาที่มีมาตรฐานทำให้มีความพร้องในการเรียนรู้หรือส่งผ่านความรู้ได้ทันที จึงทำให้มีผู้เชี่ยวชาญ (specialists) เกิดขึ้นมากมาย ในการสั่งสมความรู้ของบทบาทเฉพาะอย่างนี้ สังคมจะต้องมีการจัดการให้แต่ละคนให้ความสำคัญกับความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของตัวเองและแสดงบทบาทนั้นในสังคมได้
ขอบเขตและแบบของการสร้างความผ่านสถาบัน (Scope and Modes of Institutionalization)
ขอบเขตของการสร้างความจริงผ่านสถาบันขึ้นอยู่กับความสอดคล้องทางด้านโครงสร้างทั่วไป ยิ่งมีโครงสร้างที่สอดคล้องกันทางสังคมและมีการรับรู้ร่วมกัน ขอบเขตของการสร้างความจริงผ่านสถาบันก็มีกว้างมาก ในทางกลับกัน ถ้ามีการรับรู้ร่วมกันน้อย ขอบเขตก็จะแคบ ซึ่งจะเป็นการรับรู้ความจริงผ่านสถาบันที่กระจายและมีความสอดคล้องที่รับรู้ร่วมกันแค่บางกลุ่มที่อยู่ในสังคม แต่ไม่ใช่รับรู้ทางสังคมทั้งหมด
จากการแบ่งงานกันทำตามความถนัดและเงื่อนไขของการมีผลผลิตส่วนเพิ่มทางเศรษฐกิจ (economic sur-plus) ทำให้บุคคลหรือกลุ่มต่าง ๆ เข้ามามีส่วนในกิจกรรมที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านขึ้น และไม่สนใจว่าจะพอแค่ยังชีพ (subsistence) กิจกรรมที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านนำไปปสู่ความรู้ที่สามารถสั่งสมที่จะรับรู้ร่วมกันได้ เช่น คนไม่จำเป็นต้องไปล่าสัตว์อีกต่อไป แต่สามารถพัฒนาความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านขึ้น เพื่อเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านใดด้านหนึ่งของสังคม ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านทำให้เป็นการจัดแบ่งทางระเบียบของสถาบันขึ้น ซึ่งบุคคลในลักษณะหนึ่งจะถูกกำหนดให้แสดงออกผ่านการกระทำในรูปแบบหนึ่ง โดยที่มีการเผยแพร่ความรู้ทางสังคมและมีความรู้ของบทบาทเฉพาะอย่างในรูปแบบที่กำหนดขึ้น
ผลที่ตามมาจากการจัดแบ่งกลุ่มทางสถาบัน (institutional segmentation) ทำให้มีการแบ่งแยกย่อยของความหมายย่อยลงไปอีก ซึ่งจะแตกต่างอยู่ในโครงสร้างทางสังคม เช่น เพศ อายุ อาชีพ ศาสนา รสนิยม และอื่นๆ ส่วนประกอบของความหมายย่อยเหล่านี้ เป็นส่วนที่ส่งเสริมการแบ่งงานกันทำตามความถนัดและทำให้เกิดผลผลิตส่วนเพิ่มทางเศรษฐกิจได้ ซึ่งสังคมในอดีตเป็นเพียงแค่สังคมที่ผลิตพอยังชีพ มีการจัดแบ่งความหมายย่อยเพียงแค่ชายหญิง หรือนักรบหนุ่มแก่ เช่น ในสังคมพื้นเมืองของเผ่าในอัฟริกา และอเมริกันอินเดียน
การยอมรับความจริงเข้ามา (Internalization of Reality)
กระบวนการทางสังคมขั้นปฐมภูมิ (Primary Socialization)
ความจริงที่มีอยู่จริง (objective reality) และความจริงที่บุคคลรับรู้หรือเชื่อว่ามีอยู่จริง (subjective reality) เป็นส่วนประกอบที่เกิดขึ้นในสังคม เราจึงมีความจำเป็นที่จะต้องเข้าใจความจริงทั้งสองแบบนี้ โดยทำความเข้าใจกับกระบวนการวิภาษวิธี (dialectical process) ที่ประกอบด้วย การแสดงออก (externalization) การทำให้เป็นรูปธรรม (objectivation) และการรับรู้ (internalization) ซึ่งรวมเข้าด้วยกันเป็นลักษณะของสังคม (society) สมาชิกในสังคมจะแสดงออกความเป็นตัวตนต่อโลกของสังคมและรับรู้ความจริงที่มีอยู่จริงเข้ามา กล่าวคือ การอยู่ในสังคมเป็นการมีส่วนร่วมในวิภาษวิธี (to be in society is to participate in its dialectic)
จุดเริ่มต้นของการเป็นสมาชิกของสังคม กระบวนการจะเริ่มต้นจากการรับรู้ (internalization) ซึ่งเป็นการทำความเข้าใจหรือการตีความเหตุการณ์ที่มีอยู่จริงตามความหมายที่แสดงออกมา เราไม่ได้เพียงแต่อยู่ในโลกใบเดียวกัน แต่เรายังจะต้องมีส่วนมร่วมในความเป็นตัวตนของกันและกัน ดังนั้น เมื่อประสบกับการรับรู้ในระดับหนึ่งก็จะทำให้บุคคลนั้นเป็นสมาชิกของสังคม
กระบวนการทางสังคมขั้นปฐมภูมิ (primary socialization) เป็นกระบวนการทางสังคมที่เกิดขึ้นครั้งแรกซึ่งทุกคนจะรับรู้ในวัยเด็กผ่านการเป็นสมาชิกทางสังคม ซึ่งต่อมาก็จะเกิดกระบวนการทางสังคมขั้นทุติยภูมิ (secondary socialization) ซึ่งจะเป็นกระบวนการที่ตามมาในการนำบุคคลที่อยู่ในสังคมแล้วไปสู่ภาคส่วนใหม่ของโลกแห่งความเป็นจริงของสังคม ดังนั้น กระบวนการรับรู้ของความจริงที่เกิดขึ้นในโลก ก็จะเป็นกระบวน การที่แสดงกระบวนการทางสังคมทั้งขั้นปฐมภูมิและขั้นทุติยภูมิ
กระบวนการทางสังคมขั้นปฐมภูมิมีความสำคัญกับทุกคน และเป็นโครงสร้างพื้นฐานของกระบวนการทางสังคมขั้นทุติยภูมิทั้งหมด ทุกคนเกิดมาต้องมีโครงสร้างทางสังคมที่เป็นจริง (objective social structure) และโลกของสังคมที่เป็นจริง (objective social world) เช่น เด็กที่มีฐานะดีจะมีมารยาทไม่เหมือนเด็กที่มีฐานะไม่ดี กระบวนการทางสังคมขั้นพื้นฐานเป็นมากกว่าการรับรู้ผ่านการเรียนรู้ แต่จะมีอารมณ์ความรู้สึกเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โดยมีการรับรู้การมีตัวตน เด็กจะรับรู้ถึงบทบาทและทัศนคติของผู้อื่น ทำให้เด็กสามารถที่จะระบุตัวตนของตนเอง เด็กยังเรียนรู้ว่าตัวเองชื่ออะไร จะถูกเรียกจากคนอื่นอย่างไร เป็นการสร้างตัวตนที่เกิดขึ้นในโลกของสังคม เช่น ฉันชื่อ John Smith
ดังนั้นกระบวนการทางสังคมขั้นปฐมภูมิสร้างบทบาทและทัศนคติต่าง ๆ ผ่านจิตสำนึกของเด็ก โดยเฉพาะการรับรู้ปทัสถานของสังคม เช่น เด็กจะรู้ว่าแม่จะโกรธ ถ้าทำซุปหกเลอะเทอะ ซึ่งคนอื่น ๆ ก็เช่นกัน พ่อ ย่า และพี่สาว ก็เห็นด้วยกับแม่ที่มีทัศนคติในแง่ลบต่อการทำซุปหกเลอะเทอะ ทำให้เด็กได้รับรู้ว่าทุกคนจะมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อการทำซุปหกเลอะเทอะ จึงเป็นข้อสรุปทั่วไปที่อยู่ในปทัสถานของสังคม สิ่งนี้จึงมาจากบทบาทและทัศนคติของผู้อื่นที่มีความเหมือนกัน เรียกว่าข้อสรุปทั่วไปที่ได้จากผู้อื่น (generalized other)
สังคม (society) ความเป็นตัวตน (identify) และความจริง (reality) จะมีความชัดเจนในกระบวนการรับรู้ (process of internalization) โดยผ่านการใช้ภาษา (language) ซึ่งจะมีส่วนที่ทำให้เกิดเนื้อหา (content) และเป็นเครื่องมือที่สำคัญในกระบวนการทางสังคม จิตสำนึกเป็นความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างความจริงที่มีอยู่จริงและความจริงที่รับรู้หรือเชื่อว่ามีอยู่จริง กล่าวคือ สิ่งที่จริงข้างนอก (real ‘outside’) จะตอบสนองต่อสิ่งที่จริงภายใน (real ‘within’) ดังนั้น ความจริงที่มีอยู่จริง (objective reality) จะถูกเปลี่ยนไปเป็นความจริงที่รับรู้หรือเชื่อว่ามีอยู่จริง (subjective reality) หรือในทางกลับกัน ความจริงที่รับรู้หรือเชื่อว่ามีอยู่จริงเปลี่ยนเป็นความจริงที่มีอยู่จริง ภาษาจึงเป็นกระบวนการตีความของความจริงที่สามารถเปลี่ยนแปลงไปกลับได้ทั้งสองทิศทาง แต่ทางปฏิบัติแล้ว จะเป็นความจริงที่มีอยู่จริงมากกว่าที่ถูกรับรู้ในการสร้างจิตสำนึกของบุคคล เพราะเนื้อหาของกระบวนการทางสังคมถูกกำหนดโดยการเผยแพร่ความรู้ทางสังคม (social distribution knowledge) คนเราจะรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นและรับรู้ได้เท่านั้น
เนื้อหาของกระบวนการทางสังคมขั้นปฐมภูมิในการสร้างการรับรู้ จะเปลี่ยนแปลงไปตามสังคมและมีความแตกต่างกัน ภาษาที่ใช้ในการรับรู้ก็พบได้ในทุกสังคม ซึ่งแนวทางการจูงใจและการตีความในการรับรู้ที่กำหนดโดยสถาบันจะสร้างความแตกต่างของตัวตนให้กับคนในสังคม เช่น เด็กมีการแบ่งทั้งเป็นคนกล้าหาญหรือเป็นคนขี้ขลาด เป็นผู้ชายหรือเป็นผู้หญิง เป็นทาสหรือเป็นไพร่ เป็นต้น โปรแกรมที่ถูกกำหนดขึ้นนี้ทำให้คนมีความแตกต่างกันกับผู้อื่น คนที่กล้าหาญเพราะต้องการเป็นคนจริง คนที่กราบไหว้สิ่งศักสิทธิ์เพราะกลัวพระเจ้าโกรธทำไม่แสดงความเคารพ เป็นต้น
กระบวนการทางสังคมขั้นปฐมภูมิจะมีการเรียนรู้ที่เป็นขั้นเป็นตอน (sequence) ซึ่งถูกกำหนดโดยสังคม กล่าวคือ ในอายุระดับหนึ่ง เด็กจะเรียนรู้อย่างหนึ่ง ต่อไปเรื่อย ๆ ซึ่งโปรแกรมแต่ละอย่างที่มีการเรียนรู้จะสร้างการเติบโตในการรับรู้ทางสังคมและมีความแตกต่างกันในแต่ละระดับ เช่น เด็กหนึ่งขวบจะไม่สามารถที่จะเรียนรู้สิ่งที่เด็กสามขวบเรียนรู้ นอกจากนั้นโปรแกรมในการเรียนรู้ยังมีความแตกต่างกันสำหรับเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิงอีกด้วย ดังนั้นโปรแกรมการหล่อหลอมทางสังคมที่เกิดขึ้นในวัยเด็กนี้ทำให้การนำไปปฏิบัติทางสังคมมีความแตกต่างกันไปตามอารมณ์ คุณธรรม ความรับผิดชอบ หรือความฉลาด ขึ้นอยู่กับความรู้ที่เผยแพร่ในสังคม
กระบวนการทางสังคมขั้นทุติยภูมิ (Secondary Socialization)
กระบวนการทางสังคมขั้นทุติยภูมิ (secondary socialization) เป็นกระบวนการในการรับรู้ความจริงที่ถูกกำหนดโดยการแบ่งงานกันทำ (division of labour) ที่มีความซับซ้อนและสอดคล้องกับความรู้ที่มีการเผยแพร่ในสังคม ความรู้นี้เป็นความรู้แบบพิเศษ (special knowledge) ที่เกิดขึ้นจากการแบ่งงานกันทำตามความถนัดตามความชอบ ทำให้กระบวนการทางสังคมขั้นทุติยภูมิเป็นการสร้างบทบาทของความรู้แบบพิเศษนี้โดยมีพื้นฐานมาจากการแบ่งงานกันทำทั้งทางตรงและทางอ้อม ความจริงบางส่วน (partial reality) จะถูกรับรู้เป็นลักษณะที่เรียก ว่าโลกขนาดย่อย (sub-worlds) อยู่ในกระบวนการทางสังคมขั้นทุติยภูมิ ซึ่งตรงข้ามกับโลกพื้นฐาน (base-world) ที่สร้างโดยกระบวนการทางสังคมขั้นปฐมภูมิ เช่น ความแตกต่างของทหารม้าและทหารราบ เกิดจากการฝึกฝนเป็นพิเศษ ซึ่งทักษะต่างๆก็จะมีความแตกต่างกัน รวมถึงการเรียนรู้และภาษาที่ใช้
สิ่งที่จะถูกนำเข้ามาเพื่อเข้าสู่กระบวนการทางสังคมขั้นทุติยภูมิ คือ ความรู้ที่มีการกำหนดรูปแบบไว้อยู่แล้ว (already formed) ความรู้ใหม่ที่ได้รับเข้ามานี้อาจมีความขัดแย้งกับความรู้เก่าที่มีผ่านกระบวนการทางสังคม ดังนั้นในการสร้างความสอดคล้องของความรู้และความจริงที่มี กระบวนการทางสังคมขั้นทุติยภูมิจะต้องสร้างแนวทางในการบูรณาการองค์ความรู้ที่มีความแตกต่างกันให้สอดคล้องกัน นอกจากนั้น ยังมีข้อจำกัดทางเรียนรู้ผ่านกระบวนการทางสังคมขั้นทุติยภูมิ ซึ่งมีผลต่อการเรียนรู้ที่เป็นขั้นเป็นตอนของการแบ่งงานกันทำต่าง ๆ เช่น การเรียนรู้เทคนิคในการล่าสัตว์จะต้องมีพื้นฐานของการเรียนรู้การปีนเขา หรือการเรียนรู้การคำนวณแคลคูลัสจะต้องมีพื้นฐานของการเรียนรู้พีชคณิต เป็นต้น ขึ้นอยู่กับความสนใจของบุคคลในการจัดการองค์ความรู้ต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับตนเอง
ในกระบวนการทางสังคมขั้นปฐมภูมิ เด็กจะไม่เข้าใจว่าคนอื่น ๆ มีหน้าที่ที่ถูกกำหนดโดยสถาบันต่าง ๆ ว่าจะต้องทำอะไรบ้าง เพราะเด็กรับรู้แค่โลกของพ่อแม่มาเป็นโลกของตัวเอง ไม่ใช่โลกที่กำหนดหน้าที่ต่าง ๆ ตามบริบทของสถาบันที่อยู่ในสังคม แต่ในทางปฏิบัติ โลกของพ่อแม่ไม่ใช่เป็นโลกที่มีอยู่อย่างเดียว แต่จะมีโลกของสังคมอื่น ๆ ที่มีความเป็นเฉพาะเจาะจง เช่น เด็กจะรับรู้และปฏิบัติกับครูไม่เหมือนกับพ่อแม่ เข้าใจบทบาทของครูที่มีหน้าที่ซึ่งกำหนดโดยสถาบันทางสังคม การปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนจะมีความเป็นทางการ ซึ่งครูจะเป็นผู้ที่ทำหน้าที่ส่งมอบความรู้ที่มีอยู่ให้กับนักเรียน ความรู้ที่ครูคนหนึ่งสอน ครูคนอื่นก็สามารถสอนได้เช่นกัน
ความเป็นทางการ (formality) และการไม่รู้จักกัน (anonymity) มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันในกระบวนการทางสังคมขั้นทุติยภูมิ ซึ่งสามารถที่จะแยกบทบาทออกจากตัวตนของเราได้ คือ เด็กจะเก็บซ่อนความรู้สึกของตัวเองจากครูได้ง่ายกว่าเมื่อเทียบกับแม่ ดังนั้นความจริงที่เกิดขึ้นที่เป็นจุดเริ่มต้นในวัยเด็กก็คือ บ้าน (home)ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลบเลี่ยงได้และมีความเป็นธรรมชาติ และความจริงที่เรียนรู้ต่อมาก็คือ สิ่งที่ประดิษฐ์ขึ้น (artificial) เช่น การเป็นนักดนตรีก็จะมีการเรียนรู้ไม่เหมือนกับวิศวกร โดยการเรียนรู้ที่เป็นขั้นเป็นตอนจะเป็นทั้งแบบที่เป็นเหตุเป็นผล (rational) และแบบที่ใช้อารมณ์ความรู้สึก (emotional) ดังนั้นการพัฒนาของการศึกษาสมัยใหม่ก็เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนในกระบวนการทางสังคมขั้นทุติยภูมิ เป็นหน่วยงานที่จะสร้างความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านให้เกิดขึ้นในสังคม
การคงไว้และการเปลี่ยนแปลงความรู้ที่รับรู้ (Maintenance and Transformation of Subjective Reality)
ทุกสังคมจะต้องมีการพัฒนาขั้นตอนการคงไว้ของความจริง (reality-maintenance) เพื่อที่จะสร้างดุลยภาพระหว่างความจริงที่เป็นจริงและความจริงที่รับรู้หรือเชื่อว่ามีอยู่จริง กระบวนการทางสังคมขั้นทุติยภูมิจะสร้างคุณลักษณะแบบประดิษฐิ (artificial character) ขึ้นมาทำให้เป็นการรับรู้ของความจริงที่เชื่อว่ามีอยู่จริง ซึ่งจะท้าทายความจริงที่เป็นจริงซึ่งกำหนดไว้แล้วในสังคม เราอาจจะทึกทักเอา (taken for granted) ว่าเป็นความจริงที่อยู่ในชีวิตของทุกๆวัน หรืออาจมาจากจิตสำนึกและสงสัยว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เช่น การรับรู้ในกระบวนการทางสังคมขั้นปฐมภูมิระบุถึงการแก้ผ้าเป็นสิ่งที่น่าอับอาย ทำให้ต้องมีการแต่งตัวอย่างเหมาะสมให้เหมาะกับกาละเทศในสังคมต่าง ๆ ซึ่งเป็นการสร้างจากการรับรู้ผ่านกระบวนการทางสังคมขั้นทุติยภูมิ ซึ่งใช้ทึกทักเอาว่าความจริงแบบนี้ใช้ในความจริงที่อยู่ในชีวิตทุกๆวัน ตราบใดที่พฤติกรรมยังไม่ถูกท้าทายทางสังคม เราก็ถือว่าสิ่งที่กระทำก็ยังไม่เป็นปัญหาหรือมีความผิดปกติ
การคงไว้ของความจริงมีอยู่สองแบบ คือ การคงไว้ของความจริงที่เกิดขึ้นประจำ (routine maintenance)และการคงไว้ของความจริงที่เป็นวิกฤติ (crises maintenance) ความจริงที่เกิดขึ้นประจำในชีวิตทุก ๆ วันเป็นสิ่งที่มีความสำคัญที่สุดของกระบวนการสร้างความจริงทางสถาบัน (institutionalization) ซึ่งจะถูกคงไว้เป็นรูปแบบของจิตสำนึกที่อยู่ในกระบวนการทางสังคม เราอาจให้ความสำคัญหรือไม่ให้ความสำคัญกับผู้อื่นผ่านกระบวน การทางสังคมในการคงไว้ซึ่งความจริง เช่น เราขึ้นรถไฟฟ้าสาธารณะและไม่รู้จักใคร ก็อาจไม่ต้องพูดกับใครเลย คนอื่น ๆ ก็เป็นเหมือนกัน ในโลกแห่งความเป็นจริง คนเราชอบให้ระบุตัวตนของตนเองโดยผ่านการให้ความ สำคัญกับผู้อื่น (significant others) เช่น เราให้ความสำคัญโดยยกฐานะให้เป็นภรรยา ลูก เลขานุการ เป็นต้น ซึ่งเป็นการกำหนดสถานะผ่านการให้ความสำคัญกับผู้อื่นซึ่งในทางกลับกันก็เป็นการยืนยันว่าผู้อื่นก็ให้ความสำคัญกับตัวเองเช่นกัน โดยเป็นสามี พ่อ เจ้านาย เป็นต้น จึงเป็นความสัมพันธ์ที่สอดคล้องกันในการคงไว้ซึ่งความจริง แต่ถ้าไม่สัมพันธ์กันเป็นแบบที่ยกตัวอย่างมาข้างต้น ทำให้เกิดการระบุตัวตนของตัวเองผิด ๆ ในสังคม เช่น ภรรยาอาจไม่ยอมรับเป็นสามี แสดงว่าผู้อื่นก็ไม่ได้ให้ความสำคัญเราเหมือนกับที่เราได้ให้ความสำคัญกับเขา ก็จะไม่เกิดการคงไว้ของความจริงและการยืนยันความจริงนี้
สิ่งที่มีความสำคัญในการคงไว้ของความจริงก็คือ การสนทนา (conversation) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการรักษา ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง ความจริงที่มีการรับรู้ เพราะการสนทนาเป็นสิ่งที่คนพูดคุยกัน เช่น เมื่อสามีจะออกไปทำงาน ภรรยาจะกล่าวว่า ขอให้โชคดีในการทำงานนะคะ ซึ่งจะกล่าวทุกวันทุกครั้งที่สามีจะเป็นทำงาน การสนทนาในทุก ๆ วันนี้เป็นคงไว้ของความจริงที่รับรู้ เป็นการสนทนาที่ไม่เป็นทางการแต่มีความเสมอต้นเสมอปลายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้โยงถึงสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำในโลกที่เรามักจะทึกทักเอาเองว่าเป็นจริงแบบเดียวกัน (taken-for-granted world) แต่ถ้าในทางกลับกัน อาจะเกิดเหตุการณ์ที่ไม่ปกติ เช่น มีภัยคุกคามในสังคมเกิดขึ้นและไม่น่าไว้วางใจ ภรรยาอาจะพูดกับสามีก่อนไปทำงานว่า อย่าลืมนำปืนออกไปข้างนอกด้วยนะคะ ดังนั้นการสนทนาจึงเป็นเครื่องมือในการคงไว้ของความจริงผ่านประสบการณ์โดยการพูดที่จะสะท้อนกลับไปในโลกของความจริง
ภาษาเป็นการสร้างความจริงให้เป็นรูปธรรมขึ้นมาในโลก และเป็นการจัดระบบของประสบการณ์ไปเป็นความจริงของโลกโดยผ่านการสนทนา ในสถานการณ์ที่จะต้องมีการพบปะกันตัวต่อตัว ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้กันทั่วไป (common language) การสนทนาเพื่อการคงไว้ของความจริงที่มีประสิทธิผลนั้นจะต้องมีความต่อเนื่องและเสมอต้นเสมอปลาย ถ้าไม่เช่นนั้นก็ไม่อาจคงไว้ซึ่งความจริงก็ได้ เช่น เราอาจพบกับแฟนเราเดือนละครั้ง แต่เราสามารถสนทนาผ่านการคุยทางโทรศัพท์ทุกวัน ก็ยังรักษาความสัมพันธ์ที่ดีไว้ได้ การคงไว้ของความจริงในการเป็นแฟนกันก็ยังคงอยู่
ส่วนในสถานการณ์วิกฤติ ความจริงที่คงไว้จะเป็นลักษณะการทำงานแบบตรงกันข้าม จะมีการลงโทษทางสังคมในการที่ไม่อาจคงไว้ซึ่งความจริงที่สอดคล้องกับความจริงที่ยอมรับกันทางสังคม และการยืนยันความจริงแบบนี้จะมีความรุนแรงและมีการแสดงออกอย่างชัดเจน เช่น การหัวเราะเยาะเย้ย (ridicule) เป็นการลงโทษทางสังคมอย่างหนึ่ง การคงไว้ของความจริงที่เป็นวิกฤติจะเป็นได้ชัดและเข้มข้นในชุมชนที่เป็นศาสนา เช่น ชุมชนพุทธ์ ชุมชนคริสเตียน หรือชุมชนมุสลิม ซึ่งจะมีความจริงที่จะต้องรับรู้ร่วมกันในชุมชนของศาสนานั้น ถ้ามีการฝ่าฝืนความจริงที่คงไว้ก็จะถูกลงโทษทางสังคมอย่างรุนแรงและชัดเจน
กระบวนการรับรู้ความจริงกับโครงสร้างทางสังคม (Internalization and Social Structure)
กระบวนการทางสังคมมักจะเกิดขึ้นในบริบทของโครงสร้างทางสังคม (social structure) การวัดความ สำเร็จของกระบวนการทางสังคมขึ้นอยู่กับเงื่อนไข (condition) และผลที่เกิดขึ้น (consequence) ในโครงสร้างทางสังคม ความสำเร็จของกระบวนการทางสังคมเกิดจากความสมมาตรของความจริงที่มีอยู่จริง (objective reality) และความจริงที่รับรู้หรือเชื่อว่ามีอยู่จริง (subjective reality) ในทางตรงข้าม ความล้มเหลวที่เกิดขึ้นก็มาจากความไม่สมมาตรของความจริงทั้งสองแบบนี้ ตัวอย่างของความสำเร็จของกระบวนการทางสังคมจะอยู่ในสังคมที่มีการแบ่งงานกันทำแบบง่ายๆ และมีการเผยแพรความรู้ในระดับต่ำ เพราะทุกคนที่อยู่ในสังคมรู้ว่าตัวเองใครเป็นใคร ตัวตนของบุคคลจะจำกันได้ง่าย เช่น รู้ว่าใครเป็นอัศวิน รู้ว่าใครเป็นชาวนา ในสังคมแบบนึ้จึงไม่มีปัญหาเรื่องการระบุตัวตน
ส่วนเงื่อนไขที่ทำให้กระบวนการทางสังคมไม่ประสบความสำเร็จก็มาจากความผิดพลาดทางชีวภาพ (bibliographical) หรือทางสังคม (social) ในกระบวนการทางสังคมขั้นปฐมภูมิของเด็กอาจทำงานผิดปกติซึ่งเกิดจากความไม่สมบูรณ์ทางกายภาพ เช่น ในกรณีของพวกพิการ (cripple) พวกลูกไม่มีพ่อ (bastard) พวกที่ป่วยทางจิต (idiot) ซึ่งจะไม่มีความสมมาตรของความจริงที่มีอยู่จริงและความจริงที่รับรู้หรือเชื่อว่ามีอยู่จริง ทำให้พวกนี้อยู่ในโลกของความจริงที่เชื่อว่ามีอยู่จริงของตัวเองมากกว่า เหมือนอยู่ในโลกที่แปลกแยกออกไป (alien world) ซึ่งสะท้อนความจริงของโลกได้แย่มาก เป็นพวกที่อยู่ในโลกในจินตนาการที่สร้างขึ้นมาเอง (fantasy)
นอกจากนั้นยังมีความผิดปกติ (abnormality) ที่เกิดจากการที่จะต้องเลือกความจริงที่กำหนดขึ้น (reality-definition) และมีการเลือกที่มีความผิดพลาด เช่น เด็กผู้ชายอาจจะรับรู้สิ่งที่ไม่ถูกต้องในโลกของผู้หญิง เพราะไม่ได้เจอพ่อมาเป็นเวลานานในช่วงที่มีความสำคัญมากของกระบวนการทางสังคมขั้นปฐมภูมิ และดูแลโดยแม่ที่มีพี่สาวน้องสาวสามคนอยู่ด้วย ทำให้มีความสับสนในความจริงของการรับรู้ความจริงที่อาจขัดแย้งกับความจริงทางกายภาพ หรือ เด็กอาจถูกเลี้ยงดูจากพ่อแม่และพี่เลี้ยงซึ่งมาจากชนกลุ่มน้อยจากท้องถิ่น ขณะที่พ่อแม่ก็จะอบรมสั่งสอนในโลกแบบหนึ่ง และพี่เลี้ยงก็มีการอบรมสั่งสอนในโลกอีกแบบหนึ่ง ทำให้เด็กรับการอบรมสั่งสอนและเรียนรู้ทั้งสองแบบพร้อมกัน ซึ่งปกติแล้วโลกของพ่อแม่ที่ถูกกำหนดไว้อยู่แล้วจะเด่นกว่า ซึ่งเด็กก็จะรับรู้การอบรมสั่งสอนของพ่อแม่มากกว่าพี่เลี้ยง ในทางปฏิบัติแล้วก็มักจะมีทางเลือกของสถานการณ์แบบนี้เกิดขึ้นในโลกของความเป็นจริง ซึ่งอาจมีการไม่แสดงออกถึงความอสมมารตระหว่างความเห็นแก่ส่วนรวม (public) และความเห็นแก่ตัว (private) อยู่ในเวลาเดียวกัน ข้อขัดแย้งนี้เกิดขึ้นในกระบวนการทางสังคมระหว่างครอบ ครัวและกลุ่มเพื่อนที่จะต้องเลือกเช่นกัน เด็กต้องเข้าเรียนหนังสือตามสิ่งที่พ่อแม่กำหนด แต่เมื่ออยู่กับเพื่อนก็อยากแสดงออกเพื่อทดสอบความกล้ากับเพื่อน เช่น ไปขโมยรถกัน ดังนั้นจึงเกิดข้อขัดแย้งภายในและรู้สึกผิดอีกด้วย
ในบางสถานการณ์ก็เกิดความล้มเหลวทางกระบวนการทางสังคมที่เกิดจาก ข้อขัดแย้งระหว่างกระบวน การทางสังคมขั้นปฐมภูมิและขั้นทุติยภูมิ ซึ่งอาจเกิดจากข้อจำกัดทางบริบทของโครงสร้างทางสังคมของแต่ละคน เช่น บางคนอยากเป็นอัศวิน แต่สถานะทางสังคมดูก็ไม่สามารถทำให้เป็นอัศวินได้ จึงไม่สามารถทำให้ความฝันของตัวเองเป็นจริงได้ ปรากฎการณ์นี้ทำให้เกิดความตึงเครียดและความอึดอัดในโครงสร้างทางสังคม ซึ่งจะคุกคามการสร้างความจริงผ่านสถาบันและความจริงที่ทึกทักเอาว่าจริง สถานการณ์บางครั้งก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ถ้าไม่โยงความสัมพันธ์กับบริบทของโครงสร้างทางสังคม ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ระหว่างการแบ่งงานกันทำทางสังคม (ซึ่งเป็นผลมาจากโครสร้างทางสังคม) และการเผยแพร่ความรู้ทางสังคม (ซึ่งเป็นผลมาจากการสร้างความจริงให้เป็นรูปธรรม) ทำให้สามารถวิเคราะห์ทั้งความจริงและตัวตนของกลุ่มพหุนิยม (pluralism) ที่อยู่ในโครงสร้างที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นพลวัตรของอุตสาหกรรมนิยม (industrialism)
|
|
| ||||||||||||||||||||||||||
| ||||||||||||||||||||||||||||
| ||||||||||||||||||||||||||||
| ||||||||||||||||||||||||||||
| ||||||||||||||||||||||||||||
| ||||||||||||||||||||||||||||
| ||||||||||||||||||||||||||||
| ||||||||||||||||||||||||||||
|
| |||||||||||||||||||||||||||
| ||||||||||||||||||||||||||||
เชิงอรรถ
จาก “The Social Construction of Reality – A Treatise in the Sociology of Knowledge” โดย Peter Berger และ Thomas Luckmann, 1985
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น