วันศุกร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

Corporate Universities


HRD Trends Worldwide
Corporate Universities

   โดย ดร. อนุรักษ์ วัฒนะถาวรวงศ์

แนวโน้มของ Corporate University
แนวคิด Corporate University หรือ CU เป็นกระบวนการที่ให้พนักงานทุกระดับได้เข้ารับประสบการณ์ในการเรียนรู้ที่จำเป็นต่อการปรับปรุงผลการปฏิบัติงานและส่งผลที่ดีต่อธุรกิจ บางครั้งก็ไม่ใช่เพียงแค่พนักงาน แต่ยังรวมไปถึงลูกค้าหรือผู้ผลิตก็ได้ แนวคิด Corporate University เป็นแนวโน้มที่สำคัญและกำลังเป็นที่นิยมในบริษัทชั้นนำของโลก จากตัวอย่างในกรณี ศึกษาของกลุ่ม Rover ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำของอังกฤษที่มีความมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำด้านยานยนต์ในยุโรป จึงได้จัดตั้ง Rover Learning Business Group หรือ LBG เพื่อเป็น Corporate University ที่แยกออกมาตั้งเป็นบริษัทแยกออกมาต่างหากเพื่อการศึกษา โดยมีงบประมาณมากกว่า 50 ล้านเหรียญต่อปีและมีการฝึกอบรมพนักงานมากกว่า 40,000 คน มีกลยุทธ์ในการพัฒนาบุคคลซึ่งทางบริษัทมองเป็นทรัพยากรมนุษย์เป็นทรัพย์สินที่มีความสำคัญ มีการพัฒนา talent และสร้างโอกาสให้กับพนักงานให้ได้รับการอบรมและการศึกษา ส่งผลให้ประสิทธิผลของบริษัทเพิ่มขึ้น นอกจากนั้นบริษัทได้สนับสนุนการเรียนรู้ทั้งที่เกี่ยวข้องกับงานและไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องงานโดยตรงให้กับพนักงานอีกด้วย
ในอีกตัวอย่างหนึ่งของกรณีศึกษา คือ บริษัท Walt Disney ได้จัดตั้ง Disney University มานานกว่า 40 ปี ซึ่ง Disney World ตั้งอยู่ที่ Orlando ใน Florida เพียงแห่งเดียวก็มีการจ้างพนักงานใหม่ถึง 20,000 คนทุกปีที่มาเป็นผู้แสดงในสวนสนุกแหงนี้ ซึ่ง Walt Disney ต้องการให้มีหลักปรัชญาของธุรกิจร่วมกัน ส่งผลให้การบริการลูกค้าดีขึ้น รวมถึงความพึงพอใจของพนักงานที่เพิ่มขึ้น โดยการสร้างความภาคภูมิใจให้กับพนักงานใหม่ที่มาเป็นผู้แสดง มีการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของ Disney ปรัชญาองค์การ และแนวคิดของการบริการลูกค้าอย่างมีคุณภาพ นอกจากนั้นยังมีการหลักสูตรที่มีความหลากหลายที่เกี่ยวข้องกับภาวะผู้นำ การจัดการ การให้บริการลูกค้า คุณภาพ และนวัตกรรม
แนวโน้มของ Corporate University จะเห็นได้ชัดในองค์การต่าง เช่น Motorola University ของบริษัท Motorola หรือ Hamburger University ของบริษัท McDonald หรือ Disney University ของบริษัท Walt Disney ซึ่งมหาวิทยาลัยเหล่านี้จะเป็นตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จของการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากร โดยภาพพจน์ของตัวมหาวิทยาลัยก็ยากที่จะแยกออกจากภาพพจน์ของบริษัท ในการศึกษาหนึ่งมีข้อสังเกตว่า บริษัทชั้นนำขนาดใหญ่จะสร้าง Corporate University ขึ้น บางแห่งก็สร้างเพื่อทดแทนความจำเป็นในการเข้ามหาวิทยาลัยแบบเดิม ๆ ดังนั้น Corporate University จึงมีการเรียนการสอนเช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยทั้งแบบของรัฐและเอกชน แต่บางแห่งก็เป็นเพียงแค่ชื่อเท่านั้น ในการศึกษาของ Deloitte & Touche ซึ่งเป็นบริษัทบัญชีและให้คำปรึกษาชั้นนำของโลกระบุว่า องค์การที่มี Corporate University นั้นจะมีความสำเร็จมากกว่า และหลักสูตรที่บรรจุอยู่ใน Corporate University ก็มักจะมีความสัมพันธ์กับกลยุทธ์ของบริษัท จะเห็นได้ว่า แนวคิด Corporate University เป็นที่แพร่หลายทั่วโลก และเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกอบรมและพัฒนาอย่างมืออาชีพในบริษัทชั้นนำ

ปัจจัยที่ทำให้เกิดแนวคิด Corporate University
รูปแบบของ Corporate University ที่มีการพัฒนาโดยปัจจัยที่ทำให้เกิดแนวคิดนี้ คือ
· สร้างการฝึกอบรมและพัฒนาที่มีคุณภาพและเป็นเลิศ เพื่อให้ได้การสนับสนุนจากฝ่ายบริหารโดยให้ความสำคัญของการฝึกอบรมและพัฒนาต่อองค์การ
· เป็นการรวมศูนย์กลางของการฝึกอบรมและพัฒนาให้เป็นระบบ สอดคล้องกันและมีประสิทธิภาพทั่วทั้งองค์การ
· ขยายขอบข่ายของหลักสูตร รวมไปถึงการเทียบหน่วยกิตกับสถาบันศึกษาที่เป็นพันธมิตร เช่น Dana University ที่เกิดจากบริษัท Dana ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนรายใหญ่ที่สุดในอเมริกาเหนือ มีหลักสูตร MBA มีการสอนด้านธุรกิจ ด้านเทคนิค ด้านลูกค้า และด้านอุตสาหกรรม
· มุ่งเน้นการสร้างการบริการลูกค้าที่เป็นเลิศ ความเป็นสุดยอดแห่งคุณภาพ วัฒนธรรมที่มีความเป็นเอกลักษณ์ และปรัชญาองค์การ ซึ่งพัฒนาเป็นหลักสูตรที่ผสมผสานค่านิยมขององค์การเข้าไปในการเรียนการสอน เช่น Disney University ที่พยายามรักษาแนวทางการให้บริการดั้งเดิมที่เป็นเลิศให้กับพนักงานใหม่
· มุ่งการขับเคลื่อนธุรกิจโดยการเพิ่มยอดขาย การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า การสร้างความผูกพันธ์กับผู้ผลิต การเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และการเติบโตในผลกำไร เช่น Land Rover University ที่สร้างขึ้นเพื่อสนับสนุนการเติบโตของยอดขายรถขับเคลื่อนสี่ล้อแบบหรูหรา และส่งเสริมให้ลูกค้ามีความกระตือรือร้นอยากขับรถ off-road นี้
· เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในองค์การ โดยใช้การปรับปรุงเโครงสร้าง (restructuring) การรื้อปรับเปลี่ยนกระบวนการทั้งระบบ (reengineering) และการปฏิรูปเปลี่ยนแปลง (transformation) เช่น TVA University ที่สร้างโดย Tennessee Valley Authority ผู้ผูกขาดการผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุด หลังจากที่มีการผ่อนคลาดกฎระเบียบ (deregulation) ทำให้มีเอกชนเข้ามาแข่งขันมากขึ้น จึงจำเป็นที่จะต้องให้พนักงานมุ่งเน้นลูกค้ามากขึ้น มีนวัตกรรมและการสร้างสรรค์ รวมถึงการควบคุมค่าใช้จ่ายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
· ใช้แนวคิดองค์การแห่งการเรียนรู้ (learning organization) เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ของบริษัทมากกว่าเพียงแค่การฝึกอบรมแบบเดิม ๆ โดยจัดให้มีกิจกรรมการเรียนรู้ในห้องเรียน ในระหว่างปฏิบัติงาน นอกเวลาปฏิบัติงาน ในโรงเรียน และที่บ้านผ่านอินเตอร์เน็ต ทำให้นำไปสู่กระบวนการสร้างนวัตกรรม เช่น Bank of Montreal Institute ที่สร้างโดย Bank of Montreal โดยใช้เทคโนโลยีสนับสนุนการเรียนรรู้เพื่อสร้างความได้เปรียบทางด้านการแข่งขัน
· ใช้ในการพัฒนาองค์การในอนาคต โดยสร้างสภาพแวดล้อมทางอุดมคติที่มีการสนับสนุนโดยฝ่ายบริหาร ให้เป็น safe house หรือห้องทดลองในการสร้างคำถาม การสืบค้น และสร้างความท้าทายสถานการณ์ธุรกิจในปัจจับัน เช่น Motorola University ที่สร้างขึ้นมาเพื่อพัฒนาธุรกิจ

ลักษณะของแนวโน้มของ Corporate University
ขอบข่ายและพันธกิจ (Scope and Mission) การพัฒนาแนวคิด Corporate University จะต้องมาจากผู้บริหารและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่ง Motorola University ถูกสร้างขึ้นเพื่อสนับสนุนธุรกิจของบริษัท Motorola ให้มีสามารถรับมือกับการเปลี่ยน แปลง โดยมีพันธกิจ คือ เพื่อที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงและการปรับปรุงงานอย่างต่อเนื่องในการสนับสนุนวัตถุประสงค์ทางธุรกิจของบริษัท โดยมอบคุณค่าที่ดีที่สุด การฝึกอบรมที่ดีเยี่ยม และระบบการศึกษา ในการพัฒนาแรงงานที่เป็นเลิศ
ในส่วนของขอบข่ายของการทำงานก็จะต้องสอดคล้องกับพันธกิจ ประกอบด้วย
· ทักษะและการฝึกอบรมด้านเทคนิคพื้นฐาน
· สมรรถนะพื้นฐานของการฝึกอบรมและพัฒนาในกลุ่มงานหลัก
· กระบวนการและกลไกในการพัฒนาค่านิยมและความเชื่อร่วมกันขององค์การ
· สร้างความเป็นหุ้นส่วนกับลูกค้า ผู้ผลิต มหาวิทยาลัย และกลุ่มต่าง ๆ ที่มีความสำคัญ เพื่อความสำเร็จขององค์การ
· สร้างห้องทดลองปฏิบัติการเพื่อส่งเสริมคุณภาพของการฝึกอบรม การเรียนรู้ และการปรับปรุงผลการปฏิบัติการ
หลักการ (Key Principles) ในการสร้าง Corporate University ที่ประสบความสำเร็จ จะมีหลักการที่เหมือนกันดังนี้
1. เชื่อมโยงการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับความต้องการทางกลยุทธ์ของธุรกิจ
2. ใช้รูปแบบของ Corporate University เป็นลักษณะของกระบวนการมากกว่าเป็นเพียงแค่สถานที่
3. ออกแบบหลักสูตรให้เหมาะสมกับพนักงาน บริบท และสมรรถนะขององค์การ
4. ให้การฝึกอบรมกับลูกค้า ผู้ผลิต โรงเรียน และพนักงานที่อยู่ใน value chain
5. ทดลองสิ่งใหม่ ๆ ในการส่งเสริมการเรียนรู้และการนำความรู้ไปปฏิบัติ
6. เปลี่ยนจากรูปแบบการฝึกอบรมแบบมีผู้สอนในห้องเรียนอย่างเดียว ไปเป็นการเรียนรู้โดยการฝึกอบรมที่มีความหลากหลายใน                 รูปแบบต่าง ๆ
7. ส่งเสริมให้ผู้นำสนับสนุนและมีส่วนร่วมในการเรียนรู้
8. เปลี่ยนจากรูปแบบการจัดสรรเงินทุนของบริษัทให้เป็นการจัดหาเงินทุนสนับสนุนตัวเองในแต่ละธุรกิจ
9. พัฒนารูปแบบการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นทั่วโลก (global focus)
10. สร้างระบบการประเมินผลลัพธ์เทียบกับปัจจัยนำเข้า
11. ใช้แนวคิด corporate university ให้มีความได้เปรียบในการแข่งขันและบุกเข้าสู่ตลาดใหม่ ๆ
ภาวะผู้นำ/ธรรมาภิบาล (Leadership/Governance) ในการบริหาร Corporate University จะต้องมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายฝ่าย ที่ประกอบด้วยคณะกรรมการบริหารและคณะกรรมการที่ปรึกษา ทำหน้าที่กำหนดโยบาย จัดสรรทรัพยากร และทบทวนผลของการปฏิบัติการเปรียบเทียบกับแผนกลยุทธ์ที่กำหนดไว้ เพื่อสนับสนุนการศึกษาและการฝึกอบรม ซึ่งบริษัทชั้นนำต่าง ๆ เช่น Motorola และ General Motor จะมีคณะกรรมการที่กำกับดูแลการศึกษาและการฝึกอบรมโดยเฉพาะ
โครงสร้าง (Structure) รูปแบบของโครงสร้างของ Corporate University ประกอบด้วย
· รูปแบบโครงสร้างตามหน้าที่ (functional) เช่น การฝึกอบรมด้านเทคนิค การพัฒนาภาวะผู้นำ การให้บริการที่ปรึกษาด้านผลการปฏิบัติงาน การบริการลูกค้า การพัฒนาทีมงาน และการพัฒนาความเชี่ยวชาญแบบมืออาชีพ
· รูปแบบโครงสร้างตามประเภทสินค้าและบริการ (product & service) เช่น การธนาคารมีการจัดแบ่งการเรียนการสอนเป็น commercial bank, investment bank, consumer bank และ trust bank
· รูปแบบโครงสร้างอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับนโยบายและแนวปฏิบัติขององค์การ เช่น สร้างแบบรวมศูนย์หรือกระจายออกไป
นโยบาย (Policy) จะมีทั้งลักษณะที่เป็นแบบกว้าง ๆ บอกวัตถุประสงค์ที่เป็นพื้นฐานขององค์การ หรือเป็นแบบที่ระบุลงไปในรายละเอียดว่าจะทำอย่างไร เช่น นโยบายการกระจายการเรียนรู้ไปยังส่วนต่าง ๆ ของ Corporate University หรือจะเป็นการตัดสินใจว่าจะดำเนินการเองหรือจะซื้อ (make/buy decision) หลักสูตรต่าง ๆ เพื่อที่จะบรรลุถึงความมีประสิทธิผลและความสอดคล้องขององค์การ
สถานที่ (Location) ในการจัดตั้ง Corporate University มีความสำคัญอย่างยิ่ง ส่วนมากจะตั้งใกล้กับสำนักงานใหญ่ แต่ก็มีการตั้งในสถานที่ไกลออกไป เพราะต้องการความสงบ ที่จะไม่มีการรบกวนจากภายนอกในการจัดการฝึกอบรม เช่น Xerox’s Document University, Anderson Consulting’s Center for Professional Education และ McDonald’s Hamburger University
สิ่งที่บรรจุอยู่ในการเรียนการสอน (What to Teach) โดยมีรูปแบบของหลักสูตร ดังนี้
· แบบสำหรับพนักงานองค์การ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาวัฒนธรรมองค์การ ที่เน้นค่านิยม ความเชื่อ และประเพณี เช่น Intel University ที่มุ่งเน้นปรัชญาการทำงานขององค์การ
· แบบการสร้างกรอบแนวคิด (conceptual framework) ที่มุ่งเน้นความรู้พื้นฐานทางธุรกิจให้เห็นถึงภาพรวมของอุตสาหกรรมและการแข่งขัน โดยมีรายละเอียดที่เกี่ยวกับลูกค้าเป้าหมายหลัก สินค้าและบริการ แนวปฏิบัติที่ดีเลิศ (best practice) ในอุตสาหกรรม โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะขับเคลื่อนธุรกิจไปสู่องค์การระดับโลก (world-class) และไปสู่แนวปฏิบัติที่ดีเลิศ
· แบบการสร้างสมรรถนะหลัก (core competency) ซึ่งมีความหลากหลาย ประกอบด้วยทักษะการเรียนรู้ ทักษะพื้นฐาน ทักษะส่วนบุคคล ภาษาทางธุรกิจ การคิดเชิงสร้างสรรค์ การแก้ปัญหา ภาวะผู้นำและวิสัยทัศน์ การพัฒนาและการจัดการด้วยตนเอง

การสร้างความเป็นหุ้นส่วน (Building Partnership)
การสร้างความเป็นหุ้นส่วนกับกลุ่มที่หลากหลายนั้นประกอบด้วย การสร้างความเป็นหุ้นส่วนกับพนักงานและผู้จัดการ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานเดิมในการจัดตั้ง Corporate University โดยที่พนักงานจะต้องมีความรับผิดชอบในการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง รวมถึงการสร้างความเป็นหุ้นส่วนกับลูกค้า เช่น Motorola และ Xerox ได้จัดฝึกอบรมให้กับลูกค้า ทำให้มีความใกล้ชิดกับผลิตภัณฑ์และบริการ กระบวนการที่เกิดขึ้น และปรัชญาธุรกิจขององค์การ การสร้างความเป็นหุ้นส่วนกับผู้ผลิต เป็นรูปแบบใหม่ของการพัฒนา เช่น Saturn University มีการจัดหลักสูตรให้กับผู้ผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ มากกว่า 300 ราย เพื่อที่จัดหาชิ้นส่วนให้ตรงกับความต้องการของบริษัท จึงเป็นโอกาสที่จะส่งเสริมความสำเร็จและคุณภาพของผู้ผลิต ตามปรัชญาและค่านิยมของบริษัท
การสร้างความเป็นหุ้นส่วนกับสถาบันการศึกษาที่มีมหาวิทยาลัย วิทยาลัย และโรงเรียน เพื่อที่จะได้มาซึ่งคนเก่งและเป็นส่วนสนับสนุนที่สำคัญให้กับ Corporate University เช่น Saturn University จัดหลักสูตร MBA ร่วมกับ Middle University State University นอกจากนั้นการสร้างความเป็นหุ้นส่วนกับผู้ดำเนินการฝึกอบรมจากภายนอกและการให้ใช้สถานที่ในการเรียนการสอน เช่น Chevron เป็นหุ้นส่วนกับบริษัทที่เชี่ยวชาญในการฝึกอบรมมาพัฒนาหลักสูตรใน Chevron Technical University

การให้บริการเสริมเพิ่มเติม (Auxiliary Service)
นอกเหนือจากหลักสูตรหลักที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัยทั่วไปแล้ว Corporate University บางแห่งมีการให้บริการเสริมเพิ่ม เติม คือ ให้บริการในการคัดเลือกบุคลากร เพื่อให้มั่นใจได้ว่าพนักงานใหม่เข้ากันได้กับวัฒนธรรมองค์การและเหมาะสมกับความต้องการขององค์การ บางแห่งก็มีชื่อเสียงในหลักสูตรสร้างเสริมวัฒนธรรมของบริษัท ค่านิยม และความเชื่อขององค์การ บางแห่งก็ใช้เป็นห้องทดลองปฏิบัติการเพื่อค้นหาวิธีการเรียนการสอนใหม่ ๆ และกระบวนการที่มีประสิทธิผลในการที่จะนำความรู้ไปประยุกต์ใช้กับการทำงาน โดยมีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงผลการปฏิบัติงาน เช่น การเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติ (learning by doing) เป็นการเรียนรู้ในระหว่างการปฏิบัติงานและเรียนรู้แบบทดลอง การเรียนรู้แบบไม่เป็นทางการ (informal learning) เป็นการเรียนรู้ด้วยกันระหว่างสมาชิกของทีมและหัวหน้าทีม รวมไปถึงวิธีการเรียนรู้ทางเลือกอื่น ๆ ที่ใช้เทคโนโลยีหลากหลายในการประยุกต์ใช้ในการเรียนรู้และการเรียนรู้แบบทันทีทันใด (just-in-time learning)

คุณภาพและความรับผิดชอบ (Quality and Accountability)
สิ่งที่ท้าทายของ Corporate University คือ กระบวนการในการรักษาคุณภาพและการสร้างความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ดังต่อไปนี้
· จัดทำวัตถุประสงค์เพื่อให้มั่นใจได้ว่ามีทิศทางชัดเจนในการสร้างการเรียนรู้ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับงานได้ รวมถึงส่งผลต่อเป้าหมายทางธุรกิจ
· จัดทำหลักสูตรที่เหมาะสมกับผู้เรียน ในเวลาที่เหมาะสม
· จัดทำกลยุทธ์และสนับสนุนการนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในการปฏิบัติงาน
· สร้างความมั่นใจได้ว่าผู้บริหารได้มีการสนับสนุนในเป้าหมาย พันธกิจ และวัตถุประสงค์ของ Corporate University
· สร้างความเป็นหุ้นส่วนภายในเพื่อความสำเร็จในการฝึกอบรมและพัฒนา
· บริหารค่าใช้จ่ายให้มีประสิทธิภาพ
· ให้ข้อมูลป้อนกับแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
· ติดตามงานให้มั่นใจได้ว่าความรู้ที่ได้สามารถนำไปใช้ในการปฏิบัติงาน
· เชื่อมโยงการฝึกอบรมและการพัฒนากับผลลัพธ์ทางธุรกิจ
· คำนวณผลการตอบแทนด้านการลงทุน (return on investment) ให้เหมาะสมในหลักสูตรที่จัดขึ้น
· ติตามกระบวนการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง (continuous process improvement) ในทุกกิจกรรม
· รักษาคุณภาพและความสอดคล้องของหลักสูตร
· จัดทำรายงานด้านความรับผิดชอบ คุณภาพ และความสอดคล้องให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

โอกาสในการทำกำไร (Profit Opportunity)
การสร้าง Corporate University นอกเหนือจากการจัดทำเพื่อสนับสนุนองค์การแล้ว ยังสามารถสร้างให้เป็นธุรกิจที่มีกำไรได้อีกด้วย โดยสามารถคิดค่าใช้จ่ายของหลักสูตรและบริการที่ได้จัดทำขึ้น เช่น Disney University มีรายได้มหาศาลจากหลักสูตรที่ออกแบบเพื่อสอนแนวทางในการทำงานแบบ Disney หรือ Motorola University ก็มีรายได้จากหลักสูตรที่หลากลายให้กับผู้เรียนภายนอก นอกจากนั้นบางแห่งยังมีบริการให้คำปรึกษา เช่น การออกแบบ พัฒนา และประเมินหลักสูตร เช่น Xerox และ American Airlines ได้จัดบริการให้คำปรึกษานี้กับลูกค้าภายนอก บางแห่งก็มีการจัดสร้างหลักสูตรให้กับลูกค้า เช่น Bell Atlantic Learning Center ที่สร้างโดย Bell ผู้ผลิตโทรศัพท์รายใหญ่ที่สุด ก็มีหลักสูตรที่หลากหลายให้กับลูกค้าภายนอกที่ต้องใช้เทคโนโลยีสนับสนุนในการฝึกอบรม บางแห่งก็ให้เช่าพื้นที่ในการสร้างรายได้ เช่น Aetna Insurance, Anderson Consulting, American Airlines และ Xerox

แนวโน้มในอนาคตต่อมา (Trend Consequences)
แนวคิด Corporate University มีแนวโน้มที่จะใช้มากโดยเฉพาะบริษัทใหญ่ที่มุ่งพัฒนาการเรียนรู้ทั่วทั้งองค์การ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการฝึกอบรมและพัฒนาแบบเดิม ๆ จะเห็นได้ว่าบริษัทที่ประสบความสำเร็จ จะมีการสร้างแนวคิด Corporate University ขึ้นอยู่กับรูปแบบที่ต้องการและงบประมาณการลงทุน ส่วนที่สำคัญที่สุดก็คือ จะต้องได้รับการสนับสนุนและความมุ่งมั่นจากฝ่ายบริหาร ซึ่งมีความจำเป็นต่อการผลักดันให้เกิด Corporate University และจะต้องมีการประเมินผลว่าการจัดตั้ง Corporate University นี้ส่งผลลัพทธ์ที่ดีต่อธุรกิจที่ดำเนินการอยู่และสร้างการเรียนรู้ทั่วทั้งองค์การ ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่คือ Corporate University ได้สร้างคุณค่าต่อองค์การให้มีการเติบโตและเจริญรุ่งเรืองต่อไป

เชิงอรรถ
จาก “HRD Trends Worldwide – Shared Solution to Compete in a Global Economy” โดย Jack J. Phillips

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Generational Differences in Work Values

I. Introduction to Generational Work Values   Definition and Importance Generational work values are the collective attitudes, beliefs, and ...