แนวคิดของทฤษฎีองค์การคลาสสิก
(Classical Organization Theory)
โดย ดร.อนุรักษ์ วัฒนะถาวรวงศ์
ทฤษฎีองค์การดั้งเดิมจะมีหลักแนวคิดจากการปรับปรุงประสิทธิภาพ (efficiency) โดยมีเป้าหมายทางเศรษฐศาสตร์ (economic goal) ซึ่งนักวิชาการในกลุ่มคลาสสิกนี้ให้ความสำคัญกับความมีเหตุผล (rationalization) และโครงสร้าง (structure) โดยอาศัยการสังเกตและประสบการณ์การทำงาน
Xenophon (1869) กล่าวถึง Socrates ค้นพบ Generic Management ว่าการเลือกนายพลจากพื้นฐานของพ่อค้าซึ่งมีความสามารถในการหาเงินได้เก่งและมีความสามารถในการบริหาร แม้ไม่ได้มีความรู้ในการรบ ก็สามารถเป็นนายพลที่คุมกองทัพได้ดีเช่นกัน โดยจะใช้ทุกวิถีทางในการเอาชนะศัตรูเช่น เดียวกัน ก็เป็นแนวคิดการใช้ความมีเหตุผลมาอธิบาย
Adam Smith (1776) ได้เสนอ Division of Labour ซึ่งเป็นพื้นฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยเน้นประสิทธิภาพจากการสังเกต โดยนำเอาการแบ่งงานตามความถนัด ปรับปรุงทักษะ และเครื่องจักรเข้ามาปรับปรุงกระบวนการทำงาน ทำให้ผลผลิตมากขึ้น
Danial C. McCallum (1856) เขียน Superintendent’s Report เสนอหลักการบริหาร จากงานที่ตัวเองมีประสบการณ์ เพื่อสร้างประสิทธิภาพและความสำเร็จของงาน ในการสร้างทางรถไฟในระยะที่แตกต่างกันในมลรัฐต่างๆ ซึ่งต้องส่งรายงานและการแก้ไขข้อผิดพลาดทันที ก็เป็นการใช้ความมีเหตุผล
Henry R. Towne (1886) เป็นวิศวกรซึ่งมองการจัดการให้มีบทบาทต่อการพัฒนาอาชีพทางวิศวกรรม ได้เขียน The Engineer as Economist โดยเสนอให้มีการรวบรวมองค์ความรู้การจัดการ ข้อมูลข่าวสาร สถิติ และประสบการณ์ ในการสร้างการเรียนรู้ที่เร็วขึ้น เพื่อลดต้นทุนจากการผิดพลาด เพิ่มผลผลิต ก็เป็นพื้นฐานหลักประสิทธิภาพโดยใช้หลักเหตุผลจากการแบ่งปันความรู้และข้อมูลข่าวสาร
Henri Fayol (1916) ใน General Principles of Management เสนอหลักการบริหาร 14 ข้อ ซึ่งสอนกันได้ และนำไปใช้ได้ทั่วไป (universally applicable) โดยใช้หลักเหตุผลจากประสบการณ์ในการทำงานในฝ่ายบริหาร ซึ่งมีความสัมพันธ์ระหว่างหลักการ คือ ต้องมีการแบ่งงานกันทำ (division of work)หัวหน้าซึ่งมีอำนาจอันชอบธรรมตามตำแหน่ง และมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ (authority and responsibility) มีบทลงโทษวิธีรักษาระเบียบวินัย (discipline) มีผู้บังคับบัญชาที่ดีในทุกระดับองค์การ (unity of command) มีข้อตกลงที่แน่ชัดและยุติธรรมระหว่างลูกจ้างและนายจ้าง ลูกจ้างต้องได้รับคำสั่งจากผู้บัง คับบัญชาเพียงคนเดียว และมีแผนเดียวเพื่อวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง (unity of direction) ผลประโยชน์ส่วนรวมสำคัญกว่า (subordination of individual interest to general interest) ความเป็นธรรมในผลตอบแทนและเป็นที่พอใจของฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง (remuneration of personnel) การรวมอำนาจ (centralization) มีโครงสร้างองค์การเป็นลำดับชั้นของสายบังคับบัญชา (scalar chain) มีความเป็นระเบียบของลำดับชั้นของการบังคับบัญชา (order) มีความเสมอภาค (equity) มีความมั่นคงของงาน (stability of tenure of personnel) สร้างความคิดริเริ่ม (initiative) และต้องมีความสามัคคีกลมเกลียวระหว่างสมาชิกในองค์การ (esprit de corps)1
Frederick Winslow Taylor (1916) เขียน The Principles of Scientific Management เสนอหลักวิทยาศาสตร์การจัดการดีกว่าหลักความเคยชิน (rule of thumb) โดยแนะนำเครื่องจักรเข้ามาช่วยจูงใจคนงานด้วยการเงินเพื่อแก้ปัญหารการอู้งาน (soldiering) หาแนวทางการทำงานที่ดีที่สุด (one best way) ตามหลักวิทยาศาสตร์ คัดเลือกคนตามหลักเหตุผลทางวิทยาศาสตร์รวมทั้งมีการอบรมการทำงนที่ถูก ต้อง และหลักการแบ่งงานกันทำ โดยผู้บริหารเป็นผู้วางแผน และคนงานเป็นผู้ปฏิบัติ โดยใช้การสังเกต ทดลอง ซึ่งเป็นการใช้เหตุและผลทางวิทยาศาสตร์เพื่อนำไปสู่ประสิทธิภาพ
Max Weber (1922) เสนอ Bureaucracy โดยเน้นโครงสร้างรูปแบบที่เป็นทางการ ซึ่งประกอบด้วย กฎ (rules) หลักลำดับชั้น (hierarchy) ระเบียบแบบแผนเป็นลายลักษณ์อักษร (written document) มีความเชี่ยวชาญ (expert) ทำงานเต็มความสามารถ (full working capacity) เป็นการจ้างงานตลอดชีพ (lifelong career) ไม่ยึดตัวบุคคล (impartiality) แนวคิดนี้เป็นการเสนอว่า bureaucracy เป็นวิธีการจัดองค์การที่มีประสิทธิภาพหนือวิธีอื่นใด2
Luther Gulick (1937) เขียน Notes on the Theory of Organization ได้เน้นหลักประสิทธิภาพของการบริหาร ซึ่งมีการแบ่งงานกันทำ (division of work) การประสานงาน (co-ordination of work) หลักการจัดโครงสร้างอำนาจ (structure of authority) และหน้าที่ของฝ่ายบริหาร POSDCORB ซึ่งแนวคิดเหล่านี้ก็นเน้นความสำคัญเกี่ยวกับโครงสร้าง และใช้หลักเหตุผลในกระบวนการในการบริหาร3
ข้อสังเกตุแนวคิดทฤษฎีกลุ่มคลาสสิกจะเน้นความสำคัญไปยังฝ่ายจัดการ ค้นหาวิธีที่ดีที่สุด สร้างประสิทธิภาพในการทำงาน ใช้ความเป็นเหตุผลในการหาคำตอบให้กับปัญหา สนใจโครงสร้างองค์การ และไม่ได้กล่าวถึงการปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม จึงเป็นระบบปิด (closed system)
เปรียบเทียบความคิดทฤษฎีองค์การคลาสสิกกับสภาพแวดล้อมในขณะนั้น
สถานการณ์ช่วงก่อนพัฒนาทฤษฎีองค์การคลาสสิก ก่อนแนวคิดของ Adam Smith เกี่ยวกับ Division of Labour รูปแบบการผลิตและการบริหารเป็นการลองผิดลองถูก (trial and error) เป็นการทำตามความเคยชิน (rule of thumb) ซึ่งไม่ได้ส่งเสริมให้มีการเพิ่มผลผลิต นอกจากนั้น ยังไม่มีการรวบรวมองค์ความรู้ที่เป็นการศึกษาการปรับปรุงกระบวนการ การบริหาร อีกทั้งการบริหารองค์การในสมัยนั้นจะอยู่ในการควบคุมของคนบางกลุ่ม เช่น กษัตริย์ ขุนนาง พ่อค้า ซึ่งมีฐานะทางสังคมสูง มีเงิน มีอำนาจ มีการศึกษาที่ดีกว่า การทำงานในสมัยก่อนจะใช้แรงงานคนเป็นหลัก ก่อนที่จะมีการคิดค้นเครื่องจักร ดังนั้นคนจนจึงเป็นเครื่องมือการผลิตของสินค้าต่างๆ การปฏิสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างเป็นการจ่ายค่าแรงที่ไม่จูงใจ หรือใช้การบังคับขู่เข็ญให้ทำงาน เช่น การสร้างกำแพงเมืองจีน ปิระมิด เป็นต้น
จนกระทั่งเมื่อเริ่มค้นพบเครื่องจักรไอน้ำ ทำให้เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม (industrial revolution) ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ มีการพัฒนากระบวนการทำงานโดยใช้เครื่องจักรเข้ามาช่วยทำให้ผลผลิตสูงขึ้น และทำให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้สินค้าที่แพงและซื้อได้เฉพาะคนรวย เช่น ผ้าฝ้าย (cotton) ที่เคยเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยราคาแพง หลักจากที่เพิ่มผลผลิตได้มาก ก็ทำให้ราคาถูกลง และทุกคนก็สามารถหาซื้อได้เช่นกัน ดังนั้นทำให้นักวิชาการและนักบริหารในขณะนั้น มุ่งไปยังการสร้างประสิทธิภาพในการทำงาน เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจ คือกำไรในที่สุด
Smith และ Taylor ได้ใช้หลักเหตุผล ในการสร้างประสิทธิภาพ จากการสังเกตุและประสบการณ์ ทำให้ผลผลิตสูงขึ้น และต้นทุนต่ำลง แต่ Taylor ก็เข้าใจความต้องการพื้นฐานของคนงาน โดยเพิ่มสิ่งจูงใจทางการเงิน การคัดเลือกคน การสอนงาน ซึ่งเป็นพื้นฐานการบริหารงานบุคคลในปัจจุบัน
ส่วน Fayol, Weber และ Gulick ให้ความสำคัญกันโครงสร้าง และแนวคิดในการบริหาร ซึ่งใช้หลักเหตุผล และนำมาการทำงานที่ประสิทธิภาพเช่นเดียวกัน โดยที่ Fayol ใช้ประสบการณ์ในการบริหารที่ประสบความสำเร็จจากการที่ทำให้บริษัทที่มีประสบปัญหาทางการเงินอย่างมากมีกำไรได้ และ Fayol ก็เป็นทั้งวิศวกรและนักบริหาร ได้เสนอแนวคิดว่าการบริหารองค์การไม่เพียงแต่มีความรู้ความชำนาญทางด้านเทคนิค แต่ต้องมีความรู้ในการบริหารจัดการอีกด้วย ขณะที่ Weber ก็มีความคิดในความจำเป็นในการสร้างพื้นฐานของหลักเหตุผลสำหรับองค์การและธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ เพื่อออก แบบโครงสร้างองค์การอุดมคติให้มีประสิทธิภาพ ส่วน Gulick ได้นำพัฒนาแนวคิดต่อเนื่องจาก Fayol ก็ได้เน้นโครงสร้างและหน้าที่ของฝ่ายบริหาร
สรุปในแนวคิดของทฤษฎีองค์การคลาสสิกเป็นการตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมในสมัยนั้นที่มุ่งเน้นไปการสร้างประสิทธิภาพ โดยใช้หลักการสังเกต และประสบการณ์ โดยให้ความสำคัญกับโครงสร้าง และความมีเหตุผล ซึ่งยังไม่ได้ปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม
เชิงอรรถ
1ที่มา. จาก “รัฐประศาสนศาสตร์ ทฤษฎีและแนวการศึกษา (ค.ศ. 1887 – ค.ศ. 1970)” โดย พิทยา บวรวัฒนา, 2552, กรุงเทพฯ: หน้า 37.
2Ibids., หน้า 20.
3ที่มา. จาก “Classic of Organization Theory Sixth Edition” โดย Jay M. Shafritz, J. Steven Ott, Yong Suk Jang, 2005, Belmont: หน้า 35-86.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น