วันพุธที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ความแตกต่างของทฤษฎีรัฐประศาสน์ศาตร์ที่ใช้หลักเหตุผล

ความแตกต่างของทฤษฎีรัฐประศาสน์ศาสตร์ที่ใช้หลักเหตุผล
จนพัฒนาให้เป็นศาสตร์และแนวการศึกษาอื่นที่ไม่เห็นด้วย

โดย ดร. อนุรักษ์ วัฒนะถาวรวงศ์

บทนำ

           รายงานฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะแสดงให้เห็นที่มาของแนวคิดของทฤษฎีรัฐประศาสน์ศาสตร์ตั้งแต่ดั้งเดิม ที่มีการใช้หลักความเป็นเหตุเป็นผล (rationality) และการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในการใช้ตรรกะและเหตุผล โดยอาศัยการวิเคราะห์เชิงปริมาณที่เป็นตัวเลขที่พิสูจน์ได้ตามหลักวิทยาศาสตร์ เป็นใช้ข้อเท็จจริงมากกว่าค่านิยม จนกระทั่งมีการพัฒนาทฤษฎีต่อมาที่มีการโต้แย้งและไม่เห็นด้วยต่าง ๆ ในยุคก่อนสมัยใหม่นิยม (pre-modernism) ใช้ความรู้ที่เกิดจากความเชื่อต่าง ๆ ซึ่งมีอิทธิพลส่วนใหญ่มาจากศาสนาและผู้ปกครอง โดยเชื่อว่าพระเจ้าสร้างโลกขึ้นมา จนกระทั่งมีการค้นพบความรู้ที่ได้ใช้ความเป็นเหตุเป็นผลโดยใช้หลักวิทยาศาสตร์ในการพิสูจน์ต่าง ๆ เพื่อที่จะปลดปล่อยมนุษย์จากความกลัวในสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติและระบอบศักดินาที่เป็นอยู่ นำไปสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมขึ้น ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในการดำรงชีวิตของมนุษย์ มีการผลิตเป็นจำนวนมาก (mass production) ที่ส่งผลให้มีสินค้าและบริการในราคาที่ลดลงที่ทุกคนก็สามารถเป็นเจ้าของได้ ซึ่งเป็นค่านิยมด้านประสิทธิภาพ (efficiency) ที่เป็นหลักการที่สำคัญของยุคสมัยใหม่นิยมนี้ (modernism) นอกจากนั้นยังได้มีการออกแบบโครงสร้างขององค์การต่างและหลักการบริหารเพื่อที่จะใช้ควบคุมพฤติกรรมมนุษย์ เพื่อนำไปสู่ประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่เป็นวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ขององค์การ และในการปรับปรุงการทำงานหรือโครงสร้างนี้ส่วนใหญ่ก็มาจากความคิดในการเปลี่ยนแปลงของฝ่ายจัดการที่อยู่ในระดับสูงขององค์การ เพื่อที่จะกำหนดโครงสร้างวิธีการ กฎระเบียบ รวมถึงเทคนิคการบริหารต่าง ๆ ให้กับพนักงานที่อยู่ในระดับล่างให้ปฏิบัติตาม อย่างไรก็ตามการใช้ความเป็นหตุเป็นผลของยุคสมัยใหม่นี้ ก็ยังเป็นพื้นฐานของการทำงานและการดำรงชีวิตของมนุษย์ในปัจจุบัน แต่นักทฤษฎียุคหลังสมัยใหม่นิยม (postmodernism) นี้มองหลายสิ่งหลายอย่างของยุคสมัยใหม่นิยมในทางตรงข้าม เชื่อว่าสิ่งที่กำหนดไว้ในยุคสมัยใหม่นิยมนี้เป็นสิ่งที่มนุษย์สมมติขึ้นมาเอง เป็นการขีดกรอบตัวเองไม่มนุษย์มีความคิดที่ยึดติดอยู่กับสิ่งที่ค้นพบจากหลักวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ โดยใช้หลักความเป็นเหตุเป็นผล (rationality) ที่ทำให้เกิดของค่านิยมของความมีประสิทธิภาพ การใช้โครงสร้างและเทคนิคการบริหารมาควบคุมมนุษย์ การให้ความสำคัญกับฝ่ายจัดการมากกว่าคนงานทั่วไป การที่ให้ความสำคัญกับผู้ชายหรือคนผิวขาวที่เป็นผู้กำหนดที่มาของความรู้ต่าง ๆ การใช้ตัวเลขต่าง ๆ ที่เป็นข้อมูลเชิงปริมาณ และความรู้หรือหลักการต่าง ๆ ที่มาจากความเป็นเหตุเป็นผล ยุคหลังสมัยใหม่นิยมนี้จะให้ความสำคัญในค่านิยมอื่นที่ไม่ได้ถูกขีดกรอบไว้ในยุคสมัยใหม่นิยม โดยแสวงหาคำตอบที่อยู่นอกเหนือจากสิ่งที่เกิดขึ้น ให้ความสำคัญในความเป็นมนุษย์ที่ต้องการความอิสระมากกว่ากรอบที่วางไว้ของยุคสมัยใหม่นิยมที่เป็นแค่เพียงประสิทธิภาพ ปลดปล่อยสิ่งที่ถูกควบคุมไว้โดยโครงสร้างขององค์การและเทคนิคการบริหาร ให้ความสำคัญกับทุก ๆ คนทั่วทั้งองค์การและชุมชน มีการให้ความสำคัญกับผู้หญิงในสังคมมากขึ้น และสนใจในวิธีการที่ใช้ข้อมูลเชิงคุณภาพมากกว่าวิธีการเชิงปริมาณที่มีขอบเขตกำหนดไว้ หลักการหลายอย่างนี้เป็นการสนับสนุนวิถีชีวิตของความเป็นประชาธิปไตย (democracy) ที่สนับสนุนการมีส่วนร่วมของทุกคน นอกจากนั้นยุคหลังสมัยใหม่ยังมองทุกย่างเป็นส่วน ๆ ที่กระจายออกไป (fragmentation) มีการรื้อสร้าง (deconstruction) มีการใช้ภาษา (language) เพื่อทำความเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นในความเป็นจริง มีการให้ความสำคัญกับโลกที่ไร้พรมแดน (globalization) ที่มีการสื่อสารโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ (information technology) ที่ทำให้เราได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารได้อย่างรวดเร็วและสะดวก ไม่ว่าจะอยู่ส่วนใดของโลก มีการซึมซับวัฒนธรรมนานาชาติเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมของชาติ มีการมองวิถีชีวิตของมนุษย์ที่มีการผสมผสานกันและมีความหลากหลายมากขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบันก็จะเป็นพื้นฐานแนวคิดของยุคสมัยใหม่นิยมซึ่งมีคู่ขนานที่เป็นแนวคิดของยุคหลังสมัยใหม่ควบคู่กันไปด้วย

ยุคก่อนสมัยใหม่ ยุคสมัยใหม่ และยุคหลังสมัยใหม่ (pre-modern, modern, and postmodern)

           ในการทำความเข้าใจที่มาของแนวคิดหรือทฤษฎีต่าง ๆ  มีความจำเป็นที่ต้องทราบถึงความเป็นมาของปรัชญาที่ส่งผลต่อแนวคิดและทฤษฎีในยุคสมัยของก่อนสมัยใหม่นิยม (pre-modernism) ยุคสมัยใหม่นิยม (modernism) และยุคหลังสมัยใหม่นิยม (postmodernism) เมื่อกล่าวถึงแต่ละยุคสมัยของระบบปรัชญา (philosophical system) ทั้งสามยุคนี้จะมีความแตกต่างในแหล่งที่มาของความรู้ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า บ่อเกิดเกิดแห่งความรู้ (epistemology) เป็นวิธีที่แตกต่างกันในการมองและการสร้างความเข้าใจสรรพสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในโลก
           ในยุคก่อนทันสมัยนิยม (pre-modernism) ที่อยู่ในช่วงเวลตั้งแต่เริ่มต้นประวัติศาสตร์จนถึงปี 1650 บ่อเกิดแห่งความรู้หลักของยุคนี้มีพื้นฐานมาจากความรู้ที่ได้ค้นพบจากแหล่งต่าง ๆ ที่เชื่อถือได้ (authoritative sources) ในยุคก่อนทันสมัยนิยมจะเชื่อในสัจธรรมอันสูงสุด (ultimate truth) ที่เกิดจากอิทธิพลของศาสนาอย่างมาก เช่น ความเชื่อในพระเจ้า ต่อมาในยุคทันสมัยนิยม (modernism) ที่อยู่ในช่วงเวลาระหว่างปี 1650 ถึงปี 1950 ที่มีบ่อเกิดแห่งความรู้เป็นสองวิธีการหลักคือ แบบแรกเป็นประจักษ์นิยม (empiricism) ที่รับรู้ความจริงผ่านความสิ่งต่าง ๆ ที่สัมผัสได้เอง ซึ่งค่อย ๆ มีวิวัฒนาการในเป็นประจักษ์นิยมแบบวิทยาศาสตร์ (scientific empiricism) หรือวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ (modern science) ที่มีการพัฒนาไปสู่ระเบียบวิธีการ (methodology) ของนักคิดยุคสมัยใหม่ ดังนั้นวิทยาศาสตร์และเหตุผลก็อยู่ด้วยกันมาตลอด ซึ่งก็ได้เปลี่ยนไปจากความรู้ที่เกิดจากมุมมองทางศาสนาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และในยุคหลังสมัยใหม่นิยม (postmodernism) ที่มีบ่อเกิดแห่งความรู้ที่เป็นการตั้งคำถามต่อวิธีการที่ผ่านมาในอดีตในการสร้างองค์ความรู้ต่าง ๆ  แทนที่จะเชื่อในวิธีการรับรู้ในวิธีการเดิม ๆ  ก็จะเปลี่ยนเป็นการรับรู้ที่มีความหลากหลาย (epistemological pluralism) ซึ่งจะทำให้มีหลาย ๆ วิธีในการสร้างองค์ความรู้นี้ โดยการใช้วิธีรื้อสร้าง (deconstruct) แหล่งที่มาของความรู้และอำนาจที่เกิดขึ้นในอดีตที่ผ่านมา1
           ในช่วงศตวรรษที่ 18 นักปรัชญาธรรมชาติได้เสนอแนวคิดเกี่ยวความรู้และวิธีการแสวงหาความรู้ขึ้นมาใหม่ เรียกว่าปรัชญาวิทยาศาสตร์ (philosophy of sciences) ซึ่งถือว่าเป็นการวางรากฐานกระบวนทัศน์ใหม่เกี่ยวกับความรู้ และวิธีการแสวงหาความรู้แบบใหม่ขึ้นมาเพื่อให้ใช้แทนกระบวนทัศน์ที่นักปรัชญาโบราณใช้กันอยู่เดิม กลุ่มนักปรัชญาทางวิทยาศาสตร์ธรรมชาติเชื่อว่า ความรู้นี้ได้มาจากการสังเกตและการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงประจักษ์ ขณะที่นักปรัชญาเดิมที่เชื่อว่าความรู้ไม่ใช่สิ่งที่สังเกตเห็น แต่เป็นสิ่งที่ค้นพบได้ด้วยวิธีการเชิงตรรกะ เมื่อทัศนะเกี่ยวกับความรู้เปลี่ยนไป วิธีการแสวงหาความรู้ก็ย่อมแตกต่างกันตามไปด้วย ปรัชญาวิทยาศาสตร์จึงได้ก่อให้เกิดแนวคิดและวิธีการใหม่ ๆ ในการแสวงหาความรู้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการพัฒนากระบวนการแสวงหาความรู้ใหม่ ๆ ที่เป็นรากฐานของการพัฒนาระเบียบวิธีการวิจัยทางวิทยาศาสตร์สังคมในยุคสมัยต่อมาด้วย

พัฒนาการของแนวคิดทางการวิจัย (evolution of research concept)

           การวิจัยได้พัฒนาแนวคิดมาอย่างต่อเนื่องจากสมัยโบราณมาจนถึงในปัจจุบัน นักวิจัยได้จำแนกยุคสมัยของการวิจัยออกเป็น 4 ยุค คือ ยุคปรัชญาบริสุทธิ์ ยุควิทยาศาสตร์ ยุคมนุษยศาสตร์และยุคสังคมศาสตร์
           1. ยุคปรัชญาบริสุทธ์ เป็นปรัชญาเป็นวิชาศึกษาหาความจริงเกี่ยวกับความเป็นไปในธรรมชาติ พระเจ้า จักรวาล โลก ชีวิตและจิต โดยวิธีการวิพากษ์ พยายามค้นหาคำตอบในสิ่งที่สงสัยโดยใช้เหตุผล Plato กับ Aristotle ป็นผู้วางแนวคิดว่า ความรู้ไม่ใช่สิ่งที่สังเกตเห็น แต่เป็นสิ่งที่ค้นพบได้ด้วยหลักเหตุผล จึงได้เสนอและคิดหาวิธีการให้เหตุผลโดยใช้วิธีการเชิงตรรกะ การอนุมานวิธีการเชิงคณิตศาสตร์ ความรู้ที่ได้เป็นองค์ความรู้ที่เป็นสมเหตุสมผล เป็นนามธรรมและเป็นสากล Aristotle ได้พัฒนาวิธีแสวงหาความรู้โดยวิธีการอนุมานขึ้น และต่อมาได้พัฒนาวิธีการแสวงหาความรู้แบบอุปมานขึ้นใช้แสวงหาความรู้ควบคู่ไปกับวิธีอนุมานด้วย
           2. ยุคปรัชญาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ วิทยาศาสตร์ธรรมชาติเป็นวิทยากรสาขาที่ศึกษาเกี่ยวกับความเป็นจริงของสิ่งทั้งหลายและปรากฏการณ์ทั้งหลายในธรรมชาติ พัฒนาการของวิทยาศาสตร์เริ่มต้นขึ้นขึ้นอย่างจริงจังในช่วงศตวรรษที่ 17 ในยุคของ Francis Bacon และ Sir Isaac Newton ซึ่งถือเป็นรากฐานของพัฒนาการทางวิทยาศาสตร์ในยุคต่อ ๆ มา ในยุคศตวรรษที่ 18 นี้เป็นระยะเวลาของการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริงโดยที่นักวิทยาศาสตร์ได้เปลี่ยนแปลงวิธี การแสวงหาความรู้ใหม่ เริ่มตั้งแต่ John Locke ได้ย้ำถึงความจำเป็นของการแสวงหาความรู้ด้วยวิธีเชิงประจักษ์และยอมรับว่าวิธีการเชิงตรรกะก็สามารถใช้แสวงหาความรู้ในวิชาคณิตศาสตร์ได้ และ Immanuel Kant ได้เสนอวิธีการแสวงหาความรู้ด้วยวิธีเชิงประจักษ์ขึ้น และเสนอว่าวิธีการประจักษ์เป็นวิธีวิธีการที่ดีที่สุดในการแสวงหาความรู้ความจริงและโจมตีวิธีการเชิงตรรกะ ต่อมาในยุคศตวรรษที่ 19 แนวความคิดทางวิทยาศาสตร์ได้วางรากฐานลงอย่างมั่นคง เมื่อ Charles Darwin เป็นผู้เสนอวิธีหาความรู้ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ขึ้นในแบบปัจจุบันนี้ขึ้น
           3. ยุคปรัชญาสังคมศาสตร์ ซึ่งสังคมศาสตร์เป็นวิชาที่ศึกษาเกี่ยวสภาพความเป็นอยู่และพฤติกรรมของมนุษย์ การวิจัยทางสังคมศาสตร์เริ่มต้นขึ้นในศตวรรษที่ 19 จากแนวคิดของ Auguste Comte และ John Stuart Mill ที่เชื่อว่าสังคมศาสตร์สามารถศึกษาได้ด้วยวิธีวิทยาศาสตร์ ซึ่งถือเป็นการวางฐานของการวิจัยทางสังคมศาสตร์ด้วยวิธีวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน Auguste Comte เป็นบุคคลแรกที่เสนอความคิดว่า ปรากฏการณ์ทางสังคมสามารถศึกษาได้ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ด้วยการเสนอคำว่าปฏิฐานนิยม (positivism) ขึ้น เพื่อให้หมายถึงการศึกษาปรากฏการณ์ทางสังคมโดยใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ John Stuart Mill เชื่อว่าการแสวงหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ธรรมชาติและวิทยาศาสตร์สังคมมีเป้าหมายเพื่อได้ความรู้ที่เป็นนัยทั่วไปเช่นเดียวกัน แม้ปรากฏการณ์ทางสังคมจะซับซ้อนกว่า แต่ก็สามารถกำหนดให้เป็นรูปธรรมและใช้วิธีเชิงประจักษ์ได้ โดยได้เสนอระบบการคิดเชิงตรรกะในทางวิทยาศาสตร์สังคมขึ้นเพื่อใช้เทียบเคียงกับวิธีทางวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ต่อมาในศตวรรษที่ 20 เป็นยุคของการพัฒนาแนวคิดของการวิจัยทางวิทยาศาสตร์สังคม โดยกลุ่มเวียนนา (Vienna Circle) กลุ่มนี้ได้เสนอความคิดในการเชื่อมโยงแนวคิดเชิงตรรกะเข้ากับแนวคิดประจักษ์นิยม ด้วยหลักการของนิยามปฏิบัติการ (operationalization) คือการนิยามทฤษฎีไปสู่กระบวนการวัดจากนิยามปฏิบัติการที่ชัดเจน ซึ่งถือว่าเป็นหลักการสำคัญอย่างหนึ่งของการวิจัยเชิงปริมาณในทางสังคมศาสตร์และกล่าวได้ว่าในศตวรรษที่ 20 นี้เป็นยุคของการวิจัยทางสังคมศาสตร์ที่ใช้วิธีการเชิงปริมาณ ถือว่าศตวรรษที่ 20 เป็นยุคของการพัฒนาแนวคิดของการวิจัยทางวิทยาศาสตร์สังคม
           4. ยุคปรัชญามนุษยศาสตร์ ซึ่งมนุษยศาสตร์นั้นศึกษาเกี่ยวกับความเชื่อและค่านิยมของมนุษย์ ในตอนปลายของศตวรรษที่ 20 นักวิจัยกลุ่มวิทยาศาสตร์สังคมเชิงตีความ (interpretative social sciences) ได้เกิดความคิดต่อต้านความคิดการวิจัยทางสังคมศาสตร์ด้วยวิธีวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นกระแสหลัก นักวิจัยกลุ่มนี้มีความเห็นว่าวิธีการวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์ถูกจำกัดด้วยวิธีการคิดแบบกลไกของวิทยาศาสตร์และไม่สอดคล้องกับการวิจัยทางวิทยาศาสตร์สังคม แม้วิธีการทางวิทยาศาสตร์จะมีวิธีการวัดที่เป็นปรนัยและน่าเชื่อถือได้เพียงใดก็ตาม แต่ข้อค้นพบก็ยังผิวเผินไม่สามารถสะท้อนความหมายเชิงมนุษย์และปรากฏการณ์เชิงสังคมที่ลึกซึ้งได้ นักวิจัยกลุ่มสังคมศาสตร์เชิงตีความได้เสนอแนวคิดของการวิจัยทางวิทยาศาสตร์สังคมขึ้นมาใหม่ในชื่อต่างหลายชื่อ แต่ละชื่อก็มีลักษณะที่มุ่งเน้นแตกต่างกัน เช่น กระบวนทัศน์ทางปรากฏการณ์วิทยา (phenomenological paradigm) ที่เน้นกระบวนการวิจัยที่จะทำให้สามารถเข้าถึงปรากฏการณ์ทางสังคมอย่างลึกซึ้ง กระบวนทัศน์เชิงธรรมชาติวิสัย (naturalistic paradigm) เน้นกระบวนการวิจัยตามสภาพที่เป็นธรรมชาติ ไม่รบกวนสิ่งที่ศึกษา หรือกระบวนทัศน์เชิงตีความ (interpretative paradigm) เน้นที่กระบวนการในการตีความและให้ความหมายแก่ปรากฏการณ์ที่ศึกษา แต่พื้นฐานความคิดร่วมของการวิจัยกลุ่มนี้คือ วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ ซึ่งเรียกให้แตกต่างกับการวิจัยแบบแรกที่เรียกว่า การวิจัยเชิงปริมาณ ต่อมานักวิจัยกลุ่มสังคมศาสตร์เชิงวิพากษ์ (critical social sciences) ได้เกิดความคิดต่อต้านความคิดการวิจัยทางสังคมศาสตร์สองกระแสแรก นักวิจัยกลุ่มนี้มีความเห็นว่าวิธีการวิจัยเชิงปริมาณไม่สามารถเข้าถึงความหมายที่แท้จริงของสิ่งที่ศึกษาได้ อีกทั้งละเลยความสำคัญของบุคคลซึ่งเป็นปัจเจกบุคคลทั้งในด้านความรู้สึกและความนึกคิด ไม่สนใจบริบททางสังคมในเชิงพลวัตร ส่วนการวิจัยเชิงคุณภาพมีแนวทางที่เป็นอัตวิสัย ขาดความชัดเจน ประเด็นที่วิจัยเล็กเกินไป มองบริบทระยะสั้น และประเด็นสำคัญวิธีการวิจัยทั้งสองวิธีนี้ เป็นการวิจัยเพื่อรู้ธรรมชาติและมนุษย์มากกว่าที่จะปฏิรูปรังสรรค์ และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางที่ดีขึ้นในสังคม นักวิจัยกลุ่มสังคมเชิงวิพากษ์เชื่อว่า การวิจัยควรเป็นกระบวนการศึกษาค้นคว้าเชิงปฏิรูปที่มุ่งให้เห็นโครงสร้างที่แท้จริงของปัญหา เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปหรือการเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น โดยใช้ทั้งวิธีการวิจัยเชิงปริมาณและวิธีคุณภาพร่วมกัน และเน้นการวิจัยให้มีส่วนร่วมคิดร่วมทำและเทคนิคการวิพากษ์ (dialectic technique)2
การวิจัยได้พัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง ได้มีการเสนอแนวคิดเกี่ยวกับความรู้และวิธีการแสวง หาความรู้มาอย่างไม่ขาดสาย ในแต่ละยุคสมัยมีแนวคิดต่างแนวเกิดขึ้น ทั้งแบบที่เป็นการพัฒนาแนวคิดเดิมให้สมบูรณ์มากขึ้นและแบบที่เสนอแนวคิดใหม่ที่ต่างไปจากเดิม

สังคมแบบสมัยใหม่ (modern society)

           ในสังคมยุคดั้งเดิม (traditional) หรือยุคศักดินา (feudal) เป็นยุคที่มีมาในอดีตจนกระทั่งมีการปฏิวัติในฝรั่งเศสที่นำไปสู่ยุคการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นอุตสาหกรรม (industrialization) ที่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงในการบริหารจัดการในศตวรรษที่ 19 และได้พัฒนาต่อมาในศตวรรษที่ 20 อย่างเต็มที่ โดยหลักของสังคมสมัยใหม่นั้นจะเป็นแนวคิดของการใช้ความเป็นเหตุเป็นผล (rationalization) ที่มีหลักการใช้เหตุผลอย่างเป็นระบบ โดยหลักการของสังคมสมัยใหม่นี้มีการพัฒนาในยุโรปและอเมริกาช่วงศตวรรษที่ 19 มีพื้นฐานมาจากยุคของการรู้แจ้ง (era of the Enlightenment) และในศตวรรษที่ 18 โดยนักปราชญ์ต่าง ๆ เช่น Voltaire, Montesquieu, Rousseau, Hume และ Adam Smith ที่ทำให้เกิดความเข้าใจในมนุษย์และสิ่งแวดล้อม โดยใช้ข้อเท็จจริงที่มีพื้นฐานจากทฤษฎีทางด้านวิทยาศาสตร์ที่ในการทำความเข้าใจกับสิ่งแวดล้อมและศาสตร์ธรรมชาติ (natural science) และในระหว่างศตวรรษที่ 19 กระบวนการของการใช้ความเป็นเหตุเป็นผลมีเพิ่มมากขึ้นที่ใช้เป็นแนวปฏิบัติทางสังคม โดยที่หลักการนี้เองทำให้เกิดกระบวน การเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่ความเป็นอุตสาหกรรม (industrialization) และการสร้างระบบงานบริหารราชการ (bureaucratization)
           ในความเป็นอุตสาหกรรมนั้นหมายถึงการใช้เครื่องจักรอย่างเป็นระบบเพื่อผลิตสินค้าที่มีความเหมือนกัน โดยเป็นการผลิตทีละมาก ๆ เพื่อสร้างต้นทุนที่ลดลง และกำหนดให้มีคนงานแต่ละคนมีความเชี่ยวชาญและทักษะเฉพาะด้าน ทำให้การผลิตมีมาตรฐานและมีคุณภาพให้มากที่สุด ส่วนการสร้างงาน ระบบบริหารราชการนั้นก็เป็นคู่ขนานกับความเป็นอุตสาหกรรม ในการสร้างการบริการและเป็นกระบวนการในการควบคุม โดยใช้คนที่มีความรู้มารวมกันในองค์การ มีการสร้างสำนักงาน มีการสื่อสารเป็นลายลักษณ์อักษร และมีการใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในแต่ละหน้าที่ต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ในองค์การ และมีกระบวนการทำงานที่เป็นมาตรฐาน
           ดังนั้นก็จะมีกระบวนการผลิตสินค้า (product) ที่มีความเป็นอุตสาหกรรมและบริการ (service) ที่มีเป็นการสร้างระบบงานบริหารราชการควบคู่กันไป ระบบดังกล่าวเป็นกระบวนการที่ใช้ความเป็นเหตุเป็นผลที่มีผลการทำงานที่สามารถคาดการณ์ได้ (predictable) เพระผลที่ออกมาขึ้นอยู่ทักษะที่มีความสำคัญในบทบาทของคนที่ทำงาน เช่น การผลิตรถยนต์หรือการผลิตคอมพิวเตอร์ที่เป็นสินค้าก็ออกมาเหมือน ๆ กัน ขณะที่การทำงานใน McDonald ก็จะมีการบริการที่ออกมาเป็นมาตรฐานเดียวกัน การใช้ความเป็นเหตุเป็นผลที่มาจากความเป็นอุตสาหกรรมและการสร้างระบบงานบริหารราชการจะนำมาซึ่งหลักสำคัญคือ ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน (specialization) การรวมอำนาจเข้ามาอยู่ส่วนกลาง (centralization) และความเป็นทางการ (formalization)
           ในความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านนั้นมาจากกระบวนการที่เกิดขึ้นจากการแบ่งงานกันทำ (division of labor) ยิ่งมีการผลิตสินค้าและบริการที่มีการแบ่งเป็นงานต่าง ๆ มากเท่าไร ก็ยิ่งมีการสร้างบทบาทของงานให้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมากขึ้นเท่านั้น ในกระบวนการเช่นนี้ทำให้ลดความเป็นอิสระ (autonomy) ในการทำงานเพราะงานเป็นลักษณะแบบง่ายโดยมีฝึกอบรมพร้อมไปกับการทำงาน (on-the-job training) และจำเป็นต้องมีการคัดเลือกบุคคลที่มีความสามารถ มีทักษะเฉพาะด้านที่เหมาะสมกับงาน เช่น งานเชื่อมเหล็ก ที่เป็นงานอยู่ในสายการผลิต หรือในอีกด้านหนึ่งที่ต้องใช้กระบวนการที่ต้องการความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในวิชาชีพที่มีความเป็นอิสระ ในการแก้ปัญหาในเรื่องที่ตัวเองเชี่ยวชาญเท่านั้น เช่น ในโรงพยาบาลที่ต้องใช้หมอที่เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน ทำให้เกิดการพัฒนาความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกันในสังคม
           ส่วนการรวมอำนาจเข้ามาอยู่ส่วนกลางนั้น เป็นผลมาจากความต้องการที่จะควบคุมกระบวนการของความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ในสายการผลิตที่มีการใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านจะต้องมีผู้จัดการเป็นผู้ควบคุมกระบวนการการผลิตอยู่ ในการจัดสรรคนงาน ในการสั่งวัตถุดิบและส่วนประกอบต่าง ๆ ที่เป็นปัจจัยนำเข้า และมีการดูแลระบบทั้งหมดของการทำงาน ซึ่งจะต้องใช้สายการบังคับบัญชาที่เป็นลำดับขั้น (hierarchical line of command) และมีการส่งข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องในสายงานทั้งหมด ในกระบวนการประมวลผลข้อมูลข่าวสารที่ทันสมัยนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของการรวมอำนาจเข้ามาอยู่ส่วนกลาง ซึ่งฝ่ายจัดการเป็นผู้ควบคุมการใช้ข้อมูลนี้ รวมทั้งหัวหน้าที่มีอำนาจและอยู่สูงขึ้นไปในโครงสร้างลำดับขั้น บริษัทข้ามชาติในการผลิตสินค้าที่มีความเป็นมาตฐาน (standardization) จะมีแนวโน้มที่เป็นการรวมอำนาจเข้ามาอยู่ในส่วนกลาง รวมทั้งองค์การข้ามชาติในภาคการเงิน เช่น ธนาคารและนายหน้าหลักหลักทรัพย์ เช่นเดียวกันกับรัฐที่จะต้องมีระบบที่ซับซ้อน ในการใช้ฐานข้อมูลของประชาชนที่มีขนาดใหญ่มาก เพื่อพัฒนาระบบในการจัดเก็บภาษีให้มีประสิทธิภาพ
           ในหลักสำคัญต่อมาของกระบวนการที่ใช้ความเป็นเหตุเป็นผลคือความเป็นทางการ ยิ่งมีการรวมอำนาจไว้ที่ศูนย์กลางมาขึ้นก็จะยิ่งส่งผลต่อระดับความเป็นทางการให้มากขึ้นด้วย ที่มีการควบคุมอย่างเข้มงวด รวมทั้งการทำงาน กิจกรรม และธุรกรรมที่เป็นทางการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นก็จะถูกบันทึกไว้ เพื่อที่จะสร้างระบบในการวัดผลงานและระบบงบประมาณ ดังนั้นผลที่ตามมาจากกระบวนการที่ใช้ความเป็นเหตุเป็นผลในสังคมสมัยใหม่คือ มุ่งเน้นการเป็นบูรณาการ (integration) ในกระบวน การที่เกิดจากความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ในสายการผลิตหรือสายวิชาชีพที่มีความแตกต่างกัน (differentiation) และมีเป้าหมายในหน่วยย่อยที่แตกต่างกัน จะต้องมีการบูรณาการที่มาจากส่วนย่อย ๆ ต่าง ๆ มาเป็นภาพรวมขนาดใหญ่ของทั้งองค์การ จึงจำเป็นต้องมีการประสานงานในแต่ละส่วนเพื่อให้ได้ภาพรวมทั้งหมด ในกระบวนการบูณาการที่มีความละเอียดนี้ก็ต้องใช้กระบวนการรวมอำนาจไปไว้ที่ศูนย์กลาง เพื่อนำไปสู่เป้าหมายเดียวกันขององค์การ
           ในการดำเนินงานของรัฐก็เช่นเดียวกัน มีความจำเป็นต้องประสานงานในกิจกรรมสาธารณะที่มีความแตกต่างกัน เพื่อสร้างการบูรณาการที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ของสังคมในทางการเมือง รวมทั้งจะต้องมีกระบวนการสร้างความเป็นทางการ เพื่อให้มั่นใจว่ากิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในระบบข่าวสารข้อมูลและสอดคล้องกับทิศทางที่เป็นลักษณะบูรณาการ ดังนั้นสรุปได้ว่าการรวมอำนาจเข้ามาอยู่ในส่วนกลางและการสร้างความเป็นทางการ เป็นวิธีที่ใช้สร้างกระบวนการสร้างความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน โดยรวบรวมสิ่งที่มีความแตกต่างที่แยกออกจากกันเข้ามาไว้ด้วยกันในระบบบูรณาการนั่นเอง

เงื่อนไขของยุคหลังสมัยใหม่ (postmodern conditions)

           ลักษณะรูปแบบของยุคหลังสมัยใหม่ (postmodern) เกิดขึ้นประมาณปี 1960 เป็นการกล่าวถึงแนวโน้มที่มีลักษณะการพัฒนาที่ไม่สมบูรณ์ (absolute) และเป็นแนวความคิดที่ไม่สามารถอ้างได้ว่าสามารถบรรลุถึงเป้าหมายของรัฐ (end-state) ซึ่งยุคสังคมสมัยใหม่ได้ครอบงำชีวิตของมนุษย์โดยส่วนใหญ่ทุกคน แต่จะเป็นการมุ่งไปสู่สิ่งใหม่ ๆ เป็นทางเลือกใหม่ ๆ ในการแสวงหามากไปกว่าข้อจำกัดของชีวิตที่ธรรมดา (limitation of normal life) เป็นลักษณะของนักคิดยุคหลังสมัยใหม่ทที่มีส่วนร่วมในกระบวนการที่กำหนดตัวแปรต่าง ๆ ในสังคมที่ไม่มีที่สิ้นสุด ดังนั้นกระบวนการที่ใช้ในการวิเคราะห์จะมุ่งไปสู่งสิ่งที่มีความเคลื่อนไหวตลอดเวลาไม่อยู่นิ่ง
           สิ่งที่เป็นเครื่องหมายของสังคมยุคสมัยใหม่ (modern society) คือกระบวนการที่ใช้ความเป็นเหตุเป็นผล (rationalization) ในการสร้างความเป็นบูรณาการ (integration) ซึ่งตรงข้ามกับสิ่งที่เป็นเครื่องหมายของสังคมยุคหลังสมัยใหม่ที่ใช้กระบวนการที่ใช้เหตุผล (reasoning) ไม่ใช้หลักความเป็นเหตุเป็นผล (rationale) แต่จะเป็นความเข้าใจที่เกิดขึ้นมากกว่า การใช้เหตุผลนี้คือกระบวนการที่สร้างการเชื่อมต่อของส่วนที่อยู่กระจัดกระจายออกไป (fragments) ในการมองแบบกว้าง ๆ ของสังคมสมัยใหม่จะถูกแทนที่โดยแนวปฏิบัติที่เป็นวาทกรรม (discourse) ที่นำไปสู่การแยกส่วนต่าง ๆ (fragmentation) ในโลกที่หลักของการใช้ความเป็นเหตุเป็นผลและหลักบูรณาการของสังคมยุคสมัยใหม่ไม่สามารถนำมาใช้ตอบสนองความต้องการของปัจเจกบุคคล และองค์การที่มีเป้าหมายของตัวเองที่แยกต่างหากได้ เพราะไม่สามารถสร้างการยอมรับที่เกิดขึ้นได้
           หลักของยุคหลังสมัยใหม่นี้ตรงกันข้ามกับการใช้หลักบูรณาการ (integration) ของยุคสมัยใหม่ สิ่งที่ถูกสร้างขึ้นหรือออกแบบในการจัดการของสินค้าและบริการในยุคสมัยใหม่ เช่น โรงงานอุตสาหกรรม หรือ สำนักงานต่าง ๆ จะไม่อยู่ในยุคหลังสมัยใหม่เลย Gibbon (1989) ได้แสดงให้เห็นถึงคุณลักษณะของยุคหลังสมัยใหม่ว่า ไม่ได้ใช้หลักเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง แต่จะเป็นยุคหลังอุตสาหกรรม (post industrial) ยุคข้อมูลข่าวสาร (information) และยุคเศรษฐกิจผู้บริโภค (consumer economy) เป็นการปรับโครงสร้างของการจ้างงานในชนชั้นกลาง รายได้ ค่าใช้จ่าย และทัศนคติ โดยเฉพาะทัศนคติที่มีต่อการทำงานและการใช้เวลาพักผ่อน มีการแสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งระหว่างความเป็นภาครัฐและเอกชน วัฒนธรรมที่สะท้อนถึงความหลากหลายของกลุ่ม (plurality) ลักษณะการดำเนินชีวิต (lifestyle) ที่เป็นแบบผสมผสานกันซึ่งขึ้นอยู่กับความพึงพอใจที่เกิดขึ้น ความเพ้อฝัน ความแปลกใหม่ ความสนุกสนาน และความมั่งคั่ง นอกจากนั้นแล้วสิ่งที่ทำให้เกิดความไม่พึงพอใจในการเมืองยุคสมัยใหม่ (modern politics) คือ สิ่งที่เหมือนกันหมด (sameness) ความจง รักภักดีเดิม ๆ (customary allegiances) การคาดเดาได้ (predictability) ระบบราชการ (bureaucracy) ระเบียบวินัย (discipline) อำนาจหน้าที่ (authority) และหลักการปฏิบัติการ (mechanical operation) แต่ในทางตรงกันข้ามแนวคิดจยุคหลังสมัยใหม่จะเน้นความแตกต่าง (difference) การปรับทิศทางไม่ตรงกันและการปรับทิศทางใหม่ให้ตรงกัน (dealignment and realignment) สิ่งที่คาดเดาไม่ได้ (unpredictability) เสรีภาพ (freedom) การลดกฎระเบียบและความไม่ไว้วางใจ (delegitimization and distrust) รวมถึงอำนาจและการกระทำด้วยตนเอง (power and spontaneity) ซึ่งมีแนวโน้มการกลับมาของความมีเสน่ห์ (charisma) ความเป็นอุดมการณ์ (ideology) การใช้ถ้อยคำชักจูงโน้วน้าว (rhetoric) และอำนาจที่เพิ่มขึ้นของสื่อต่าง ๆ การยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น (tolerance) และเสรีภาพมีความเจริญรุ่งเรืองมากในยุคพหุนิยมใหม่และการเมืองแบบประชาธิปไตย โดยพวกชุมชนนิยม (communitarian) และกิจกรรมในการเมืองแบบประชาธิปไตย ยุคหลังสมัยใหม่นิยม (post-modernism) จะอธิบายให้เห็นได้อย่างชัดเจนในคุณลักษณะดังนี้ คือ ปัจเจกบุคคลนิยม (individualism) นโยบายความร่วมมือระหว่างประเทศ (internationalism) และการแยกส่วนขององค์การ (organizational segmentation)
           ในสิ่งที่ขัดแย้งกันกับตัวมันเองนั้น ปัจจเจกบุคคลนิยม (individualism) ที่จะได้ประโยชน์จากยุคสังคมสมัยใหม่ซึ่งหลาย ๆ คนก็มีรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้นและลดการพึ่งพาจากครอบครัว ส่วนพวกที่ไม่สามารถทำงานได้หรือพวกที่ทุพลภาพนั้นจะได้รับการดูแลจากรัฐสวัสดิการที่ไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อน หลังจากสงครามโลกครั้งที่สองนั้น ความยากจนก็ยังไม่ได้หายไปจากโลกแต่ก็มีระดับการบริ การด้านสวัสดิการสังคมที่มีสูงขึ้นมากในสังคมสมัยใหม่นี้ โดยเฉพาะในประเทศในยุโรปตะวันตกที่มีระบบสวัสดิการสังคมทำให้มีทางเลือกของปัจเจกบุคคลใหม่ ๆ ขึ้น การมองปัจเจกบุคคลที่เป็นพื้นฐานของความเข้าใจใหม่ ๆ นี้เป็นการท้าทายยุคสังคมสมัยใหม่ มีความสำเร็จในปัจเจกบุคคลที่เกิดจากการลดช่องว่างระหว่างเพศ (gender gap) ที่มีความสัมพันธ์กับการศึกษาที่สูงขึ้นและผู้หญิงหลายคนก็ได้ทำงานหลังจากแต่งงานแล้ว และการแบ่งชนชั้น (class division) ของยุคสังคมสมัยใหม่ก็ได้ลดน้อยลงไป เช่น แทบจะไม่มีความแตกต่างระหว่างพวกคนงาน (blue-collar workers) และเจ้า หน้าที่ในสำนักงาน (white-collar employees) พวกชนชั้นกลางที่เป็นพ่อค้าหรือเจ้าของร้านดั้งเดิมก็มีจำนวนลดลง ยกเว้นพวกที่อพยพเข้าใหม่ที่เป็นรุ่นแรก รวมทั้งการลดลงของสมาชิกในสหภาพ แรงงานในหลายประเทศอีกด้วย สมาชิกพรรคการเมืองดั้งเดิมต่าง ๆ ก็มีจำนวนลดลง ไม่มีการแบ่งอุดมการณ์ว่าเป็นฝ่ายซ้ายหรือขวาอย่างชัดเจน แต่การใช้ถ้อยคำจูงใจในการเมืองโดยใช้บุคคลิกเป็นหลักก็จะมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น โดยมีการใช้รูปภาพหรือเงื่อนไขทางการเมืองน้อยลง ยิ่งไปกว่านั้น การตัดสินใจทางการเมืองเป็นการปฏิสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างองค์การ โดยเฉพาะองค์การผลประโยชน์และภาครัฐ ที่ทำหน้าที่เป็นเครือข่ายที่ใช้ในการต่อรองต่าง ๆ แต่ในเงื่อนไขนี้ทำให้ปัจเจกบุคคลที่มีความเข้มแข็งไม่ยอมเข้าร่วมกับพรรคการเมืองหรือสหภาพแรงงาน แต่จะเข้าร่วมเป็นบางครั้งในสถานการณ์เมื่อเห็นว่าเหมาะสมเท่านั้น บางครั้งก็เข้าร่วมเคลื่อนไหวในการประท้วง (protest) เพื่อที่จะต้องการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่าง ๆ ให้ดีขึ้น
ในอีกด้านหนึ่งของปัจเจกบุคคลนิยมก็คือ การสนับสนุนการใช้กลไกตลาดแทนการบริการต่าง ๆ ของรัฐที่ดำเนินการเอง เพราะไม่สามารถตอบสนองความต้องการปัจเจกบุคคลที่มีความหลากหลาย หรืออาจจะให้รัฐทำการแข่งขันกับเอกชน แต่ไม่ช้าก็เร็วคุณภาพที่แย่ของรัฐก็จะนำไปสู่ความเสื่อมในขององค์การของรัฐเอง อาจจะถึงกับต้องปิดตัวลง มีการใช้ใบสำคัญจ่าย (voucher) ที่รับรองโดยรัฐในการให้ปัจเจกบุคคลนำไปแลกกับสินค้าหรือบริการสาธารณะของรัฐได้ ซึ่งเปรียบเสมือนเงินจริง ๆ ที่ยอมรับทั้งภาครัฐและเอกชน
           ความร่วมมือระหว่างประเทศ (internationalism) มีบทบาทที่สำคัญเช่นกัน ความมีอิสระของประเทศต่าง ๆ ก็จะมีน้อยลงไป ซึ่งอำนาจหน้าที่หลายอย่างได้ถูกอิทธิพลขององค์การระหว่างประ เทศควบคุมอยู่ เช่น สหภาพยุโรป (European Union) สหประชาชาติ (United Nation) องค์การค้าโลก (World Trade Organization) เป็นต้น มีการประกาศกฎหมายมนุษยชนที่ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายในหลายประเทศ สหประชาชาติเองก็พยายามใช้อำนาจหน้าที่ทำตัวเป็นตำรวจของโลกในการรักษาสันติ มีผู้อพยพจำนวนมากที่พยายามจะเคลื่อนเข้ามาในชายแดนประเทศต่าง ๆ เช่น จากอัฟริกาเหนือไปยุโรป จากยุโรปตะวันออกไปยุโรปตะวันตก ทั้งที่มีกฎหมายการเข้าเมืองที่เคร่งครัดมาก ในทางด้านเศรษฐกิจบริษัทข้ามชาติที่อยู่ในประเทศต่าง ๆ ได้ทำงานด้วยกันในโลกเสมือนจริง (virtually) การหมุนเวียนเงินทุนระหว่างประเทศที่สะดุดจะส่งผลต่อตลาดหลักทรัพย์ใน Frankfurt, London, New York, และ Tokyo การเติบโตของอินเตอร์เน็ตและช่องทางการสื่อสารด้านโทร คมนาคมอื่น ๆ ทำให้มีการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารโดยที่ไม่ต้องคำนึงว่าจะอยู่ส่วนไหนของโลก ในด้านหนึ่งความร่วมมือระหว่างประเทศนี้มองดูเหมือนเป็นการรวมอำนาจเข้าส่วนกลาง (centralization) มากกว่าการกระจายเป็นส่วน (fragmentation) เพราะองค์การระหว่างประเทศนี้มีการจัดองค์การแบบระบบราชการ (bureaucracy) และใช้เครื่องมือที่เป็นแบบระบบราชการ เช่น การใช้กฎระเบียบต่าง ๆ ที่บังคับใช้กับประเทศต่าง ๆ แต่ในขณะเดียวกันในองค์การระหว่งประเทศนี้ก็อยู่ตามสถานที่ (loci) ต่าง ๆ ที่มีอำนาจหน้าที่ในระหว่างประเทศก็ดูเหมือนเป็นการกระจายเป็นส่วนอยู่เหมือนกัน
           ในปัจจัยที่สามคือของของการกระจายเป็นส่วน (fragmentation) คือการแยกส่วนขององค์การ (organizational segregation) เป็นมุมมองการแยกส่วนแนวราบ (horizontal segmentation) ที่มีการทำให้รัฐมีเครื่องมือที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น ในการสร้างหน่วยงานใหม่ ๆ ในการบริหารจัดการ มีคณะกรรมมธิการ หรือคณะที่ปรึกษาต่าง ๆ ถึงแม้ว่าการบริหารนั้นจะขึ้นอยู่กับผู้นำทางการเมืองก็จริง แต่ก็ไม่สามารถที่จะสั่งหน่วยงานทั้งหมดได้ จึงจำเป็นต้องมีการประสานงานที่มีปฏิสัม พันธ์ของหน่วยงานต่าง ๆ ที่แยกกันอยู่ อีกมุมมมองของการแยกส่วนขององค์การนี้เป็นการกระจายอำนาจ (decentralization) ซึ่งในยุคสังคมสมัยใหม่นี้เป็นการรวมอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง เช่น ในการผลิตของโรงงานขนาดใหญ่หรือสถาบันการเงินขนาดใหญ่ รวมทั้งภาครัฐเอง แต่ในยุคหลังสมัยใหม่ก็ยังมีการผลิตที่มีขนาดใหญ่อยู่ แต่ก็จะมีรูปแบบใหม่อื่น ๆ เช่น การผลิตเป็นจำนวนน้อย ๆ (niche) การผลิตในบ้าน (home) และความร่วมมือกันผลิตที่อยู่ในอินเตอร์เน็ตในเว็บของผู้รับสัญญาและผู้รับช่วงสัญญา (contractor and subcontractor) ทำให้มีความยืดหยุ่นในการใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน (flexible specialization) ซึ่งทำให้มีการตอบสนองต่อความต้องการได้รวดเร็วและยืดหยุ่นมากขึ้น ส่วนในภาครัฐนั้นก็จะเป็นรูปแบบของอค์การที่ซับซ้อนขึ้นที่จะต้องสร้างหลักการเพื่อที่จะใกล้ชิดกับผู้ใช้บริการให้มากที่สุดที่จะเป็นไปได้ นั่นก็คือต้องมีการกระจายอำนาจนั่นเอง เช่น ให้รัฐบาลท้องถิ่นมีอำนาจในการส่งมอบบริการให้ลุกค้าในพื้นที่ของตัวเอง หรือเป็นรูปแบบใหม่ที่รัฐเป็นเจ้าของแต่ให้ผู้ใช้บริการมาดำเนินการเอง รวมถึงการให้ความสำคัญกับเจ้าหน้าที่ในระดับล่างให้มีความสามารถในการปรับตัวเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ได้

ความแตกต่างระหว่างยุคสมัยใหม่นิยมและยุคหลังสมัยใหม่นิยม (modernism vs. postmodernism)

           ความแตกต่างของสังคมยุคสมัยใหม่นิยมและยุคหลังสมัยใหม่นิยม ใช้การเปรียบเทียบเป็นคู่เพื่อสร้างความเข้าใจให้เห็นภาพได้อย่างชัดเจนมากขึ้น ซึ่งคุณลักษณะที่ใช้นี้เป็นการเปรียบเทียบระ หว่างแนวคิดการใช้ความเป็นเหตุเป็นผล (rationalization) ของสังคมยุคสมัยใหม่และแนวปฎิบัติที่เป็นการใช้เหตุผล (reasoning) ของยุคหลังสมัยใหม่ ดังที่ได้แสดงในตาราง 1.1 เช่นเดียวกับการเปรียบเทียบระหว่างการค้นหาสิ่งที่มีความสมบูรณ์ที่เป็นความจริงทางวิทยาศาสตร์ (absolute scientific truth) และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า (ad hoc presentation)
           ในของเขตของเศรษฐศาสตร์ (economic sphere) ได้มีการเปลี่ยนแปลงจากความเข้าใจของระบบการผลิต (production) เป็นความเข้าใจในรูปแบบของการบริโภค (consumption) การพัฒนาเทคโนโลยีในที่มีเทคนิคการผลิตสินค้าโดยแทบจะไม่มีคนเข้ามาในระบบ ก็เปลี่ยนไปเป็นการมุ่ง เน้นระบบการผลิตที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น การบริโภคเป็นศูนย์กลางทางความคิดของมนุษย์ เพราะมนุษย์นั้นมีความต้องการพื้นฐานในการทำให้คุณภาพชีวิตดีที่สุด (maximization of quality of life) เมื่อมนุษย์มีความมั่งคั่งมากขึ้น ปัญหาเก่า ๆ ที่จะต้องได้อาหารและที่อยู่เป็นประเด็นที่ไม่สำคัญอีกต่อไป ประเด็นใหม่ที่มีความสำคัญก็คือการเป็นเจ้าของทรัพสินย์ที่ฟุ่มเฟือย มีเวลาพักผ่อน และอื่น ๆ ดังนั้นคนทำงานก็ได้เปลี่ยนจากความต้องการเงื่อนไขของความมั่น คงในงานเป็นความต้องการในเวลาว่าง เช่น เล่นกีฬา การเข้างานสังคมต่าง ๆ ดูโทรทัศน์ ไปบ้านพักตากอากาศ เป็นต้น ซึ่งช่องทางการสื่อสารที่ใช้ดาวเทียมทำให้ความคิดเดิม ๆที่ว่าจะต้องติดอยู่กับที่นั้นหมดไป

ตาราง 1.1 เปรียบเทียบแนวคิดสังคมยุคสมัยใหม่และของยุคหลังสมัยใหม่
ยุคสมัยใหม่ที่มีความเป็นเหตุเป็นผล
(modern rationalization)
ยุคหลังสมัยใหม่ที่มีเหตุผล
(postmodern reasoning)
· ▪ วิสัยทัศน์ทั่วโลก (global visions)
· ▪ สนใจเฉพาะจุด (particular interests)
· ▪ การผลิต (production)
· ▪ การบริโภค (consumption)
· ▪ ความจำเป็นพื้นฐาน (basic needs)
· ▪ คุณภาพชีวิต (quality of life)
· ▪ เงื่อนไขการทำงาน (conditions of work)
· ▪ เวลาว่างพักผ่อน (leisure time)
· ▪ การผลิตเป็นจำนวนมาก (mass production)
· ▪ เชี่ยวชาญเฉพาะด้านแบบยืดหยุ่น (flexible specialization)
· ▪ สังคมการผลิต (production society)
· ▪ สังคมข้อมูลข่าวสาร (information society)
· ▪ สังคมการแบ่งชนชั้น (class society)
· ▪ สังคมพหุนิยม (pluralistic society)
· ▪ บูรณาการ (integration)
· ▪ ความแตกต่าง (differentiation)
· ▪ วัฒนธรรมระดับชาติ (national culture)
· ▪ ภาพพจน์ระดับนานาชาติ (international images)
· ▪ ระดับประเทศ (national state)
· ▪ ระดับนานาชาติ (international regimes)
· ▪ การเมืองแบบพรรค (party politics)
· ▪ การเมืองแบบบุคคล (personality politics)
· ▪ เอกฉันท์ทางการเมือง (politics of consensus)
· ▪ โน้วน้าวทางการเมือง (politics of persuasion)
· ▪ การวางแผน (planning)
· ▪ เกิดขึ้นเฉพาะหน้า (spontaneity)
· ▪ เหตุผล (reason)
· ▪ จินตนาการ (image)
· ▪ องค์การแบบผลประโยชน์ (interest organizations)
· ▪ ขบวนการทางสังคม (social movement)
· ▪ รวมอำนาจ (centralization)
· ▪ การจายอำนาจ (decentralization)
· ▪ มองเป็นภาพรวม (wholes)
· ▪ มองแบบแตกกระจาย (fragments)

           ในขอบเขตของการผลิต (production sphere) การผลิตจำนวนมากที่มีมาตรฐาน (standardized mass production) นี้ก็ถูกแทนที่โดยรูปแบบการผลิตแบบความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านแบบยืดหยุ่น (flexible specialization) ที่ไม่ต้องใช้การเก็บสินค้าในคลังที่ต้องรอจัดส่งให้กับร้านค้าปลีกต่อไป แต่เป็นการผลิตที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าในทันที โดยใช้ระบบการสื่อสารที่ติดต่อไปยังส่วนผลิตที่อยู่กระจายตามที่ต่าง ๆ ที่สามารถผลิตได้ในเวลาชั่วข้ามคืน และสามารถส่งสินค้าที่จะขายได้ในทุกส่วนภูมิภาคที่ลูกค้าต้องการ ผลก็คือสังคมได้เปลี่ยนจากสังคมการผลิต (production society) ที่ผู้ผลิตจะต้องตัดสินใจว่าจะผลิตอะไรและอย่างไร เป็นสังคมข่าวสารข้อมูล (information society) ที่ความต้องการของลูกค้านั้นถูกสื่อสารส่งไปให้กับผู้ผลิตได้ทันที ซึ่งเป็นความสามารถการจัดการข่าวสารข้อมูลที่ใช้ในการตัดสินใจมากกว่าที่จะเป็นแค่ความสามารถในการผลิต
           ความคิดที่เป็นสังคมที่มีการแบ่งชนชั้น (class society) ก็ได้เปลี่ยนเป็นแบบสังคมของพหุนิยม (pluralistic society) มากขึ้นเพราะมีความแตกต่างกันของมนุษย์ในการทำตามความคิดของตัวเองที่มีความเป็นเฉพาะเจาะจง และความคิดที่ว่าจะต้องมีการบูรณาการ (integration) ที่เข้มแข็ง ที่ตรงข้ามกับองค์การที่มีความต้องการที่หลากหลายก็ต้องการความแตกต่าง (differentiation) มากกว่า ก่อนหน้านี้เป็นการเน้นรูปแบบของโครงสร้าง (structural) ที่จะต้องกำหนดเงื่อนไขของชีวิตให้เหมาะสมกับรูปแบบที่กำหนดไว้ ก็ต้องเปลี่ยนเป็นการใช้ความคิดทางวัฒนธรรม (cultural idea) และสัญลักษณ์ที่เป็นความคิด (symbols of idea) ที่ไม่ได้ยึดติดกับอะไรหรือกลุ่มใด แต่เป็นการทำตามสถานการณ์มากกว่า ดังนั้นในสังคมข้อมูลข่าวสารนี้มีบทบาทที่สำคัญในการกระจายความคิดทางวัฒนธรรมผ่านทางสื่อโทรทัศน์และเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ในวัฒนธรรมของชาติ (national culture) ที่มีความสำคัญในการสร้างความศรัทธาที่มีมานานตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ เช่น ดนตรี วรรณกรรม และภาพวาด เป็นต้น จะถูกท้าทายโดยภาพลักษณ์ที่มาจากต่างประเทศ (international images) ที่ได้เชื่อมโยงกับระบบเสมือนจริง (virtual realities) ทำให้สามารถรับชมได้อย่างสะดวก เช่น ดนตรีพ็อพ (pop music) การที่มีวัฒนธรรมที่มาจากต่างประเทศนั้นมีความเป็นคู่ขนานกับวัฒนธรรมของชาติ ทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องสร้างกฎระเบียบของตัวเองให้สอดคล้องกับมาตรฐานที่ยอมรับได้ของชุมชนที่เป็นชาวต่างชาติด้วย
           ในขอบเขตของการเมือง (political sphere) นั้นการเปลี่ยนแปลงเป็นไปอย่างรวดเร็ว อย่างแรกก็คือการเมืองดั้งเดิมแบบที่อิงพรรคการเมือง (traditional party politics) ที่มีพื้นฐานจากการแบ่งชนชั้นทางสังคมก็จะค่อย ๆ ตกต่ำลงไป เนื่องจากแรงหนุนของสังคมข้อมูลข่าวสาร (information society) ที่มีการพูดอภิปรายผ่านสื่อต่าง ๆ แทนที่จะเป็นการประชุมที่ต้องพบเจอหน้ากันในพื้นที่หาเสียงต่าง ๆ  ที่จัดขึ้นโดยสาขาของพรรคการเมืองในท้องที่นั้น จึงเป็นที่มาของความสำคัญที่ให้กับความสามารถของผู้นำทางการเมืองในการสร้างความภักดีของมวลชน โดยผ่านสื่อต่าง ๆ ที่แสดงออกเป็นภาพและเสียง รวมทั้งต้องมีความสามารถในการปฏิบัติที่ดีกับสื่ออีกด้วย จากการที่ให้ความสำคัญและให้อำนาจกับผู้นำทางการเมืองอย่างมาก ทำให้การเมืองแบบเดิมที่อิงพรรคการเมืองนี้ เปลี่ยนแปลงเป็นแบบการเมืองที่ใช้การชักจูงเชิญชวน (politics of persuasion) แทนที่จะเป็นการเมืองแบบเอกฉันท์ (politics of consensus) โดยที่เน้นความสามารถเฉพาะตัวของผู้นำที่จะต้องนำเสนอต่อสาธารณะและมีการตอบรับผลได้ทันที โดยใช้เทคนิคที่พื้นฐานของสังคมแบบข้อมูลข่าวสาร มีการโต้ตอบกับคู่แข่งขันในทางการเมืองเพื่อตอบสนองความต้องการของคนส่วนมากที่เกิดขึ้นในสถานการณ์นั้นได้ทันที เพื่อให้มีการยอมรับจากสาธารณชนที่สามารถเห็นความคิดของผู้นำทางการเมืองทั้งสองฝ่ายที่มีการตอบโต้การในเวทีการเมือง การวางแผน (planning) อย่างรัดกุมในการนำเสนอก็ได้เปลี่ยนแปลงเป็นแบบการตอบสนองต่อสถานการณ์เฉพาะหน้า (spontaneity) ทางการเมืองที่เป็นความต้องการของประชาชนโดยส่วนใหญ่ ความสามารถในการใช้การตัดสินใจโดยให้เหตุผล (reason) ที่ต้องเข้าใจกระบวนการตัดสินใจที่ให้ความเป็นเหตุเป็นผลที่ถูกแทนที่โดยการใช้จินตนาการ (imagination) ที่มาจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ หลายแห่งมากกว่า
           องค์การแห่งผลประโยชน์ (interest organization) เป็นองค์การที่ใช้เป็นรูปแบบมาตั้งแต่ในอดีตก็จะถูกท้าทายโดยขบวนการทางสังคมแนวใหม่ (new social movement) เป็นความสามารถที่ต้องใช้สื่อต่าง ๆ ของสังคมยุคข้อมูลข่าวสารอย่างมีกลยุทธ์ เช่น ในสหภาพแรงงานเองก็มีการต่อต้านพวกผู้นำสหภาพเอง มีความต้องการที่จะมีอิสระของตัวเองมากขึ้น และมีการข่มขู่ด้วยการลาออกจากสมาชิกของสหภาพอีกด้วย มีการจ้างงานเป็นแบบครั้งคราว และการจ้างที่ปรึกษาโครงการต่าง ๆ ซึ่งบทบาทนี้ทำให้ความสำคัญในบทบาทของสหภาพแรงงานมีน้อยลงไป
           ในรูปแบบการเมืองที่มีลักษณะรวมอำนาจเข้ามาอยู่ส่วนกลาง (centralization) ก็มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนเป็นรูปแบบที่มีลักษณะกระจายอำนาจออกจากส่วนกลาง (decentralization) ให้กับรัฐบาลส่วนท้องถิ่นมากขึ้น โดยที่สามารถนำเอาความคิดที่แตกต่างกันมาปฏิบัติได้เอง รัฐบาลท้องถิ่นอาจเป็นผู้ดำเนินการเอง หรือร่วมมือกับเอกชนในการดำเนินการให้บริการสาธารณะแก่ประชาชน ดังนั้นแนวคิดการเมืองที่มองเป็นภาพรวม (whole) ที่มีวิสัยทัศน์เป็นแบบภาพกว้าง ๆ ก็จะถูกเปลี่ยนแปลงเป็นแบบแนวคิดการเมืองที่มองเป็นส่วนที่แตกกระจาย (fragmentation) เพื่อที่จะตอบสนองความต้องการในระดับท้องถิ่นได้ ซึ่งความแตกต่างนี้ก็ยอมรับได้แต่ต้องอยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม เพื่อให้แน่ใจได้ว่าทุกคนมีความพอใจอีกด้วย และเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับสังคมยุคสมัยใหม่ก็จะถูกแทนที่โดยเรื่องเล่าพื้นบ้านแทน3
           William Bergquist (1993) ได้กล่าวถึงที่มาของแนวคิดหลังยุคสมัยใหม่ (postmodernism) มาจากแหล่งที่มาอย่างแรกคือการอภิปรายและการสนทนาในเรื่องของยุคโครงสร้างนิยม (structuralism) ยุคหลังโครงสร้างนิยม (poststructuralism) แนวคิดการรื้อสร้าง (deconstruction) ยุคหลังทุนนิยม (postcapitalism) ทฤษฎีการวิพากษ์ (critical theory) และแนวคิดสตรีนิยม (feminism) แหล่งที่สองคือการวิจารณ์รูปแบบของศิลปะร่วมสมัย (contemporary art forms) โดยเฉพาะในสถาปัตย กรรม วรรณกรรม และภาพ เขียน รวมทั้งการดำรงชีวิตร่วมสมัย (contemporary lifestyle) เช่น การโฆษณา แฟชั่น และการใช้ภาษา แหล่งที่สามคือ การวิเคราะห์ทางสังคมของสถานที่ทำงานและเศรษฐกิจ และแหล่งสุดท้ายคือ
ทฤษฎีความสับสนวุ่นวาย (chaos theory)
           ทฤษฎีวัตถุวิสัยนิยม (objectivism) อยู่ในยุคสมัยใหม่ที่ใช้แนวคิดเสรีนิยม (liberal) และแนวคิดอนุรักษ์นิยม (conservative) เป็นหลักทั่วไปในการปรับปรุงความเป็นอยู่ของมนุษย์ แก้ปัญหาความขัดแย้ง ฟื้นฟูสิทธิมนุษยชน และใช้จัดระเบียบของโลกหรือชุมชน ซึ่งตรงข้ามกับทฤษฎีการสร้างความรู้ในตนเองได้ (constructivism) ที่ใช้สร้างความจริงของสังคม โดยไม่ยึดติดกับความจริงที่เป็นสากลหรือหลักการใด ๆ ของอดีต เพราะมีความเชื่อที่ว่าสังคมนั้นไม่อยู่นิ่ง ยืดหยุ่น และไม่สามารถคาดการณ์ได้ตลอดเวลา ซึ่งแนวคิดยุคหลังสมัยใหม่จะใช้แนวทางของทฤษฏีการสร้างความรู้โดยใช้ภาษา (language) ที่มองเป็นความจริงของตัวมันเอง กล่าวคือ ถ้าความจริงเป็นสิ่งที่สังคมสร้างขึ้น ภาษาจะเป็นสิ่งที่ใช้อธิบายความจริงของตัวมันเอง เช่น เงินใช้เป็นสื่อในการแลกเปลี่ยนของทรัพย์สินต่าง ๆ ภาษาก็เช่นกันเป็นสิ่งที่แลกเปลี่ยนสิ่งที่ต้องอธิบาย
           แนวคิดยุคหลังสมัยใหม่มองความเป็นโลกไร้พรมแดน (globalization) และมองทุกอย่างมีความแตกต่างเป็นกลุ่ม ๆ (segmentalism) ที่อยู่ในสังคม เพราะในปัจจุบันเราต้องเจอกับความขัดแย้ง ความแตกต่าง และสิ่งที่คาดการณ์ไม่ได้ตลอดเวลา ชุมชนของแนวคิดยุคหลังสมัยใหม่จะเป็นแบบวิถีชีวิต (lifestyle) ที่ได้อยู่ใกล้กันแต่จะมารวมตัวกันตามกิจกรรมที่ตัวเองชอบ เช่น ชมรมรถปอร์เช่ จากความไม่แน่นอนทำให้ไม่สามาถคาดการณ์ได้ เช่น ปรากฎการเอลนินโญ่ (El Nino) หรือภาวะโลกร้อน (global warming) นอกจากนั้นแนวคิดยุคหลังสมัยใหม่ยังมองภาพเป็นส่วน ๆ และมองขัดแย้งกัน (fragmented and inconsistent image) เป็นการสนใจสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมากกว่าอดีต Gitlin (1988) กล่าวว่าอเมริกาไม่มีวัฒนธรรมของตัวเองที่เด่นชัด เพราะเป็นที่รวมของหลากหลายวัฒนธรรม จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะสร้างคำนิยามต่าง ๆ ในโลกร่วมสมัยนี้เพราะในโลกนี้เต็มไปด้วยความขัดแย้ง และจะมีปรากฎการณ์ใหม่ ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลาในยุคหลังสมัยใหม่ สิ่งที่ขัดกันในสมมติฐานของยุคหลังสมัยใหม่ไม่มีการพิสูจน์ว่าผิด ทุกข้อมูลสามารถนำมาใช้วิเคราะห์ได้หมด ยิ่งมีขัดแย้งกันของข้อมูล ก็ยิ่งสามารถใช้ข้อมูลในการสร้างสมมติฐานของยุคหลังสมัยใหม่ได้ ขณะที่ยุคสมัยใหม่จะเน้นรูปแบบที่กำหนดไว้ แต่ยุคหลังสมัยใหม่จะเน้นรูปแบบที่แตกต่างและซับซ้อนกว่า เนื่องจากความหลากหลายและแตกต่างนี้ ทำให้แนวคิดยุคหลังสมัยใหม่มองถึงความเสมอภาคและความเท่าเทียมกันอีกด้วย เพราะโลกไม่ได้เป็นแบบเรียบง่ายเหมือนในอดีตอีกต่อไปแล้ว4
           Peter Bogason (1990) กล่าวถึงแนวคิดยุคหลังสมัยใหม่นิยม (postmodernism) เป็นการใช้วิธีการตีความ (interpretivist approach) ในการวิเคราะห์ที่จะออกมาเป็นรูปของภาษา (language) มองกระบวนการทางสังคมเป็นการใช้ภาษา ซึ่งตรงข้ามกันกับหลักปฎิฐานนิยม (positivism) วิธีการวิเคราะห์แบบตีความนี้จะต้องใช้การสื่อสารที่เจอกันตัวต่อตัว (face-to-face communication) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วาทกรรมของแท้ (authentic discourse) เหมือนกับการโต้วาทีนั่นเอง วิธีการนี้ต้องใช้ความจริงในวาทกรรม (warrant for disclose) ที่จะต้องแสดงความจริงใจ ซื่อสัตย์ สร้างความไว้วางใจ มีความตั้งใจจริงในการแก้ปัญหา และต้องสร้างการมีส่วนร่วม รวมทั้งความสามารถในการรับฟังด้วย ซึ่งเป็นพื้นฐานของประชาธิปไตยที่เป็นธรรมาภิบาล และจะนำไปสู่การมีส่วนร่วมของประชาชนในกิจการสาธารณะ (public affairs)
           การวิเคราะห์แบบยุคหลังสมัยใหม่ได้ใช้ความสัมพันธ์นิยม (relativism) และการวิเคราะห์แบบใช้ภาษา (linguistic analysis) รวมถึงวิธีการใช้แนวปฏิบัตินิยม (pragmatist approach) จากพื้นฐานของการวิเคราะห์แบบวาทกรรม ที่จะเข้าใจความเป็นจริง (reality) และใช้ประสบการณ์ของมนุษย์ โดยการแยกความจริงออกจากค่านิยม พี้นฐานนิยมออกจากความสัมพันธ์นิยม ปรากฎการวิทยาออกจากปฏิฐานนิยม ในการสร้างสมมติฐานของแนวปฎิบัตินิยม
           การใช้แนววิเคราะห์ยุคหลังสมัยใหม่ในรัฐประศาสนศาตร์ของอเมริกัน จะใช้ทฤษฎีวิพากษ์และการวิเคราะห์เชิงวาทกรรม (critical theory and discourse analysis) การสร้างความรู้ด้วยตนเองของสังคมและการต่อต้านพื้นฐานนิยม (social constructivism and anti-fundamentalism) รวมถึงแนวปฎิบัตินิยม (pragmatism) ที่มีพื้นฐานจากการวิเคราะห์เชิงวาทกรรม นักวิเคราะห์ยุคหลังสมัยใหม่จะมุ่งเน้นการใช้วิธีการวิเคราะห์แบบรื้อสร้าง (deconstructive analysis) เพื่อสร้างความเข้า ใจที่ตีความหมายได้หลายแบบ และใช้วิธีสร้างความรู้ด้วยตนเองของสังคม (social constructivism) ในการศึกษาข้อเท็จจริงในสังคมที่นักทฤษฎีแบบอัตวิสัยนิยม (subjectivist) ในรัฐประศาสนศาสตร์ศึกษาไม่ได้ เช่น ค่านิยมในด้านจริยธรรม ทำให้เกิดการค้นพบความสัมพันธ์ทางด้านสังคมที่เกิดจากการรื้อสร้างบริบท มุ่งเน้นกระบวนการของความสัม พันธ์ที่มีการรับรู้ร่วมกัน โดยมีพื้นฐานของวาทกรรมในปัญหาร่วมกัน ความเป็นห่วงเป็นใย หรือเป้าหมายที่ไม่มีการบิดเบือนไปจากความจริง5

           ความเป็นเหตุเป็นผลของทฤษฎีในรัฐประศาสนศาสตร์ (rationality in theory of Public Administration)

           ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ (prehistory) ความรู้ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมาจากภววิทยา (ontology) ซึ่งเป็นธรรมชาติของความรู้ความจริงในฐานะที่เป็นสากลที่สุดของทุกสรรพสิ่ง มีลักษณะเป็นวัตถุวิสัย (objectivism) และบ่อเกิดแห่งความรู้ของปฏิฐานนิยมและการตีความ (positivist and interpretive epistemologies) แต่ในปัจจุบันนักทฤษฎีต่างได้พัฒนาจน กระทั่งมีการให้เหตุผลทั้งแบบอุปนัยและแบบนิรนัย (inductive and deductive reasoning) มีการพัฒนาหลักการ ทฤษฎี และกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อให้ได้มาสิ่งที่ดีที่สุด (the best) และเป็นเหตุเป็นผล (rational) ที่จะนำไปสู่ความมีประสิทธิภาพ (efficiency) ในการจัดโครงสร้างและการจัดการขององค์การ เพราะในอดีตการจัดการต่าง ๆ ยังไม่ได้ทำอย่างเป็นระบบ ทำให้เกิดมีการปฏิวัติแนวคิดการจัดการโดยมีแหล่งที่มาของแนวคิดสองแหล่งคือ แนวสังคมศาตร์ (sociology) และแนวบริหารจัดการ (managerial) ในแนวคิดแรกที่มาจากสังคมศาสตร์ ก็จะมีนักทฤษฎีที่สำคัญคือ Emilie Durkheim, Max Weber, และ Karl Marx ที่มุ่งเน้นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบและบทบาทขององค์การที่เป็นทางการในสังคม และอิทธิพลของความเป็นอุตสาหกรรม (industrialization) ที่มีผลต่อลักษณะงานและผลที่มีต่อคนงาน และในแนวคิดที่สองของการบริหารจัดการโดย Frederick Taylor, Mary Parker Follet, Henry Fayol, Luther Gulick, Chester Barnard และนักทฤษฎีอื่น ๆ ที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในการบริหารจัดการขององค์ การภาครัฐและเอกชน
           แนวคิดในความเป็นเหตุเป็นผลของนักทฤษฎีต่าง ๆ ล้วนมุ่งไปสู่ค่านิยมที่สำคัญที่สุดคือ ประสิทธิภาพ (efficiency) ที่มีพื้นฐานมาจากแนวคิดของ Adam Smith (1723-1790) ที่ได้เขียน Inquiry into the Nature and Causes of the Wealth of Nations ในปี 1776 ที่แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพที่มากจากการแบ่งงานกันทำ (division of labor) ที่มีการแยกความแตกต่าง (differentiation) ของลัษณะงานออกมาและมีการจัดให้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน (specialization) ที่นำไปสู่การปฎิวัติอุตสาหกรรม (industrialization) ทำให้มีการพัฒนาเศรษฐกิจครั้งใหญ่ นอกจากนั้น Karl Marx (1818-1883) ได้เสนอแนวคิดทฤษฎีเกี่ยวกับเงินทุน (theory of capital) ที่ค้นพบประสิทธิภาพที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของแรงงาน (collective labor) และมีการพัฒนาในบทบาทและโครงสร้างที่จะนำไปสู่ทรัพยากรที่เพิ่มขึ้นและสามารถนำไปพัฒนาสังคมอีกต่อไปได้ ส่วน Emile Durkheim (1858 -1917) เขียน The Division of Labor ในปี 1893 ที่ขยายความแนวคิดของ Smith เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมจากภาคเกษตรกรรมไปสู่ภาคอุตสาหกรรม ที่จะต้องมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งมุ่งเน้นโครงสร้างลำดับขั้นและการพึ่งพาอาศัยกันของงานต่าง ๆ
           Karl Emil Maximillian (Max) Weber (1864-1920) ต้องการที่จะเข้าใจในการสร้างความเป็นอุตสาหกรรมให้มีผลต่อสังคมโดยการโครงสร้างที่มีอำนาจหน้าที่ ได้เสนอทฤษฎีระบบราชการ (theory of bureaucracy) ขึ้นในปี 1924 ที่เขียนไว้ใน The Theory of Social and Economic Organization กล่าวถึงระบบราชการที่สร้างความเป็นเหตุเป็นผลของการจัดระเบียบในสังคม เช่นเดียว กันกับการใช้ความเป็นเหตุเป็นผลของเทคโนโลยีเพื่อจัดระเบียบเศรษฐกิจ ซึ่งองค์การในยุคสมัย ใหม่นี้เชื่อว่าการใช้ความเป็นเหตุเป็นผลของระบบราชการ (bureaucratic rationalization) นี้จะทำให้เกิดประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกัน Frederick Winslow Taylor (1856-1915) ได้เสนอการจัดการแบบวิทยาศาสตร์ (scientific management) ที่ได้ประยุกต์ใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ในการทำงาน และสร้างความร่วมมือระหว่างฝ่ายจัดการและคนงานด้วย ซึ่งความเป็นเหตุเป็นผลนี้จะทำให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น
           Henri Fayol (1841-1925) ได้เสนอหลักการบริหาร (administrative principles) ที่สามารถใช้เป็นหลักสากลสำหรับกิจกรรมการบริหารอย่างเป็นเหตุเป็นผลได้ และเชื่อว่าหลักบริหารนี้เป็นวิธีที่ดีที่สุด ส่วน Luther H. Gulick (1892-1992) ได้เขียน Notes on the Theory of Organization ในปี 1937 โดยมีพื้นฐานแนวคิดการพัฒนาประสิทธิภาพขององค์การมาจาก Fayol โดยแบ่งงานให้เล็ก มีความชำนาญเฉพาะด้าน จัดงานตามทักษะความชำนาญ มีการประสานงานที่มีการกำกับดูแล มีลักษณะงาน คำสั่งและทิศทางที่ชัดเจน Gulick นั้นได้เสนอหลักบริหาร POSDCORB ที่เป็นวิธีการที่มีความเป็นเหตุเป็นผลและเป็นอย่างมืออาชีพที่สามารถนำไปใช้กับการบริหารธุรกิจและการจัดการของภาครัฐได้
           ยุคสมัยใหม่เป็นพื้นฐานมาจากการรู้แจ้ง (enlightenment) เป็นการใช้ความรู้ที่มีเหตุผล (reason) แทนการศักดินานิยม (feudalism) และความเชื่อนอกเหนือธรรมชาติ (superstitions) ความเชื่อที่เป็นเหตุเป็นผลนี้ (belief of rationality) จะใช้ในการปลดปล่อยมนุษย์จากความเป็นทาสและความกลัวในสิ่งที่นอกเหนือธรรมชาติ เพื่อที่จะทำให้มนุษย์สามารถควบคุมสิ่งแวดล้อมได้ โดยใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และมีการประยุกต์ใช้วิธีการทางเทคโนโลยี ทำให้หลุดพ้นจากยุคมืด (dark age) และเป็นพื้นฐานของการพัฒนาความรู้สมัยใหม่เพื่อความก้าวหน้าของมนุษย์ต่อไป
           แนวคิดที่จะสร้างความก้าวหน้าของมนุษย์นี้เป็นการสร้างความรู้ใหม่ ๆ มากกว่าที่จะเป็นการรู้แจ้ง (enlightenment) เป็นการสร้างความแตกต่างระหว่างยุคก่อนสมัยใหม่และยุคสมัยใหม่ นักทฤษฎีองค์การสมัยใหม่เชื่อว่าความรู้ที่มีความสมบูรณ์นี้ หมายถึงความเข้าใจว่าองค์การจะทำหน้าที่อย่างไรและมีเหตุผลอย่างไรภายใต้อิทธิพลของสิ่งแวดล้อมที่มีเงื่อนไขแตกต่างกัน มีการพัฒนาการค้นหาปัญหาขององค์การเพื่อที่จะสามารถจัดการให้มีประสิทธผลและมีประสิทธิภาพ ในการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันและกำไร ในมุมมองของนักทฤษฎียุคสมัยใหม่นี้ องค์การที่มีประสิทธิผลจะสามารถสร้างสมดุลย์ของความกดดันทั้งภายในและภายนอกได้ มีการพัฒนาความสามารถหลักของตัวเอง มีการปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำงาน และการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลง จึงเป็นที่มาของทฤษฎีที่สำคัญของนักทฤษฎีองค์การยุคสมัยใหม่ คือ ทฤษฎีระบบทั่วไป (general system theory) ทฤษฎีเทคนิคทางสังคม (socio-technical theory) และทฤษฎีสถานการณ์ (contingency theory)
           ในทฤษฎีระบบทั่วไป (general system theory) ในปี 1950 Ludwig von Bertalanffy ได้พยา ยามที่จะอธิบายปรากฎการณ์ทางวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ โดยใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ธรรมชาติและวิทยาศาสตร์สังคม จากอะตอมและโมเลกุล จนไปถึงเซล อวัยวะ และการมีชีวิต เช่นเดียวกับการระดับที่เป็นปัจเจกบุคคล กลุ่มและสังคม เป็นการอธิบายปรากฎการณ์ของโครงสร้างลำดับขั้น โดยมีสังคมที่ประกอบด้วยกลุ่ม กลุ่มที่ประกอบด้วยปัจเจกบุคคล และปัจเจกบุคคลที่มีอวัยวะต่าง ๆ อวัยวะที่ประกอบด้ยเซลล์ต่าง ๆ เซลล์ที่ประกอบด้วยโมเลกุลต่าง ๆ และโมเลกุลที่ประกอบด้วยอะตอม Bertalanffy ได้มองเห็นถึงกฎและหลักการนี้จึงได้สรุปปรากฎการณ์นี้เป็นทฤษฎีระบบทั่วไป (general system theory) นักทฤษฎีองค์การหลายคนได้นำแนวคิดนี้มาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างแบบในการทำหน้าที่ขององค์การเป็นระบบหนึ่ง และได้มุ่งเน้นระบบย่อยที่มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน และดูที่เกิดขึ้นของระบบย่อยที่มีต่อผลงานขององค์การ มีกลไกข้อมูลป้อนกลับ ดูองค์การว่ามีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมอย่างไร และทำอย่างไรในการออกแบบโครงสร้างองค์การให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด
           ในทฤษฎีระบบจะเห็นได้ว่าไม่มีคนเข้ามามีบทบาทเลย จึงเป็นที่มาของทฤษฎีเทคนิคทางสังคม (socio-technical theory) นี้โดยให้มุมมองทางด้านที่เกี่ยวกับมนุษย์มากขึ้น เป็นการเสนอแนวคิดที่ว่าพฤติกรรมของมนุษย์และเทคโนโลยีมีความสัมพันธ์ร่วมกัน และการเปลี่ยนแปลงในเทคโนโลยีก็จะส่งผลกับความสัมพันธ์ทางสังคม ทัศนคติ และความรู้สึกที่เกี่ยวข้องกับงาน ซึ่งก็จะส่งผลโดย รวมกับผลผลิตที่เกิดจากเทคโนโลยีนั้น แนวคิดนี้พัฒนามาจากนักวิจัยของ Tavistock คือ Eric Trist และ Ken Bamforth โดยจะมีมุมมองของเทคโนโลยีที่มีผลกับประสิทธิภาพ การจูงใจ ขวัญกำลังใจ และความกดดันของคนงาน
           ส่วนทฤษฎีสถานการณ์ (contingency theory) ได้เกิดขึ้นในปี 1960 ที่ท้าทายความเชื่อในการจัดการแบบดั้งเดิมที่ใช้วิธีที่ดีที่สุดวิธีเดียว (one best way) ในการทำงาน แต่ในความเป็นจริงนั้นวิธีที่เหมาะสมที่สุดในการออกแบบและการจัดการองค์การ จะขึ้นอยู่กับลักษณะของสถานการณ์ที่เกิด ขึ้นกับองค์การเองมากกว่า กล่าวคือการออกแบบองค์การจะต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น สิ่งแวดล้อม เป้าหมายขององค์การ เทคโนโลยี และคน เปรียบเสมือนกับการต่อภาพจิ๊กซอว์ ที่แต่ละชิ้นจะถูกจัดวางให้เหมาะสมในแต่ละส่วนจนกระทั่งออกมาเป็นภาพใหญ่ แต่อย่างไรก็ตามทฤษฎีตามสถานการณ์นี้ ก็เป็นแนวคิดที่ใช้ในการการประเมินความเป็นเหตุเป็นผลทางเทคนิคและประสิทธิภาพนั่นเอง


อิทธิพลของการใช้สัญลักษณ์และการตีความ (symbolic-interpretative influence)

           ที่กล่าวมาในเบื้องต้นนี้เป็นการใช้ศาสตร์และความเป็นเหตุเป็นผลในการสร้างทฤษฎีที่ใช้ในการบริหารจัดการองค์การในยุคสมัยใหม่ แต่นักทฤษฎีสัญลักษณ์และการตีความ (symbolic-interpretivist) มีบทบาทที่สำคัญในทฤษฎีองค์การที่ท้าทายวิทยาศาสตร์แบบวัตถุวิสัย (objective science) ของยุคสมัยใหม่ เพื่อให้เป็นทางเลือกอีกอย่างหนึ่งที่มีการยอมรับ ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจจากนักมานุษยวิทยา (anthropologist) ในต้นปี 1980 โดยตรรกะของสัญลักษณ์และการตีความนี้มีพื้นฐานมาจากความเชื่อที่ว่าความเป็นจริงขององค์การคือการที่สมาชิกองค์การมีปฏิสัมพันธ์กันในสังคม โดยมีการเจรจาและมีการใช้ประสบการณ์ ดังนั้นนักทฤษฎีสัญลักษณ์และการตีความจะศึกษาว่าคนจะสร้างหรือสื่อสารความหมายต่าง ๆ ในแต่ละสถานการณ์อย่างไร เพราะความหมายนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ และในสัญลัษณ์รวมทั้งสิ่งที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้น (symbols and artifacts) อาจถูกตีความหมายที่มีความแตกต่างกันได้จากผู้คนที่แตกต่างกัน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมุ่งเน้นการตีความหลายอย่าง (multiple interpretations) และบทบาทของบริบท (role context) ที่จะตีความหมายในสถานการณ์ หรือเหตุการณ์จากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น จึงเกิดความอ่อนไหว (sensitive) ต่อการใช้ภาษา (language) เพราะภาษาทั้งเขียนและพูดนั้นเป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้นเพื่อที่จะใช้ในการสื่อสารสิ่งที่มีความเป็นจริง (realities) นั่นเอง นักทฤษฎีสัญลักษณ์และการตีความจึงให้ความสำคัญกับการใช้สามัญสำนึกและประสบการณ์ ที่สะท้อนให้เกิดความเข้าใจในการตีความเพื่อที่จะศึกษาว่า คนจะสร้างความหมายอย่างไรในองค์การที่เกิดจากการตีความในสิ่งที่ไม่ได้พูดออกมา เรื่องเล่า พิธีการ สัญลักษณ์ การกระทำ และการปฎิสัมพันธ์ ความแตกต่างที่เกิดขึ้นของปัจเจกบุคคลและกลุ่มที่สร้างความหมายหลายอย่างและตีความภายในบริบทของวัฒนธรรม และในการตีความหลายอย่างของปัจเจกบุคคลและวัฒนธรรมย่อยนี้ ผสมผสานกันในการสร้างความจริงขององค์การ
           ในมุมมองของสัญลักษณ์และการตีความนี้มีแบบทฤษฎีที่มีความสำคัญอยู่สี่แบบคือ ทฤษฎีการสร้างสังคม (social construction theory) ทฤษฏีบัญญัติ (enactment theory) ความเป็นสถาบัน (institutionalization) ความสะท้อนกลับไปกลับมา (reflexivity)
           ในปี 1966 Peter Berger และ Thomas Luckman เขียน The Social Construction Reality เสนอว่าการตีความมีพื้นฐานจากความเข้าใจในอัตวิสัยสัมพันธ์ (intersubjectivity) ที่เป็นความเข้าใจแบบอัตนัยที่ผ่านประสบการณ์ร่วมกันที่มีอิทธิพลจากประวัติศาสตร์ร่วมกัน เป็นการใช้สัญลักษณ์ที่เป็นภาษาและการสนทนาที่ไม่ใช่เป็นแบบโครงสร้าง ซึ่งเป็นการสร้างและรักษาความเป็นจริงของสังคม แนวคิดการสร้างสังคมนี้เป็นการที่มนุษย์และสังคม ได้มีการปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกันในการสร้างบุคคลิกของปัจเจกบุคคลและประสบการณ์ในความเป็นจริง
           Karl Weick ได้นำแนวคิดการสร้างสังคมในทฤษฎีองค์การพร้อมกับทฤษฎีการสร้างความรับรู้ (sense making theory) ที่เป็นจิตใจของสมาชิกในองค์การ เป็นการสร้างแผนที่ทางความคิด (cognitive map) หรือรูปแบบที่มีมุมมองจากประสบการณ์ กล่าวคือมนุษย์จะสร้างแผนที่หรือแบบที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์นั่นเอง Weick ยังได้เสนอแนวคิดที่เป็นบัญญัติ (enactment) โดยมุ่งเน้นให้ฝ่ายจัดการสร้าง (construct) จัดระเบียบใหม่ (rearrange) การเลือกเฉพาะ (single out) และการทำลาย (demolish) ในลักษณะที่เป็นวัตถุวิสัย (objective) ของสิ่งแวดล้อม
           ในปี 1949 Philip Selznick ได้เขียน TVA and the Grass Roots ได้นำเสนอแนวคิดการทำศัตรูให้เป็นมิตร (cooptation) จากผลประโยชน์ที่มีความแตกต่างกัน แนวคิดนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงองค์การจากผู้กระจายงานและผู้ประสานงานที่มีประสิทธิภาพไปเป็นสถาบันที่มีความพิเศษและโดดเด่น ซึ่ง Selznick ได้ใช้แนวคิดการสร้างสถาบัน (institutionalization) เพื่อที่จะสร้างแบบอุดมคติในบทบาทของ TVA เพื่อ ให้เป็นที่ต้องการของสมาชิกในองค์การเหมือน ๆ กัน กระบวนการสร้างสถาบันนี้เป็นแนวคิดในลักษณะของการใช้สัญลักษณ์และการตีความ ที่เป็นการอธิบายความสำคัญของสัญลักษณ์ในการศึกษาองค์การ
ความสะท้อนกลับไปกลับมา (reflexivity) เป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดการสร้างสังคมและยุคหลังสมัยใหม่ โดยใช้วิธีการสร้างความรู้ (constuctionist approaches) และการรื้อสร้าง (deconstructionist approaches) เป็นการอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกในโดยไม่ยอรับค่านิยมที่กำหนดขึ้นมา แต่จะเป็นการค้นหาความจริงที่เกิดขึ้นในสังคมและองค์การ ที่ถูกสร้างขึ้นผ่านทางการสร้างความหมายโดยเฉพาะในการใช้ภาษา (language)

อิทธิพลของยุคหลังสมัยใหม่ (postmodern influence)\

           ยุคหลังสมัยใหม่นี้ได้นำเสนอแนวคิดที่มีความแตกต่าง โดยท้าท้ายแนวคิดของยุคสมัยใหม่ที่มองความเป็นจริง ความรู้ และเอกลักษณ์ นักทฤษฎียุคหลังสมัยใหม่เชื่อว่าไม่มีสังคมที่เป็นจริงแบบวัตถุวิสัย และทุกสิ่งที่ที่เราได้รับรู้นั้นมีความสัมพันธ์ที่เกิดจากประสบการณ์ในขณะนั้น และในตัวภาษาเองก็ไม่มีความหมายที่ตายตัว (fixed meaning) จึงไม่มีความถูกต้องที่เกิดขึ้นในโลก
           ได้มีการวิจารณ์แนวคิดของยุคสมัยใหม่ที่มุ่งไปสู่การรู้แจ้ง (enlightenment) ที่ใช้ความเป็นเหตุเป็นผล (rationality) โดยมีความพยายามที่จะปลดปล่อยมนุษย์จากสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติ (superstition) และเป็นการสร้างความรู้ที่เป็นสากล ทฤษฎีวิวัฒนาการ (evolution theory) ของ Charles Darwin ได้ใช้แนวคิดทางวิทยาศาสตร์ลบล้างความเชื่อที่ว่าพระเจ้าเป็นผู้สร้างจักรวาล และได้พิสูจน์ในยุคสมัยใหม่ว่ามนุษย์นั้นเป็นเผ่าพันธ์ที่มีความเจริญก้าวหน้าที่สุด รวมทั้งเชื่อว่ามนุษย์มีสิทธิที่จะควบคุมธรรมชาติได้ ในความเป็นจริงแล้วนักทฤษฎียุคหลังสมัยใหม่ได้ประชดการแสวงหาความรู้แจ้ง (enlightenment) ของยุคสมัยใหม่ที่ต้องการปลดปล่อยมนุษย์ให้มีอิสระนั้นว่าเป็นการสร้างความครอบงำ (domination) ความกดขี่ (oppression) และความแปลกแยก (alienation) ให้เกิดขึ้นแทน เพราะมนุษย์จะอยู่ภายใต้ความเป็นระบบที่เหตุเป็นผล (rational system) และเทคโนโลยี กล่าวคือ ยุคสมัยใหม่ได้ทำให้เกิดความเป็นทาสขึ้นแทนที่จะนำมา ใช้ควบคุมโลก
           นักทฤษฎียุคหลังสมัยใหม่ได้โจมตีแนวคิดของยุคสมัยใหม่ ที่มุ่งเน้นความเป็นเหตุเป็นผล (rationality) ที่มีการใช้โครงสร้างนิยม (structuralism) โดยเป็นรูปแบบที่อยู่ในระบบและสามารถกำหนดพฤติกรรมต่าง ๆ ได้ แนวคิดของยุคหลังสมัยใหม่นิยมนี้มีพื้นฐานจากทฤษฎีเครื่องหมาย (theory of sign) โดย Ferdinand de Saussure ในปลายปี 1800 ที่ตรงข้ามกับแนวคิดของสมัยใหม่ เป็นการใช้ภาษาในการสะท้อนความเป็นจริงได้อย่างถูกต้องมากขึ้น เพราะไม่มีสิ่งที่ผูกมัดระหว่างคำและสิ่งต่าง ๆ ความเชื่อมโยงนี้ก็ไม่ได้มีกฎเกณฑ์ที่แน่นอน ดังนั้นการใช้ภาษานี้ก็เป็นอิสระต่อความเป็นจริง ความหมายของคำหนึ่งคำไม่ได้ถูกกำหนดจากสิ่งของหรือแนวคิดที่เป็นตัวแสดงแทน แต่จะเป็นจุดยืนของการใช้ภาษาเองมากกว่า ซึ่งทฤษฏีการใช้ภาษาของ Saussure เป็นบทบาทที่สำคัญในการพัฒนาทฤษฎียุคหลังสมัยใหม่
การใช้ภาษา (language) นี้เป็นระบบของการใช้สัญลักษณ์ (system of sign) ที่มาจากตัวอักษรและคำต่าง ๆ Saussure กล่าวว่าไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างคำและแนวคิด เช่น การให้ความหมายของสัตว์ปีกที่บินได้มีภาษาที่แตกต่างกัน อังกฤษใช้ bird เดนมาร์กใช้ fugl ฝรั่งเศสใช้ oisea ดังนั้นนักทฤษฎีในยุคหลังสมัยใหม่ก็ได้นำแนวคิดของ Saussure ที่ว่าสัญลักษณ์ในธรรมชาติที่ไม่มีกฎเกณฑ์ แต่เป็นความเชื่อต่างหากที่เป็นตัวกำหนดโดยใช้ภาษาในการสร้างสิ่งที่เป็นจริงต่าง ๆ เป็นคำต่างที่แสดงความหมายออกมา การใช้ภาษานั้นจะมีความหมายเฉพาะเจาะจงในกลุ่มต่าง ๆ ที่ไม่เหมือนกัน เช่น คำว่า merit ก็มีความหมายแตกต่างกันขึ้นอยู่กับว่าใครเอาไปใช้ ถ้าใช้คำนี้ในธุรกิจ merit ก็จะหมายถึงการให้โบนัสตามผลงานที่ทำได้ดี หรือเรียกว่า merit-based pay ถ้าใช้คำนี้ในรัฐ merit ก็จะหมายถึงการสร้างกฎที่เป็นทางการในการปฎิบัติต่อลูกจ้าง ที่ใช้ในการตัดสินใจในการจ้างงาน การเลื่อนตำแหน่ง และการให้ออก โดยใช้กระบวนการประเมินที่เป็นทางการ และถ้าใช้คำนี้ในด้านกฎหมาย merit ก็จะหมายถึงคุณภาพที่ยอมรับได้ของคดี
           ดังนั้นความคิดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละกลุ่มหรือชุมชนใช้นั้น มีความสัมพันธ์กับแนวคิดของ Ludwig Wittgenstein ที่เรียกว่าเกมส์ของการใช้ภาษา (language games) ที่เหมือนกับการเล่นฟุต บอลหรือหมากรุก ที่มีกฎกติกาในการเล่นของตัวเอง เช่นเดียวกับภาษาซึ่งความหมายของเองก็จะมีความสัมพันธ์กับกฎกติกาที่ใช้อยู่ในกลุ่มหรือชุมชนนั้น ลักษณะของภาษาที่ใช้ก็ขึ้นอยู่กับเกมส์ของภาษาที่ใช้นั่นเอง จะเห็นได้ว่ามันเป็นการยากที่จะสื่อสารกันถ้าอยู่ในเกมส์ของภาษาที่มีความแตกต่างกัน เช่น ดาราศาสตร์และบริหารธุรกิจ ก็ใช้เกมส์ของภาษาต่างกันในการศึกษาและเรียนรู้ในความหมายของคำต่าง ๆ เพราะอยู่กันคนละกลุ่มกัน ดังนั้นมุมมองทางด้านการใช้ภาษาหรือการใช้สัญลักษณ์และการตีความนี้ทำให้นักทฤษฎีองค์การต้องใช้เกมส์ของการใช้ภาษาที่แตกต่างกันในการสร้างแนวคิดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง และใช้ในการอธิบายในมุมมองต่าง ๆ ขององค์การอีกด้วย
Lyotard ได้นำแนวคิดเกมส์ของการใช้ภาษาโดย Wittgenstein เชื่อว่าข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์นั้นเป็นแค่เพียงข้อตกลงในกลุ่มหรือชุมชนของนักวิทยาศาสตร์ที่อ้างว่าสิ่งนั้นเป็นจริง และเป็นผู้ที่ตัดสินใจว่าอะไรที่เป็นจริงหรือไม่จริง โดยนำสิ่งที่ตัวเองคิดว่าจริงไปครอบงำกลุ่มหรือชุมชนนั้นโดยใช้การวาทกรรม (discourse) อย่างไรก็ตาม Lyotard ได้เสนอว่าความจริงที่ใช้อ้างนั้นต้องตกไป ถ้ามีแนวคิดอื่น ๆ ที่มีการยอมรับมากกว่าเข้ามาแทนที่ นอกจากนั้นแล้วก็ยังขึ้นอยู่กับอำนาจที่ใช้อยู่ในกลุ่มหรือชุมชนที่เป็นตัวกำหนดองค์ความรู้ต่าง ๆ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงอำนาจขึ้น ก็จะทำให้ความจริงเปลี่ยนแปลงไปด้วย ดังนั้นเราจะเห็นถึงความพยายามต่อต้านการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในการเปลี่ยนโครงสร้างของอำนาจ เพราะการคงอำนาจไว้หมายถึงความพยายามต้องการที่จะรักษาค่านิยมที่เป็นความจริงที่ตัวเองได้อ้างถึงให้อยู่ต่อไป
           จะเห็นได้ว่าอำนาจก็จะมีความเกี่ยวข้องกับการสร้างความรู้ ถ้ามีการใช้อำนาจโดยไม่เปิดโอกาสให้พูดหรือกำจัดสมาชิกออกจากกลุ่มที่มีความรู้ เช่น การไม่เปิดให้ฝ่ายค้านได้อภิปราย ก็จะทำให้เกิดเผด็จการนิยม (totalitarianism) ขึ้น เมื่อไรก็ตามที่เกิดมีแนวความคิดที่แตกต่างออกไป จะต้องได้มีโอกาสนำเสนอให้กับกลุ่มหรือชุมชนเพื่อสร้างแนวคิดที่ดีกว่า ซึ่งเป็นพื้นฐานของนักทฤษฎียุคหลังสมัยใหม่ที่สนับสนุนแนวคิดแบบประชาธิปไตยและพหุนิยม (pluralism)
           Michel Foucault นักทฤษฎียุคหลังโครงสร้างนิยม (poststructuralist) ได้เสนอว่าความรู้ที่ได้รับการยอมรับเป็นเครื่องมือในการสร้างอำนาจเหนือกว่า ผู้ที่มีแนวคิดที่แตกต่างกันออกไปและไม่ได้รับการยอมรับ เพราะขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นผู้พูดและพูดอะไรซึ่งทำให้เป็นตัวกำหนดปทัสถานของพฤติกรรม ใครที่ไม่ทำตามก็จะถูกมองว่าไม่ปกติ (abnormal) และจะต้องถูกขับออกไป ควบคุมความประพฤติ หรือเข้ารับบำบัด ซึ่งวิธีนี้ใช้เพื่อควบคุมคนให้อยู่ในกรอบสังคม ดังนั้นอำนาจเป็นตัวกำหนดปทัสถานของสังคม โดยเฉพาะผู้ที่มีอำนาจน้อยกว่าหรือไม่มีเลย อำนาจและความรู้นั้นเกิดขึ้นโดยใช้หลักปฏิบัติของวาทกรรม (discursive practice) ในการควบคุมความเป็นไปอย่างปกติ (normativity) หรือความปกติของพฤติกรรม เป็นการใช้วาทกรรม (discourse) ที่เป็นกระบวนการในการสร้างเอกลักษณ์และความหมายให้กับสรรพสิ่งต่าง ๆ ในสังคม ในวาทกรรมของการจัดการแบบใหม่ที่ต้องการให้พนักงานเอาใจใส่ลูกค้าให้มากขึ้น ก็ต้องทำให้ผู้จัดการถอนตัวออกจากศูนย์กลาง (decenter) และให้ลูกค้าอยู่ในศูนย์กลางแทน หรือในกระบวนการประชาธิปไตย ก็ต้องให้กระบวนการบริหารแบบดั้งเดิมของรัฐถอนตัวออกจากศูนย์กลางไป และให้ประชาชนอยู่ในศูนย์กลางของวาทกรรม เพื่อที่จะได้เกิดการหารือกันได้ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงจากสิ่งที่ทำไม่ได้เป็นจะทำอย่างไรแทน ทำให้เกิดการสนทนาแบบธรรมาภิบาล (governance) ได้
           Jacques Derrida ก็เป็นนักทฤษฎียุคหลังโครงสร้างนิยมเช่นกัน ได้กล่าวว่าภาษานั้นไม่มีความหมายตายตัวแน่นอน ความหมายของสิ่งที่พูดหรือเขียนเป็นสิ่งไม่คงที่ จำเป็นต้องมีการใช้การตีความหลายแบบและใช้การตีความตรงข้าม เช่นเดียวกับที่ Saussure ได้เสนอว่าความหมายของคำ ๆ หนึ่งนั้นจะขึ้นอยู่กับบริบทของคำอื่น ๆ ในการให้ความหมายของคำนั้น ในทฤษฎีของ Derrida เสนอว่าการเปลี่ยนแปลงในสิ่งแวดล้อมของบริบทจะทำให้ความหมายนั้นเปลี่ยนแปลงไปด้วย ความคิดนี้เป็นพื้นฐานในหลักปฎิบัติของการรื้อสร้าง (deconstruction) ซึ่งเป็นการอ่านและทบทวนข้อความที่มีการใช้บริบทที่แตกต่างกันเพื่อที่จะเปิดเผยสิ่งที่ไม่คงที่และการตีความในหลาย ๆ แบบ ในการอ่านทุกครั้งที่มีบริบทใหม่ ๆ  ถึงแม้ว่าจะต้องมีการอ้างถึงบริบทของสิ่งที่เคยอ่านมาก่อนหน้านี้แล้วและมีความหมายที่ไม่คงที่ ความจริงและความรู้นั้นไม่มีความคงที่ ดังนั้นวัตถุประสงค์ของการรื้อสร้างก็คือต้องค้นหาความหมายสุดท้ายหรือความหมายในทางเลือกอื่น ๆ  และแสดงถึงสมมติฐานของข้อความ การขัดแย้งกัน และการแยกตัวออกไป และการใช้วิธีรื้อสร้างนี้ยังเป็นการสร้างความเข้าใจในวิธีคิดและการกระทำที่เกิดขึ้น โดยมองถึงแนวคิดที่เป็นคู่ (binary) หรือเป็นขั้ว (dichotomy) ที่เป็นพื้นฐานของนักทฤษฎียุคสมัยใหม่ในการใช้ภาษา ซึ่งจะใช้การรื้อสร้างแนวคิดของวาทกรรมยุคสมัยใหม่นี้ เช่น นายกับบ่าว เจ้านายกับลูกน้อง ซึ่งยุคสมัยใหม่ได้ใช้สร้างศูนย์กลางและสิ่งรอบข้างที่อยู่ในสังคมและองค์การ โดยให้ความสำคัญกับผู้ที่มีสิทธิพิเศษหรืออยู่เหนือกว่า เช่น นายและเจ้านายที่อยู่เหนือกว่าบ่าวและลูกน้อง ดังนั้นการใช้ภาษาที่เราสร้างหมวดต่าง ๆ ชื่อที่ตั้งไว้เป็นศูนย์กลาง สร้างขอบเขต และแสดงอำนาจทางสังคม
           เพื่อที่จะให้เห็นภาพชัดขึ้นในตัวอย่างของเชื้อชาติ คือการเหยีดผิว (racism) ที่มีคนขาวเป็นศูนย์กลางและคนที่ไม่ใช่คนขาวอยู่รอบ ๆ ซึ่งนำไปสู่ความแตกต่างในรายได้ การศึกษา สุขภาพและความเป็นอยู่ ซึ่งคนขาวจะได้รับสิทธิประโยชน์มากกว่า การใช้วิธีวิเคราะห์แบบรื้อสร้างจะสามารถอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อคนขาวเป็นศูนย์กลางภายในวาทกรรมซึ่งแสดงให้เห็นความแตกต่างกัน เป็นความไม่เท่าเทียมกันในเชื้อชาติ นอกจากนั้นการพัฒนาแนวคิดการรื้อสร้างยังใช้ความแตกต่างที่มีความตรงข้าม เช่น จริงกับเท็จ ดีกับเลว ชายกับหญิง เพื่ออธิบายจากความหมายของคำหนึ่งและแทนที่อีกคำหนึ่งต่อไป ซึ่งกระบวนการสร้างความแตกต่างนี้จะไม่มีวันหยุด ทำให้มีการแสดงความหมายได้อย่างหลากหลายเพราะนักทฤษฎียุคหลังสมัยใหม่นั้นมองความหมายเป็นสิ่งที่ไม่อยู่นิ่งุ6
           ในตาราง 1.2 ได้แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างมุมมองต่าง ๆ ของยุคสมัยใหม่ การใช้สัญลักษณ์และการตีความ และยุคหลังสมัยใหม่


ตาราง 1.2 เปรียบเทียบมุมมองต่าง  ของยุคสมัยใหม่ การใช้สัญลักษณ์และการตีความ และยุคหลังสมัยใหม่
มุมมอง
ยุคสมัยใหม่
การใช้สัญลักษณ์และการตีความ
ยุคหลังสมัยใหม่
ความจริง
สิ่งที่เกิดขึ้นมาก่อน
ความหลากหลายในการสร้างสังคม
มีการเปลี่ยนแปลงและเป็นพหุนิยม
ความเชื่อของความรู้
เป็นสากล
เฉพาะเจาะจง
เฉพาะกาล
การพัฒนาความรู้
ข้อเท็จจริงและข้อมูลข่าวสาร
ความหมายและการตีความ
การแสดงออกและประสบการณ์
การรับรู้ของความรู้
ความเหมือนกัน
การอยู่ติดกัน
การไม่อยู่ติดกัน การกระจายเป็นส่วน การรื้อสร้าง
แบบในความสัมพันธ์ของมนุษย์
โครงสร้างลำดับขั้น
ชุมชน
การกำหนดทิศทางของตัวเอง
วัตถุประสงค์
ควบคุมและพยากรณ์ได้
ความเข้าใจ
ความเป็นอิสระ

           สรุป มุมมองของนักทฤษฎียุคสมัยใหม่ในทฤษฎีองค์การนั้นมีความชัดเจน ขณะที่การใช้สัญลักษณ์และการตีความและยุคหลังสมัยใหม่นั้นจะมีความชัดเจนน้อยกว่า แต่จะมีแนวคิดที่มีการตอบสนองมากกว่า ซึ่งยุคสมัยใหม่จะยึดติดอยู่กับค่านิยมในการจัดระเบียบ ความเป็นเหตุเป็นผล โครงสร้าง ประสิทธิภาพ และแนวปฏิบัติต่าง ๆ ที่สนับสนุนค่านิยมที่ใช้ในการครอบงำและควบคุม แต่ผลงานของยุคสมัยใหม่นี้ ก็มีความสำคัญในการสร้างกรอบแนวความคิดที่ใช้ในการวิเคราะห์ สร้างแบบการพยากรณ์ และหลักการบริหารให้กับฝ่ายจัดการเพื่อใช้ในการกำหนดปัญหาและออกแบบองค์การ อย่างไรก็ตามในมุมมองของยุคสมัยใหม่นี้เป็นการจำกัดตัวเองอยู่กับค่านิยมที่กล่าวถึงนี้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีทางเลือกใหม่ในการศึกษาที่มีมากกว่าข้อจำกัดของยุคสมัยใหม่ โดยใช้แนวคิดของการใช้สัญลักษณ์และการตีความ รวมทั้งแนวคิดของยุคหลังสมัยใหม่ด้วย

เชิงอรรถ

1จาก “Premodernism, Modernism, & Postmodernism: An Overview”, ใน http://www.postmodern psychology.com/Philosophical_Systems/Overview.htm, ค้นเมื่อวันที่ 5/11/2552

2จาก “กระบวนทัศน์ของการวิจัย” ใน http://learners.in.th/file/classroom/chapterTwoResearchProcess.doc”, ค้นเมื่อวันที่ 6/11/2552

3จาก “Modernity, Postmodern Conditions and the Public Power”, โดย Peter Bogason, 2005, หน้า 13-27.

4จาก “Postmodern Thought in a Nutshell: Where Art and Science Come Together” โดย William Bergquist, 1993, หน้า 478-517.

5จาก “Postmodernism and American Public Administration in the 1990s” โดย Peter Bogason, 2001, หน้า 165-192.

6จาก “Organization Theory - Modern, Symbolic, and Postmodern Perspectives” โดย Mary Jo Hatch, 2006 หน้า 25-60.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความสัมพันธ์ระหว่างค่านิยมเกี่ยวกับงาน ความพึงพอใจในงาน และความผูกพันองค์การ

ความสัมพันธ์ระหว่างค่านิยมเกี่ยวกับงาน ความพึงพอใจในงาน และความผูกพันองค์การ โดย ดร. อนุรักษ์ วัฒนะถาวรวงศ์   ความสัมพันธ์ระหว่างค่านิ...