Strategic Themes in Qualitative Inquiry
Michael Quinn & Jolis Patton
สาระสำคัญด้านกลยุทธ์ในการศึกษาค้นคว้าในงานวิจัยเชิงคุณภาพ
โดย ดร. อนุรักษ์ วัฒนะถาวรวงศ์
คำว่ากลยุทธ์ (strategy) ใช้เป็นกรอบชี้นำแนวทางปฏิบัติ รวมถึงใช้ในการเลือกเทคนิคหรือวิธีการที่เหมาะสมในสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่ง การตัดสินใจที่จะเลือกวิธีการสืบค้นมีกระบวนทัศน์ (paradigm) ที่แตกต่างกันอยู่สองแบบ แบบแรก คือ แบบตรรกปฏิฐานนิยม (logical positivism) ซึ่งใช้วิธีเชิงปริมาณและการทดลองที่ใช้ในการทดสอบสมมติฐานแบบนิรนัยเพื่อที่จะให้เป็นข้อสรุปทั่วไป (hypothetical-deductive generalization) และแบบที่สอง คือ การศึกษาค้นคว้าเชิงปรากฎการณ์ (phenomenological inquiry) ที่ใช้วิธีการเชิงคุณภาพและเชิงธรรมชาติ (qualitative and naturalistic approach) ในการสร้างความเข้าใจประสบการณ์ของมนุษย์ในบริบทใดบริบทหนึ่งแบบอุปนัย (inductive) และแบบภาพรวม (holistic) ซึ่งกระบวนทัศน์ที่ใช้นี้เป็นแนวปฏิบัติที่เป็นปทัสถาน (normative) ให้กับผู้ศึกษาค้นคว้าถึงสิ่งที่จะต้องทำในกระบวนทัศน์นั้น ๆ แต่ในการที่จะเลือกว่าจะใช้หรือยึดติดกับกระบวนทัศน์อย่างใดอย่างหนึ่งทำให้การศึกษาค้นคว้านั้นขาดความยืดหยุ่นต่อสิ่งที่ต้องการศึกษา ดังนั้นแนวคิดปฏิบัตินิยม (pragmatism) น่าจะนำมาใช้มากกว่าโดยมีทางเลือกของกระบวนทัศน์ (paradigm of choice) ให้กับผู้ศึกษาค้นคว้าและไม่ยึดติดกับกระบวนทัศน์อันใดอันหนึ่ง กล่าวคือ ใช้วิธีการที่มีความแตกต่างกันนี้ในสถานการณ์ที่มีความแตกต่างกัน โดยจะใช้กลยุทธ์ในออกแบบการศึกษาค้นคว้าที่เหมาะสมกับสถานการณ์นั้น ๆ แทนที่จะจำกัดอยู่ที่กระบวนทัศน์สอบแบบดังที่กล่าวไว้ข้างต้น
กลยุทธ์ในการศึกษาค้นคว้างานวิจัยเชิงคุณภาพจะมุ่งเน้นรูปแบบ (themes) ต่าง ๆ ที่มีความเชื่อมต่อซึ่งกันและกัน ดังที่ได้แสดงในตาราง 1.1 ที่ได้อธิบายถึงรูปแบบหลักของการศึกษาค้นคว้าเชิงคุณภาพ
การศึกษาค้นคว้าเชิงธรรมชาติ (Naturalistic Inquiry)
การออกแบบการศึกษาค้นคว้าเชิงธรรมชาติซึ่งผู้ศึกษาจะไม่เข้าไปปรับหรือเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของสิ่งที่ศึกษา เป็นสิ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ รวมไปถึงแผนการ ชุมชน ความสัมพันธ์หรือปฏิสัมพันธ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นโดยไม่มีการระบุหรือกำหนดไว้ล่วงหน้าจากผู้ศึกษา แต่จะใช้วิธีการศึกษาเชิงคุณภาพนี้เพื่อทำความเข้าใจปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ
การศึกษาค้นคว้าเชิงธรรมชาติตรงข้ามกับการศึกษาแบบทดลอง (experimental research) ซึ่งผู้ศึกษาจะต้องควบคุมสภาพแวดล้อมในการศึกษา เพื่อที่จะวัดผลจากตัวแปรที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มทดลอง (treatment group) และกลุ่มควบคุม (control group) โดยมีการวัดผลที่เป็นมาตรฐาน ในโลกแห่งความเป็นจริงแล้ว สภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทำให้การศึกษาคว้าเชิงธรรมชาติมาแทนที่การศึกษาแบบทดลองที่ยึดติดกับการกำหนดเป้าหมายไว้ล่วง หน้าระหว่างการศึกษา โดยมุ่งเน้นผลลัพธ์และผลกระทบที่จะเกิดขึ้น รวมถึงมีการควบคุมตัวแปรอื่นให้คงที่ มิฉะนั้นก็จะส่งผลต่อความถูกต้องในการทดลอง ขณะที่การศึกษาค้นคว้าเชิงธรรมชาติจะมุ่งเน้นการเข้าไปจับกระบวนการ ความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ และค้นหาความแตกต่างที่มีความสำคัญที่ได้มาจากประสบการณ์และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ดังนั้นสิ่งที่แตกต่างระหว่างการศึกษาทั้งสองแบบนี้ก็คือ ระดับของการเข้าไปควบคุมสภาพแวดล้อมของการศึกษา ขึ้นอยู่กับการวางแผนออกแบบการศึกษาตั้งแต่แรก ในส่วนที่เป็นประเภทของการเก็บข้อมูล โดยการศึกษาแบบทดลองมักจะใช้การวิเคราะห์ทางสถิติกับข้อมูลเชิงปริมาณ ขณะที่การศึกษาค้นคว้าเชิงธรรมชาติจะใช้ข้อมูลเชิงคุณภาพ
ตาราง 1.1 แสดงถึงรูปแบบหลักของการศึกษาค้นคว้าเชิงคุณภาพ
รูปแบบของการศึกษา
|
รายละเอียด
|
1. การศึกษาค้นคว้าเชิงธรรมชาติ
(Naturalistic inquiry)
2. การวิเคราะห์เชิงอุปนัย (Inductive Analysis)
3. มุมมองภาพรวม
(Holistic perspective)
4. ข้อมูลเชิงคุณภาพ
(Qualitative data)
5. การติดต่อส่วนบุคคลและการเข้าใจอย่างลึกซึ้ง
(Personal contact and insight)
6. ระบบที่เป็นพลวัตร
(Dynamic systems)
7. การมุ่งเน้นการศึกษาเฉพาะกรณี
(Unique case orientation)
8. การอธิบายตามตัวบริบท
(Context sensitivity)
9. ความเข้าใจในความรู้สึกที่เป็นกลาง (Empathic neutrality)
10. ความยืดหยุ่นในการออกแบบ
(Design flexibility)
|
เป็นการศึกษาสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในโลกของความเป็นจริง (real world) เพื่อที่จะค้นหาสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างธรรมชาติ ไม่มีการควบคุม โดยไม่ได้กำหนดผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นไว้ก่อน
เป็นการจุ่มตัว (immersion) ในรายละเอียดและความเฉพาะเจาะจงเพื่อที่จะค้นหาสิ่งที่มีความสำคัญและความสัมพันธ์ต่าง ๆ โดยใช้คำถามปลายเปิดมากกว่าที่จะทดสอบสมมติฐานของทฤษฎีที่เป็นแบบนิรนัย
เป็นการศึกษาปรากฎการณ์ในภาพรวมเพื่อที่จะเข้าใจถึงระบบมากกว่าที่จะมองเป็นแต่ละส่วนแล้วมารวมกัน โดยมุ่งเน้นความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันที่มีซับซ้อน แทนที่จะมองแค่เหตุและผล หรือตัวแปรต้นและตัวแปรตามเท่านั้น
เป็นการให้คำอธิบายที่มีความเข้มข้น เป็นการศึกษาค้นคว้าอย่างละเอียด มีการอ้างถึงคำพูดจากมุมมองและประสบการณ์ส่วนบุคคลโดยตรง
นักวิจัยมีการติดต่อโดยตรงและเข้าถึงผู้คน สถานการณ์ และปรากฎการณ์ในการศึกษาค้นคว้า โดยมีประสบการณ์ส่วนตัวและการเข้าใจอย่างลึกซึ้งที่เป็นส่วนที่สำคัญต่อการศึกษาค้นคว้าและความเข้าใจในปรากฎการณ์
มุ่งให้ความสนใจในกระบวนการ เพราะเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นมีอย่างต่อเนื่องและคงที่ไม่ว่าจะมีจุดเน้นการศึกษาในตัวบุคคลหรือวัฒนธรรมทั้งหมด
กรณีศึกษาจะมีความเฉพาะเจาะจง โดยศึกษาค้นคว้ารายละเอียดของการศึกษาอิสระ (individual case) ตามด้วยการวิเคราะห์ข้ามกรณีศึกษา (cross-case analysis) ขึ้นอยู่กับคุณภาพของกรณีศึกษา
เป็นข้อค้นพบที่อยู่ในบริบทของสังคม ทางประวัติศาสตร์ และร่วมสมัย ซึ่งจะมีความหมายที่แตกต่างกันในเวลาและสถานที่ต่างกัน
ความเป็นวัตถุวิสัยอ่างสมบูรณ์ไม่มีทางเป็นไปได้ แต่การใช้ความเป็นอัตวิสัยอย่างเดียวก็จะลดความน่าเชื่อถือ ผู้ศึกษาค้นคว้าจะต้องทำความเข้าใจโลกที่ซับซ้อน โดยใช้ประสบการณ์ส่วนตัวและการเข้าใจอย่างลึกซึ้งโดยไม่มีอคติในข้อค้นพบ
เป็นการปรับการศึกษาค้นคว้าให้เข้าใจในสถานการณ์ที่มีความเปลี่ยนแปลง โดยไม่ยึดติดกับการออกแบบอันใดอันหนึ่งเพียงอย่างเดียว มองหาวิธีการใหม่ ๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อค้นพบ
|
การวิเคราะห์เชิงอุปนัย (Inductive Analysis)
วิธีการศึกษาเชิงคุณภาพจะมุ่งเน้นการค้นพบ การค้นหา และมีตรรกเชิงอุปนัย โดยศึกษาปรากฎการณ์ ซึ่งเริ่มจาการสังเกตและสร้างรูปแบบทั่วไปขึ้นมา ทำให้การวิเคราะห์เชิงอุปนัยแตกต่างจากวิธีการทดสอบสมมติฐานแบบนิรนัย (hypothetical-deductive) ของการศึกษาแบบทดลองซึ่งต้องระบุตัวแปรหลักและสมมติฐานที่มาจากกรอบอ้างอิงทางทฤษฎีก่อนการเก็บข้อมูล ผู้ศึกษาจะทราบตัวแปรและความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นล่วงหน้าแล้ว ขณะที่การวิเคราะห์เชิงอุปนัยจะมุ่งเน้นการค้นหาสิ่งที่เกิดขึ้น โดยที่ไม่มีการกำหนดตัวแปรหรือความสัมพันธ์ไว้ตั้งแต่แรก แต่จะพยายามที่จะเข้าใจถึงความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องของมิติต่าง ๆ ที่ได้มาจากข้อมูล โดยไม่มีสมมติฐานที่กำหนดไว้ กล่าวคือ วิธีการเชิงอุปนัยเป็นการสร้างความเข้าใจในกิจกรรมและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ในสิ่งที่ศึกษา เป็นการสร้างทฤษฏีรากฐานที่อธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นแทนที่จะเป็นการพิสูจน์สมมติฐานแบบวิธีเชิงนิรนัย
การใช้คำถามปลายปิดและคำถามปลายเปิดจะแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างวิธีเชิงอุปนัยและวิธีเชิงนิรนัยได้ชัดเจน คำถามปลายปิดที่มีตัวเลือกที่ใช้วิธีการเชิงนิรนัยเป็นคำถามที่มีคำตอบซึ่งกำหนดไว้ล่วงหน้าในทางทฤษฎี ขณะที่คำถามปลายเปิดที่ใช้ในการสัมภาษณ์ที่ใช้ในวิธีเชิงอุปนัยนั้นจะทำให้ผู้ตอบสามารถอธิบายสิ่งที่มีความหมายและมีความสำคัญโดยไม่มีการกำหนดคำตอบไว้ล่วงหน้า ดังนั้นวิธีการศึกษาแบบทดลองที่เป็นเชิงปริมาณจะใช้วิธีการพิสูจน์สมมติฐานเชิงนิรนัย ขณะที่การศึกษาแบบธรรมชาติที่เป็นเชิงคุณภาพจะใช้วิธีการเชิงอุปนัย หรือใช้ทั้งสองวิธี คือใช้วิธีเชิงอุปนัยในการค้นหาคำถามและตัวแปรที่มีความสำคัญ และใช้วิธีเชิงนิรนัยเพื่อที่จะทดสอบและยืนยันข้อค้นพบ แล้วกลับไปใช้วิธีเชิงอุปนัยต่อเพื่อค้นหาข้อค้นพบใหม่ต่อไป
การติดต่อโดยตรงส่วนบุคคลโดยลงพื้นที่ในสนามวิจัย (Direct Personal Contact: Going into the Field)
วิธีการศึกษาเชิงคุณภาพมุ่งเน้นความสำคัญของการเข้าใกล้กับผู้คนและสถานการณ์ที่กำลังศึกษาอยู่เพื่อที่จะสร้างความเข้าใจถึงความจริงและชีวิตประจำวันที่เป็นเอกลักษณ์โดยประสบการณ์ส่วนบุคคล การใช้เวลาอยู่แต่ในการศึกษาแต่เพียงทฤษฏีและตัวเลขเพื่อนำมาวิเคราะห์ ไม่ทำให้สามารถเข้าใจผู้อื่นได้เท่ากับการลงพื้นที่เข้าไปคลุกคลีกับผู้คน ขาดความใกล้ชิด ขาดความรู้สึกในการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่มีการแบ่งปันประสบการณ์ร่วมกัน ทำให้ไม่สามารถเข้าใจความเป็นจริงที่เกิดขึ้นได้อย่างถ่องแท้ ดังนั้นการลงพื้นที่ในสนามวิจัยที่ต้องการศึกษาจึงมีความจำเป็นที่จะต้องใกล้ชิดกับสถานการณ์เพื่อที่จะสร้างความเข้าใจของสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ และยังสามารถที่จะเห็นพฤติกรรมที่มีการแสดงออกและที่อยู่ภายใน เช่น มุมมอง ความคิดเห็น ทัศนคติ ค่านิยม สัญลักษณ์ที่สร้างขึ้น เป็นต้น ซึ่งจะต้องใช้การสังเกตแบบมีส่วนร่วมถึงจะสามารถเข้าถึงข้อมูลที่อยู่ภายในเหล่านี้ได้ เหมือนกับคำกล่าวที่ว่า ถ้าต้องการเข้าใจผู้อื่น ก็ต้องเอาตัวเองไปใส่รองเท้าของคนอื่น (understanding comes from trying to put oneself in the other person’s shoes) เพื่อที่จะรู้ว่าคนอื่นคิดกันอย่างไร คล้ายกับสุภาษิตไทยว่า เอาใจเขามาใส่ใจเรา
มุมมองในภาพรวม (Holistic Perspective)
วิธีการศึกษาเชิงคุณภาพจะต้องสร้างความเข้าใจปรากฎการณ์เป็นภาพรวม (as a whole) ซึ่งจะต้องเข้าใจเป็นระบบที่มีความซับซ้อนมากกว่าที่จะมองจากภาพที่แยกเป็นส่วน ๆ (sum of its part) การสร้างความเข้าใจสิ่งแวดล้อมหรือบริบททางสังคมจำเป็นต้องมองให้เห็นเป็นภาพรวม จึงสามารถที่จะเข้าใจสิ่งที่สังเกตหรือศึกษาได้ ซึ่งตรงข้ามกับการใช้วิธีการแบบทดลองเชิงปริมาณ ซึ่งใช้การสร้างนิยามเชิงปฏิบัติการ (operationalization) ให้กับตัวแปรต้นและตัวแปรตามที่จะนำมาใช้ในการวิเคราะห์ทางสถิติ มุ่งเน้นการหาความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น เป็นการมองแบบแยกส่วน แล้วนำมาเป็นข้อสรุปทั่วไปในภาพรวมต่อไป ในโลกแห่งความเป็นจริงแล้ว ประสบการณ์ทางชีวิตมีความซับซ้อน ไม่ได้ง่ายเหมือนกับการวิเคราะห์แบบแยกส่วน แล้วนำมาสรุปเป็นภาพรวม และการที่ระบุตัวแปรต่าง ๆ ที่นำมาวิเคราะห์ ทำให้พลาดที่จะนำปัจจัยอื่น ๆที่มีความสำคัญซึ่งไม่สามารถนำมาวิเคราะห์ในเชิงปริมาณได้เข้ามาอยู่ในการศึกษา ส่งผลให้การศึกษาแบบนี้ไม่ได้มองผลที่เกิดขึ้นเป็นภาพรวม ดังนั้นการศึกษาโดยสร้างมุมมองในภาพรวมที่ไม่ได้จำกัดตัวแปรในการศึกษาไว้ตั้งแต่ต้น จะใช้ในการสร้างความเข้าใจอย่างถ่องแท้และเห็นถึงภาพรวมทั้งหมดสถานการณ์ของสิ่งที่ศึกษาที่มีความเฉพาะเจาะจงและเป็นพลวัตรได้ เพราะมองการศึกษาในแต่ละกรณีมีความเป็นเอกลักษณ์
ข้อดีของวิธีการศึกษาเชิงปริมาณ คือ ความแม่นยำ ชัดเจน ง่ายต่อการวิเคราะห์ เพราะมีการกำหนดตัวแปรที่นำมาแปลงเป็นตัวเลข ทำให้มีความเที่ยงตรง ถูกต้อง และน่าเชื่อถือ โดยใช้หลักสถิติ ขณะที่วิธีการศึกษาเชิงคุณภาพ ก็จะทำให้เห็นผลที่เกิดขึ้นของสถานการณ์เป็นภาพรวม โดยให้ความสำคัญกับความซับซ้อน การพึ่งพาอาศัยกันและกัน ความเป็นเอกลัษณ์ และบริบททั้งหมด
มุมมองการพัฒนาที่เป็นพลวัตร (Dynamic, Developmental Perspective)
วิธีการศึกษาเชิงคุณภาพและเชิงธรรมชาติจะมองสิ่งที่ศึกษาว่ามีความเป็นพลวัตร มีการเปลี่ยนแปลง และพัฒนา ดังนั้นผู้ศึกษาจะต้องสามารถอธิบายและเข้าใจในกระบวนการที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นพลวัตร และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในภาพรวม เพื่อที่จะสามารถนำข้อมูลมาปรับปรุงการศึกษาให้ดีขึ้นได้ โดยใช้การประเมินผลระหว่างดำเนินการ (formative evaluation) ซึ่งตรงข้ามกับวิธีการศึกษาแบบทดลองเชิงปริมาณที่มุ่งเน้นการประเมินผลแบบสิ้นสุดโครงการ (summative evaluation) ที่สรุปประสิทธิผลที่เกิดขึ้นของการศึกษาว่าเป็นไปตามที่ได้กำหนดไว้หรือไม่ ซึ่งเหมาะสมกับสถานการณ์ของการศึกษาที่มีความแน่นอน ไม่เปลี่ยนแปลง ระบุตัวแปรได้ และสามารถนำผลมาแปลงเป็นตัวเลขได้ ทำให้สามารถเปรียบเทียบกลุ่มทดลองกับกลุ่มควบคุมได้อย่างมีประสิทธิผล ขณะที่วิธีการศึกษาเชิงคุณภาพและเชิงธรรมชาติ ที่มีการประเมินผลระหว่างดำเนินการ จะเหมาะสมกับสถานการณ์ของการศึกษาที่มีการเปลี่ยนแปลง เป็นสิ่งใหม่ ๆ และมีการพัฒนา ซึ่งมีจุดเน้นในการปรับปรุงกระบวนการศึกษา และเสาะหาสิ่งต่าง ๆ ที่มีผลต่อผู้เข้าร่วมในการศึกษา สิ่งใหม่ ๆ หรือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทำให้ค้นพบสิ่งที่มีความแตกต่างจากแผนงานในการนำเสนอครั้งแรก ทำให้ผู้ศึกษาสามารถทำการปรับปรุงให้มีความเหมาะสมกับสภาพการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลง วิธีศึกษาเชิงคุณภาพจึงเหมาะสมกับความท้าทายเช่นนี้ เพราะการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องปกติในโลกแห่งความเป็นจริง ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ โดยเป็นส่วนหนึ่งในประสบการณ์ของมนุษย์ เราต้องเผชิญกับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงมากกว่าที่จะไปควบคุมหรือจำกัดการเปลี่ยนแปลงนี้
การมุ่งเน้นการศึกษาเฉพาะกรณี (Unique Case Orientation)
การใช้กรณีศึกษาทำให้สามารถลงรายละเอียดเชิงลึกและเข้มข้นได้ในวิธีการศึกษาเชิงคุณภาพ ซึ่งมีประโยชน์มากในการสร้างความเข้าใจผู้คน ปัญหา และสถานการณ์ที่เป็นเฉพาะเจาะจง และต้องการศึกษาลงไปในเชิงลึก ซึ่งแตกต่างจากการศึกษาแบบที่จะต้องหาข้อสรุปทั่วไปโดยสุ่มตัวอย่างที่ป็นตัวแทนของประชากรทั้งหมด กรณีศึกษาที่ดีจะสร้างความเข้าใจให้กับผู้ศึกษาในสิ่งที่เกิดขึ้น เป็นการเปรียบเทียบความแตกต่างที่เกิดขึ้นอย่างเฉพาะเจาะจง ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และประสบการณ์ที่แตกต่างกัน รวมถึงช่วงเวลาที่แตกต่างกันอีกด้วย การศึกษาเฉพาะกรณีเชิงคุณภาพทำให้สามารถอธิบายสิ่งที่ศึกษาได้ในเชิงลึกลงไปในรายละเอียดที่อยู่ในบริบท และมองเห็นเป็นภาพรวมทั้งหมดได้ กล่าวคือ ถ้าเจาะรายละเอียดในผลของการศึกษา ควรจะใช้การศึกษาเฉพาะกรณี แต่ถ้าต้องการหาคุณสมบัติร่วมหรือสิ่งที่เหมือนกันในผลของการศึกษา ควรจะใช้วิธีการศึกษาเชิงปริมาณ
ความเข้าใจในความรู้สึกที่เป็นกลาง (Empathic Neutrality)
การศึกษาเชิงคุณภาพถูกวิจารณ์ว่ามีความเป็นอัตวิสัย (subjective) มากเกินไป เพราะใช้การติดต่อแบบส่วนบุคคลและเข้าไปใกล้ชิดกับผู้คนและสถานการณ์ที่ต้องการศึกษา โดยที่กระบวนทัศน์แบบตรรกปฏิฐานนิยมเห็นว่าความเป็นอัตวิสัยเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกัน (antithesis) ของการศึกษาแบบวิทยาศาสตร์ ซึ่งเห็นว่าความเป็นวัตถุวิสัย (objectivity) เป็นจุดแข็งของวิธีนี้ โดยการทดลองและทำให้เป็นตัวเลขเชิงปริมาณ ทำให้เกิดการโต้แย้งทางด้านกระบวนทัศน์ (paradigm debate) เพราะความเป็นวัตถุวิสัยแบบสัมบูรณ์ที่ปราศจากค่านิยมนั้นเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติที่จะละเลยในธรรมชาติทางสังคมหรือพฤติกรรมของมนุษย์ จึงต้องมีความเป็นอัตวิสัย ซึ่งให้ความสำคัญกับค่านิยมภายใน ส่งผลให้ลดความน่าเชื่อถือของการศึกษา ดังนั้นนักปฏิบัติจึงต้องหลีกเลี่ยงที่จะใช้ทั้งสองคำนี้ เพราะงานศึกษาทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพก็มองหาข้อมูลที่มีความหมาย น่าเชื่อถือ ถูกต้อง เที่ยงตรง และยืนยันได้
การสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่งานวิจัยจะต้องใช้ความเป็นกลาง (neutrality) ต่อปรากฎการณ์ที่จะศึกษา ไม่มีการกำหนดมุมมองที่เฉพาะเจาะจง ไม่มีการควบคุมข้อมูล ไม่มีการพิสูจน์ทางทฤษฎี ไม่มีการใช้ผลที่กำหนดไว้ล่วงหน้า ทำให้เข้าใจถึงโลกที่เป็นอยู่ในความเป็นจริงกับความซับซ้อนและมีหลายมุมมอง ดังนั้นจึงต้องใช้วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบ (systematic data-collection procedure) มีการฝึกฝนอย่างหนัก ใช้ข้อมูลจากหลายแหล่ง เพื่อสร้างข้อมูลเชิงคุณภาพที่มีความน่าเชื่อถือ ถูกต้อง และเป็นจริงในปรากฎการณ์ที่ศึกษา ความเป็นกลางและการวางตัวเป็นอิสระจึงเป็นประเด็นที่มีความสำคัญอย่างมาก นอกจากนั้นการศึกษาค้นคว้างเชิงคุณภาพยังขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของผู้ศึกษาโดยตรงและความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง (insight) ของประสบการณ์นั้น ซึ่งรวมไปถึงการเรียนรู้จากความเข้าใจในความรู้สึก (empathy)
ความเข้าใจในความรู้สึกและความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง (Empathy and Insight)
ความเข้าใจในความรู้สึกเกิดจากการติดต่อส่วนบุคคล (personal contact) โดยการสัมภาษณ์และการสังเกตระหว่างที่อยู่ในสนามวิจัย ความเข้าใจในความรู้สึกเป็นความสามารถในการทำความเข้าใจผู้อื่นในความรู้สึก ประสบการณ์ และมุมมองทางโลก ในการศึกษาเชิงปรากฎการณ์ได้ใช้ verstehen ในวิธีการเชิงคุณภาพ ซึ่งหมายถึง ความเข้าใจ (understanding) และยังเป็นความสามารถของมนุษย์ในการเข้าใจโลกที่เป็นเอกลักษณ์ (unique human capacity to make sense of the world) ทำให้มนุษย์มีความแตกต่างจากสิ่งมีชีวิตอื่นๆ และปรากฎการณ์ที่ไม่มีมนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้อง (nonhuman phenomena) เพราะมนุษย์มีสามัญสำนึก (consciousness) ที่เป็นเอกลักษณ์ ดังนั้นความสามารถในการเข้าใจในความรู้สึกจึงเป็นสิ่งที่มีค่าอย่างยิ่งของการศึกษาค้นคว้าเรื่องราวเกี่ยวกับมนุษย์
verstehen เป็นความพยายามในการศึกษามนุษย์ที่แตกต่างจากการศึกษาวัตถุทั่วไปหรือสิ่งไม่มีชีวิต เพราะมนุษย์มีเป้าหมายและความรู้สึกของมนุษย์ มีการวางแผน มีการสร้างวัฒนะรรม และมีค่านิยมที่ส่งผลต่อพฤติกรรม ซึ่งความรู้สึกและพฤติกรรมนี้ได้รับอิทธิพลจากสามัญสำนึก การไตร่ตรองอย่างรอบคอบ และความสามารถในการคิดไปในอนาคตข้างหน้า ดังนั้น verstehen จึงมุ่งเน้นการสร้างความเข้าใจในความหมายของพฤติกรรมมนุษย์ บริบทของการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม (social interaction) ความเข้าใจในความรู้สึกที่เกิดจากประสบการณ์ส่วนบุคคล และการเชื่อมต่อระหว่างสภาพจิตใจและพฤติกรรมที่แสดงออกมา
ความแตกต่างระหว่างปฏิฐานนิยม (positivism) และปรากฎการณ์นิยม (phenomenology) จะทำให้เห็นความชัดเจนของ verstehen มากขึ้น นักปฏิฐานนิยมจะมองหาข้อเท็จจริงหรือสาเหตุของปรากฎการทางสังคมที่แยกออกจากความเป็นอัตวิสัยของมนุษย์ โดยพิจาณาข้อเท็จจริงทางสังคมหรือปรากฎการณ์ทางสังคมเป็นเพียงแค่สิ่งของ (things) ที่มีอิทธิพลภายนอกต่อมนุษย์ ขณะที่นักปรากฎการณ์นิยมจะมุ่งมั่นในการสร้างความเข้าใจปรากฎการณ์ทางสังคมของมนุษย์ในมุมมองของตนเอง เป็นประสบการณ์ที่อยู่ในโลกของผู้ศึกษานั้น ไม่ได้มองดูเป็นสิ่งของแบบปฏิฐานนิยม
วิธีการศึกษาเชิงคุณภาพจะใช้ความเข้าใจในความรู้สึกที่ให้ผู้ศึกษาสามารถอธิบายข้อเท็จจริงในมุมมองของตนเองต่อผู้อื่นเชิงประจักษ์ และมีความชอบธรรมในการรายงานความรู้สึก แนวความคิด และประสบการณ์ รวมถึงความเข้าใจอย่างลึกซึ้งของข้อมูลได้ โดยใช้ความเข้าใจในความรู้สึกที่เป็นกลาง ซึ่งความเข้าใจในความรู้สึกจะเป็นการรักษาระยะห่าง (stance) กับผู้คนที่เราพบ ขณะที่ความรู้สึกที่เป็นกลางเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดี (rapport) ที่จะสนับสนุนให้เกิดความเข้าใจในความรู้สึกให้เปิดกว้างได้อย่างไม่มีอคติ ซึ่งเป็นการสื่อถึงความเป็นห่วงเป็นใยและความสนใจในตัวบุคคลในระหว่างการเก็บข้อมูล
การนำกลยุทธ์ในอุดมคติไปปฏิบัติ (From Strategic Ideals and to Practical Choices)
แก่นหลักของการศึกษาค้นคว้าเชิงคุณภาพคือกลยุทธ์ในอุดมคติ (strategic ideals) ซึ่งเป็นการสังเกตโลกของความจริงผ่านวิธีการศึกษาเชิงธรรมชาติ (naturalistic inquiry) มีความเปิดกว้างผ่านการวิเคราะห์เชิงอุปนัย (inductive analysis) มีความรู้สึกไวต่อบริบท (context sensitivity) มีมุมมองในภาพรวม (holistic perspective) มีการติดต่อส่วนบุคคลและความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง (personal contact and insight) ให้ความใส่ใจในกระบวนการที่เป็นพลวัตร (dynamic processes) ยอมรับในความเป็นเอกลักษณ์ (idiosyncrasies) เฉพาะกรณี และมีความเข้าใจในความรู้สึกที่มีความเป็นกลาง (empathic neutrality) ทั้งหมดนี้ประกอบกันเป็นกลยุทธ์ในอุดมคติที่ใช้เป็นแนวทางและกรอบแนวคิดในการพัฒนาการออกแบบและเทคนิคในการรวบรวมข้อมูล
ในทางปฏิบัตินั้น สิ่งที่มีความสำคัญคือ จะต้องใช้การวิเคราะห์เชิงอุปนัยที่มีมุมมองในภาพรวม (holistic-inductive analysis) และใช้วิธีการศึกษาเชิงธรรมชาติ (naturalistic inquiry) ในการสืบค้นข้อเท็จจริงและในการยืนยันสิ่งที่ค้นพบให้มีความเข้าใจในโลกแห่งความเป็นจริง การนำไปปฎิบัติจะต้องลงไปในสนามวิจัย เข้าไปใกล้ชิดกับผู้คนและสภาพแวดล้อมที่ต้องการศึกษา ซึ่งไม่มีวิธีหรือกฎเกณฑ์ที่ตายตัว สามารถเปลี่ยนแปลงได้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ดังนั้นวิธีการศึกษาเชิงคุณภาพจึงใช้นการสืบค้นสิ่งที่เกิดขึ้นและใช้ในการยืนยันในสิ่งที่ค้นพบ โดยมีทั้งความเหมาะสม (by fit) และสามารถนำไปใช้ได้ (by work) อย่างมีความหมาย
ความยืดหยุ่นในการออกแบบ (Design Flexibility)
การออกแบบเป็นการกำหนดสิ่งที่จะมุ่งเน้นในการศึกษาตั้งแต่แรก วางแผนในการสังเกตและสัมภาษณ์ และตั้งคำถามในสิ่งที่ต้องการสืบค้น การศึกษาเชิงอุปนัยและเชิงธรรมชาติ ไม่มีการระบุตัวแปรเชิงปฏิบัติการ ไม่มีการทดสอบสมมติฐาน การออกแบบจึงมุ่งในการเปิดเผยสิ่งที่จะสืบค้นในสนามวิจัย โดยต้องมีความยืดหยุ่นในการออกแบบที่ใช้การศึกษาเชิงคุณภาพที่ใช้คำถามปลายเปิด (open-end) และเป็นแนวปฏิบัติที่เป็นไปได้ (pragmatic)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น