Introduction: The Discipline and Practice of Qualitative Research
Norman K. Denzin and Yvonna S. Lincoln
บทนำ: หลักการและแนวปฏิบัติการวิจัยเชิงคุณภาพ
โดย ดร. อนุรักษ์ วัฒนะถาวรวงศ์
การวิจัยเชิงคุณภาพเป็นการศึกษาซึ่งได้รวมรวมข้อมูลเชิงประจักษ์ที่มีความหลากหลาย เช่น การใช้กรณีศึกษา ประสบการณ์ส่วนตัว การสืบสวน ชีวประวัติ การสัมภาษณ์ สิ่งประดิษฐ์ของมนุษย์ บริบททางวัฒนธรรม รวมถึง บริบทจากสังเกต การอ้างอิงเชิงประวัติศาสตร์ การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน และสิ่งที่สามารถมองเห็นได้ เพื่ออธิบายช่วงเวลาและความหมายที่เกิดขึ้นประจำและเป็นปัญหาในชีวิตของแต่ละบุคคล ดังนั้นการวิจัยเชิงคุณภาพจึงต้องใช้แนวปฎิบัติในการตีความหมายต่าง ๆ ที่มีความเชื่อมโยงและมีความสัมพันธ์กัน เพื่อที่จะสร้างความเข้าใจในสิ่งที่ต้องการศึกษา
The Qualitative Researcher as Bricoleur and Quilt Maker
นักวิจัยเชิงคุณภาพเป็นผู้ทำหน้าที่ปะติดปะต่อซึ่งมีความชำนาญ (bricoleur) ในการตีความหมายของสิ่งที่เป็นตัวแทนของสถานการณ์ที่มีความซับซ้อนและมีความเฉพาะเจาะจง (bricolage) เหมือนกับการประกอบภาพขึ้นมา (montage) ซึ่งคล้ายกับการเล่นเพลงแจ็ซที่ต้องผสมผสานการสร้างสิ่งต่าง ๆ เข้าด้วยกันสร้างสรรค์เป็นสิ่งใหม่ (improvisation) โดยที่ทางเลือกในแนวปฏิบัติของการวิจัยขึ้นอยู่กับคำถามที่ต้องที่จะใช้ถามและคำถามนั้นก็ขึ้นอยู่กับตัวบริบทของมันเอง
การวิจัยเชิงคุณภาพเป็นการใช้หลาย ๆ วิธีที่สร้างความเข้าใจเชิงลึก (in-depth understanding) ในปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะความจริงทางวัตถุวิสัย (objective reality) แต่เพียงอย่างเดียวนั้นไม่สามารถจะทำความเข้าใจได้เลย เราแค่เพียงสามารถที่จะรู้ได้เพียงแค่ผ่านการเป็นตัวแทน (representation) เท่านั้น ดังนั้นจึงจำเป็นต้องผสมผสานความหลากหลายของแนวปฏิบัติระเบียบวิธีการ ข้อมูลเชิงประจักษ์ มุมมอง และตัวผู้สังเกต ในการศึกษาเพื่อสร้างความเข้าใจที่ดีที่สุด เพื่อการสืบค้นที่มีความเข้มข้น มีความกว้าง มีความลุ่มลึก มีความสลับซับซ้อน และมีความสมบูรณ์
ผู้วิจัยที่ทำการตีความหมายจะต้องเข้าใจว่าการวิจัยเป็นกระบวนการที่ต้องมีการปฏิสัมพันธ์ (interaction) ที่จะถูกกำหนดโดยประสบการณ์ส่วนตัว ประวัติส่วนตัว เพศ ระดับชนชั้นทางสังคม และชาติพันธุ์ที่อยู่ในสังคม เพราะว่าการวิจัยเชิงคุณภาพไม่เชื่อในสิ่งที่ปลอดค่านิยม (value-free )
Qualitative Research as Site of Multiple Interpretive Practices
การวิจัยเชิงคุณภาพเป็นแนวชุดของกิจกรรมที่ใช้ตีความหมายที่ไม่ได้ใช้ระเบียบวิธีปฎิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เป็นหลาย ๆ แบบ ดังนั้นการวิจัยเชิงคุณภาพเป็นสหสาขาวิชา (interdisciplinary) ซึ่งใช้ในการศึกษามานุษยวิทยา สังคมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์กายภาพ การวิจัยเชิงคุณภาพจึงเป็นหลาย ๆ สิ่งในเวลาเดียวกัน มีการมุ่งเน้นในหลายกระบวนทัศน์ (multiparadigm) ซึ่งผู้ปฏิบัติใช้วิธีการหลาย ๆ วิธีในการสร้างมุมมองทางธรรมชาติ และสร้างความเข้าใจโดยใช้การตีความหมายในประสบการณ์ของมนุษย์
Resistance to Qualitative Studies
นักวิจัยคุณภาพมักถูกเรียกว่าเป็นนักเขียน (journalist) หรือนักวิทยาศาสตร์แบบอ่อน (soft scientist) เพราะงานที่ออกมาไม่ได้เป็นรูปแบบของวิทยาศาสตร์ (unscientific) แต่เป็นเพียงการสำรวจค้นหา (exploratory) หรือเป็นรูปแบบอัตวิสัย (subjective) ซึ่งนักปฏิฐานนิยม (positivist) ได้กล่าวหาว่างานวิจัยเชิงคุณภาพเป็นเพียงแค่นวนิยาย ไม่ใช่งานทางวิทยาศาสตร์
สรุปได้ว่างานวิจัยเชิงคุณภาพมีความสำคัญสองด้าน คือ เป็นวิธีที่ใช้อย่างเป็นธรรมชาติในการสร้างความเข้าใจโดยการตีความในสิ่งที่ต้องการศึกษา และใช้เป็นข้อวิจารณ์ของการศึกษา รวมถึงเป็นวิธีที่ใช้ในการศึกษาของยุคหลังปฏิฐานนิยม (postpositivism)
Qualitative Versus Quantitative Research
คำว่าเชิงคุณภาพ (qualitative) หมายถึงการมุ่งเน้นคุณภาพ (quality) ของสรรพสิ่งและกระบวนการ รวมถึงความหมายที่ไม่ได้ใช้ในการทดลองหรือวัดในรูปแบบของเชิงปริมาณที่เป็นตัวเลข จำนวน ความเข้มข้น หรือความถี่ นักวิจัยเชิงคุณภาพจะมุ่งเน้นการสร้างความจริงทางธรรมชาติของสังคม (socially constructed nature of reality) ซึ่งมีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งระหว่างผู้วิจัยกับสิ่งที่ศึกษา และใช้สภาพแวดล้อมของสถานการณ์เป็นตัวกำหนดรูปแบบการสืบค้นข้อมูล ดังนั้นนักวิจัยเชิงคุณภาพจึงมุ่งเน้นและให้ความสำคัญกับการสืบค้นทางธรรมชาติที่มีค่านิยมแฝงอยู่ด้วย (value-laden nature of inquiry) เพราะจะต้องหาคำตอบต่อคำถามว่าประสบการณ์ทางสังคมเกิดขึ้นได้อย่างไรและมีความหมายอย่างไร ตรงกันข้ามกับการวิจัยเชิงปริมาณที่ศึกษาโดยเน้นการวัดและวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ของตัวแปรต่าง ๆ แต่ไม่ได้เป็นการศึกษากระบวนการ ซึ่งมักจะอ้างว่าการศึกษาที่ดำเนินการอยู่ในกรอบเค้าโครงที่ปลอดจากค่านิยม (value-free framework)
การวิจัยเชิงคุณภาพมีความแตกต่างจากการวิจัยเชิงปริมาณดังนี้ คือ
1. ใช้แนวทางปฏิฐานนิยมและหลังปฏิฐานนิยม (use of positivism and postpositivism) ทั้งในงานของวิทยาศาตร์กายภาพและในงานสังคมวิทยา แต่ทั้งสองแนวทางนี้จะมุ่งเน้นความจริง (reality) และแนวความคิด (perception) ที่เกิดขึ้น แนวทางปฏิฐานนิยมเห็นว่าความจริงที่มีอยู่นั้นสามารถศึกษาได้ เก็บข้อมูลได้ และเข้าใจได้ ขณะที่แนวทางหลังปฏิฐานนิยมจะแย้งว่าความจริงนั้นไม่สามารถที่จะทำความเข้าใจได้ทั้งหมด เป็นเพียงแค่ประมาณการเท่านั้น ซึ่งจะต้องใช้วิธีการหลาย ๆ วิธีเข้าไปจัดการเก็บข้อมูลให้มีความเป็นจริงให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในขณะเดียวกัน ก็มีจุดเน้นที่อยู่ในการค้นหาและตรวจสอบความถูกต้องของทฤษฎี ในการประเมินผลแบบดั้งเดิมนั้นมุ่งเน้นการสร้างความถูกต้องทั้งภายในและภายนอก ขณะที่ขั้นตอนการวิจัยเชิงคุณภาพจะเป็นการวิเคราะห์ที่มีโครงสร้าง ซึ่งอาจจะต้องใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการวิเคราะห์
ในอดีตการวิจัยเชิงคุณภาพจะอยู่ในกระบวนทัศน์ของแนวทางปฏิฐานนิยม แต่นักวิจัยเชิงคุณภาพก็พยายามที่จะสร้างงานวิจัยแนวทางปฏิฐานนิยมที่มีวิธีการและขั้นตอนที่เข้มงวดน้อยกว่า ขณะที่การวิจัยเชิงปริมาณจะมีวัตถุประสงค์ในการหาความสัมพันธ์ของเหตุและผลที่เป็นนิยามเชิงปฏิบัติการทางทฤษฏี ซึ่งวัดออกมาเป็นตัวเลขหรือจำนวนของปรากฎการณ์ เพื่อที่จะหาข้อสรุปทั่วไป แต่ในปัจจุบันนี้ มีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและมีความหลากหลายของชีวิตประจำวันที่เกิดขึ้นในโลกแห่งความเป็นจริง ทำให้วิธีการแบบดั้งเดิมนี้ไม่สามารถที่จะนำมาใช้ในการศึกษาแบบนี้ได้ทั้งหมด การวิจัยเชิงอุปนัยจึงมีความสำคัญมากขึ้นในการสร้างทฤษฎีและใช้ทดสอบความถูกต้อง โดยมุ่งเน้นความรู้และแนวปฏิบัติที่มีการศึกษาเฉพาะที่หรือในท้องถิ่นมากกว่าที่จะเป็นการหาข้อสรุปทั่วไปตามแบบเดิม ๆ
2. การยอมรับในแนวทางยุคหลังสมัยใหม่ (acceptance of postmodern sensibilities) นักวิจัยยุคใหม่ไม่เชื่อว่าแนวทางแบบปฏิฐานนิยมจะเป็นวิธีเดียวที่ใช้ในการเล่าเรื่องของสังคมที่เกิดขึ้นได้ จะต้องมีวิธีอื่นหลายวิธีที่สามารถเล่าเรื่องของสังคมได้ในแบบต่าง ๆ เช่นกัน เช่น การใช้ทฤษฎีวิพากษ์ (critical theory) การสร้างความรู้ด้วยตนเอง (constructivism) ยุคหลังโครงสร้าง และยุคหลังสมัยใหม่ แนวทางเหล่านี้ก็ได้ต่อต้านแนวทางแบบปฏิฐานนิยมและหลังปฏิฐานนิยม ดังนั้น นักวิจัยจึงมองหาทางเลือกของวิธีต่าง ๆ ในการประเมิน ที่รวมไปถึงสิ่งที่มีความคล้ายกัน (verisimilitude) อารมณ์ ความรู้สึก ความรับผิดชอบส่วนบุคคล จริยธรรม แนวปฏิบัติทางและการประยุกต์ของความรู้ทางการเมือง (political praxis) และบริบทที่หลากหลายในการศึกษา ซึ่งแนวทางแบบปฏิฐานนิยมและหลังปฏิฐานนิยมจะแย้งว่าแนวทางของตัวเองเป็นวิทยาศาสตร์ที่ดี (good science) อยู่แล้ว แต่แนวทางของยุคหลังสมัยใหม่และหลังโครงสร้างจะโจมตีความถูกต้องของความเป็นเหตุผลและความจริงที่เกิดขึ้น
3. การเก็บข้อมูลที่ในมุมมองของบุคคล (capturing the individual’s point of view) ซึ่งทั้งนักวิจัยเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณให้ความสนใจมุมมองของบุคคล แต่นักวิจัยเชิงคุณภาพจะมองเข้าไปได้ใกล้ชิดกว่าโดยการใช้วิธีการสัมภาษณ์และการสังเกตอย่างละเอียด และแย้งว่านักวิจัยเชิงปริมาณไม่ได้เจาะเข้าไปถึงมุมมองที่เป็นอัตวิสัย ซึ่งเป็นข้อจำกัดของวิธีการเก็บข้อมูลเชิงปริมาณ แต่จะใช้วิธีเก็บข้อมูลเชิงประจักษ์โดยการตีความ โดยที่นักวิจัยเชิงปริมาณมองดูว่าไม่น่าเชื่อถือและไม่เป็นวัตถุวิสัย
4. การตรวจสอบสภาพแวดล้อมที่อยู่ในชีวิตประจำวัน (examining the constraints of everyday life) นักวิจัยเชิงคุณภาพมองการกระทำและข้อค้นพบที่เกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมในชีวิตประจำวัน ขณะที่นักวิจัยเชิงปริมาณใช้ข้อสรุปทางทฤษฎี (abstract) และไม่ได้ศึกษาโดยตรง โดยใช้วิธีการค้นหาตามแบบแผน (nomothetic) มีรูปแบบทางวิทยาศาสตร์ซึ่งมีพื้นฐานโดยใช้ความเป็นไปได้ (probability) ที่ได้มาจากการศึกษาตัวอย่างของประชากรกลุ่มใหญ่ที่มีการสุ่มขึ้นมา ในทางตรงข้าม นักวิจัยเชิงคุณภาพจะให้ความสนใจการศึกษากรณีที่เฉพาะเจาะจงกว่านั้น
5. การพรรณาที่มีความเข้มข้น (securing rich description) นักวิจัยเชิงคุณภาพเชื่อว่าการพรรณาที่มีความเข้มข้นของสังคมที่อยู่ในโลกนี้มีคุณค่าอย่างมาก ขณะที่นักวิจัยเชิงปริมาณจะมุ่งใช้วิธีการค้นหาตามแบบแผนโดยไม่สนใจในรายละเอียดแบบนี้ เพราะรายละเอียดจะส่งผลกระทบและเป็นอุปสรรคต่อกระบวนการสร้างหรือพัฒนาข้อสรุปทั่วไป
จากความแตกต่างตามที่ได้กล่าวมานี้ ทำให้งานวิจัยทั้งเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณมีรูปแบบวิธีการศึกษาเป็นของตัวเอง โดยที่นักวิจัยเชิงคุณภาพจะใช้วิธีวิจัยทางชาติพันธ์ การพรรณาเชิงประวัติศาสตร์ ข้อเท็จจริงที่เป็นเรื่องราว ภาพนิ่ง ชีวประวัติ รวมถึงอัตชีวประวัติ ขณะที่นักวิจัยเชิงปริมาณจะใช้วิธีการทางคณิตศาสตร์ ตัวแบบ ตารางสถิติ กราฟ และมักจะเป็นแบบวิธีที่เป็นทางการ
Triple Crisis
1. วิกฤติในด้านของการเป็นตัวแทน (representation crisis) การวิจัยเชิงคุณภาพถูกมองว่าผู้วิจัยไม่สามารถที่จะเก็บข้อมูลจากประการณ์ที่เป็นจริงได้โดยตรง เพราะประสบการณ์นั้นถูกสร้างขึ้นมาในบริบททางสังคม (social text) ของผู้วิจัยเอง
2. วิกฤติในด้านของความชอบธรรม (legitimation crisis) การวิจัยเชิงคุณภาพจะต้องทบทวนวิธีการในการสร้างความถูกต้อง (validity) การสร้างข้อสรุปทั่วไป (generalization) และการสร้างความน่าเชื่อถือ (reliability)
3. ทั้งสองวิกฤติที่ได้กล่าวมาข้างต้นนี้ทำให้เกิดวิกฤติที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขั้นในโลก ถ้ามองสังคมเป็นแค่เพียงบริบท กล่าวคือ ถ้าเปลี่ยนแปลงแล้วจะทำให้เข้าใจโลกแห่งความเป็นจริงได้หรือไม่
ดังนั้นการค้นหาการอธิบายหรือพรรณาที่เป็นภาพใหญ่ของการวิจัยเชิงคุณภาพจะถูกแทนที่โดยการสร้างทฤษฎีที่มีขนาดเล็กลง ซึ่งมีความเหมาะสมกับปัญหาและสถานการณ์ที่มีความเฉพาะเจาะจง
Qualitative Research as Process
กิจกรรมที่มีความสัมพันธ์กันในการกำหนดกระบวนการของการวิจัยเชิงคุณภาพ ประกอบด้วย กรอบแนวคิด (framework) โดยใช้ทฤษฏี (theory) และภววิทยา (ontology) ที่จะระบุชุดของคำถามโดยใช้ภววิทยา (epistemology) ซึ่งจะตรวจสอบโดยใช้วิธีวิทยา (methodology) และการวิเคราะห์ (analysis) กิจกรรมที่เป็นกระบวนการของการวิจัยเชิงคุณภาพมีห้าขั้นตอน ดังนี้
1. ผู้วิจัย (the researcher) งานวิจัยเชิงคุณภาพมีความซับซ้อนและลึกซื้ง ทำให้นักวิจัยต้องศึกษาค้นคว้าที่มีความหลากหลาย มีความแตกต่าง และมีความขัดแย้งกันทางประวัติศาสตร์ นักวิจัยจึงต้องพบกับจริยธรรมและการเมืองของการวิจัย ซึ่งเป็นการสืบค้นที่มีค่านิยมอยู่ด้วย ทุกวันนี้ นักวิจัยจะต้องพยายามพัฒนาจริยธรรมที่สามารถประยุกต์เข้าได้กับงานวิจัยและความสัมพันธ์ของมนุษย์เข้าด้วยกัน
2. กระบวนทัศน์ของการตีความ (interpretive paradigms) นักวิจัยเชิงคุณภาพตระหนักถึงความเป็นมนุษย์ โดยมีหลักการผสมผสานกับความเชื่อเกี่ยวกับภววิทยาที่ว่าด้วยความเป็นมนุษย์และธรรมชาติของความจริง เกี่ยว กับญาณวิทยาที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ของผู้ศึกษาและสิ่งที่ศึกษา และเกี่ยวกับวิธีวิทยาที่ว่าด้วยการได้มาซึ่งความรู้นั้น ดังนั้นภววิทยา ญาณวิทยา และวิธีวิทยาจึงประกอบรวมกันเป็นกระบวนทัศน์ (paradigm) ขึ้นมาเป็นกรอบแนว คิดในการตีความหรือให้ความหมาย (interpretive framework) ซึ่งจะเป็นชุดของความเชื่อที่จะนำทางไปสู่การปฏิบัติต่อไป งานวิจัยทุกงานเป็นการตีความที่จะต้องใช้ความเชื่อและความรู้สึกเกี่ยวกับโลกในการสร้างความเข้าใจและในการศึกษา
กระบวนทัศน์ของการตีความและมุมมองต่าง ๆ ที่ใช้ในการสร้างงานวิจัยเชิงคุณภาพ ประกอบด้วย ปฏิฐานนิยม (positivism) ยุคหลังปฏิฐานนิยม (postpositivism) การตีความ (interpretivism) การสร้างความรู้ด้วยตนเอง (constructivism) อรรถปริวรรตศาสตร์ (hermeneutics) แนวคิดสตรีนิยม (feminism) วาทกรรมชาติพันธ์ (racialized discourse) ทฤษฎีวิพากษ์ (critical theory) ตัวแบบมาร์กซิสต์ (Marxist model) ตัวแบบการศึกษาวัฒนธรรม (cultural studies model) และทฤษฎีเพศที่สาม (queer theory)
กระบวนทัศน์ของปฏิฐานนิยมและหลังปฏิฐานนิยม จะใช้ภววิทยาที่มีความสัมพันธ์ ซึ่งเป็นการสร้างความจริงหลายอย่างขึ้นมา ใช้ญาณวิทยาในการตีควาหมาย ซึ่งผู้ศึกษาและผู้ที่ถูกศึกษาจะต้องมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน และใช้วิธีวิทยาในการตีความและการศึกษาตามธรรมชาติ
กระบวนทัศน์ของการสร้างความรู้ด้วยตนเอง จะใช้ภววิทยาที่มีความสัมพันธ์ ซึ่งมีประกอบด้วยความจริงหลายอย่าง ใช้ญาณวิทยาเชิงอัตวิสัย ซึ่งผู้ศึกษาและผู้ถูกศึกษาร่วมกันสร้างความเข้าใจด้วยกัน และใช้วิธีวิทยาที่เป็นการศึกษาตามธรรมชาติของโลก ข้อค้นพบที่เกิดขึ้นจะใช้ในการสร้างทฤษฎีฐานราก (grounded theory) หรือทฤษฎีรูปแบบ (pattern theory) ดังนั้น คำต่าง ๆ เช่น การสร้างความน่าเชื่อถือ (credibility) การถ่ายโอนผลการวิจัยได้ (transferability) ความไว้วางใจได้หรือพึ่งพาได้ (dependability) และการที่สามารถยืนยันได้ (confirmability) จะมาใช้ทดแทนเกณฑ์ของปฏิฐานนิยมที่เป็นความถูกต้องภายในและภายนอก (internal and external validity) ความน่าเชื่อถือ (reliability) และความเป็นวัตถุวิสัย (objectivity)
ในตัวแบบของสตรีนิยม ชาติพันธ์ มาร์กซิสต์ การศึกษาเชิงวัฒนธรรม และทฤษฏีเพศที่สามให้ความสำคัญในภววิทยาที่เป็นวัตถุนิยมและสัจนิยม (materialist-realist) ซึ่งโลกแห่งความเป็นจริงได้แสดงให้เห็นถึงความแตก ต่างทางวัตถุที่เกิดขึ้นในรูปแบบของเชื้อชาติ ชนชั้นทางสังคม และเพศ ใช้ญาณวิทยาเชิงอัตวิสัย และวิธีวิทยาที่เป็นการศึกษาธรรมชาติ ซึ่งมักใช้ในชาติพันธุ์วรรณา (ethnography) ข้อมูลเชิงประจักษ์และข้อโต้แย้งทางทฤษฏีถูกประเมินในรูปแบบของการปลดปล่อยให้เป็นอิสระจากกดขี่ (emancipatory) ซึ่งใช้เกณฑ์ของเพศและเชื้อชาติ โดยศึกษาความรู้สึก อารมณ์ ความห่วงใย ความรับผิดชอบส่วนบุคคล และการสนทนา
ทฤษฎีสตรีนิยมในยุคหลังโครงสร้างจะมุ่งเน้นปัญหาที่เกิดขึ้นในบริบทของสังคม ความีเหตุผล และความไม่สามารถที่เป็นตัวแทนในโลกแห่งความเป็นจริงของประสบการณ์ได้อย่างเต็มที่ จึงได้ใช้คำอื่น ๆ มาทดแทนเกณฑ์ของปฏิฐานนิยม คือ การสะท้อนความจริง (reflexive) และเสียงเรียกร้องต่าง ๆ ที่อยู่ในบริบท (multivoiced text) ที่อยู่ในประสบการณ์ของผู้ที่ถูกกดขี่หรือเอาเปรียบ
ส่วนในการศึกษาเชิงวัฒนธรรมและทฤษฏีเพศที่สามจะมีกระบวนทัศน์ที่มีการจุดเน้นหลายอย่าง ที่มาจากแนวคิดมาร์กซิสต์ สตรีนิยม และแนวคิดยุคหลังสมัยใหม่ โดยมุ่งเน้นความหมายของประสบการณ์ที่เกิดขึ้น ตัวกำหนดทางโครงสร้าง และวัตถุที่ประกอบด้วย เชื้อชาติ ชนชั้นทางสังคม และเพศ
3. กลยุทธ์ในการสืบค้นและกระบวนทัศน์ของการตีความ (strategy of inquiry and interpretive paradigm) ในการออกแบบงานวิจัยจะต้องมีจุดเน้นที่มีความชัดเจนในคำถามของการวิจัย วัตถุประสงค์ของการศึกษา ข้อมูลที่เหมาะสมในการตอบคำถามการวิจัย และกลยุทธ์ที่จะต้องใช้เพื่อที่จะบรรลุสิ่งที่ต้องการอย่างมีประสิทธิผล การออกแบบงานวิจัยจะต้องอธิบายแนวทางการศึกษาที่มีความยืดหยุ่น และจะต้องเชื่อมกระบวนทัศน์ทางทฤษฏีกับกลยุทธ์ในการสืบค้น รวมถึงวิธีการเก็บข้อมูลเชิงประจักษ์ ซึ่งผู้วิจัยที่อยู่ในโลกแห่งความเป็นเชิงประจักษ์จะต้องเชื่อมต่อตัวเองเข้ากับข้อมูลที่มีต่าง ๆ ที่ใช้ในการตีความ
กลยุทธ์ในการสืบค้นจะต้องประกอบด้วย ทักษะ การสร้างข้อสมมิต และการปฏิบัติที่นักวิจัยจะต้องใช้ในการปรับกระบวนทัศน์ทางทฤษฎีให้เข้ามาอยุ่ในโลกของความเป็นจริงในเชิงประจักษ์ และจะต้องเชื่อมต่อกับวิธีการเก็บข้อมูลต่าง ๆ เช่น กรณีศึกษา การสัมภาษณ์ การสังเกต และการวิเคราะห์เอกสาร ดังนั้น กลยุทธ์ที่ใช้ในการวิจัยจะต้องระบุกระบวนทัศน์ที่เหมาะสมกับข้อมูลเชิงประจักษ์และแนวปฏิบัติทางระเบียบวิธีที่มีความเฉพาะเจาะจง กลยุทธ์นี้ ประกอบด้วย การใช้กรณีศึกษา เทคนิคด้านปรากฎการณ์วิทยาและชาติพันธุ์วิธี การใช้ทฤษฎีรากฐาน รวมถึงวิธีการอิงชีวประวัติ วิธีอัตชาติพันธุ์วิทยา วิธีการอิงประวัติศาสตร์ วิธีการกระทำ และวิธีการทางคลีนิค
4. วิธีการรวบรวมข้อมูลและการวิเคราะห์ (methods of collection and analysis) นักวิจัยมีวิธีการรวบรวมข้อมูลเชิงประจักษ์ที่มีความหลากหลาย ตั้งแต่การสัมภาษณ์จนถึงการสังเกตโดยตรง การวิเคราะห์สิ่งประดิษฐ์ที่มนุษย์สร้างขึ้น เอกสารต่าง ๆ บันทึกทางวัฒนธรรม การใช้สื่อวีดีทัศน์ หรือประสบการณ์ของบุคคล นักวิจัยจะต้องพบกับ
ภาพ 1.1. กระบวนการทางการวิจัย
ภาพ 1.2 กระบวนทัศน์ของการตีความ
ข้อมูลเชิงอัตวิสัยที่มีจำนวนมาก จึงต้องมีวิธีจัดการและตีความหมายของข้อมูลต่าง โดยอาจใช้การจัดการข้อมูลและการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการวิเคราะห์
5. ศิลปะ แนวปฏิบัติและแนวทางการเมืองของการตีความและการประเมินผล (the art, practices, and politics of interpretation and presentation) การวิจัยเชิงคุณภาพเป็นงานที่มีความสร้างสรรค์และใช้ในการตีความอย่างไม่มีที่สิ้นสุด แนวทางการปฎิบัติในการตีความจะต้องใช้ศิลปะและแนวทางการเมือง จะต้องใช้เกณฑ์ในการประเมินผลต่าง ๆ ที่เน้นโครงสร้างที่มีความสัมพันธ์และอยู่ในบริบทจากประสบการณ์ ไม่มีความจริงที่ถูกตีความเป็นรูปแบบเดียวอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่จะมีหลายรูปแบบ ดังนั้นการประเมินผลจึงมีความสำคัญในงานวิจัยเชิงคุณภาพ และทำให้นักวิจัยเชิงคุณภาพมีอิทธิพลต่อนโยบายด้านสังคมเป็นอย่างมาก
Bridging the Historical Moments: What Come Next?
จากวิวัฒนาการของการวิจัยเชิงคุณภาพที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงให้เข้ากับยุคสมัยที่เกิดขึ้น ในปัจจุบันเราจะอยู่ในยุคของสิ่งที่มีความยุ่งเหยิง ไม่มีอะไรที่มีความแน่นอน บริบทที่มีผู้คนหลากลายทั้งคนส่วนใหญ่และคนส่วนน้อยต่าง ๆ ข้อวิจารณ์ทางวัฒนธรรม และการทดลองสิ่งใหม่เกิดขึ้น สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจนเป็นเรื่องปกติ จึงต้องใช้รูปแบบของการวิเคราะห์ที่สามารถเป็นตัวแทนของการตีความได้จากการลงสนามในการเก็บข้อมูล ที่มีรูปแบบของการสะท้อนความจริงไปกลับ การวิเคราะห์ และการสร้างตัวแทนที่สามารถใช้ได้ในบริบทที่หลากหลายได้
เชิงอรรถ
จาก “Handbook of Qualitative Research 2nd edition” โดย Norman K. Denzin และ Yvonna S. Lincoln, 2000