ชนรุ่น (Generation)
โดย ดร. อนุรักษ์ วัฒนะถาวรวงศ์
ความหมายของชนรุ่น
Mannheim (1952)
ได้ริเริ่มนำแนวคิดชนรุ่นมาใช้ในการศึกษาด้านสังคมวิทยาได้เขียนเรื่อง The Problem of Generations ซึ่งเป็นผลงานทางวิชาการที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายในการนำมาใช้อ้างอิงทางการศึกษาด้านสังคมวิทยาและด้านการเมืองในประเด็นที่เกี่ยวกับชนรุ่นและโดยเสนอทฤษฎีชนรุ่น (Generational Theory)
ซึ่งอธิบายว่าทัศนคติและค่านิยมของชนรุ่นถูกหล่อหลอมด้วยเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์
ในช่วงชีวิตที่มีการเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ มาวิเคราะห์และคาดการณ์โดยสะท้อนจากสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตไปสู่พฤติกรรมในอนาคต (McCrindle, 2006, p. 3)
Mannheim (1952,
p. 291) เสนอว่าชนรุ่น (generation) เป็นกลุ่มของบุคลากรที่เกิดในช่วงเวลาเดียวกันซึ่งมีช่วงชีวิตที่ได้เจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่และอยู่ในสภาพ-แวดล้อมที่ได้รับรู้เหตุการณ์ทางสังคมและประวัติศาสตร์แบบเดียวกัน
จึงทำให้บุคลากรที่เกิดในช่วงเวลาเดียวกันจะมีรูปแบบทางทัศนคติ ค่านิยม
และพฤติกรรมที่แสดงออกมาในลักษณะเดียวกัน Schuman and Scott
(1989, p. 360)
กล่าวว่าชนรุ่นเป็นกลุ่มของบุคลากรที่มีความทรงจำและมีการรับรู้ร่วมกัน (collective
memories) ถึงเหตุการณ์สำคัญในช่วงที่เจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่
ซึ่งจะส่งผลต่อทัศนคติ สิ่งที่ชอบ และพฤติกรรมที่แสดงออกมา
ทำให้มีรูปแบบของความเชื่อ ค่านิยม และความคาดหวังเหมือนกัน
จนเกิดเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชนรุ่น (generational identity) เช่นเดียวกับ
Strauss & Howe (1991, p. 34)
ได้ระบุว่าชนรุ่นเป็นกลุ่มของบุคลากรที่มีบุคลิกลักษณะและค่านิยมพื้นฐานแบบเดียวกัน
ที่ได้รับอิทธิพลมาจากการรับรู้ร่วมกันถึงประสบการณ์ของเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในรูปแบบเดียวกัน
Kuppershmidt (2000, pp. 65-67)
ได้อธิบายว่าชนรุ่นว่าเป็นกลุ่มของบุคลากรซึ่งมีช่วงปีเกิดอยู่ในช่วงเดียวกันและรับรู้ร่วมกันถึงเหตุการณ์ที่มีความสำคัญต่าง
ๆ ในช่วงที่ได้เรียนรู้ ปรับตัว และพัฒนาจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่
ทำให้แต่ละชนรุ่นจะมีรูปแบบของพฤติกรรมที่เป็นลักษณะเฉพาะ
ซึ่งได้มาจากการรับรู้ร่วมกันถึงประสบการณ์แบบเดียวกัน
จากความหมายของนักวิชาการที่ได้ศึกษาข้างต้น
สามารถสรุปได้ว่าชนรุ่นเป็นกลุ่มของบุคลากรที่เกิดในช่วงเวลาเดียวกัน
รับรู้ถึงประสบการณ์แบบเดียวกันร่วมกัน
จากเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ในช่วงชีวิตที่เจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่
ส่งผลทำให้บุคลากรที่เกิดในช่วงเวลาเดียวกันจึงมีบุคลิกลักษณะและค่านิยมพื้นฐานเป็นแบบเดียวกัน
มีความทรงจำและการรับรู้ร่วมกัน จนเกิดเป็นลักษณะเฉพาะของชนรุ่น
การศึกษาแนวคิดชนรุ่น (generational
concept) สามารถใช้ทฤษฎีช่วงชีวิต (Life Course Theory) อธิบายช่วงชีวิตของบุคคล (phases
in life) ตามช่วงเวลาที่มีพัฒนาการเจริญเติบโต
โดยใช้บทบาททางสังคมในแต่ละช่วงชีวิตกับค่านิยมในแต่ละขั้นพัฒนาการ ดังแสดงในตาราง 1
บทบาททางสังคมในแต่ละช่วงชีวิต
ช่วงชีวิต
|
อายุ
|
ขั้น
|
บทบาททางสังคม
|
วัยเยาว์
|
0-21
|
เติบโต
|
ได้รับการเลี้ยงดู
อบรม สั่งสอน จนเป็นผู้ใหญ่ และได้รับเอาค่านิยมและความเชื่อเข้ามา
|
วัยผู้ใหญ่
|
22-43
|
ทดสอบ
|
ทดสอบและยืนยันค่านิยมที่ได้รับเข้ามาในช่วงชีวิตที่เจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่
|
วัยกลางคน
|
44-65
|
ยืนยัน
|
ยืนยันค่านิยมที่ได้รับเข้ามาในการจัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่ชอบและสิ่งที่เป็นความต้องการ
|
วัยสูงอายุ
|
66-87
|
ถ่ายทอด
|
บุคคลในวัยนี้ถ่ายทอดค่านิยมของตนเองให้กับสมาชิกในชนรุ่นถัดไป
|
ที่มา.
จาก Generations: The history of America’s future, 1584 to 2069 (p. 445), by
W. Strauss and N. Howe, 1991, New York:
William Morrow.
จากตาราง 1 ได้แสดงให้เห็นว่าบทบาททางสังคมกับการยอมรับค่านิยม เริ่มจาก วัยเยาว์ (youth)
เป็นช่วงชีวิตที่เจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ (formative) อยู่ในช่วงอายุตั้งแต่แรกเกิดจนกระทั่งอายุ 21 ปี
เป็นช่วงเวลาที่บุคคลในวัยนี้ได้รับการเลี้ยงดู อบรม สั่งสอน
จนกระทั่งเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ และได้รับเอาค่านิยมและความเชื่อเข้ามา วัยผู้ใหญ่
(rising) อยู่ในช่วงอายุตั้งแต่ 22 ปี
จนกระทั่งอายุ 43 ปี เป็นช่วงเวลาที่บุคคลในวัยนี้ทำการทดสอบและยืนยันค่านิยมที่ได้รับเข้ามาในช่วงชีวิตที่เจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่
วัยกลางคน (mid adulthood) อยู่ในช่วงอายุตั้งแต่ 44 ปี จนกระทั่ง 65 ปี เป็นช่วงเวลาที่บุคคลในวัยนี้ยืนยันค่านิยมที่ได้รับเข้ามาในการจัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่ชอบและสิ่งที่เป็นความต้องการ
วัยสูงอายุ (elderhood) อยู่ในช่วงอายุตั้งแต่ 66 ปี จนกระทั่ง 87 ปี
เป็นช่วงเวลาที่บุคคลในวัยนี้ถ่ายทอดค่านิยมของตนเองให้กับสมาชิกในชนรุ่นถัดไป
(Strauss & Howe, 1991, pp. 443-453)
ปัจจุบันองค์การสมัยใหม่มีการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างองค์การ
ทำให้เกิดความหลากหลายทางทรัพยากรมนุษย์จากความแตกต่างของชนรุ่น ได้แก่
ชนรุ่นยุคโทรทัศน์ ชนรุ่นยุคคอมพิวเตอร์ และชนรุ่นยุคอินเทอร์เน็ต
ความแตกต่างที่เกิดขึ้นนี้ได้ส่งผลต่อการทำงานร่วมกันระหว่างกลุ่ม ความหลากหลายนี้หล่อหลอมให้บุคลากรมีกระบวนการคิดและการแสดงออกในพฤติกรรมที่แตกต่างกัน ส่งผลให้มีความต้องการและแรงจูงใจในการทำงานที่แตกต่างกัน
มีลักษณะการเรียนรู้และพัฒนาที่ไม่เหมือนกัน
ความหลากหลายดังกล่าวอาจจะกลายเป็นปัญหาระดับองค์การได้ หากขาดความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของความหลากหลายก็อาจส่งผลกระทบต่อความสำเร็จขององค์การได้ นอกจากนั้นการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการสื่อสาร
รวมทั้งสังคมในยุคโลกาภิวัตน์ส่งผลต่อวิธีการบริหารจัดการในองค์การที่จะต้องตอบสนองต่อความหลากหลายถึงสิ่งที่แต่ละชนรุ่นให้ความสำคัญ มีความต้องการและความคาดหวังจากการทำงาน องค์การจะต้องสร้างความเข้าใจในความแตกต่างที่เกิดขึ้น
โดยปรับเปลี่ยนกระบวนการบริหารทรัพยากรมนุษย์ให้สามารถตอบสนองต่อความหลากหลายจากความแตกต่างของชนรุ่นได้อย่างมีประสิทธิผล
ตั้งแต่การสรรหา การจูงใจ การพัฒนา และการรักษาให้บุคลากรสามารถปฏิบัติงานเพื่อบรรลุผลสำเร็จขององค์การ มีความพึงพอใจในการทำงาน เกิดเป็นความผูกพันองค์การ
การศึกษาความแตกต่างของชนรุ่น
(generational differences) โดยนำช่วงปีเกิดของบุคลากรกับการรับรู้ถึงประสบการณ์ของเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์และสังคมในแบบเดียวกัน มาเป็นเกณฑ์เพื่อใช้จำแนกประเภทชนรุ่น (generational cohort) โดยจัดบุคลากรที่มีช่วงปีเกิดในเวลาเดียวกันให้อยู่ชนรุ่นเดียวกัน
สมาชิกที่อยู่ชนรุ่นเดียวกันได้รับรู้ถึงประสบการณ์ในแบบเดียวกันร่วมกัน จึงทำให้มีการแสดงออกทางพฤติกรรมที่มีรูปแบบในการตอบสนองเหมือนกัน จึงเกิดเป็นลักษณะเฉพาะของชนรุ่น
จึงทำให้บุคลากรในชนรุ่นเดียวกันมีความรู้สึกนึกคิดในลักษณะเดียวกัน
จากการหล่อหลอมทางสังคมที่ใช้ในการกำหนดรูปแบบของพฤติกรรม ความรู้สึก และความคิด
ซึ่งเป็นที่นิยมและได้รับการยอมรับในช่วงระยะเวลานั้น ส่งผลทำให้สมาชิกในชนรุ่นเดียวกันจึงมีการแสดงออกทางทัศนคติ ความรู้สึก และพฤติกรรมที่อยู่ในรูปแบบเดียวกัน โดยสมาชิกที่อยู่ชนรุ่นเดียวกันนั้น
ไม่ได้รู้จักกันมาก่อน ไม่ได้อยู่ใกล้กัน และไม่ได้คุ้นเคยกัน (Eyerman & Turner, 1998, p. 97)
การใช้ช่วงเวลาเดียวกันนี้มาจัดชนรุ่นเป็นสิ่งที่ใช้กำหนดจุดทางสังคม
(social marker) ในระหว่างที่เกิดเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์และทางสังคมซึ่งบุคลากรในชนรุ่นนั้นได้รับรู้และมีประสบการณ์แบบเดียวกันร่วมกัน
ในช่วงชีวิตที่เจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่
ได้รับการหล่อหลอมทางสังคมจนเกิดเป็นลักษณะเฉพาะของชนรุ่นนั้นขึ้น
การรับรู้ถึงประสบการณ์แบบเดียวกันร่วมกันของบุคลากรที่มีช่วงอายุใกล้เคียงกันทำหน้าที่เป็นเสมือนกับเลนส์ที่ใช้มองผ่านเหตุการณ์ต่าง ๆ จากสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้น
(McCrindle, 2006 p. 10) ดังนั้น
รูปแบบเลนส์ของชนรุ่นที่ใช้มองก็มีความแตกต่างกันตามการรับรู้ถึงประสบการณ์ของเหตุการณ์สำคัญในช่วงชีวิตที่ได้เจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่
เหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละยุคสมัยก็มีความแตกต่างกันไปตามกาลเวลา จึงส่งผลทำให้แต่ละชนรุ่นมีมุมมองที่แตกต่างกัน ตามประสบการณ์ซึ่งได้รับรู้ร่วมกันในแต่ละช่วงเวลาและเกิดเป็นลักษณะเฉพาะของชนรุ่น
(Dencker, Aparna, & Martocchio, 2007, pp. 211-212) ดังแสดงในภาพ 1
ภาพ 1 ทฤษฎีชนรุ่น
ที่มา. ดัดแปลงจากการศึกษาของ Strauss & Howe (1991) Lancaster & Stillman
(2003) Zemke et al. (2000) Espinoza et al. (2010) และ
Martin & Tulgan (2002).
จากภาพ 1 แสดงให้เห็นถึงการนำเหตุการณ์สำคัญทางสังคม
เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม และเทคโนโลยีในช่วงชีวิตที่เจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่
และส่งผลต่อทัศนคติ ค่านิยม แรงจูงใจ มาใช้ในการจำแนกประเภทชนรุ่น
และใช้อธิบายลักษณะพื้นฐานของชนรุ่นตามการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ทางสังคม (societal
paradigm shift) ที่เกิดขึ้นในเวลาเดียวกับช่วงที่บุคลากรนั้นได้เจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่
เป็นช่วงเวลาที่มีการพัฒนาทั้งร่างกายและจิตใจ รวมทั้งได้รับอิทธิพลจากสิ่งที่ยอมรับและเป็นที่นิยมในขณะนั้น
หรือเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ ซึ่งจะส่งผลทำให้เกิดเป็นลักษณะเฉพาะของแต่ละชนรุ่น (Strauss & Howe, 1991, pp. 34-36)
ทฤษฎีชนรุ่นจึงได้นำช่วงปีเกิดในการจำแนกชนรุ่นและใช้มุมมองระดับกลุ่มมากกว่าที่จะมุ่งเน้นระดับปัจเจกบุคคล
เพื่ออธิบายลักษณะของแต่ละชนรุ่นซึ่งมีรูปแบบที่แตกต่างกันจนเกิดเป็นลักษณะเฉพาะ (Espinoza,
Ukleja, & Rusch, 2010, p. 15)
ในทำนองเดียวกับทัศนคติ ค่านิยม และพฤติกรรมการทำงานในแต่ละชนรุ่น ก็ได้รับอิทธิพลจากสถานการณ์ในสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นเช่นเดียวกัน
เมื่อแต่ละชนรุ่นได้เข้าสู่การทำงานก็จะนำความแตกต่างที่เกิดขึ้นนี้มาในที่ทำงานด้วยเช่นกัน (Jurkiewicz, 2000, pp.
55-74)
Inglehart (1997, p. 103) ยังได้อธิบายค่านิยมที่ส่งผลต่อชนรุ่นจากการรับรู้ถึงประสบการณ์ร่วมกันในช่วงที่เจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ว่ามาจาก
อิทธิพลด้านเศรษฐกิจสังคมและด้านความขาดแคลนทางทรัพยากร ทำให้ค่านิยมของบุคลากรได้รับผลกระทบจากสภาวะความไม่มั่นคง
เช่น สงคราม เศรษฐกิจตกต่ำ จะทำให้บุคลากรนั้นมีค่านิยมแบบยุคสมัยใหม่
(modernist) เช่น ความประหยัด ความมีเหตุมีผล วัตถุนิยม
ความเป็นพวกเดียวกัน การปฏิบัติตามกฎระเบียบ
ในทางตรงข้ามหากบุคลากรนั้นเติบโตในช่วง
ที่สภาวะมีความมั่นคง ก็จะมีค่านิยมแบบยุคหลังสมัยใหม่ (postmodernism) เช่น ความเสมอภาค ความเป็นปัจเจกบุคคลนิยม การสร้างความเชื่อใจระหว่างกัน
การยอมรับในความแตกต่าง และการเปลี่ยนแปลง ดังนั้น เมื่อสภาวะทางเศรษฐกิจสังคมเกิดความไม่มั่นคง จะเป็นผลให้ชนรุ่นนั้นให้ความสำคัญกับความเป็นอนุรักษ์นิยมและการสร้างคุณค่าของตนเอง
ขณะที่สภาวะทางเศรษฐกิจสังคมที่มีความมั่นคง จะเป็นผลให้ชนรุ่นนั้นให้ความสำคัญกับการยอมรับความเปลี่ยนแปลงและการสร้างความเปลี่ยนแปลง
ให้เกิดขึ้น (Egri & Ralston, 2004, p. 211)
การศึกษาวิจัยทางวิชาการและวรรณกรรมที่ได้มีการอ้างอิงถึงชนรุ่นส่วนใหญ่มักจะนิยมใช้วิธีการจัดประเภทตามที่ได้มีการศึกษาและกำหนดไว้แล้วว่าสังคมในปัจจุบันสามารถจำแนกชนรุ่นได้ดังนี้
ชนรุ่นยุควิทยุ (Radio Generation) ชนรุ่นยุคโทรทัศน์
(Television Generation) ชนรุ่นยุคคอมพิวเตอร์ (Computer
Generation) ชนรุ่นยุคอินเทอร์เน็ต (Internet Generation) และชนรุ่นสมาร์ทโฟน (Smartphone Generation) ชื่อที่ใช้จำแนกชนรุ่นอาจจะแตกต่างจากการวิจัยนี้
ตามนักวิชาการที่ศึกษา และจัดประเภทตามช่วงปีเกิดของแต่ละชนรุ่น
โดยใช้เป็นช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ สังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม
สมาชิกที่อยู่ชนรุ่นเดียวกันจะมีค่านิยมและทัศนคติที่สอดคล้องกันภายในกลุ่ม เป็นผลมาจากการรับรู้ถึงประสบการณ์แบบเดียวกันที่ผ่านมาร่วมกัน
ในขณะที่เกิดเหตุการณ์สำคัญนั้นขึ้น
จึงเกิดเป็นลักษณะเฉพาะของชนรุ่นและสามารถนำมาใช้ในการกำหนดและแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของชนรุ่นได้ (Strauss & Howe, 1991, p.
9) โดยสมาชิกที่อยู่ชนรุ่นเดียวกันจะมีลักษณะนิสัยที่มีรูปแบบทัศนคติ
ค่านิยม และพฤติกรรมเป็นแบบเดียวกัน และได้ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของแต่ละบุคคล
ช่วงระยะที่ใช้จำแนกชนรุ่น จะมีค่าเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 20 ถึง 22
ปี ตามช่วงปีเกิดที่ได้กำหนดเป็นเกณฑ์ และใช้อ้างอิงว่าบุคลากรนั้นเป็นสมาชิกอยู่ชนรุ่นใด
ในอดีตองค์การประกอบด้วยบุคลากรที่มีช่วงวัยแตกต่างกัน
จำแนกด้วยระดับชั้นขององค์การ (organizational
stratification) ได้แก่
บุคลากรผู้อาวุโสอยู่ตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง
บุคลากรวัยกลางคนอยู่ตำแหน่งบังคับบัญชาระดับกลาง
และบุคลากรวัยหนุ่มสาวอยู่ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ
จะเห็นได้ว่าเป็นการจัดสรรตำแหน่งตามลำดับอาวุโส อยู่ในลักษณะโครงสร้างองค์การเป็นลำดับขั้น
แบ่งเป็นชั้นแยกส่วนกันได้อย่างชัดเจน
โครงสร้างองค์การมีการเปลี่ยนผ่านของบุคลากรในแต่ละช่วงวัย
เป็นไปตามธรรมชาติของอายุขัยอย่างสมดุล
ซึ่งประชากรในอดีตมีอายุขัยเฉลี่ยน้อยกว่าในปัจจุบัน
ขณะที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในปัจจุบันทำให้อายุขัยเฉลี่ยของประชากรสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ประกอบกับโครงสร้างองค์การมีความยืดหยุ่นมากขึ้น จึงเกิดความหลากหลายของบุคลากรในช่วงอายุเพิ่มขึ้นในระดับบริหาร
ผู้บริหารระดับสูงจากบุคลากรอาวุโสและจากบุคลากรวัยกลางคนมีจำนวนมากขึ้น
นอกจากนั้น การเปลี่ยนแปลงระบบการพิจารณาจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงานแทนระบบอาวุโส
ก็ยิ่งทำให้องค์การสมัยใหม่ประกอบด้วยบุคลากรทุกช่วงวัยอยู่ในโครงสร้างที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้นเกิดเป็นความหลากหลายของชนรุ่นที่แตกต่างกันทำงานร่วมกันอยู่ในองค์การ แต่ละชนรุ่นจะมีค่านิยมที่เป็นลักษณะเฉพาะซึ่งส่งผลต่อความต้องการ ความคาดหวัง และพฤติกรรมในการทำงานที่แตกต่างกัน เช่น ชนรุ่นยุควิทยุกับชนรุ่นยุคโทรทัศน์จะมีรูปแบบวิธีการทำงานที่ให้ความสำคัญกับการทำงานหนักและความทุ่มเทให้กับการทำงาน ขณะที่ชนรุ่นยุคคอมพิวเตอร์กับชนรุ่นยุคอินเทอร์เน็ตจะให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีใหม่มาประยุกต์ใช้ในการทำงาน
เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น มีเวลาให้กับชีวิตส่วนตัวมากขึ้น
จึงให้ความสำคัญกับความสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว (work
life balance) ดังนั้นลักษณะเฉพาะของแต่ละชนรุ่นจึงสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบลักษณะของงานและวิธีที่ใช้จูงใจเพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการและความคาดหวังจากการทำงานของบุคลากร
ในแต่ละชนรุ่นได้อย่างมีประสิทธิผล (Parry & Urwin, 2011,
pp. 79-96)
สรุปได้ว่า แนวคิดชนรุ่นสามารถใช้อธิบายความแตกต่างของบุคลากร
จากความเชื่อมโยงระหว่างลักษณะของชนรุ่นกับอิทธิพลของสภาพแวดล้อมทางสังคม เศรษฐกิจ
วัฒนธรรม และการเมือง ที่ส่งผลให้บุคลากรที่มีช่วงปีเกิดในเวลาเดียวกัน
จะรับรู้ถึงประสบการณ์ของเหตุการณ์สำคัญแบบเดียวกัน
มีบุคลิกลักษณะและค่านิยมพื้นฐานเหมือนกัน จนเกิดเป็นลักษณะเฉพาะของแต่ละชนรุ่น
ลำดับต่อไปเป็นการศึกษาลักษณะของชนรุ่น
สิ่งที่แต่ละชนรุ่นให้ความสำคัญในการทำงาน และค่านิยมในการทำงานของแต่ละชนรุ่น ดังต่อไปนี้
ชนรุ่นยุควิทยุ
(Radio Generation) หรือไซเลนท์เจเนอเรชั่น (Silent Generation) มีช่วงปีเกิดในระหว่างปี
ค.ศ. 1928-1945ได้รับรู้ถึงเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ ได้แก่
สภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (ค.ศ. 1930) แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจของอเมริกา (ค.ศ. 1933) สงครามโลกครั้งที่สอง (ค.ศ. 1939-1945) การโจมตีเพิร์ลฮาเบอร์ (ค.ศ. 1941) สงครามเกาหลี (ค.ศ.
1950-1953) การทดลองสร้างระเบิดนิวเคลียร์ (ค.ศ. 1945) เป็นต้น
ชนรุ่นนี้ต้องการทำงานให้กับองค์การขนาดใหญ่ โดยเฉพาะองค์การภาครัฐ
เพื่อที่จะได้มีโอกาสแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันและองค์การ เช่น
รับใช้ประเทศชาติด้วยการสมัครเข้าเป็นทหารกองประจำการในระหว่างสงครามโลกเพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดีและความรักชาติ (Zemke, Raines and
Filipczak, 2000, p. 98)
สิ่งที่ชนรุ่นยุควิทยุให้ความสำคัญในการทำงาน
ชนรุ่นยุควิทยุให้ความสำคัญกับการทำงานหนัก การปฏิบัติตามนโยบายและกฎเกณฑ์ข้อบังคับ
ด้วยความเชื่อที่ว่าความพยายามจากการทุ่มเทให้กับการทำงานและการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์อย่างเคร่งครัดที่ผ่านมานั้นก็จะส่งผลให้ได้รับการตอบแทนในที่สุด
สมาชิกในชนรุ่นนี้เติบโตอยู่ในสังคมซึ่งได้รับอิทธิพลจากการปฏิบัติตามกฎระเบียบวินัยทางทหารของกองทัพในระหว่างสงคราม ชนรุ่นนี้จึงมีความต้องการแสดงออกถึงความรักชาติ ความเสียสละ และการทำงานเพื่อส่วนรวม ค่านิยมที่เกิดขึ้นนี้ได้หล่อหลอมเข้าไปอยู่ในลักษณะของชนรุ่นนี้ จึงให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามนโยบาย กฎ และข้อบังคับ ปฏิบัติงานตามที่ได้รับมอบหมายอย่างเคร่งครัด นอกจากนั้น การรับรู้ถึงประสบการณ์ในช่วงชีวิต
ที่มีความลำบากยากเข็ญ
จากผลกระทบของสงครามโลกครั้งที่สองและสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ก็ได้ส่งผลต่อความรู้สึกนึกคิดและพฤติกรรมของสมาชิกในชนรุ่นนี้
จึงให้ความสำคัญกับการอดออม การใช้จ่ายอย่างประหยัด และการใช้เงินอย่างคุ้มค่ามีความเป็นอนุรักษ์นิยมสูง ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง ให้ความสำคัญกับครอบครัว
ต้องการความมั่นคงในชีวิต และมีจิตใจสาธารณะ (Lancaster
& Stillman, 2003, p. 19)
การรับข้อมูลข่าวสารหรือความบันเทิงของสมาชิกในชนรุ่นนี้เป็นการรับฟังโดยผ่านเครื่องวิทยุซึ่งเป็นเทคโนโลยีการสื่อสารที่นิยมกันอย่างแพร่หลายในยุคสมัยนั้น
(Gravette & Throckmorton, 2007)
ชนรุ่นนี้จึงได้เรียนรู้วิธีการทำงานโดยไม่มีเทคโนโลยีสนับสนุนหรือช่วยเหลือในการทำงาน
จึงถูกสอนให้เชื่อฟังคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาในการทำงานและปฏิบัติตามนโยบายและกฎข้อบังคับ
ชนรุ่นยุควิทยุจะนิยมทำงานให้กับองค์การขนาดใหญ่ที่มีลักษณะโครงสร้างตามลำดับขั้น
ดังนั้น รูปแบบวิธีการบริหาร
ของบุคลากรในชนรุ่นนี้ จึงเป็นรูปแบบของการสั่งงานตามสายบังคับบัญชา (chain
of command) โดยให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบและขั้นตอนในการทำงาน
ส่งงานที่ได้รับมอบหมายภายในระยะเวลาที่กำหนด มีความพึงพอใจจากการทำงานก็ต่อเมื่อสามารถปฏิบัติภารกิจตามที่ได้รับมอบหมายได้สำเร็จ
สมาชิกในชนรุ่นนี้ต้องการที่จะแสดงออกให้เห็นถึงความจงรักภักดีต่อองค์การ
จึงให้ความสำคัญกับการทำงานเพื่อส่วนรวม ความทุ่มเทในการทำงาน และความเสียสละให้กับองค์การ (Lancaster & Stillman, 2003, p. 20)
ชนรุ่นยุควิทยุให้ความสำคัญกับความทุ่มเทในการทำงาน
ตำแหน่งหน้าที่ มีความอดทนในการทำงาน
ด้วยความเชื่อที่ว่าการทำงานหนักและปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดแล้วจะส่งผลทำให้ความพยายามนั้นได้รับการตอบแทนเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม
เช่น การปรับเลื่อนตำแหน่งให้สูงขึ้น
นอกจากนั้นยังให้ความสำคัญกับหน้าที่การงานมากกว่าเรื่องส่วนตัว
และยึดถือคำสั่งตามสายบังคับบัญชา
ชนรุ่นนี้มักจะปฏิบัติงานตามคำสั่งที่ได้รับมอบหมาย ไม่นิยมการเปลี่ยนแปลง มีความจงรักภักดีต่อองค์การ
จึงเป็นเรื่องปกติที่บุคลากรในชนรุ่นนี้ทำงานให้กับองค์การใดองค์การหนึ่งจนเกษียณอายุ
(Espinoza & Rusch, 2010,
p. 5)
ค่านิยมเกี่ยวกับงานของชนรุ่นยุควิทยุ
จากการที่ชนรุ่นยุควิทยุเข้าสู่อาชีพการทำงานในช่วงที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ส่งผลทำให้สมาชิกในชนรุ่นนี้ให้ความสำคัญกับการอดออม การประหยัด และการใช้จ่ายอย่างคุ้มค่า
และมองว่าการได้งานทำนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก
เนื่องจากการได้รับคัดเลือกให้เข้าทำงานเป็นสิ่งที่ยากมากในยุคสมัยนั้น
ดังนั้นชนรุ่นนี้จึงให้ความสำคัญอย่างมากกับความมั่นคงในอาชีพการทำงาน มีความจงรักภักดีต่อองค์การ และมีความเชื่อว่าเมื่อเข้าทำงานได้แล้วจะต้องรักษางานที่ได้ทำนั้นให้มีความมั่นคงและทำงานจนเกษียณอายุ
จึงทำให้ชนรุ่นนี้ไม่นิยมที่จะเปลี่ยนงาน นอกจากนั้นการทำงานในองค์การขนาดใหญ่ที่มีโครงสร้างเป็นแบบลำดับขั้นจะมีการติดต่อสื่อสารอย่างเป็นทางการ
มีกฎระเบียบขั้นตอนในการทำงาน และมีรูปแบบการสั่งงานตามสายบังคับบัญชา ทำให้ชนรุ่นนี้ปฏิบัติตามนโยบาย กฎ
ระเบียบ และข้อบังคับอย่างเคร่งครัด (Lancaster
& Stillman, 2003)
ชนรุ่นยุควิทยุคุ้นเคยกับวิธีการทำงานในรูปแบบการสั่งงานตามสายบังคับบัญชาที่มีความชัดเจนและมีการรายงานตรงต่อผู้บังคับบัญชาคนเดียว
จึงไม่นิยมที่จะทำงานข้ามสายงาน นิยมใช้รูปแบบวิธีการสื่อสารอย่างเป็นทางการ ปัจจุบันสมาชิกในชนรุ่นนี้ส่วนใหญ่ได้เกษียณอายุจากการทำงานแล้ว
แต่ก็ยังบางส่วนทำงานอยู่ วิธีการจูงใจสมาชิกในชนรุ่นนี้สามารถทำได้โดยสร้างให้ผู้อื่นเห็นถึงความสำคัญและคุณค่าจากประสบการณ์ทำงาน
องค์การจึงต้องให้ความสำคัญกับการถ่ายทอดความรู้และทักษะในการทำงานให้กับชนรุ่นหลังซึ่งยังคงทำงานอยู่ในองค์การ
ให้บทบาทการเป็นที่ปรึกษา พี่เลี้ยง รวมไปถึงจัดให้มีการทำงานที่สามารถกำหนดเวลาได้แบบยืดหยุ่น
เพื่อที่จะรักษาสิ่งที่เป็นความรู้ ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญในการทำงานที่สั่งสมมาเป็นเวลายาวนานของชนรุ่นนี้ให้อยู่กับองค์การตลอดไป
(Gravette & Throckmorton, 2007)
ช่วงปีเกิดชนรุ่นยุคโทรทัศน์ (Television Generation) หรือ เบบี้บูมเมอร์ (Baby Boomers) คือ ช่วงปีเกิดเริ่มปี ค.ศ. 1946 และสิ้นสุดปี ค.ศ. 1964 ชนรุ่นยุคโทรทัศน์ได้รับรู้ถึงเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์
ได้แก่ การเดินทางไปยังดวงจันทร์ (ค.ศ. 1969)
สงครามเวียดนาม (ค.ศ. 1962-1975) การเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและสิทธิสตรี (ค.ศ. 1954-1968) คดีวอเตอร์เกต (ค.ศ. 1972) การปฏิวัติทางเพศ
(ค.ศ. 1960-1980) และการลอบสังหารประธานาธิบดีจอห์น
เอฟ เคเนดี้ (ค.ศ. 1963) และมาร์ติน
ลูเธอร์ คิง (ค.ศ. 1968) ผู้นำการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนที่เป็นบุคคลสำคัญ
รวมทั้งการเริ่มเข้ามามีบทบาทของสื่อโทรทัศน์อย่างมากและเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในสังคมได้ถ่ายทอดเหตุการณ์สับสนวุ่นวายทั้งหลายที่เกิดขึ้นในขณะนั้น
ทำให้การนำเสนอข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อโทรทัศน์จึงมีอิทธิพลอย่างมากต่อความคิดของชนรุ่นยุคโทรทัศน์
ส่งผลทำให้เกิดเป็นอุดมคติในการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและทางสังคมให้เกิดขึ้น
จึงเป็นลักษณะเฉพาะของชนรุ่นยุคโทรทัศน์ที่ต้องการแสดงออกทางความคิดและพฤติกรรมอย่างเสรี
มีการแสดงออกโดยการท้าทายต่อระเบียบ ข้อบังคับทางกฎหมาย
จากการรับรู้ว่ามีการใช้อำนาจหน้าที่ของรัฐอย่างไม่ถูกต้อง
ตั้งแต่การลอบสังหารบุคคลสำคัญ เรื่องอื้อฉาวทางการเมือง จนไปถึงความผิดพลาดในการตัดสินใจของรัฐที่เข้าร่วมสงครามโดยไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชน
ซึ่งมีส่วนทำให้สมาชิกครอบครัวของชนรุ่นนี้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก (Zemke et
al., 2000, p. 64)
ชนรุ่นยุคโทรทัศน์มีสัดส่วนจำนวนของประชากรมากที่สุดเมื่อเทียบกับชนรุ่นอื่น
เนื่องจากการบูรณะฟื้นฟูสร้างประเทศชาติขึ้นในหลายประเทศหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง
มีการเพิ่มจำนวนพลเมืองของประเทศที่เข้าร่วมสงคราม
ทำให้ประชากรเด็กเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก
จึงเป็นที่มาของชื่อเรียกผู้ที่เกิดในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1943-1960 ว่าเป็นชนรุ่นยุคโทรทัศน์ สมาชิกในชนรุ่นนี้เติบโตในยุคที่มีความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ
จึงมีโอกาสได้รับการศึกษามากกว่าชนรุ่นก่อนหน้านี้
จึงเกิดเป็นลักษณะเฉพาะของชนรุ่นนี้ ได้แก่ การมองโลกในแง่ดี
มีความเชื่อที่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีความเป็นไปได้ในอนาคต
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างความเท่าเทียมกันให้เกิดขึ้นในสังคม
จากข้อมูลข่าวสารที่ได้รับรู้ผ่านสื่อโทรทัศน์ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากต่อความคิดของชนรุ่นยุคโทรทัศน์
นอกจากนั้นพ่อและแม่ของชนรุ่นยุคโทรทัศน์ก็ได้พยายามทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ลูกหลานของตนมีโอกาสที่จะได้รับการศึกษาที่ดี
ชนรุ่นยุคโทรทัศน์จึงมีความต้องการสร้างความใฝ่ฝันของตนเองให้เป็นความจริง โดยแก้ไขสิ่งที่ไม่ถูกต้องในสังคมให้เป็นไปตามแนวคิดทางอุดมคติ เช่น
การต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและสิทธิสตรี การต่อต้านสงคราม และการอนุรักษ์ธรรมชาติ
(Lancaster & Stillman, 2003, p. 23)
สิ่งที่ชนรุ่นยุคโทรทัศน์ให้ความสำคัญในการทำงาน
ชนรุ่นยุคโทรทัศน์ได้เข้าสู่วัยทำงานในช่วงเวลาที่เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางสังคมซึ่งส่งผลต่อค่านิยมเกี่ยวกับงานที่ต้องการมีส่วนร่วมในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในองค์การ
จึงให้ความสำคัญกับการมีจุดยืนเป็นของตัวเอง มีเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดเห็น
และสนับสนุนให้มีความรับผิดชอบต่อสังคม การที่ประชากรของชนรุ่นยุคโทรทัศน์มีจำนวนมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับชนรุ่นอื่น
ๆ ส่งผลทำให้ชนรุ่นนี้ จะต้องแข่งขันกันเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตนเองต้องการ (Kupperschmidt, 2000, pp. 65-67) นอกจากนั้นชนรุ่นนี้ได้เริ่มอาชีพการงาน
ในยุคที่มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรงเพื่อให้ได้งานทำ จึงทำให้ชนรุ่นยุคโทรทัศน์มีความเต็มใจที่จะทุ่มเททำงานอย่างหนัก
ต้องการพัฒนาตนเองให้มีความก้าวหน้าและเจริญเติบโตในอาชีพการงานเพื่อให้ได้ตำแหน่งหน้าที่สูงขึ้นในองค์การ
ต้องการบรรลุผลสำเร็จในการทำงานและได้รับผลตอบแทนจากความสำเร็จที่เกิดขึ้น ดังนั้นชนรุ่นยุคโทรทัศน์จึงให้ความสำคัญกับการแข่งขัน
ต้องการทำงานในองค์การที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเพื่อให้มีความก้าวหน้าในอาชีพการทำงาน
รวมทั้งต้องการที่จะมีส่วนร่วมในการสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้องค์การประสบความสำเร็จ
(Eisner, 2005) วิธีการที่ใช้บริหารของชนรุ่นยุคโทรทัศน์ คือ
การเปลี่ยนแปลงรูปแบบวิธีการสั่งงาน (change of command) เพราะสมาชิกในชนรุ่นนี้ต่อต้านและท้าทายการปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับที่กำหนด
จึงไม่ต้องการวิธีการสั่งงานตามสายบังคับบัญชาแบบเดิม (Lancaster & Stillman, 2003, p. 24)
ค่านิยมเกี่ยวกับงานชนรุ่นยุคโทรทัศน์
การให้ความสำคัญกับการแข่งขันของชนรุ่นยุคโทรทัศน์ทำให้ชนรุ่นนี้มีลักษณะการทำงานโดยการลงมือปฏิบัติงานด้วยตนเอง
ให้ความสำคัญกับการทุ่มเททำงานอย่างหนักมาตลอด
ถึงแม้ว่าเทคโนโลยีในการทำงานได้มีการพัฒนาก้าวหน้าไปอย่างมากแล้วก็ตาม
แต่สมาชิกในชนรุ่นนี้ก็ยังเคยชินกับการทำงานอย่างหนักแบบเดิม (Espinoza et al., 2010)
ชนรุ่นยุคโทรทัศน์มีความจงรักภักดีให้กับองค์การ (Durkin, 2010) ต้องการทำงานอยู่กับองค์การตลอดช่วงชีวิตในการทำงานจนเกษียณอายุ (Rodriguez,
Green, & Ree, 2003)
จึงให้ความสำคัญกับการทุ่มเททำงานอย่างหนักเพื่อให้ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน
ส่งผลให้สมาชิกในชนรุ่นนี้ให้ความสำคัญกับชีวิตการทำงานมากกว่าชีวิตครอบครัวและชีวิตส่วนตัว
ชนรุ่นยุคโทรทัศน์ยังให้ความสำคัญกับค่าตอบแทนที่เป็นรายได้จากการทำงาน
มีตำแหน่งหน้าที่การงาน ได้รับการยกย่องชมเชย มีความภูมิใจในงานที่ตนเองรับผิดชอบ
ประสบความสำเร็จที่ได้มาจากการแข่งขัน ชอบสภาพแวดล้อมของการเรียนรู้ที่มีปฏิสัมพันธ์และทำกิจกรรมเป็นทีม
(Levit
and Licina, 2011) ดังนั้นวิธีการสร้างความพึงพอใจสำหรับบุคลากรในชนรุ่นนี้สามารถทำได้โดยการจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน
การยกย่องชมเชยต่อหน้าผู้อื่น
และการปรับเลื่อนตำแหน่งให้มีความก้าวหน้าในอาชีพการงาน (Lancaster & Stillman, 2003)
ชนรุ่นยุคโทรทัศน์ที่ยังทำงานอยู่ในปัจจุบันส่วนใหญ่ดำรงตำแหน่งระดับผู้นำ
ระดับผู้บริหาร หรือระดับผู้อาวุโสขององค์การในภาครัฐและภาคเอกชน
กำลังจะเข้าสู่ช่วงเกษียณอายุจากการทำงาน
ดังนั้นการสร้างความพึงพอใจในการทำงานของสมาชิกในชนรุ่นนี้สามารถทำได้โดยให้โอกาสในการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ในการทำงานของตนเองให้กับสมาชิกในชนรุ่นหลังขององค์การและมอบหมายหน้าที่พี่เลี้ยงให้กับสมาชิกในชนรุ่นที่อายุน้อยกว่า
การสร้างความสัมพันธ์จากบทบาทหน้าที่ของการเป็นผู้สอนและพี่เลี้ยงจะช่วยสร้างความพึงพอใจสำหรับชนรุ่นนี้ได้
นอกจากนั้นยังสามารถรักษาความรู้ความเชี่ยวชาญของชนรุ่นยุคโทรทัศน์ให้อยู่กับองค์การต่อไปได้
(Gravette & Throckmorton, 2007, p. 98)
ช่วงปีเกิดชนรุ่นยุคคอมพิวเตอร์ (Computer Generation) หรือ เจเนอเรขั่นเอ็กซ์ (Generation X) คือ ช่วงปีเกิดเริ่มปี
ค.ศ. 1965 และสิ้นสุดปี ค.ศ. 1980 ชนรุ่นยุคคอมพิวเตอร์มีสัดส่วนของจำนวนประชากรน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับชนรุ่นอื่น
(Zemke, Raines, & Filipczak, 2000, p. 98) สมาชิกในชนรุ่นนี้เกิดในยุคของความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจได้สิ้นสุดลง เปลี่ยนแปลงไปสู่สภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ
มีอัตราการว่างงานสูง เผชิญกับวิกฤติทางด้านพลังงาน
และเกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่มีอัตราการหย่าร้างสูงมากขึ้น มีการทำแท้ง
เกิดโรคเอดส์ และเป็นยุคที่ครอบครัวที่มีทั้งพ่อและแม่ออกไปทำงานนอกบ้านเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นปกติในสมัยนั้น (Kupperschmidt,
2000, pp. 65-67) ชนรุ่นนี้รับรู้ถึงเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์
ได้แก่ สงครามเย็น (ค.ศ. 1985-1991)
ความหายนะจากการระเบิดของโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล (ค.ศ.
1986) การระเบิดของกระสวยอวกาศชาเลนเจอร์ (ค.ศ. 1986) และการทำลายกำแพงเบอร์ลินในช่วงสิ้นสุดของสงครามเย็น
(ค.ศ.1989) นอกจากนั้น
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วทำ ให้ชนรุ่นนี้สามารถรับรู้ข่าวสารจากสื่อโทรทัศน์ที่ผ่านสายเคเบิ้ลและผ่านสัญญาณดาวเทียมได้ตลอด 24 ชั่วโมง
เป็นยุคที่เริ่มมีการใช้อินเทอร์เน็ตสำหรับการสื่อสาร
มีเครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องมือสื่อสารต่าง ๆ เช่น วิดีโอเกมส์ แฟกซ์ ไมโครเวฟ เครื่องติดตามส่วนบุคคล โทรศัพท์มือถือ และเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล
ส่งผลให้ชนรุ่นนี้สามารถรับรู้ข้อมูลข่าวสารมากขึ้นและรวดเร็วขึ้น (Lancaster
& Stillman, 2003, p. 24)
ชนรุ่นยุคคอมพิวเตอร์ได้รับรู้ถึงประสบการณ์ของความตกต่ำทางเศรษฐกิจไม่ไว้ใจการใช้อำนาจหน้าที่ของภาครัฐ และได้เติบโตในช่วงที่สภาพสังคมมีอัตราการหย่าร้างสูง ครอบครัวที่พ่อแม่ให้ความสำคัญกับการทำงาน
ได้เห็นการปลดพนักงานออกจากงานของ
องค์การที่พ่อแม่ของตนเองมีความจงรักภักดีและทุ่มเททำงานอย่างหนัก จึงส่งผลให้ชนรุ่นนี้ไม่เชื่อในการให้ความจงรักภักดีแก่องค์การ
ชนรุ่นยุคคอมพิวเตอร์จึงให้ความสำคัญกับการพึ่งพาตนเองเป็นหลัก
ไม่ต้องการที่จะยึดติดกับสถาบันหรือองค์การ ส่งผลทำให้ไม่ให้ความจงรักภักดีต่อองค์การ
เพราะรู้สึกว่าไม่ได้รับความมั่นคงในการทำงานจากองค์การและสถาบันอีกต่อไป (Bickel and Brown,
2005, p. 206.) นอกจากนั้นสมาชิกในชนรุ่นนี้ก็ไม่ให้ความสำคัญกับการทุ่มเททำงานอย่างหนักเช่นเดียวกับผู้ที่อยู่ชนรุ่นก่อนหน้านี้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้เวลาส่วนตัวไปกับการทำงาน จากมุมมองต่อการทำงานที่แตกต่างกัน
โดยมองว่าชีวิตไม่ได้อยู่เพื่อการทำงาน (live
to work) แต่การทำงานนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิต (work
to live) คือ ทำงานให้มีรายได้สำหรับค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิต (Marston, 2007, p. 171) ดังนั้น ชนรุ่นยุคคอมพิวเตอร์จึงให้ความสำคัญกับความสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว (work-life
balance) (Eisner, 2005; Gursoy, Maier and Chi,
2008; Smola & Sutton, 2002)
นอกจากนั้น ผลกระทบจากการที่ครอบครัวซึ่งพ่อแม่ต้องออกไปทำงานและปัญหาครอบครัวแตกแยกที่เกิดจากการหย่าร้าง
ทำให้ผู้ที่อยู่ชนรุ่นนี้ต้องรู้จักดูแลตัวเอง เพราะต้องอยู่บ้านโดยลำพังในระหว่างที่ทั้งพ่อแม่ไม่อยู่บ้าน
ต้องทำการบ้านด้วยตนเองให้เสร็จเรียบร้อย
ไม่ได้อยู่ในความดูแลหรือรับคำชี้แนะจากพ่อแม่ ส่งผลทำให้สมาชิกในชนรุ่นนี้ต้องพึ่งพาตนเองเป็นหลัก (Cordeniz, 2002) นอกจากนั้น ภัยคุกคามของอาวุธนิวเคลียร์ในช่วงสงครามเย็น การก่อการร้าย
และความผิดพลาดจากการตัดสินใจขององค์การภาครัฐก็ได้ส่งผลให้ชนรุ่นยุคคอมพิวเตอร์มีทัศนคติของการมองโลกในแง่ร้าย
(Zemke et al., 2000, p. 21)
ชนรุ่นยุคคอมพิวเตอร์เป็นชนรุ่นแรกที่ได้เริ่มเข้าสู่ยุคของการใช้ข้อมูลข่าวสาร
(information age) ผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล
มีการรับข้อมูลข่าวสารและความบันเทิงผ่านสื่อโทรทัศน์ที่มีช่องรับสัญญาณจำนวนมาก ทำให้สมาชิกในชนรุ่นนี้มีความรู้และมีทักษะของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อตอบสนองต่อสิ่งที่ตนเองต้องการได้อย่างรวดเร็ว (Lancaster
& Stillman, 2003)
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่นี้ทำให้ชนรุ่นยุคคอมพิวเตอร์สามารถทำงานเมื่อไรหรืออยู่ในสถานที่แห่งไหนก็ได้ตามที่ต้องการ
จึงทำให้บุคลากรในชนรุ่นนี้ให้ความสำคัญกับการมุ่งเน้นผลลัพธ์จากการปฏิบัติงาน
และความยืดหยุ่นของเวลาการทำงานมากกว่า
สมาชิกในชนรุ่นนี้ต้องการใช้วิธีการทำงานของตนเองที่สามารถบรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดได้และต้องการอิสระในการทำงาน
(Zemke et al., 2000, pp. 111-112)
จึงทำให้ชนรุ่นยุคคอมพิวเตอร์มีความเชื่อมั่นในตนเองสูง
ต้องการตัดสินใจและกำหนดวิธีที่ใช้ทำงานด้วยตัวเอง
ไม่ชอบวิธีการทำงานแบบจุกจิกจู้จี้ ดังนั้นสมาชิกในชนรุ่นนี้สามารถสร้างความพึงพอใจได้ด้วยการจัดลักษณะการทำงานที่มีรูปแบบอย่างไม่เป็นทางการ เช่น การแต่งกายไม่เป็นทางการ
ช่วงเวลาการทำงานแบบยืดหยุ่น และการทำงานนอกสถานที่ (Rodriguez et al., 2003;
Durkin, 2010)
การให้ความสำคัญกับการพึ่งตนเองของชนรุ่นนี้เป็นกลไกที่ใช้สร้างความอยู่รอดเพื่อที่จะปกป้องตนเองจากผู้อื่น
ส่งผลให้สมาชิกในชนรุ่นนี้มีแนวโน้มขาดทักษะในการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่นทางสังคม
แต่จะมีความเชี่ยวชาญด้านการใช้เทคโนโลยี (technological savvy) มากกว่า
ไม่ต้องการทำงานร่วมกันกับผู้อื่นในการสร้างความก้าวหน้าของอาชีพการงานให้กับตนเอง
จึงมีมุมมองต่อการทำงานเป็นทีมว่าเป็นการร่วมกันทำงานซึ่งจะให้ผลลัพธ์ในภาพรวมมากกว่าวิธีการที่ให้การแยกกันทำงานของแต่ละบุคคล
เพราะชนรุ่นยุคคอมพิวเตอร์นี้ให้ความสำคัญกับตนเองอย่างมาก มีความเชื่อมั่นในตนเองสูง และไม่มีความไว้วางใจต่อผู้อื่น
นอกจากนั้นการไม่มีความจงรักภักดีต่อองค์การทำให้ชนรุ่นนี้ไม่เต็มใจที่จะสละเวลาส่วนตัวให้กับเวลาการทำงาน
(Eisner, 2005) วิธีการบริหารของชนรุ่นยุคคอมพิวเตอร์จึงได้เปลี่ยนรูปแบบการเปลี่ยนแปลงการบังคับบัญชาไปเป็นการสั่งงานด้วยตนเอง (self-command) (Lancaster & Stillman, 2003)
ค่านิยมเกี่ยวกับงานของชนรุ่นยุคคอมพิวเตอร์
ชนรุ่นยุคคอมพิวเตอร์ให้ความสำคัญกับการทำงานอย่างไม่เป็นทางการ
ความสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว คุณภาพชีวิตที่ดี
การเปลี่ยนแปลงปรับปรุงอย่างต่อเนื่องเพื่อให้งานมีความน่าสนใจ
เวลาการทำงานที่มีความยืดหยุ่น การแสดงออกถึงความคิดสร้างสรรค์
การใช้เทคโนโลยีใหม่ล่าสุด การให้ข้อมูลป้อนกลับ การพัฒนาตนเองให้มีความก้าวหน้า การยกย่องชมเชย และความสนุกสนานในการทำงาน (Jurkiewicz,
2000; Martin & Tulgan, 2002)
ชนรุ่นยุคคอมพิวเตอร์ต้องการทำงานด้วยวิธีการของตนเอง
จึงสามารถสร้างความพึงพอใจได้ด้วยการให้อิสระในการทำงาน มอบหมายการทำงานหลายอย่างโดยให้ไปจัดลำดับความสำคัญของงานด้วยตนเองได้
ให้โอกาสในการนำเสนอวิธีการแก้ไขปัญหาที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง
และจัดให้มีการฝึกอบรมพัฒนาทักษะและสมรรถนะในการทำงาน (Eisner, 2005)
ชนรุ่นยุคคอมพิวเตอร์ให้ความสำคัญกับกิจกรรมที่สร้างความสนุกสนานและชอบที่จะให้มีการแข่งขัน
รวมไปถึงการฝึกอบรมที่เพิ่มทักษะ การใช้เทคโนโลยีทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงสามารถสร้างความพึงพอใจสำหรับสมาชิกในชนรุ่นนี้โดยให้โอกาสในการพัฒนาตนเอง
ให้ข้อมูลป้อนกลับอย่างต่อเนื่องและตรงไปตรงมาของผลการปฏิบัติงาน (Howe
& Strauss, 2000) รวมถึงสร้างความก้าวหน้าและศักยภาพการเติบโตของตนเองในการทำงาน
ดังนั้น ชนรุ่นยุคคอมพิวเตอร์จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการทำงาน
สร้างคุณค่าเพิ่มให้กับตนเอง
สมาชิกในชนรุ่นนี้มองการเปลี่ยนงานเป็นเรื่องปกติแทนที่จะทำงานให้กับองค์การใดองค์การหนึ่งจนเกษียณ
(Howell, Servis, and Bonham, 2005, p. 529)
ชนรุ่นยุคคอมพิวเตอร์ไม่ได้ให้ความสำคัญกับสวัสดิการ
ความมั่นคงในอาชีพการงาน และรายได้ที่เป็นค่าตอบแทนในอนาคตเท่ากับชนรุ่นก่อนหน้านี้
เพราะไม่มีความแน่ใจว่าองค์การยังจะมีอยู่ในอนาคตหรือไม่
ดังนั้นสมาชิกในชนรุ่นนี้จึงไม่ชอบการจูงใจด้วยค่าตอบแทนที่ต้องใช้เวลานานถึงจะได้
แต่จะชอบวิธีจูงใจด้วยการจ่ายค่าตอบแทนเมื่อบรรลุผลของการปฏิบัติงานแล้ว จึงทำให้ชนรุ่นยุคคอมพิวเตอร์มีความต้องการที่จะพัฒนาตนเองให้เก่งขึ้น
มองหาวิธีการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นไม่ใช่วิธีการทำงานหนัก เพราะไม่มีความเชื่อที่ว่าการทำงานหนักเป็นวิธีที่จะทำให้ประสบความสำเร็จได้ในอาชีพการงาน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานหนักต่อเนื่องเป็นเวลายาวนาน
การที่สมาชิกในชนรุ่นนี้ได้รับรู้ประสบการณ์ของความไม่มั่นคงทางด้านการเงิน ด้านครอบครัว
และด้านสังคม รวมถึงความไม่ไว้วางใจต่อองค์การและสถาบัน
ส่งผลทำให้ชนรุ่นยุคคอมพิวเตอร์มีทัศนคติต่อการเปลี่ยนงานว่าเป็นเรื่องปกติ
และมองว่าการเปลี่ยนงานนั้นเป็นกระบวนการที่ใช้พัฒนาสร้างความก้าวหน้าในอาชีพการทำงานของตนเองและมีมุมมองต่อการทำงานอยู่ในองค์การได้ยาวนานก็ต่อเมื่อได้รับความ
ก้าวหน้าในอาชีพการทำงาน จึงต้องการทำงานให้กับองค์การที่มีพันธกิจสนับสนุนความต้องการส่วนบุคคลของตนเองได้
รวมทั้งได้รับการฝึกอบรมและพัฒนาให้ส่วนร่วมในการทำงานตามพันธกิจขององค์การ
ทำให้ชนรุ่นนี้มองหาการทำงานที่มีความตื่นเต้น ความท้าทาย ความสำคัญ และความหมาย (Bennis and Thomas, 2002) ซึ่งจะทำให้สมาชิกในชนรุ่นนี้มีความจงรักภักดีและทุ่มเทความพยายามให้กับการทำงานได้เต็มที่
(Martin & Tulgan, 2002,
p. 7) อย่างไรก็ตาม ชนรุ่นยุคคอมพิวเตอร์ให้ความสำคัญกับชีวิตที่มีอิสระ
ต้องการความสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว (Smola & Sutton,
2002; Strauss & Howe, 1991) โดยเฉพาะการให้เวลากับครอบครัวและชีวิตส่วนตัวมากกว่าที่ทำงานหนักอย่างเอาเป็นเอาตายเช่นเดียวกันกับชนรุ่นก่อนหน้านี้
เพราะต้องการใช้ชีวิตที่อยู่ในปัจจุบันอย่างมีความสุขมากกว่าที่จะต้องรอให้ถึงอนาคตหลังเกษียณอายุจากการทำงานแล้วค่อยใช้ชีวิตอย่างมีความสุข
(Crampton and Hodge, 2007, pp. 16-23)
ช่วงปีเกิดชนรุ่นยุคอินเทอร์เน็ต
(Internet Generation) หรือ เจเนอเรชั่นวาย (Generation Y) คือ ช่วงปีเกิดเริ่มปี
ค.ศ. 1981 และสิ้นสุดปี
ค.ศ. 2000 ชนรุ่นยุคอินเทอร์เน็ตได้เติบโตท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่มีเทคโนโลยีใหม่เกิดขึ้นอย่างมากมาย
เกิดความก้าวหน้าทางการสื่อสารที่ได้พัฒนาไปสู่อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย
ทำให้ชนรุ่นนี้คุ้นเคยกับการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ตลอดเวลา
มีเครือข่ายสังคมออนไลน์ และนิยมจับจ่ายใช้สอยผ่านทางอินเทอร์เน็ต สมาชิกในชนรุ่นนี้ได้รับรู้ถึงเหตุการณ์ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์
ได้แก่ การก่อวินาศกรรมโดยการจี้เครื่องบินชนตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ (ค.ศ. 2001) เหตุการณ์สังหารหมู่ในโรงเรียน (ค.ศ. 1999)
น้ำมันรั่วจากเรือบรรทุกของเอ็กซอนวาลเดซทำให้สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติเสียหาย
(ค.ศ. 1989) สงครามอ่าวเปอร์เซีย
(ค.ศ. 1991-1995) การล้มละลายของเอ็นรอน
(ค.ศ. 2001)
วินาศกรรมเกาะบาหลี (ค.ศ. 2002)
ผลกระทบจากภัยคุกคามของการก่อการร้ายและการแพร่ระบาดของยาเสพติด ทำให้ชนรุ่นยุคอินเทอร์เน็ตให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของตนเองเป็นอย่างมาก
จึงส่งผลให้พ่อแม่ชนรุ่นยุคอินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทในกิจกรรมต่าง ๆ และให้ความเอาใจใส่ดูแลมากกว่าชนรุ่นอื่น
จะเห็นได้ว่าพ่อแม่ชนรุ่นยุคอินเทอร์เน็ตได้เตรียมความพร้อมอยู่เสมอที่จะเข้ามาช่วยเหลือลูกของตนเองได้ตลอดเวลา (Helicopter parents) โดยให้ความสนใจและติดตามดูแลลูกของตนเองอยู่อย่างใกล้ชิด
(Lancaster & Stillman, 2003, pp. 31-32)
สิ่งที่ชนรุ่นยุคอินเทอร์เน็ตให้ความสำคัญกับการทำงาน
ได้แก่ ความยืดหยุ่นในการทำงาน การทำงานที่มีความ สำคัญต่อองค์การ
การทำให้ผู้อื่นยอมรับ การสร้างความสัมพันธ์และมิตรภาพ ความสนุกสนานในการทำงาน
การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างรวดเร็วตลอดเวลา การพัฒนาทางด้านอาชีพการงาน ชอบกิจกรรมที่เสริมสร้างประสบการณ์
ยอมรับในความหลากหลาย ต้องการความปลอดภัยในการทำงาน
และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการทำงาน ลักษณะของชนรุ่นยุคอินเทอร์เน็ต
คือ มีความมั่นใจในตนเองสูง ยอมรับในสิ่งใหม่ ๆ มีความห่วงใยต่อผู้อื่น รักคุณธรรม ชอบเข้าสังคม ต้องการมีส่วนร่วม
มีความคิดริเริ่มมีจิตสำนึกทางสังคม และต้องการสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้น (Lancaster & Stillman, 2003; Zemke et al., 2000)
ชนรุ่นยุคอินเทอร์เน็ตได้รับการอบรม
สั่งสอน ดูแล โดยมีวิธีการสอนที่ได้วางแผนมาเป็นอย่างดี
เพราะพ่อแม่ของสมาชิกในชนรุ่นนี้นำประสบการณ์ที่ได้จากความสำเร็จของตนเองและมีลักษณะนิสัยที่ชอบการแข่งขันอยู่แล้วมาใช้
ต้องการให้ลูกของตนเองประสบความสำเร็จและชอบการแข่งขันเช่นเดียวกันกับตนเอง
จึงสนับสนุนให้เข้าร่วมกิจกรรมการแข่งขันต่าง ๆ และพยายามสร้างความมั่นใจให้กับลูกของตนเองว่ามีความสามารถพิเศษที่เป็นลักษณะเฉพาะของตนเองและมีความแตกต่างจากคนอื่น
จึงมีความเหมาะสมที่จะได้รับรางวัลและคำชมเชยตลอดเวลา (Galagan, 2006) ส่งผลทำให้ชนรุ่นยุคอินเทอร์เน็ตชอบแสดงออก กล้าพูด
เชื่อมั่นว่าตนเองมีความสามารถพิเศษจึงต้องการสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้น
มั่นใจในตนเองสูง มองว่าตนเองมีความสำคัญอย่างมาก ต้องการให้ผู้อื่นยอมรับ
คาดหวังว่าเมื่อทำอะไรได้สำเร็จก็จะได้รับสิ่งตอบแทนหรือรางวัล จากการที่ชนรุ่นยุคอินเทอร์เน็ตมองโลกในแง่ดี มีจิตใจสาธารณะ และมีความรับผิดชอบต่อสังคม
จึงให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในชุมชนและการสร้างความยั่งยืนกับสิ่งแวดล้อม (Howe
& Strauss, 2003, p.5)
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสื่อสารและการใช้อินเทอร์เน็ตซึ่งเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย
ได้เป็นปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อทัศนคติของชนรุ่นยุคอินเทอร์เน็ต
ทำให้ชนรุ่นยุคอินเทอร์เน็ตแตกต่างกับชนรุ่นอื่นอย่างมาก คือ การใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง
สื่อสารโต้ตอบได้ทันที ทำให้ชนรุ่นยุคอินเทอร์เน็ตสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว
จึงมีความคุ้นเคยกับวิธีการค้นหา เลือกซื้อสินค้าหรือบริการ ซึ่งตอบสนองต่อความต้องการได้ทันที
ขณะที่ชนรุ่นยุคโทรทัศน์และชนรุ่นยุคคอมพิวเตอร์จะต้องใช้เวลาเลือกซื้อสิ่งที่ตนเองต้องการจากห้างสรรพสินค้า
จากการที่ชนรุ่นยุคอินเทอร์เน็ตคุ้นเคยกับการสนองตอบต่อความต้องการได้ทันที
จึงถูกมองว่าชนรุ่นนี้ไม่มีความอดทน (Fjelstul and Breiter, 2008)
ชนรุ่นยุคอินเทอร์เน็ตคุ้นเคยกับการใช้อินเทอร์เน็ตให้เป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกในการทำกิจกรรมต่าง
ๆ ตั้งแต่การสืบค้นข้อมูลข่าวสาร การสร้างปฏิสัมพันธ์ในสังคมออนไลน์ การสร้างความบันเทิงด้วยการรับฟังเพลงหรือรับชมภาพยนตร์ การจับจ่ายใช้สอย หรือการเล่นเกมส์
รวมไปถึงการทำงานที่ได้รับมอบหมายได้ในเวลาเดียวกัน
ส่งผลให้สมาชิกในชนรุ่นนี้มีความสามารถในการทำงานหลายอย่างพร้อมกันในเวลาเดียวกันได้ (multi-tasking) และมีความสามารถในการนำเทคโนโลยีใหม่
มาประยุกต์ใช้ได้อย่างเต็มที่ และมีความต้องการเข้าถึงและติดตามข้อมูลข่าวสารที่มีการเชื่อมต่อตลอดเวลา (Zemke et al., 2000, p. 77)
ชนรุ่นยุคอินเทอร์เน็ตมีค่านิยมเกี่ยวกับงานที่ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีการติดต่อสื่อสารซึ่งได้เป็นส่วนหนึ่งในการใช้ชีวิตประจำวันของสมาชิกในชนรุ่นนี้ ทำให้การทำงานไม่จำเป็นจะต้องถูกจำกัดอยู่ในสำนักงานอีกต่อไป ดังนั้น สมาชิกในชนรุ่นนี้นิยมการทำงานนอกสถานที่และความยืดหยุ่นในการทำงาน
เพราะความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการติดต่อสื่อสารทำให้สามารถทำงานได้ทุกสถานที่โดยการเชื่อมต่อกับข้อมูลที่ใช้สนับสนุนการทำงานได้ตลอดเวลา
(Gursoy et al., 2008, p. 450)
นอกจากนั้น ชนรุ่นยุคอินเทอร์เน็ตมีความคุ้นเคยกับตารางเวลาเรียนที่มีการได้วางแผนไว้เป็นอย่างดี
จึงให้ความสำคัญกับการทำงานที่มีโครงสร้างและกระบวนการทำงานอย่างชัดเจน
ต้องการลักษณะแบบอย่างที่ดีในการทำงานเพื่อที่จะสามารถปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้อง
สมาชิกในชนรุ่นนี้มีความสามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่ใช้ในการทำงานได้อย่างรวดเร็ว
ดังนั้นวิธีการบริหารของชนรุ่นยุคอินเทอร์เน็ตได้เปลี่ยนจากรูปแบบของการสั่งงานด้วยตนเองไปเป็นรูปแบบของการสร้างความร่วมมือร่วมใจในการทำงาน
(collaborative work) จากการที่พ่อแม่ของสมาชิกในชนรุ่นนี้ส่งเสริมให้มีการแสดงออกและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจกับครอบครัว
รวมทั้งการทำกิจกรรมร่วมกันเป็นทีม (Lancaster & Stillman, 2003) ชนรุ่นยุคอินเทอร์เน็ตจึงมีความคาดหวังที่จะได้ทำงานในองค์การที่ให้ความสำคัญกับความเสมอภาคและการทำงานร่วมกันเป็นทีม ชอบสภาพการทำงานที่มีความสนุกสนาน
มีบรรยากาศของการทำงานที่รู้สึกอบอุ่นเหมือนอยู่กับครอบครัว
และมีความยืดหยุ่นในการทำงาน
(Howe & Strauss, 2000, p. 4)
รูปแบบการทำงานของชนรุ่นยุคอินเทอร์เน็ตมีลักษณะดังนี้
มีความสามารถทำงานหลายอย่างได้ในเวลาเดียวกัน ชอบทำงานเป็นทีมที่มีความร่วมมือร่วมใจคอยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
ต้องการสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้น ต้องการความยืดหยุ่นในการทำงานที่สามารถปรับให้สอดคล้องกับความต้องการของตนเองได้
ต้องการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการทำงานเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น
ต้องการโอกาสในการแสดงออก
ต้องการงานหรือกิจกรรมที่ช่วยเสริมสร้างประสบการณ์ในการทำงาน
และต้องการลักษณะงานที่มีความสำคัญต่อองค์การและมีความท้าทาย (Zemke et al., 2000, p. 1)
ค่านิยมเกี่ยวกับงานของชนรุ่นยุคอินเทอร์เน็ต
ชนรุ่นยุคอินเทอร์เน็ตได้รับการส่งเสริมให้มีโอกาสแสดงออกทางความคิดเห็นทั้งในบ้านและในโรงเรียน จึงทำให้สมาชิกในชนรุ่นนี้มีค่านิยมเกี่ยวกับงานที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ
ต้องการทำงานในองค์การที่ให้โอกาสแสดงความสามารถและรับฟังความคิดเห็นของตนเองได้อย่างเต็มที่
ต้องการงานที่มีความท้าทาย มีความสำคัญ และมีส่วนทำให้องค์การประสบความสำเร็จ
สมาชิกในชนรุ่นนี้จึงต้องการโอกาสที่จะได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบในการทำงานเพื่อที่จะได้แสดงคุณค่าของตนเองให้ผู้อื่นได้รับรู้
ชนรุ่นยุคอินเทอร์เน็ตให้ความสำคัญกับอิสระในการทำงานเพื่อแสดงให้เห็นถึงการใช้ความสามารถและวิธีการทำงานให้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดได้เอง
ต้องการความชัดเจน
ถึงความสำคัญและลักษณะของงานที่ได้รับมอบหมาย (Zemke et al., 2000, p. 4)
ชนรุ่นยุคอินเทอร์เน็ตมองว่าการทำงานเป็นเครื่องมือที่ใช้นำไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ
มีทัศนคติต่อการทำงานเช่นเดียวกับชนรุ่นยุคคอมพิวเตอร์ที่ต้องการความสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว
จึงให้ความสำคัญกับความยืดหยุ่นในการทำงาน ถึงแม้ชนรุ่นยุคอินเทอร์เน็ตมองความสำคัญของการทำงานเป็นเพียงแค่บางส่วนของชีวิต
แต่ก็สามารถทำให้ชนรุ่นนี้มีความผูกพันกับการทำงานได้อย่างเต็มที่ ถ้ามอบหมายให้รับผิดชอบในงานที่มีความท้าทายและมีความสำคัญกับองค์การและให้โอกาสได้แสดงออกถึงความสามารถและศักยภาพของตนเองในการทำงานซึ่งมีส่วนร่วมในการสร้างคุณค่าและบรรลุผลสำเร็จขององค์การ
แต่ถ้างานที่ได้รับมอบหมายไม่มีความท้าทายหรือไม่มีความสำคัญก็จะทำให้ชนรุ่นนี้ไม่ให้ความสนใจ
เพราะชนรุ่นยุคอินเทอร์เน็ตได้รับการส่งเสริมของพ่อแม่ที่ทำให้รู้สึกถึงคุณค่าของตนเองว่ามีลักษณะพิเศษและแตกต่างจากผู้อื่น
คุ้นเคยกับการได้รับคำชมหรือรางวัลตอบแทนเมื่อได้แสดงออกทางความคิดและพฤติกรรม (Galagan, 2006, pp. 27-30)
ดังนั้นชนรุ่นยุคอินเทอร์เน็ตจึงให้ความสำคัญกับการยอมรับจากผู้อื่น (self
esteem) ทำให้เกิดความมั่นใจในตนเองและมีความต้องการที่จะแสดงออก จึงมีคาดหวังว่าเมื่อทำงานบรรลุเป้าหมายได้เป็นผลสำเร็จ
ตนเองมีสิทธิที่จะได้รับรางวัลหรือค่าตอบแทน (entitlement) ทำให้ชนรุ่นนี้มีความคิดว่าตนเองมีความสามารถที่แตกต่าง
มีความมั่นใจในตนเองสูง มองตนเองว่ามีคุณค่าและมีความสำคัญ จึงสมควรที่จะได้รับการปฏิบัติอย่างดีจากองค์การ
มีความพร้อมที่จะรับความท้าทายที่เกิดขึ้นได้ เพราะเชื่อว่าตนเองมีความสามารถที่จะทำได้ทุกสิ่งทุกอย่าง
ดังนั้นชนรุ่นยุคอินเทอร์เน็ตจึงมีความคาดหวังที่จะได้รับค่าตอบแทนจากการทำงานที่ดี
มีรางวัลจูงใจในการทำงาน ได้รับการยกย่องชมเชย และมีความก้าวหน้าในอาชีพการงาน (Howe & Strauss, 2000, p. 6) ต้องการเรียนรู้และพัฒนาตนเองให้สามารถรับผิดชอบงานที่มีความสำคัญได้
การพัฒนาอาชีพการทำงานของชนรุ่นยุคอินเทอร์เน็ตจะต้องให้ความสำคัญกับการสอนงานและมีพี่เลี้ยงที่คอยให้ความช่วยเหลือ
แนะนำ และสนับสนุนในระหว่างการทำงาน
มอบหมายหน้าที่ในการทำงานให้มีส่วนร่วมในโครงการต่าง ๆ โดยการหมุนเวียนเปลี่ยนลักษณะของงาน
รวมทั้งจัดให้มีการฝึกอบรมและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง (Zemke et al., 2000;
Tapscott, 2009; Jenkins, 2008; Jurkiewicz, 2000; Wong, Gardiner, Lang, and
Couon, 2008)
ชนรุ่นยุคอินเทอร์เน็ตต้องการได้รับข้อมูลป้อนกลับจากการประเมินผลการปฏิบัติงานทันที
ซึ่งจะแสดงถึงการให้ความเอาใจใส่ดูแลการทำงานของสมาชิกในชนรุ่นนี้ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความผูกพันในการทำงานขึ้น รวมทั้งช่วยให้ทราบถึงวิธีการที่ใช้ในการทำงานว่าถูกต้อง
หรือจำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีการทำงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการทำงานที่กำหนดไว้ได้
การให้ข้อมูลป้อนกลับจากผลการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง จะทำให้สมาชิกในชนรุ่นนี้สามารถนำไปปรับปรุงและพัฒนาให้สามารถรับผิดชอบงานที่มีความสำคัญและท้าทายได้ (Gravette
& Throckmorton, 2007, p. 102) ชนรุ่นยุคอินเทอร์เน็ตมีค่านิยมเกี่ยวกับงานที่ต้องการความเสมอภาค
ความโปร่งใส และความยุติธรรม โดยให้ความสำคัญกับการใช้ความสามารถของตัวบุคคล
ในการทำงานเพื่อบรรลุผลสำเร็จ
และเชื่อว่าการมุ่งเน้นผลการปฏิบัติงานเป็นสิ่งสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จขององค์การ
จึงสามารถสร้างความพึงพอใจสำหรับชนรุ่นนี้ได้ด้วยการจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน
(Gursoy et al., 2008, p. 450)
การสร้างเครือข่ายทางสังคม (social network) มีความสำคัญต่อชนรุ่นยุคอินเทอร์เน็ตในการติดต่อสื่อสารถึงกันได้ตลอดเวลา (Twenge
et al., 2010) สมาชิกในชนรุ่นนี้ชอบทำงานกับพนักงานที่มีความรู้สึกว่าเป็นเพื่อนมากกว่า
จึงคาดหวังสภาพแวดล้อมการทำงานที่สร้างปฏิสัมพันธ์อันดี นอกจากนั้นการใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่มีการเชื่อมต่อข้อมูลข่าวสารตลอดเวลาก็ทำให้ชนรุ่นยุคอินเทอร์เน็ตคุ้นเคยการตอบสนองต่อความต้องการของตนเองได้อย่างรวดเร็ว
แสดงออกถึงความต้องการที่ต้องได้รับการตอบสนองทันที (instant gratification) สมาชิกในชนรุ่นนี้จึงต้องการพัฒนาตนเองให้มีความก้าวหน้าและเติบโตในอาชีพการงานอย่างรวดเร็ว
ชนรุ่นนี้มีทัศนคติต่อการเปลี่ยนงานว่าเป็นการเรียนรู้ พัฒนาทักษะ
และเสริมสร้างประสบการณ์ในการทำงานใหม่ในองค์การอื่น ๆ มองการเปลี่ยนงานเป็นเรื่องปกติ
และคาดหวังที่จะเปลี่ยนงานก็ต่อเมื่อองค์การไม่ได้ใช้ประโยชน์จากความสามารถของตนเอง
(Gibson, Greenwood, and Murphy, 2009, pp. 1-7)
การสร้างความพึงพอใจสำหรับชนรุ่นยุคอินเทอร์เน็ตสามารถทำได้โดยมอบหมายให้รับผิดชอบงานที่มีความสำคัญและมีความท้าทาย
จัดให้มีความยืดหยุ่นของเวลาการทำงานที่เหมาะสม
มีทางเลือกของการทำงานนอกสถานที่ มีสภาพแวดล้อมการทำงานที่สร้างมิตรภาพระหว่างเพื่อนร่วมงาน
มีความสนุกสนานและมีความปลอดภัยในการทำงาน
มีการฝึกอบรมพัฒนาเพื่อความก้าวหน้าในอาชีพการทำงาน รวมทั้งสนับสนุนให้เข้าร่วมกิจกรรมที่แสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม (Gravette & Throckmorton, 2007, p.
98)
แนวคิด ทฤษฎี
และเอกสารวิจัยที่เกี่ยวกับชนรุ่นจากนักวิชาการ
สามารถสรุปช่วงปีเกิดแต่ละชนรุ่น ดังตาราง 2
ช่วงปีเกิดที่จำแนกชนรุ่น
ชนรุ่น
|
ชื่อเรียกในการศึกษาอื่นๆ
|
ช่วงปีเกิด
|
ชนรุ่น
ยุควิทยุ
(Radio Generation)
|
Radio Babies, Seniors,
Traditionalists, Veteran,
GI's, Mature, WWII Generation,
Silent Generation, Veterans, Survivor Generation, Builders, Hero Generation
|
ค.ศ. 1928 - 1945
(พ.ศ. 2471-2487)
อายุ 70 ปี - 87 ปี
|
ชนรุ่น
ยุคโทรทัศน์ (Television Generation)
|
Baby Boomers, Boomers, Stress Generation, Disco Generation,
Hippies, Spock Generation, The Breakthrough Generation
|
ค.ศ. 1946 - 1964 (พ.ศ.
2508 - 2523) อายุ 51 ปี - 69 ปี
|
ชนรุ่น
ยุคคอมพิวเตอร์ (Computer Generation)
|
Generation X , Xers, Gen X, Baby
Busters, Thirteener, Lost Generation, Twenty-Somethings, Post Boomers, MTV
Generation, Post Boomers, Slackers, Whiners, Latchkey Kids, Pepsi Generation
|
ค.ศ. 1965 - 1980 (พ.ศ.
2508 - 2523) อายุ 35 ปี - 50 ปี
|
ชนรุ่น
ยุคอินเทอร์เน็ต (Internet Generation)
|
Generation Y, Gen Y, Nexters, Millenials, Generation
2001, Nintendo Generation, Echo Boomers, Nexters, Bridgers, Net Generation,
Dot.Com Generation, iGeneration, Google Generation
|
ค.ศ. 1981 - 2000 (พ.ศ.
2524 - 2543) อายุ 15 ปี - 34 ปี
|
ที่มา:
จากการสังเคราะห์ช่วงปีเกิดแต่ละชนรุ่นในการศึกษาวิจัยของ DeVaney & Cherimba (2005), Nicholson (2008), Hicks & Hicks (1999), Sincavage (2004)
Magnuson & Alexander ( 2008), Chen & Choi ( 2008), Parker & Chusmir
( 1990), Strauss & Howe ( 1991), Danielsen ( 2011) และ Wong et al. (2008)