วันพุธที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ธรรมาภิบาล

Governance
ธรรมาภิบาล


โดย อนุรักษ์ วัฒนะถาวรวงศ์


             แนวคิดธรรมาภิบาล (governance) เป็นคำที่นิยมกล่าวถึงอย่างมากในปัจจุบัน ในฐานะที่เป็นเป้าหมายในการพัฒนาของประเทศต่างๆ ตามแนวคิดขององค์การระหว่างประเทศและกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า หลักธรรมาภิบาล เป็นปัจจัยที่สำคัญในการส่งเสริมให้กิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน บทความนี้เป็นการสรุปแนวคิดที่เกี่ยวกับธรรมาภิบาลต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจและสรุปความรู้ที่ได้จากการศึกษาในครั้งนี้ โดยนำกรอบแนวคิดของนักวิชาการต่างๆที่มีชื่อเสียงในด้านแนวคิดธรรมาภิบาล เป็นศึกษากรอบแนวความคิดในการศึกษาทางด้านธรรมาภิบาลและนำตัวแปรทั้งหมดที่อยู่ในกรอบแนวคิดในการศึกษานี้มาสังเคราะห์และสรุปความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรต่างๆตามแนวคิดธรรมาภิบาลนี้


Transforming Bureaucracies for The 21st Century: The New Democratic Governance Paradigm

            ในกระบวนทัศน์ของธรรมาภิบาลประชาธิปไตยแนวใหม่ (new democratic governance paradigm) จะต้องตอบคำถามที่สำคัญทั้งสี่ข้อดังนี้ คำถามรแรก คือ สิ่งที่รัฐควรทำอะไรบ้าง คำถามที่สอง คือ รัฐควรทำอย่างไร คำถามที่สาม คือ ใครควรเป็นผู้ควบคุมรัฐ และคำถามที่สี่ คือ ใครจะได้ผลประโยชน์จากรัฐ หลักการชี้นำที่จะช่วยอธิบายคำถามทั้งสี่ข้อมีดังต่อไปนี้
            หลักการแรก คือ รัฐต้องมีขนาดเล็กลงที่ทำงานเองน้อย (smaller government does less) เป็นการตอบคำถามว่ารัฐควรทำอะไรบ้าง เป็นการลดค่าใช้จ่ายในการจัดการ ลดขนาดให้เล็กลง ลดขั้นตอน ให้เอกชนเข้ามารับงานของรัฐมากขึ้น และลดกฎเกณฑ์ต่างๆ เนื่องจากรัฐมีภาระในดูแลค่าใช้จ่ายในการจัดการของรัฐที่มีขนาดใหญ่แบบลำดับขั้น จึงจำเป็นต้องทำให้ขนาดเล็กลงและมุ่งไปยังผลของงานมากกว่า และภาคเอกชนนั้นสามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพมากกว่า ในด้านคุณภาพของสินค้าและบริการสาธารณะโดยใช้กลไกตลาดที่มีการแข่งขัน แทนที่จะผูกขาดอยู่กับรัฐซึ่งไม่มีแรงจูงใจในการปรับปรุงคุณภาพ รวมทั้งยุคโลกาภิวัฒน์ (globalization) ที่มีเศรษฐกิจการค้าเสรีและให้หลักทางด้านตลาดที่ให้ภาคเอกชนเป็นตัวขับเคลื่อนในการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยรัฐต้องเป็นทั้งผู้สนับสนุนและเป็นหุ้นส่วนกับภาคเอกชนแทนที่จะเป็นเจ้านายหรือผู้รับใช้ของประชาชนในการควบคุมภาคเอกชน
            หลักการอย่างที่สอง คือ วิสัยทัศน์ของโลกและความยืดหยุ่น (government with global vision and flexibility) เป็นการตอบคำถามว่ารัฐควรทำอย่างไรเพราะรัฐบาลต้องพึ่งพาสิ่งแวดล้อมของโลกมากกว่าเมื่อก่อน การเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาและความไม่แน่นอนทำให้ต้องใช้ความยืดหยุ่นและต้องตอบสนองต่อความท้าทายที่เกิดขึ้นทั่วโลกอย่างสร้างสรรค์ ยุคโลกาภิวัฒน์นี้จะทำให้เศรษฐกิจไม่มีขอบเขตส่งผลให้ลูกค้าที่เป็นประชาชนได้รับประโยชน์จากสินค้าที่ดีที่สุดในระบบการค้าของโลกที่กำกับโดย WTO, GATT, UNCTAD และธนาคารโลก รวมทั้งกลุ่มการค้าของ EU, OPEC, NAFTA และ APEC ก็มีความสำคัญมากขึ้น นอกจากนั้นเทคโนโลยีสารสนเทศยังทำให้มีการับรู้ข่าวสารที่เร็วขึ้น ซึ่งส่งผลให้ระยะทางไม่มีความสำคัญอีกต่อไป ทำให้คนเข้าใจร่วมกันว่าสิ่งใดถูกหรือผิดอย่างไร เช่น ในการสนับสนุนแนวคิดของสหประชาชาติเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน การปกป้องสิ่งแวดล้อม และสิทธิมนุษยชน ในทางการเมืองเองก็จะเห็นได้ว่าระบบประชาธิปไตยนั้นดีกว่าระบบคอมมิวนิสต์เพราะทำให้คนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพราะเศรษฐกิจเป็นตัวขับเคลื่อนโดยใช้ค่านิยมประชาธิปไตย เช่น สิทธิประชาชน รัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง การเปิดเผยของรัฐ และรัฐบาลท้องถิ่น ดังนั้นรัฐจะต้องมีความยืดหยุ่นโดยให้เอกชนรับดำเนินการแทนรัฐและมีการจ้างงานตามสัญญา
            หลักการที่สาม คือ รัฐต้องมีความรับผิดชอบที่ตรวจสอบได้ (accountable government) โดยประชาชนและนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ในประเทศที่มีสื่อเสรีจะทำให้การตรวจสอบรัฐมีความเข้มข้น และการปฏิรูปการจัดการนั้นจะมุ่งเน้นความเปิดเผย ความโปร่งใส และการเข้าถึงรัฐ เช่นมีการจัดตั้งสำนักงานตรวจการแผ่นดิน มีศาลปกครอง ออกกฎหมายการให้ข้อมูลอย่างเสรี มีประชาพิจารณ์ มีหน่วยงานต่อต้านการทุจริต เป็นต้น
            หลักการที่สี่ คือ ความยุติธรรมของรัฐ (government that is fair) เป็นการตอบคำถามที่ว่าใครจะได้ประโยชน์จากรัฐ ในการปฏิรูปการจัดการอาจจะมีทั้งผลดีและผลเสียต่อกลุ่มคนบางกลุ่ม ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นผู้ดำเนินการปฎิรูป ถ้าฝ่ายราชการเป็นผู้ปฎิรูปก็จะให้ผลประโยชน์กับตัวเองมากกว่า แต่ในหลักของความยุติธรรมมีได้สี่รูปแบบ แบบแรกเป็นความยุติธรรมทั่วโลกที่เป็นแนวปฎิบัติของรัฐ เช่น การพัฒนาอย่างยั่งยืน สิทธิมนุษยชน และการปกป้องสิ่งแวดล้อม แบบที่สองเป็นความยุติธรรมในรัฐธรรมนูญที่จะต้องให้นโยบายสอดคล้องกับรัฐ ธรรมนูญของประเทศ แบบที่สามเป็นความยุติธรรมของรัฐที่จะต้องดำเนินนโยบายตามทำกำหนดไว้ เช่น การกระจายอำนาจ และแบบที่สี่เป็นความยุติธรรมของบุคคลที่จะต้องให้ความยุติธรรมเท่าเทียมกันกับทุกคน1

A Public Management for All Seasons? – Christopher Hood

            การจัดการภาครัฐแนวใหม่ (New Public Management) ได้เกิดขึ้นจากแนวโน้มดังนี้ มีการลดขนาดการเติบโตของรัฐ มีการแปรรูปโดยให้ให้เอกชนรับดำเนินการแทน มีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการพัฒนาการผลิตสินค้าแลบริการสาธารณะ และเป็นหัวข้อในความร่วมมือระหว่างประเทศในประเด็นการจัดการภาครัฐ การกำหนดนโยบาย และความร่วมมือต่างๆที่เกิดขึ้น จึงเป็นที่มาของหลักนิยมในการจัดการภาครัฐแนวใหม่ (doctrines of NPM) องค์ประกอบดังต่อไปนี้
            1. การใช้มืออาชีพดำเนินการในภาครัฐ มีอำนาจอิสระในการจัดการและมีการตรวจสอบได้ที่มีความรับผิดชอบที่ชัดเจน
            2. มาตรฐานและการประเมินผลงาน มีเป้าหมาย ตัวชี้วัดความสำเร็จเชิงปริมาณโดยเฉพาะการบริการอย่างมืออาชีพ มีการตรวจสอบที่มีเป้าหมายที่ชัดเจนและประสิทธิภาพต้องมองที่วัตถุประสงค์
            3. มุ่งเน้นผลลัพธ์ เป็นการจัดสรรทรัพยากรและรางวัลตามผลงาน โดยมุ่งเน้นผลลัพธ์มากกว่าวิธีการทำงาน
            4. มุ่งไปยังการทำให้หน่วยงานในภาครัฐเล็กลง เป็นแยกหน่วยงานที่เป็นหนึ่งเดียวออกเป็นส่วนต่างๆในการกระจายอำนาจเพื่อให้มีความเป็นธรรม จำเป็นต้องสร้างหน่วยงานต่างๆในการจัดการ ให้มีการแยกการจัดหาและการผลิตออกจากกัน เพื่อประโยชน์ทางด้านประ สิทธิภาพจากการใช้สัญญาให้ผู้อื่นมาดำเนินการแทน
            5. มุ่งไปยังการแข่งขันที่มากขึ้นในภาครัฐ เป็นวิธีการใช้สัญญาของรัฐ การแข่งขันทำให้ลดต้นทุนและมีมาตรฐานสูงขึ้น
            6. เน้นแนวทางบริหารของภาคเอกชน เปลี่ยนจากจริยธรรมการบริการสาธารณะแบบทหาร ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นในการจ้างงานและการให้รางวัล จำเป็นต้องใช้เครื่องมือการจัดการแบบเอกชนที่พิสูจน์แล้วว่าประสบความสำเร็จมาใช้ในการจัดการภาครัฐ
            7. เน้นการใช้หลักการและหลักประหยัดในการใช้ทรัพยากร โดยลดต้นทุนทางตรง มีการสร้างวินัย ต่อต้านความต้องการของสหภาพ และลดต้นทุนที่ปรับตัวเป็นแบบธุรกิจ
            ในความหมายของการจัดการภาครัฐแนวใหม่มาจากการใช้หลักเศรษฐศาสตร์ที่มีทางเลือกสาธารณะ (public choice) ทฤษฎีต้นทุนการทำธุรกรรม (transaction cost theory) และทฤษฎีเจ้าของตัวแทน (principal-agent theory) ที่ส่งผลให้เกิดการแข่งขัน มีทางเลือกมากขึ้น มีความโปร่งใส และมีการใช้ค่าตอบแทนจูงใจ รวมกับหลักบริหารธุรกิจที่มีการใช้มืออาชีพที่มีความสามารถมาจัดการทำให้ผลการทำงานดีขึ้น
            นอกจากนั้น Hood ยังได้ใช้ค่านิยมของการจัดการภาครัฐ โดยแบ่งเป็น ค่านิยมแบบซิกม่า (sigma-type values) ที่เน้นความประหยัดและตรงตามวัตถุประสงค์ (lean & purposeful) ค่านิยมแบบเทต้า (theta-type values) ที่เน้นความซื่อสัตย์และความยุติธรรม (honest & fair) และค่านิยมแบบแลมด้า (lambda-type values) ที่เน้นคงทนและการฟื้นตัวเร็ว (robust & resilient) โดยนำมุมมองของค่านิยมเหล่านี้มาเปรียบ เทียบในการนำมาใช้ ถ้ามีค่านิยมอย่างหนึ่งมาก ค่านิยมอีกอย่างหนึ่งก็จะลดลงไป เป็นไปไม่ได้ที่จะมีค่านิยมทั้งหมดในการบริหารที่เท่ากัน2

The Hollowing Out of the State: The Changing Nature of The Public Service in Britain – R.A.W. Rhodes

            Rhodes ได้สรุปแนวโน้มจากรัฐที่กลวง (hollow out of the state) ดังนี้ 1) มีการแปรรูปให้เอกชนเข้ามารับงานไปดำเนินการแทนและเป็นการจำกัดบทบาทของรัฐในการแทรกแซง 2) การทดแทนภาระหน้าที่ต่างๆของรัฐบาลโดยทางเลือกใหม่ของการส่งมอบบริการสาธาร ณะ 3) การให้สถาบันของสหภาพยุโรปเข้ามามีบทบาทแทนรัฐบาลอังกฤษ 4) การจำกัดอำนาจหน้าที่เจ้าหน้าที่ของรัฐในการจัดการภาครัฐแนวใหม่
            นอกจากนั้น Rhodes ยังได้กล่าวว่าการแก้ปัญหาโดยทำให้รัฐกลวงนั้นกลับกลายเป็นการสร้างปัญหา (from solutions to problems) ซึ่งจะส่งผลดังต่อไปนี้ การแยกองค์การเป็นส่วน (fragmentation) ที่มีความจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาความร่วมมือซึ่งกันและกันระหว่างหน่วย งานต่างๆทั้งของภาครัฐและภาคเอกชนที่ได้แยกออกมานั้นทำได้ยากมาก เพราะแต่ละหน่วยงานได้รับอำนาจในการตัดสินใจได้ด้วยตัวเองอย่างเต็มที่ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ระบบที่มีการกำหนดนโยบายและการวางแผนเป็นภาพรวมอย่างเอกฉันท์ ยิ่งไปกว่านั้น การแยกองค์การเป็นส่วนยังทำให้เกิดความไม่มีประสิทธิภาพขึ้นอีกด้วย เพราะทำให้เกิดหน้าที่และความรับผิดชอบซ้ำซ้อนกัน ส่งผลให้ต้นทุนในการทำงานสูงขึ้นถึงแม้ว่าจะมีประสิทธิผลที่เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองลูกค้าดีก็ตาม ปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นคือ ความรับผิดชอบที่ตรวจสอบได้ (accountability) ก็มีปัญหาจากการที่รัฐบาลกลวง เนื่องจากความซับซ้อนของระบบที่เป็นเครือข่ายต่างๆที่ไม่สามารถระบุผู้รับผิดชอบที่ตรวจสอบได้อย่างชัดเจน นอกจากนั้นทางฝ่ายการเมืองเองก็ยากที่จะใช้กระบวนการทางการเมืองตรวจสอบเช่นกัน ส่งผลให้ความซับซ้อนของระบบทำให้ลดความสามารถของปัจเจกบุคคลที่จะเข้าใจถึงระบบนี้ ก็จะลดการมีส่วนร่วมทางสาธารณะ และไม่สามารถเข้าถึงผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจได้ เป็นอุปสรรคต่อการสร้างวิถีของประชาธิปไตยในที่สุด
คุณลักษณะของการจัดการภาครัฐแนวใหม่ที่ประกอบด้วย การให้เอกชนเข้ามารับดำเนินการแทนรัฐ การผ่อนคลายกฎระเบียบ การใช้แนวทางหลักบริหารธุรกิจของเอกชน และการลดค่าใช้จ่ายนั้น ทำให้เกิดความหายนะทางด้านสังคม (social disaster) สิ่งที่การจัดการภาครัฐแนวใหม่นั้นส่งผลก็คือ การแยกส่วนองค์การของรัฐเป็นหน่วยงานต่างๆนั้น ทำให้เกิดอุปสรรคในการสื่อสารระหว่างหน่วยงานกับค่า ตอบแทนจูงใจ มีการบิดเบือนหรือปิดบังข้อมูล การลดค่าใช้จ่ายต่างๆทำให้จำนวนของผู้ปฎิบัติการหน้างานมีไม่เพียงพอ ทำให้เกิดการไม่ได้รับการเอาใจใส่อย่างเพียงพอ การบำรุงรักษาที่ลดลง และการฝึกอบรมพนักงานที่มีความจำเป็น การใช้วิธีแก้ปัญหาอย่างผิดวิธีนี้ทำให้มีข้อจำกัดในวัตถุประสงค์ และทำให้เกิดความซ้ำซ้อนที่ลดลง ส่งผลให้ไม่มีความยืดหยุ่นในการตอบสนองในการแก้ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นได้ ส่วนการจ้างผู้บริหารจากภายนอกให้ทำงานตามที่ระบุไว้นั้น ก็ไม่ได้มีประสบการณ์ในการทำงานที่อยู่ในระบบราชการมาก่อน นอกจากนั้น การแยกส่วนไปเป็นหน่วยงานต่างๆทำให้ลดความสามารถในการควบคุมจากส่วนกลาง (central capability) ที่มีความจำเป็นในการประสาน งานและวางแผน โดยเฉพาะการตรวจสอบจากฝ่ายการเมืองที่จะต้องใช้กำหนดนโยบายและควบคุมการดำเนินให้เป็นไปตามเป้าหมาย3

Governance, Democracy, and Development in the Third World – Adrian Leftwich

            ธนาคารโลก ได้ให้ความหมายของธรรมาภิบาลว่าจะต้องมีคุณสมบัติดังนี้ มีการบริการสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ มีระบบตุลาการที่เป็นอิสระและการบังคับใช้กฎหมายในสัญญาได้ มีการตรวจสอบการใช้เงินของรัฐ มีผู้ตรวจการแผ่นดิน มีความรับผิดชอบในการออกกฎ หมาย มีการเคารพกฎหมายและสิทธิมนุษยชน มีโครงสร้างที่เป็นสถาบันของกลุ่มผลประโยช์ต่างๆ และมีเสรีภาพของสื่อ เมื่อรวมเอาคำว่า ธรรมาภิบาล (governance) มารวมกับ ประชาธิปไตย (democracy) เป็น ธรรมาภิบาลประชาธิปไตย (democratic governance) จะหมายถึง รัฐที่มีการเมืองแบบเสรีประชาธิปไตย มีการปกป้องประชาชนและสิทธิต่างๆ ที่รัฐมีการบริหารอย่างมีความสามารถ ไม่มีการทุจริต และตรวจ สอบได้ รวมถึงมีเศรษฐกิจที่เป็นตลาดเสรีและแข่งขันได้อีกด้วย สิ่งที่มีอิทธิพลในการเกิดขึ้นของธรรมาภิบาลประชาธิปไตยมาจากปัจจัยดัง ต่อไปนี้ ปัจจัยแรก คือ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างในปี 1980 เป็นการที่องค์การระหว่างประเทศ เช่น ธนาคารโลก (World Bank) และองค์การเงินทุนระหว่างประเทศ (International Monetary Fund) หรือ IMF ได้ยื่นข้อเสนอให้เงินช่วยเหลือแลกเปลี่ยนกับการปฎิรูประบบราชการให้มีการแข่งขันอย่างเสรีและเปิดเผยขึ้นโดยใช้หลักเศรษฐศาสตร์การตลาด โดยที่มีรัฐเข้ามามีบทบาทน้อยที่สุด (minimal state) มีการผ่อนคลายกฎระเบียบ ลดเงินอุดหนุน (subsidy) สะท้อนราคาต้นทุนที่เป็นจริง เพื่อทำให้เกิดประสิทธิภาพขึ้น ปัจจัยที่สองคือ อิทธิพลของการเมืองแนวเสรีนิยมใหม่ (new liberalism) ที่มุ่งเน้นการใช้ตลาด การผ่อนคลายกฎระเบียบ การให้เอกชนเข้ามาดำเนินการแทน แนวคิดปักเจกบุคคลนิยม ที่สนับสนุนค่านิยมของประชาธิปไตย ปัจจัยที่สาม คือ ความล่มสลายของระบบคอมมิวนิสต์ ที่มีปัญหาในการสร้างความเจริญเติบโตให้กับเศรษฐกิจและความไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้มีการฟื้นฟูและพัฒนาประเทศในยุโรปตะวันออกและอดีตสหภาพโซเวียตขึ้น ก็ได้นำแนวคิดเศรษฐศาสตร์การตลาด สนับสนุนแนวคิดประชาธิปไตย และพหุนิยม และปัจจัยที่สี่ คือ ผลกระทบจากแนวคิดประชาธิปไตยนิยม ที่เกิดขึ้นทั่วประเทศในเอเซีย เป็นการใช้อำนาจอันชอบธรรมในการสร้างความเป็นประชาธิปไตยให้เกิดขึ้น
Leftwich ได้เสนอความสัมพันธ์ของธรรมาภิบาล ประชาธิปไตย และการพัฒนาขึ้น ซึ่งประกอบด้วยสามส่วน ดังนี้ ประการแรก คือ มุมมองด้านระบบ (system) ซึ่งแนวคิดธรรมาภิบาล (governance) มีความหมายกว้างกว่ารัฐบาล (government) โดยจะมีความหมายแบบหลวมๆที่ครอบคลุมไปถึงอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองทั้งภายในและภายนอก ประการที่สองคือ มุมมองด้านการเมือง ที่มีการแบ่งแยกอำนาจของฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการอย่างชัดเจน และประการที่สาม คือ มุมมองด้านบริหาร ที่เป็นความมีประสิทธิภาพ ความเปิดเผย การตรวจสอบได้ ซึ่งรัฐจะต้องมีความสามารถในการออกแบบและนำนโยบายไปปฏิบัติ รวมถึงมีการสร้างระบบของกฎหมายที่จะจัดการกับข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นในตลาดเสรีนี้ ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการจัดระเบียบของโลกใหม่ (New World Order) ในการใช้ธรรมาภิ บาลและประชาธิปไตยที่ใช้ในการพัฒนาประเทศในโลกที่สามต่อมา4
จากแนวความคิดธรรมาภิบาลของนักวิชาการที่มีชื่อเสียงที่ได้กล่าวมาข้างต้นนี้สามารถสรุปเป็นแนวคิดธรรมาภิบาล ได้ในตารางที่ 1.1 แสดงแนวคิดของหลักธรรมาภิบาลที่ได้ศึกษา และในภาพ 1.1 แสดงกรอบแนวคิดในการศึกษาหลักธรรมาภิบาล

ตารางที่ 1.1 แนวคิดของหลักธรรมาภิบาลที่ได้ศึกษามาดังนี้
แนวคิด
Bowornwathana
Hood
Rhodes
Leftwich
หลักธรรมาภิบาล
ธรรมาภิบาลประชาธิปไตยแนวใหม่
▪รัฐต้องมีขนาดเล็กลงที่ทำงานเองน้อย
▪วิสัยทัศน์ของโลกและความยืดหยุ่น
▪รัฐต้องมีความรับผิดชอบที่ตรวจสอบได้
▪ความยุติธรรมของรัฐ
หลักนิยมในการจัดการภาครัฐแนวใหม่
▪การใช้มืออาชีพดำเนินการ มีอำนาจอิสระและมีการตรวจสอบ
▪มาตรฐานและการประเมินผลงาน มีเป้าหมาย ตัวชี้วัดความสำเร็จ
▪มุ่งเน้นผลลัพธ์
▪ทำให้หน่วยงานในภาครัฐเล็กลง เป็นแยกเป็นส่วน
▪มุ่งไปยังการแข่งขันที่มากขึ้น
▪เน้นแนวทางบริหารของภาคเอกชน
▪เน้นการใช้หลักการและหลักประหยัดในการใช้ทรัพยากร
รัฐที่กลวง
▪มีการแปรรูปให้เอกชนเข้ามารับงานไปดำเนินการแทนและเป็นการจำกัดบทบาทของรัฐในการแทรกแซง
▪การทดแทนภาระหน้าที่ต่างๆของรัฐบาลโดยทางเลือกใหม่ของการส่งมอบบริการสาธาร ณะ
▪การให้สถาบันของสหภาพยุโรปเข้ามามีบทบาท
▪การจำกัดอำนาจหน้าที่เจ้าหน้าที่ของรัฐ
ความสัมพันธ์ของธรรมาภิบาล ประชาธิปไตย และการพัฒนา
▪มุมมองด้านระบบ
▪มุมมองด้านการเมือง
▪มุมมองด้านบริหาร
จุดเน้น
ตอบคำถามที่สำคัญทั้งสี่ข้อ
▪สิ่งที่รัฐควรทำอะไรบ้าง
▪รัฐควรทำอย่างไร
▪ใครควรเป็นผู้ควบคุมรัฐ
▪ใครจะได้ผลประโยชน์จากรัฐ
แนวโน้มที่ทำให้เกิดการจัดการภาครัฐแนวใหม่
▪มีการลดขนาดการเติบโตของรัฐ ▪มีการแปรรูปโดยให้ให้เอกชนรับดำเนินการแทน
▪มีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ
▪เป็นหัวข้อในความร่วมมือระหว่างประเทศ
การแก้ปัญหากลับกลายเป็นการสร้างปัญหา
▪การแยกองค์การเป็นส่วน จำเป็นที่จะต้องพึ่งพาความร่วมมือซึ่งกันและกัน
▪ ความรับผิดชอบที่ตรวจสอบได้ก็มีปัญหาจากความซับซ้อนของระบบที่เป็นเครือข่ายต่างๆที่ไม่สามารถระบุผู้รับผิดชอบที่ตรวจสอบได้อย่างชัดเจน
การใช้ธรรมาภิบาลและประชาธิปไตยที่ใช้ในการพัฒนาประเทศ


ภาพ 1.1 กรอบแนวคิดในการศึกษาหลักธรรมาภิบาล

องค์ประกอบของรัฐ
-มีขนาดเล็กลง
-ทำงานเองน้อย
-มีความรับผิดชอบที่ตรวจสอบได้
-มีความยุติธรรม
-ใช้มืออาชีพดำเนินการ
-มีมาตรฐานและการประเมินผลงาน
-มุ่งเน้นผลลัพธ์
-มุ่งไปยังการแข่งขันที่มากขึ้น
-เน้นแนวทางบริหารของภาคเอกชน
-เน้นการใช้หลักการและหลักประหยัด
สภาพแวดล้อม
-วิสัยทัศน์ของโลก
-อิทธิพลขององค์การ ระหว่างประเทศ
-การแข่งขัน
-ยุคโลกาภิวัฒน์


หลักธรรมาภิบาล
















            สรุปได้ว่าจากแนวคิดการศึกษาหลักธรรมภิบาลที่นำมาใช้กับการจัดการภาครัฐนั้นเกิดจากปัจจัยทางด้านสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นนั้นมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาและไม่คงที่ ซึ่งส่งผลให้รัฐนั้นจะต้องรับมือกับสภาวะที่มีการเปลี่ยนแปลงนี้และไม่คงที่นี้ โดยการปรับตัวให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยใช้กลไกตลาด ที่มีการแข่งขัน การมุ่งเน้นผลลัพธ์ การรับผิดชอบที่ตรวจสอบได้ การลดขนาดของรัฐ การให้เอกชนเข้ารับดำเนินการ มาใช้ทดแทนระบบราชการแบบเดิมที่ไม่มีประสิทธิภาพและไม่สามารถตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยน แปลงตลอดเวลาและไม่คงที่




เชิงอรรถ

1จาก “Transforming Bureaucracies for the 21st Century: The New Democracy Governance Paradigm”
โดย Bidhya Bowornwathana, 1997, หน้า 667-679

2จาก “A Public Management for All Season?”
โดย Christopher Hood, 2005, 1991, หน้า 3-19.

3จาก “The Hollowing Out of the State: The Changing Nature of the Public Service in Britain”
โดย R.A.W. Rhodes, 1994, หน้า 138-151.

4จาก “Governance, Democracy and Development in the Third World”
โดย Adrian Leftwich, 1993, หน้า 605-624.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความสัมพันธ์ระหว่างค่านิยมเกี่ยวกับงาน ความพึงพอใจในงาน และความผูกพันองค์การ

ความสัมพันธ์ระหว่างค่านิยมเกี่ยวกับงาน ความพึงพอใจในงาน และความผูกพันองค์การ โดย ดร. อนุรักษ์ วัฒนะถาวรวงศ์   ความสัมพันธ์ระหว่างค่านิ...