วันพุธที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ความหมายของ public ใน public administration


ความหมายของ public ใน public administration



โดย ดร. อนุรักษ์ วัฒนะถาวรวงศ์

ความหมายของ Public

            คำว่า “public administration” เป็นคำที่ใช้ได้อย่างโดดเด่นมากโดย Woodrow Wilson ในปี 1887 ขณะที่เป็นศาสตราจารย์ที่อายุน้อย และได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีในเวลาต่อมา ซึ่งในที่นี้จะมาศึกษาความหมายของ “public” ในแง่มุมต่าง ๆ ที่มีอยู่วารสารและหนังสือที่มีผู้เขียนที่เป็นนักวิชาการทางด้านรัฐประศาสนศาตร์ ได้ให้ความหมาย คำนิยามที่แตกต่างกัน รวมทั้งพจนานุกรมต่าง ๆ เพื่อค้นหาความหมายน่าสนใจต่อวิชารัฐประศาสนศาตร์
           เราจะเคยชินกับคำว่า “public administration” มากกว่าคำว่า “government administration” ในปัจจุบัน ทั้งที่ความหมายดูน่าจะไม่แตกต่าง ถ้าแปลความหมายตรงตัวคือ การบริหารรัฐกิจในอย่างแรก และการบริหารรัฐบาลในอย่างหลัง แต่ถ้าเอาคำนามขยายในส่วนแรกของแต่ละคำมีแปลต่างหาก คำว่า “public” ในความหมายที่เข้าใจกันคือ “สาธารณะ” และ คำว่า “government” หมายถึง “รัฐบาล” เป็นคำที่เข้าใจโดยทั่วกัน
           David Mathews1 เขียนหนังสือ Politics For People ได้แสดงให้เห็นความแตกต่างของคำว่า “government” และ “public” โดยที่ให้ความหมายของ government ว่าเป็นเครื่องมือของ public ที่จะแสดงออกมาในภาพรวม และ government ยังเป็นสมบัติของ public อีกด้วย นอกจากนั้น public และ government ยังมีความหมายแตกต่างกันในเรี่องของความ สัมพันธ์ทางการเมืองโดยที่ public จะมีความสัมพันธ์ทางการเมืองแบบราบ (lateral) คือ ประชาชน กับ ประชาชน (people to people) ขณะที่ government มักจะมีความสัมพันธ์แบบแนวดิ่ง คือ ผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชา (from authorities to subordinates)
           คำว่า public บ้างก็ได้มีการใช้ทั่วไปในการศึกษาและการสร้างทฤษฎีต่าง ๆ เช่น สิทธิในความเป็นพลเมือง หรือ ประชาชน (citizenship), ผลประโยชน์สาธารณะ (public interest), ความผาสุกของส่วนรวม (common good), และ วัตถุประสงค์ของส่วนรวม (common will)
           ในความหมายดั้งเดิมของคำว่า public มีที่มาเป็นภาษากรีก ในสองความหมาย โดย Palmer (1981)และ Matthews (1994)
           1. คำแรกคือ “pubes” ซึ่งในความหมายภาษาอังกฤษคือ “ความเป็นผู้ใหญ่” (maturity) ซึ่งในความหมายของภาษากรีก คือ ความเป็นผู้ใหญ่ในทางกายภาพและจิตใจ หรือ ทางปัญญา โดยที่จะให้ความสำคัญในการเปลี่ยนแปลงจากความเห็นแก่ตัว หรือ ผลประโยชน์ของตัวเอง เป็น การมองออกไปนอกตัวเองเพื่อที่จะเข้าใจถึงผลประโยชน์ของคนอื่น หรืออีกนัยหนึ่งคือ ความสามารถในการเข้าใจผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำของตัวเองที่มีผลต่อผู้อื่น ดังนั้นรากศัพท์ public ในที่นี้หมายถึง การเข้าไปสู่สภาพความเป็นผู้ใหญ่ (moving to adult state) ซึ่งเข้าใจความสัมพันธ์ระห่างตัวเองและผู้อื่น
           2. ในความหมายของ public ที่เป็นรากศัพท์จากภาษากรีกคำต่อมา คือ koinon ซึ่งในภาษาอังกฤษหมายถึง ร่วมกัน หรือ สาธารณะ (common) และคำว่า koinon มาจากภาษากรีกคำว่า kom-ois หมายถึง ความใส่ใจ หรือ การบริการ (to care with) คำว่า สาธารณะ และ การบริการ ให้ความหมายที่มีความสัมพันธ์ที่สำคัญ
           Mathews (1984) อธิบายแนวความคิดของ “ความเป็นผู้ใหญ่” ที่มองออกไปจากตัวเองไปยังผู้อื่น ในความหมายของ public ที่เป็นทั้ง “สิ่งของ” (thing) คือ การตัดสินใจสารธารณะ และเป็น “ความสามารถ” (capacity) คือ ความสามารถในการทำหน้าที่สาธารณะ มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น และ เข้าใจความเชื่อมโยงระหว่างการกระทำของตนเองและผลจากการกระทำที่ไปกระทบต่อผู้อื่น เมื่อนำทั้งสองคำมารวมกันทั้ง “สาธารณะและการบริการ” ด้วยกันกับ “ความเป็นผู้ใหญ่” จะให้ความหมายของ public ว่า ไม่เพียงแต่ที่จะต้องทำงานร่วมกับผู้อื่น แต่ต้องดูแลใส่ใจบริการผู้อื่นด้วย
           ชาวกรีกมองคำว่า public เป็น “ชุมชนทางการเมือง” (political community) ซึ่งในภาษากรีก polis คือ ประชาชนทั้งหมดที่เข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งชุมชนทางการเมืองได้ตั้งมาตรฐาน แนวปฏิบัติ และสนับสนุน ประกาศ รวมทั้งบังคับใช้ เพื่อนำไปสู่สิ่งที่ดีกว่า เมื่อประชาชนมีความภักดีต่อรัฐ ก็เป็นความรับผิดชอบของรัฐในการปกป้องและให้ความใส่ใจหรือบริการประชาชน
           การใช้ภาษาอังกฤษในปัจจุบันของคำว่า public ซึ่งในความหมายดั้งเดิมก็มีทั้งยังมีอยู่และหายไป คำว่า the public หมายถึง ผู้คนทั้งหมดในสังคมที่ไม่มีความแตกต่าง เช่น โรงเรียนของสาธารณะ (public school) คือ ที่ซึ่งเปิดให้ทุกคนและเป็นสถานที่ซึ่งรวมความรู้ทั่วไป สื่อที่เป็นของสาธารณะ (public press) ซึ่งมีไว้สำหรับทุกคน รวมทั้งห้องสมุดสาธารณะ (public library) ผับอังกฤษ (English Pub) ซึ่งเป็นที่พบปะกัน และสังสรรค์กันในปัจจุบัน ก็ย่อมาจากคำว่า บ้านสาธารณะ (public house) แปลว่า ที่ซึ่งชุมชนทั้งหมดมาพบปะกันรวมกันในความหมายเดิม
           ในส่วนความหมายดั้งเดิมที่หายไป คือ คำว่า public ที่มีความหมายที่คล้ายกันกับ การเมือง (politics) และ รัฐบาล (government) ซึ่ง Matthews (1984) ให้แนวความคิดของ public ว่า “เป็นความคิดอิสระ” (independent idea) ซึ่งความหมายนี้คลุมเครือ ไม่ชัดเจน

มุมมองของ public ใน public administration

           Public สำหรับ การบริหารรัฐกิจ (public administration) ในทางทฤษฎีทั่วไป2 มีอยู่ 5 มุมมอง

           1. มุมมองด้านพหุนิยม (Pluralist perspective )
           มุมมองด้านพหุนิยม ให้ความหมาย Public เป็น กลุ่มผลประโยชน์ (interest groups) ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของปัจเจกบุคคล (individuals) ที่มีความสนใจ หรือ ผลประโยชน์อย่างเดียวกัน (concerns) กลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ แข่งขันกันเพื่อจัดตั้งรัฐบาล เพื่อที่หาผลประโยชน์ กลุ่มพหุนิยม (pluralism) มีความหมายเดียวกันกับ กลุ่มผลประโยชน์ ซึ่งจะต้องมีปฏิสัมพันธ์กันในแต่ละกลุ่ม เพื่อมีส่วนในการกำหนด “ความสนใจสาธารณะ” (public interest) (Flathman, 1996; Shubert 1960) ตัวอย่างเช่น บริษัทที่รับงานก่อสร้างถนนและผู้ประกอบการที่จำหน่าย แอสฟัลท์ ทราย หิน สำหรับการก่อสร้างถนน ก็จะรวมตัวกันเป็นกลุ่มผลประโยชน์ เพื่อที่จะสามารถทำงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานรัฐบาลที่กำกับดูแลทางหลวง เช่นเดียวกันกับบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นฮาร์ดแวร์หรือซอฟท์แวร์ ก็จะมีการร่วมกันทำงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานของรัฐบาลกลาง มลรัฐ และรัฐบาลท้องถิ่น ซึ่งมีการบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ กลุ่มผลประโยชน์ที่มารวมกันและหน่วย งานรัฐมักจะมองหาคณะกรรมการที่กำกับดูแลในทางด้านกฎหมายในเรื่องเดียวกันที่ช่วยเหลือกันได้ ด้วยความสัมพันธ์ทั้งหมดสามกลุ่มนี้ เรียกว่า “iron triangle” และในการรวมตัวกันเป็นแบบพหุนิยมนี้เป็นที่นิยมในการปฎิบัติกันอย่างกว้างขวาง และมีประสิทธิผลมากในการบริหารรัฐกิจยุคดั้งเดิมในประเทศสหรัฐอเมริกา

           2. มุมมองด้านทางเลือกสาธารณะ (Public choice perspective)
มุมมองด้านทางเลือกสาธารณะ มอง public เป็น “ผู้เลือกที่มีเหตุผล” (rational chooser) ในมุมมองด้านพหุนิยมในความหมายของ public ใกล้เคียงกันกับมุมมองด้านทาง เลือกสาธารณะ ปัจเจกบุคคลนิยม (individualism) นี้มีความผูกพันกับ พหุนิยม (pluralism) ในมุมมองด้านทางเลือกสาธราณะ ผลประโยชน์ของชุมชน (the interest of community) คือ การที่รวมเอาผลประโยชน์ของสมาชิกที่เป็นปัจเจกบุคคล (individual) เข้ามาไว้ด้วยกัน ในมุมมองนี้เป็นมุมมองด้านผลประโยชน์เป็นใหญ่ (utilitarian perspective) ซึ่งมุ่งไปยัง ผลประโยชน์ของปัจเจกบุคคล ความพอใจ ความสุข โดยที่ไม่ได้มองถึงค่านิยมของชุมชน หรือแนวคิดอื่น ๆ เช่น จริยธรรม การทำสิ่งที่ดีกว่า หรือ ผลประโยชน์สาธารณะ
           สมมติฐานของผลประโยชน์ของตนเองจะให้มุมมองของ public เหมือนกับผู้บริโภคที่อยู่ในกลไกตลาด กล่าวคือ สมมติฐานนี้เมื่อได้ประยุกต์ในเรื่องตลาดเศรษฐศาสตร์กับภาครัฐ ในเมื่อแต่ละปัจเจกบุคคลมีความต้องการผลประโยชน์ของตนเอง รัฐและสังคมจะต้องจัดให้มีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อปัจเจกบุคคลสามารถกระทำสิ่งนี้ได้ Buhcanan and Tullock (1962) ได้ประยุกต์แบบจำลองเศรษฐศาสตร์การตลาด (economics of the market model) และแนวคิดปัจเจกบุคคลนิยมเพื่อที่จะให้ระบบการเมืองของอเมริกาสามารถบริหารรัฐบาลในระบบประชาธิปไตยให้จัดหาตามความต้องการของแต่ละปัจเจกบุคคลเป็นความต้องการขั้นพื้นฐาน
           Ostorm เขียนหนังสือ The Intellectual Crisis in American Public Administration (1973) ได้ประยุกต์ปรัชญาการเมืองต่าง ๆ  และมุมมองด้านทางเลือกสาธารณะกับการบริหาร งานรัฐกิจ Ostorm อ้างว่าการบริหารรัฐกิจมีความผิดพลาดตั้งแต่ยอมรับข้อโต้แย้งของ Woodrow Wilson ในเรื่องการแยกบริหารออกจากการเมือง (separation of politics and administration) และการยอมรับ แบบจำลองของ Weber ในเรื่องการรวมอำนาจในระบบราชการ (Weberian model of centralized bureaucracy) Ostorm ได้สนับสนุนแนวคิดนโยบายสาธารณะ (public choice) ในการบริหารรัฐกิจซึ่งเน้นการการจายอำนาจไปยังหน่วยงานเล็ก ๆ ให้มีอำนาจหน้า ที่ความรับผิดชอบ เหมือนกับ มีส่วนร่วมให้กับปัจเจกบุคคลเพื่อมีส่วนร่วมทางการเมือง

           3. มุมมองด้านกฎหมาย (Legislative perspective)
           มุมมองด้านกฎหมาย เป็นการผ่านกฎหมายที่ public ให้ความไว้วางใจและมอบอำนาจให้สภาคองเกรส ฝ่ายนิติบัญญัติของมลรัฐ และคณะกรรมการปกครองของท้องถิ่น ให้เป็นผู้พิจารณา เนื่องจากผู้มีอำนาจในการร่างกฎหมายได้รับอำนาจอันชอบธรรมมาจากการเลือกตั้งโดย public ดังนั้นก็มีสิทธิที่ถูกต้องในการออกกฎหมายในการบริหารรัฐกิจ ซึ่งเป็นมุมมองทางด้านกฎหมายของ public
Redford (1981) ได้เตือนว่า การมุ่งไปสู่แนวคิดอุดมคติของระบบประชาธิปไตยโลกของการบริหาร ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเสียงเลือกตั้งส่วนใหญ่ แต่จะอยู่ที่ตัวแทนของกลุ่มผลประโยชน์และการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้มีสิทธิตัดสินใจ ดังนั้น public ก็มาจากเสียงสนับสนุนทางนิติบัญญัติและกิจกรรมของกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ

           4. มุมมองด้านการให้บริการลูกค้า (Service-providing perspective)
           สิ่งที่น่าสนใจที่สุดในมุมมองของ public ในด้านนี้คือ ลูกค้า (customer) ซึ่งหมายถึง ปัจเจกบุคคลหรือกลุ่มที่ “เจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าถึงประชาชน” (street-level bureaucrats) ต้องดู แล เช่น นักเรียนในโรงเรียน เป็นลูกค้าของอาจารย์ผู้สอน ผู้กระทำความผิดเป็นลูกค้าของตำรวจ ผู้ป่วยเป็นลูกค้าของหน่วยงานสาธารณสุข เป็นต้น ซึ่งประชาชนทั้งหมดต้องเป็นลูกค้าของรัฐบาลในรูปแบบต่าง ๆ กัน และที่แน่นอนที่สุด เราทุกคนก็ต้องเป็นลูกค้าของสรรพากร
           ถ้าพูดถึงการบริการของลูกค้าของรัฐ ในด้านปัจเจกบุคคล ซึ่งมีข้าราชการหรือลูกจ้างของรัฐให้บริการหลายล้านคน public ในด้านการบริการลูกค้าแต่ละคน ก็ไม่สามารถทำได้ดีไปกว่ากลุ่มที่เป็นกลุ่มผลประโยชน์ เพราะความต้องการปัจเจกบุคคลที่ต้องสนองตอบกระจาย ไม่ได้เชื่อมเป็นความต้องการอย่างเดียวกัน และได้รับการบริการที่ไม่เท่าเทียม แต่ถ้าเป็นกลุ่มผลประโยชน์ที่มีการจัดองค์การอย่างชัดเจน มีการเงินที่สนับสนุนได้ดีกว่า จะมีโอกาสเข้าถึงการเป็นลูกค้าที่จะได้รับบริการจากรัฐได้ดีกว่า

           5. มุมมองด้านประชาชน (Public as citizen)
           แนวคิดของการเป็นพลเมือง หรือประชาชน (concept of citizenship) ได้ผูกพันอย่างใกล้ชิดกับที่มาของการบริหารรัฐกิจในปัจจุบัน ในยุคที่มีการปฏิรูปซึ่งต้องการเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีความรู้ ความสามารถ และเป็นคนเก่งที่ต้องถูกเลือกเข้ามาในการรับใช้ประชาชน ต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกิจกรรมสาธารณะและให้มีความรู้เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีความคิดที่ว่า ประชาชนต้องไม่เพียงที่จะมีความต้องการในผลประโยชน์ส่วนตน แต่ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญด้วย ในแนวคิดของการบริหารรัฐกิจ ของ Frederickson และ Chandler (1984) เห็นว่าประชาชน คือ public ซึ่งความคิดนี้ทำให้เกิดการเติบโตอย่างรวดเร็วของรัฐบาล มีการพัฒนากลุ่มผลประโยชน์ และนำไปสู่ทฤษฎีพหุนิยม และทางเลือกสาธารณะ
           ในปี 1930 การบริหารรัฐกิจเริ่มที่เปลี่ยนจากการเน้นภาคประชาชนมาเป็นมาเป็นการให้ความสำคัญการบริหาร และในปลายปี 1960 ความสำคัญก็ได้เปลี่ยนกลับมาโดยให้ความสนใจใน public ในการบริหารรัฐกิจ แต่ในช่วงนี้ แนวคิดพหุนิยม และทางเลือกสาธารณะเป็นแนวคิดที่ได้รับความนิยม และโดดเด่น แต่ความเป็นประชาชนได้รับความสนใจน้อยลง โดยเฉพาะนักวิชาการในมหาวิทยาลัยชื่อดังของอเมริกา
           ความสำคัญของความเป็นประชาชนได้เริ่มดีขึ้น ในการบริหารภายในตัวเมืองของอเมริกา โดยเห็นได้จากการที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่างนโยบายของเมืองที่สนับสนุนโดยรัฐบาลกลาง ซึ่งการบริการของรัฐก็มาจากการควบคุมของประชาชน ในกลางปี 1980 การมีส่วนร่วมของประชาชน ได้มีส่วนในการตัดสินใจในการออกนโยบายต่าง ๆ และเป็นลักษณะที่สำคัญของการบริหารงานแบบประชาธิปไตย (democratic administration)
           การมีส่วนร่วมของประชาชนต้องเข้ามามีบทบาทในกระบวนการออกนโยบายร่วมกันกับฝ่ายบริหารของรัฐ ฝ่ายนิติบัญญัติ และกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ ในการพัฒนาสมัยใหม่ของมุมมองด้านประชาชนในการบริหารรัฐกิจ สันนิษฐานว่า การมีส่วนร่วมของประชาชนที่มีคุณภาพทำให้การบริหารรัฐกิจมีประสิทธิผล จริง ๆ แล้ว นักทฤษฎีด้านความเป็นประชาชนแย้งว่าประชาชนที่ได้รับความรู้ความเข้าใจและมีส่วนร่วมเป็นปัจจัยสำคัญของการบริหารของรัฐบาลที่มีประสิทธิผล (Frederickson and Chandler, 1984)
           Benjamin Barber ได้เขียน Strong Democracy: Participatory Politics for a New Age (1986) เห็นว่าตัวแทนในรูปแบบต่าง ๆ ของประชาธิปไตย เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีความรู้ ความสามารถ กลุ่มผลประโยชน์ และทางเลือกสาธารณะ ทำให้ลดความสามารถของ public ในการบริหารในความหมายของตัวเอง ดังนั้น ประชาธิปไตยที่เข้มแข็งต้องการรัฐบาลที่บริหารโดยการมีส่วนร่วมของประชาชนมากขึ้น ซึ่งต้องการให้ปัจเจกบุคคลมีส่วนร่วมทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติในเรื่องของส่วนรวม การตัดสินใจและการพิจาณาทางการเมืองในส่วนรวม และกิจกรรมส่วนรวม
           ในมุมมองทั้งห้าประการของ public ในการบริหารรัฐกิจนี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของสังคมศาสตร์และปรัชญาของการมีอิทธิพลต่อสิ่งต่าง ๆ นักรัฐศาสตร์จะให้ความสนใจกับ กลุ่มผลประโยชน์ ตัวแทน และ ประชาชน ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ จะให้ความสำคัญกับตลาด ลูกค้า และความเป็นเหตุเป็นผล ในการบริหารรัฐกิจดั้งเดิมได้สนับสนุน ความเป็นมืออาชีพ ผู้เชี่ยวชาญ และฝ่ายบริหารของภาครัฐที่เข้มเข็ง ในทางตรงข้าม การบริหารรัฐกิจร่วมสมัย จะเลือกรัฐบาลที่มีขนาดเล็กกว่า มีการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยตรง มีการจ้างเอกชน มีรัฐวิสาหกิจ และการตอบแทนในเชิงการตลาด
ที่กล่าวมาข้างบนนี้ เป็นทฤษฎีทั่วไปของ public จากมุมมองทั้งห้านี้ แต่ก็ยังไม่สมบูรณ์ทั้งหมด ทฤษฎีนี้ยังประกอบด้วย3
           1. รัฐธรรมนูญ (Constitutions)
           สิ่งแรกที่ต้องมีก่อนในทฤษฎีทั่วไปของ public ใน การบริหารรัฐกิจ คือ มีพื้นฐานเป็นรัฐธรรมนูญ เป็นหลักการอธิปไตย (sovereignty) ตัวแทนที่เป็นรัฐบาล (representative government) สิทธิพลเมือง (the rights of citizens) และ ความสมดุลย์ของอำนาจ (balance of power)
            John Rohr (1986) เขียน To Run a Constitution กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐ ภายใต้รัฐธรรมนูญ ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญทั้งทางด้านเทคนิคและมีคุณธรรมตามบทบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งจุดประสงค์หลักของรัฐบาลอเมริกัน คือ ทำให้มั่นใจได้ต่อค่านิยมพื้นฐานของชาติที่ให้กับประชาชนทุกคน (founding values to all citizens)
           Dewey (1954) กล่าวว่า รัฐธรรมนูญเป็นเพียงแค่กระดาษแผ่นเดียว ซึ่งอำนาจอันชอบธรรมที่ได้มาจากอำนาจอธิปไตยของประชาชน ทำให้รัฐธรรมนูญมีชีวิต ดังนั้นเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกคน ทั้งที่มาจากการเลือกตั้ง หรือมาจากการแต่งตั้ง มีอำนาจตามกฎหมายและเป็นตัวแทนของประชาชนทั้งหมด เจ้าหน้าที่เหล่านี้จะถูกควบคุมด้วยหลักการมากกว่าเสียงส่วนใหญ่ นี่ก็คือสิ่งที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ หน้าที่หลักในทางด้านคุณธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ คือต้องปกป้องและทำให้มั่นใจในค่านิยมพื้นฐานให้กับประชาชนทุก ๆ คน
           2. ประชาชนที่เป็นคนดี (The virtuous citizen)
           ส่วนที่สองที่จะต้องมีในทฤษฎีทั่วไปของ public ต้องมาจากพื้นฐานของแนวคิดการเป็นพลเมือง หรือ ประชาชน หรือ อาจจะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ทฤษฎีประชาชนที่เป็นคนดี (theory of the “virtuous citizen”) กล่าวคือ รัฐบาลก็ไม่ได้ดีกว่าประชาชนที่ตัวเองเป็นตัวแทนอยู่
           Hart (1984) เสนอลักษณะของประชาชนที่เป็นคนดี 4 แง่มุม
           1) ประชาชนเข้าใจค่านิยมพื้นฐานของประเทศชาติ และสามารถปฎิบัติตามแนวปรัชญาการดำเนินการอย่างมีคุณธรรม (do moral philosophy) กล่าวคือ การเข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณานโยบายที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ
           2) ความเชื่อ (belief) ซึ่งเป็นมุมมองในแง่ที่สองของแนวคิดที่ว่าประชาชนเป็นคนดี ซึ่งประชาชนต้องเชื่อในค่านิยมของระบอบการปกครองของอเมริกาที่เป็นสิ่งที่เป็นจริงและถูกต้อง ไม่ใช่ไปตามเสียงส่วนใหญ่ ถ้าไม่เชื่อในระบอบการปกครองแล้ว จะยอมรับในการเสียสละไม่ได้
           3) ในแง่มุมที่สามเป็นของประชาชนที่เป็นคนดี ต้องมีความรับผิดชอบในด้านคุณธรรมในแต่ละบุคคล เมื่อไรก็ตามที่ระบอบการปกครองได้รับการยอมรับ ประชาชนต้องปกป้องรักษาค่านิยมนี้ คือ เมื่อมีใครมาแบ่งแยกเชื้อชาติ เหยียดเพศ หรือเข้ามาบุกรุกความเป็นส่วนตัว หรือฝ่าฝืนกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ทุกคนต้องร่วมกันต่อต้านไม่ให้เกิดขึ้น
           4) ในแง่สุดท้ายนี้ คือ ความเป็นพลเมือง (civility) ซึ่งเป็นลักษณะที่เด่นที่สุดของการที่ประชาชนเป็นคนดี คือต้องเข้าใจและปฎิบัติตามกฎเกณฑ์สาธารณะด้วยความเต็มใจ
           3. การตอบสนองต่อสาธารณะในภาพรวมและไม่ใช่ภาพรวม (Responsiveness to collective and noncollective publics)
           สิ่งที่สามในทฤษฎีทั่วไปของ public คือ การพัฒนาและรักษาระบบและแนวปฎิบัติในการรับฟังและตอบสนองต่อผลประโยชน์ของสาธารณะ ทั้งในภาพรวมและในส่วนที่ไม่ได้นึกถึงคนอื่น ผลประโยชน์ของกลุ่ม หรือสาธารณะในภาพรวม เป็นกลไกการแสดงออกถึงความต้องการ งานที่ยากที่สุด ก็คือ ความเป็นอยู่ที่ดี และผลประโยชน์ของส่วนอื่นที่ไม่ได้นึกถึง ในบริบทของทฤษฎีประชาชนเป็นคนดี เจ้าหน้าที่รัฐต้องคำนึงถึงกลุ่มสาธารณะที่ไม่ได้นึกถึงด้วย ในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ประชาชนแต่ละคนจะต้องได้รับความคุ้มครองที่เท่าเทียมกันภายใต้กฎหมาย หมายถึงว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องสนับสนุนให้มีการปฎิบัติต่อประชาชนเท่าเทียมกัน ในการกระจายการบริการสาธารณะให้กับประชาชน เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่เพียงแต่ต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพและความประหยัด แต่ต้องคำนึงถึงความเป็นธรรมในสังคมอีกด้วย (Frederickson, 1982)
           4. ความดีและความรัก (Benevolence and love)
           ในลำดับที่สี่ที่เป็นส่วนประกอบของทฤษฎีทั่วไปของ public จะต้องมีความดีและความรักเป็นพื้นฐาน ความดี (benevolence) หรือ ความรักต่อผู้อื่น ซึ่ง Smith (1982) กล่าวว่า ความรักต่อประเทศ จะต้องเกี่ยวข้องกับ ประการแรก คือ การเคารพและปฎิบัติตามรัฐธรรมนูญ หรือรัฐบาลที่ได้จัดตั้งอย่างถูกต้อง และประการที่สองคือ มีความปราถนาอย่างจริงใจที่จะสร้างเงื่อนไขที่ให้ประชาชนทุกคนมีความปลอดภัย มีการเคารพซึ่งกันและกัน และมีความสุข เท่าที่สามารถทำได้
           วัตถุประสงค์ของรัฐบาลคือการขยายขอบเขตค่านิยมในระบอบการปกคองให้กับประชาชนทั้งหมด นั่นก็เป็นจุดประสงค์ของการบริหารรัฐกิจที่ต้องการให้สาธารณะชนอยู่บนพื้นฐานของความดี เหมือนกับความเชื่อ ที่ว่าการยอมรับในแนวคิดที่ว่าการทำให้ดีกว่าเดิม และทุ่มเทในการอาชีพการงานของชีวิตให้ถึงเป้าหมายที่กำหนดไว้

ความหมายของ Public ในหนังสือเล่มอื่น ๆ

           คำว่า “public” หรือ “สาธารณะ”4 มีความหมายกว้างมาก หากพิจารณาในแง่ที่เป็นกิจกรรมแล้ว ภารกิจที่เกี่ยวข้องกับวานสาธารณะนั้นอาจปรากฎในลักษณะต่าง ๆ ได้ดังนี้
           1. ในลักษณะของการทำงานของรัฐที่เป็นภารกิจที่รัฐจำเป็นต้องทำเอง ภารกิจเหล่านี้รัฐไม่สามารถมอบให้ผู้อื่นทำแทนได้ ซึ่งได้แก่ กิจการหรือภารกิจที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความสงบเรียบร้อย การรักษาความมั่นคงของรัฐ การอำนวยควบคุมยุติธรรม เช่น กิจการทหาร ตำรวจ ศาล กิจการต่างประเทศ เป็นต้น
           2. ในลักษณะของการทำงานร่วมกัน ระหว่างภาครัฐ กับ ภาคเอกชน ในเรื่องที่เกี่ยวกับผลประโยชน์สาธารณะ หรืออาจเรียกว่า “ภารกิจสาธารณะ” (public affairs) เช่น กิจการเกี่ยวกับบริการสาธารณะทางด้านการศึกษา สาธารณสุข การรักษาความสะอาด เป็นต้น
           3. ในลักษณะที่รัฐควรทำแต่ไม่สามารถดำเนินการเองได้ เนื่องจากต้องใช้เงินลงทุนสูงต้องใช้เทคโนโลยีเฉพาะ รัฐจึงมอบหมายให้เอกชนเข้ามาร่วมดำเนินการ หรือดำเนินการแทน เช่น กิจการทางด้านสาธารณูปโภคต่าง ๆ ได้แก่ กิจการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม เทคโนโลยี สารสนเทศ โทรศัพท์ รถไฟฟ้า เป็นต้น
           4. งานที่รัฐมอบให้ชุมชน องค์การที่ไม่หวังผลกำไร (non-profit organization) องค์การที่ไม่ใช่หน่วยงานรัฐ (non-government organization : NGOs) ซึ่งหน่วยงานเหล่านั้นเป็นองคากรที่มีปรัชญาในการดำเนินการเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม โดยไม่ได้มุ่งหวังผลกำไรเป็นเป้าหมายหลักในการมาเป็นผู้ดำเนินการ
           5. การบริหารงานสาธารณะ ยังครอบคลุมถึงการบริหารองค์การระหว่างประเทศด้วย เช่น องค์การสหประชาชาติ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ องค์การค้าโลก ซึ่งจะมีรัฐสมาชิกส่งตัวแทนไปเข้าร่วมประชุม หรือ ทำกิจกรรมต่าง ๆ ในนามของรัฐ จึงถือว่าเป็นการบริหารสาธารณะทั้งสิ้น
การบริหารรัฐกิจ5 แบ่งออกเป็นคำ 3 คำ การบริหาร + รัฐ + กิจ แต่ละคมมีรายละเอียดดังนี้พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ ให้ความหมายของการบริหารไว้ว่า รักษา, การดูแล, การปกครอง ส่วนพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 กล่าวว่า การบริหาร หมายถึง การออกกำลังกาย เช่น การบริหารร่างกาย, การปกครอง เช่น การปกครองส่วนท้องถิ่น, ดำเนินการ, จัดการ เช่น บริหารธุรกิจ เป็นต้น คำว่า “รัฐ” หมายถึง แว่นแคว้น, บ้านเมือง, ประเทศ ส่วนคำว่า “กิจ” หมายถึง ธุระ, งาน, นำมารวมกันมีรูปเป็น “การบริหารรัฐกิจ” หมายถึง วิชาที่ว่าด้วยการบริหารและการปกครองประเทศเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามนโยบายสาธารณะที่รัฐบาลได้กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
           “การบริหารรัฐกิจ” แปลมาจากคำภาษาอังกฤษว่า “public administration” ซึ่งมีความหมายดังนี้ Public แปลว่า สาธารณะ / ส่วนรวม / ประชาชน Administration แปลว่า การบริหารในองค์การขนาดใหญ่
           ผุสสดี สัตยมานะ ให้ความหมายของคำว่า Public Administration ไว้ว่า Public หมายถึง กิจกรรมต่าง ๆ ของหน่วยงานที่รัฐพึงปฎิบัติทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับข้าราชการพลเรือน ราชการทหารของฝ่ายบริหาร รวมทั้งกิจกรรมต่าง ๆ ในการบริหารของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายตุลาการ ส่วนคำว่า Administration หมายถึง ความพยายามในการที่จะร่วมมือกันปฎิบัติการในองค์การใดองค์การหนึ่ง
           อุทัย เลาหวิเชียร ให้ความหมายการบริหารรัฐกิจว่า หมายถึง กิจกรรม นิยมเขียนเป็นภาษาอังกฤษตัวเล็ก “public administration” ส่วนคำว่า รัฐประศาสนศาสตร์ หมายถึงวิชาที่เกี่ยวกับบริหารรัฐกิจ จะหมายถึง “ลักษณะวิชา” (discipline) นิยมเขียนเป็นภาษาอังกฤษตัวใหญ่ “Public Administration” กล่าวต่อไปอีกว่า ในการใช้ภาษาอังกฤษทั้งสองคำนี้ไม่มีการสับสน เพราะเวลาที่กล่าวถึง รัฐประศาสนศาสตร์ จะเขียนเป็น “Public Administration” เวลากล่าวถึง บริหารรัฐกิจ จะเขียนว่า “public administration” แต่ในประเทศไทยมีการใช้สองคำนี้อย่างสับสน
           ติน ปรัชญพฤทธิ์ กล่าวว่า รัฐประศาสนศาสตร์ หมายถึงสาขาวิชา หรือ กิจกรรมที่เกี่ยวกับการบริหารงานภาครัฐบาล ในภาษาอังกฤษคำว่า “public administration” (ตัวเล็ก) หมายถึง กระบวนการบริหารงานภาครัฐบาล ส่วนในภาษาอังกฤษตัวใหญ่ “Public Administration” หมายถึง สาขาวิชาการบริหารงานภาครัฐบาล นอกจากนี้ ยังกล่าวด้วยเหตุผลว่าคำว่า “รัฐประศาสนศาสตร์” หมายถึง สาขาวิชาการบริหารงานของภาครัฐ ส่วนคำว่า “การบริหารรัฐกิจ” หมายถึง กระบวนการเกี่ยวกับการบริหารงานของรัฐ
สร้อยตระกูล อรรถมานะ ให้คำนิยามโดยใช้คำว่า “สาธารณบริหารศาสตร์” แทนคำว่า “รัฐประศาสนศาสตร์” ซึ่งหมายถึง การบริหารงานสาธารณะในลักษณะที่เป็นสาขาวิชา โดยภาษาอังกฤษใช้คำว่า “Public Administration” และใช้คำว่า “การบริหารสาธารณกิจ” ซึ่งหมายถึง การบริหารงานสาธารณะในลักษณะที่เป็นกระบวนการ หรือกิจกรรมของการบริหารงานที่เกี่ยวกับสาธารณะ แทนคำว่า “การบริหารรัฐกิจ, การบริหารราชการ, การบริหารราชการแผ่นดิน” โดยการใช้ภาษาอังกฤษคำว่า “public administration”
           กุลธน ธนาพงศธร อธิบาย “รัฐประศาสนศาสตร์ กับ การบริหารรัฐกิจ” ไม่ได้มีความหมายที่เหมือนกัน แม้จะแปลมากจากภาษาอังกฤษว่า “Public Administration” คำเดียวกัน ทั้งนี้ การบริหารรัฐกิจ เป็นคำสามานยนาม หมายถึง กิจกรรม การบริหารงานของรัฐในไทย หมายถึง การบริหารราชการนั่นเอง ส่วนคำว่า “รัฐประศาสนศาสตร์” เป็นคำวิสามานยนาม หมายถึง สาขาวิชาเกี่ยวกับการบริหารงานของรัฐ เมื่อแยกออกจากกันอย่างในภาษาไทยแล้ว จึงมีความหมายและการนำไปใช้แตกต่างกัน

ความแตกต่างระหว่างการบริหารรัฐกิจและการบริหารธุรกิจ
           เพื่อให้เห็นความหมายของ public ชัดมากขึ้น ต้องเปรียบเทียบกับคำรวมของการนำไปใช้ในการบริหารรัฐกิจ (public administration) และ การบริหารธุรกิจ (business administration)
           สรุปความแตกต่างระหว่างการบริหารรัฐกิจและการบริหารธุรกิจ6 ดังนี้
           1. การบริหารรัฐกิจมีขอบข่าย ผลกระทบ และลักษณะของการตัดสินใจที่กว้างขวางกว่าการบริหารธุรกิจ การบริหารรัฐกิจยังมีผลกระทบต่อคนมากกว่าบริษัทธุรกิจเอกชน ตัวอย่างเช่น การตัดสินใจของรัฐบาลมีผลกระทบต่อพลเมืองมากกว่าการตัดสินใจของบริษัทใดบริษัทหนึ่ง ไม่ว่าบริษัทนั้นจะมีขอบข่ายของงานกว้างขวางเพียงใดก็ตาม นอกจากนี้ ข้าราชการจะอยู่กระจัดกระจายทั่วทุกแห่งของประเทศทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น มีกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ถือปฎิบัติอย่างเดียวกัน กิจกรรมและการตัดสินใจของการบริหารรัฐกิจแห่งหนี่งจะเกี่ยวพันและมีส่วนสัมพันธ์กับส่วนอื่น ๆ ของประเทศ บริษัทธุรกิจเอกชนแม้มีสาขากระจัดกระจายทั่งไป เช่น ร้านสะดวกซื้อ 7-11 ที่มีสาขาอยู่ทั่วประเทศ ทีมีสาขามากกว่า 5,000 สาขา เมื่อเปรียบเทียบ ก็ยังมีจำนวนน้อยกว่าทางราชการมาก กฎและระเบียบที่ใช้อาจมีลักษณะที่แตกต่างกัน ดังนั้นคำว่า public มีขอบข่ายที่กว้างกว่า business
           2. ลักษณะพิเศษอีกประการหนึ่งของการบริหารรัฐกิจ เป็นการบริหารที่อยู่ใต้ความควบคุมของประชาชน กล่าวคือ ประชาชนอาจจะควบคุมเองหรืออาจให้สมาชิกสภานิติบัญญัติควบคุมก็ได้ เรียกว่า “การบริหารรัฐกิจแทนประชาชน” (public accountability) กล่าวคือ ประชาชนมีสิทธิที่จะทราบผลของการปฏิบัติงานของทางราชการ และขั้นตอนของการปฏิบัติงาน ซึ่งเรียกว่า “public business” หมายความว่า การบริหารรัฐกิจเป็นกิจกรรมส่วนรวม ซึ่งประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของ คือ ประชาชนเป็นผู้เสียภาษีให้รัฐ ประชาชนมีสิทธิตรวจสอบได้ รวมทั้ง สื่อมวลชนอื่น ๆ ซึ่งมีสิทธิที่จะวิพากษ์วิจารณ์ได้ โดยเห็นว่าการบริหารรัฐกิจไม่ได้เป็นไปตามที่ประชาชนผู้เสียภาษีปรารถนา จะเห็นได้ว่าเรื่องดังกล่าวไม่มีในบริษัทธุรกิจเอกชน ซึ่งบริหารกิจการอยู่ภายใต้การควบคุมของผู้ถือหุ้นและผู้จัดการมากกว่า ประชาชนจะเข้าไปวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ ความหมายของ public ในที่นี้เป็นการควบคุมของประชาชน
           3. การบริหารรัฐกิจมีลักษณะที่เกี่ยวข้องกับการเมือง นักบริหารในภาครัฐไม่เพียงแต่นำนโยบายไปสู่การปฏิบัติเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทสำคัญในฐานะผู้กำหนดนโยบาย ทั้งที่การกำหนดนโยบายเป็นหน้าที่ของฝ่ายการเมือง เมื่อนักบริหารรัฐกิจทำหน้าที่เป็นผู้กำหนดนโยบาย ก็เท่ากับว่าได้ปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายการเมืองด้วย นอกจากนี้ การบริหารรัฐกิจในระดับสูงขึ้นไปจะมีการปฏิสัมพันธ์กับระบบการเมืองมากยึ่งขึ้น ดังที่ Paul Appleby ได้กล่าวว่า “สถาบันอื่น ๆ อาจไม่ปลอดจากการเมืองเสียเลยทีเดียว แต่งานของราชการคือเรื่องของการเมืองนั่นเอง” เมื่อนำมาโยงกับคำว่า public ในความหมายนี้ต้องรวมความเกี่ยวข้องกับการเมืองด้วย
           4. ความแตกต่างที่สำคัญอีกประการหนึ่งของการบริหารรัฐกิจและการบริหารธุรกิจ ก็คือ การวัดผลปฏิบัติงาน โดยปกติความสำเร็จของการบริหารธุรกิจวัดกันที่ผลกำไร ส่วนการบริหารรัฐกิจจะวัดกันที่การให้บริการ ทั้งนี้เพราะภารกิจการบริหารรัฐกิจก็คือการให้บริการกับประชาชน จึงไม่อาจจะวัดด้วยผลกำไร ดังนั้นเมื่อพูดถึง public ก็จะมุ่งไปยังการบริการในการวัดผล แทนที่จะเป็นผลกำไร
           5. เป้าหมายของการบริหารรัฐกิจมีลักษณะที่กว้าง ไม่ชัดเจน เป็นนามธรรม และบางครั้งมีรายละเอียดของเป้าหมายที่ขัดกัน เพราะมีการรวบรวมความต้องการของบุคคลหลายกลุ่มเข้ามาไว้ในเป้าหมาย การกำหนดนโยบายจึงไม่ชัดเจนเหมือนกับเป้าหมายของการบริหารธุรกิจซึ่งเน้นกำไรเป็นสำคัญ เมื่อพูดเกี่ยวกับเป้าหมาย คำว่า public จะมีเป้าหมายในลักษณะที่กว้าง เป็นนามธรรม
           6. การบริหารรัฐกิจเป็นกิจกรรมที่กว้างขวางและสลับซับซ้อน การปฏิบัติงานอาศัยกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับเป็นเกณฑ์ ในกรณีของบริษัทธุรกิจเอกชน ซึ่งมีลักษณะองค์การที่เล็ก การบริหารงานจึงมีความคล่องตัวกว่า ความหมายของ public ในแง่นี้ต้องเกี่ยวข้องกับ กฎหมาย ระเบียบและข้อบังคับ
           7. ประชาชนมีความคาดหวังต่อการบริหารรัฐกิจที่แตกต่างกับการบริหารธุรกิจ โดยปกติประชาชนจะเพิกเฉยต่อการบริหารธุรกิจ อย่างดีคือการคาดหวังว่านักธุรกิจไม่ควรจะเอาเปรียบลูกค้า มีความซื่อสัตย์สุจริตต่อผู้บริโภค แต่ประชาชนมีความคาดหวังต่อการบริหารรัฐกิจมากกว่า โดยคาดหวังว่าระบบราชการจะต้องให้บริการสาธารณะด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต มีคุณธรรม มีการสนองตอบต่อความต้องการของประชาชน มีความรับผิดชอบ เห็นแก่ประโยชน์ของสาธารณะ ซึ่งความหมายของ public รวมเอาความคาดหวังของประชาชนต่อบริการของรัฐ
           8. การบริหารรัฐกิจมีลักษณะที่ล่าช้า ไม่คล่องตัว ปรับตัวได้ยาก และมีการเปลี่ยนแปลงน้อย ทั้งนี้ก็เพราะการบริหารรัฐกิจมีขอบข่ายและขนาดของงานที่ใหญ่ มีการปฏิบัติงานที่จะต้องอาศัยกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ จึงเป็นเหตุให้การปฎิบัติงานเป็นทางการมาก มีรูปแบบ การปฎิบัติงานของระบบราชการแม้จะมีประโยชน์ในการควบคุม แต่ก็จะมีผลเสียในเรื่องของความล่าช้า และไม่คล่องตัว เมื่อเทียบกับธุรกิจเอกชน จะมีความคล่องตัวกว่า ปรับตัว และเปลี่ยนแปลงได้ง่าย เพราะรูปแบบองค์การที่เล็กกว่า การปฏิบัติงานจึงใช้วิธีการนอกรูปแบบ การบริหารงานในภาคธุรกิจเอกชนจึงมีความรวดเร็วและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมได้ดีกว่า คำว่า public ที่จะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ทำให้การตอบสนองล่าช้า
           อุทัย เลาหวิเชียร ได้กล่าวไว้ว่า การบริหารรัฐกิจและการบริหารธุรกิจเปรียบเสมือนพี่น้องฝาแฝดที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน แต่ก็ยังเป็นคนละคนอยู่ดีและมีความแตกต่างมากกว่าความคล้ายคลึงกัน

เชิงอรรถ

1ที่มา. จาก “The Spirit of Public Administration” โดย Frederickson, H. George, 1997, San Francisco: หน้า 19-22
2Ibids., หน้า 30-43.
3Ibids., หน้า 44-47.
4ที่มา. จาก “แนวความคิดและทฤษฎีรัฐประศาสนศาตร์” โดย ศิริพงษ์ ลดาวัลย์ ณ อยุธยา, 2551, กรุงเทพฯ: หน้า 4.
5ที่มา. จาก “ความรู้เบื้องต้นทางบริหารรัฐกิจ” โดย พระมหาสนอง ปจโจปกรี (จำนิล), 2550, นครปฐม: หน้า 6-9.
6ที่มา. จาก “รัฐประศาสนศาสตร์ : ลักษณะวิชาและมิติต่าง ๆ” โดย อุทัย เลาหวิเชียร, 2551, กรุงเทพฯ: หน้า 12-17.

บรรณานุกรม

พระมหาสนอง ปจโจปกรี (จำนิล). (2550). ความรู้เบื้องต้นทางบริหารรัฐกิจ. นครปฐม: รุ่งศิลป์การพิมพ์.
ศิริพงษ์ ลดาวัลย์ ณ อยุธยา. (2551). แนวความคิดและทฤษฎีรัฐประศาสนศาตร์. กรุงเทพฯ: รัฐพงษ์การพิมพ์.
อุทัย เลาหวิเชียร. (2551). รัฐประศาสนศาตร์ : ลักษณะวิชาและมิติต่าง ๆ. (พิมพ์ครั้งที่ 21). กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์เสมาธรรม.
Frederickson, H. George.(1997). The Spirit of Public Administration. The Jossey-Bass public administration series.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Generational Differences in Work Values

I. Introduction to Generational Work Values   Definition and Importance Generational work values are the collective attitudes, beliefs, and ...