วันพุธที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ทฤษฎีองค์การด้านเศรษฐศาสตร์

Organizational Economics Theory
ทฤษฎีองค์การด้านเศรษฐศาสตร์

โดย ดร. อนุรักษ์ วัฒนะถาวรวงศ์


            นักทฤษฎีองค์การด้านเศรษฐศาสตร์ใช้แนวคิดและเครื่องมือจากวิชาเศรษฐศาสตร์ในการศึกษากระบวนการภายในและโครงสร้างองค์การ ในศึกษาองค์การด้านเศรษศาสตร์นี้เพื่อที่จะตอบคำถามสิ่งที่จูงใจผู้จัดการและพนักงานให้ทำหน้าที่ให้ได้ตามผลประโยชน์ของผู้ถือสิทธิ์ที่เป็นเจ้าของ หรือ หน่วยงานของรัฐ และองค์การที่ไม่หวังผลกำไร หรือผู้ที่มีอำนาจในการจัดสรรทรัพยากร ซึ่งได้สนับสนุนแนวคิดในปัจจุบันในการให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น (outsource) และให้ลูกจ้างและกลุ่มมีอำนาจมากขึ้น (employee and group empowerment)

แนวคิดทฤษฎีองค์การด้านเศรษฐศาสตร์

            ประเด็นที่นักทฤษฎีองค์การด้านเศรษฐศาสตร์สนใจ ประกอบด้วย การทำสัญญาบริษัท (contractual nature of firms) เหตุผลที่มีอยู่จำกัด (bounded rationality) การลงทุนในทรัพย์สิน (investment in specific asset) ความแตกต่างของสิทธิเฉพาะ (specific right) และ สิทธิที่เหลืออยู่ (residual right) และ ผลที่เกิดจากข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์ (effect of imperfection information)

Market and Hierarchies: Understanding the Employment Relation: Oliver E. Williamson
         
             Williamson สร้างความเข้าใจในความสัมพันธ์ของการจ้างงานโดยใช้หลักเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับการแลกเปลี่ยน พูดถึงทักษะเฉพาะของงาน (job idiosyncracy) ว่าเป็นงานที่ต้องใช้ทักษะเฉพาะและความรู้เฉพาะที่เกี่ยวกับงานโดยตรง (job-specific skills and related task-specific skill) ซึ่งเรียนรู้จากความคุ้นเคย เช่น คนงานจะรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นทันทีเมื่อได้ยินเสียงหรือได้กลิ่นที่ผิดปกติของเครื่องจักร เป็นต้น ความรู้แบบนี้สามารถฝึกโดยใช้การอบรมในงาน (on-the-job training) เท่านั้น ทักษะแบบนี้จะที่ไม่มีโครงสร้าง (structureless) และจะเป็นลักษณะการแลกเปลี่ยนกันทางการตลาด แต่ถ้ามีโครงสร้าง (structure) ที่เป็นลำดับขั้น (hierarchy) ก็จะมุ่งเน้นประสิทธิภาพเป็นหลัก และทักษะเฉพาะนี้มีความสำคัญไปสู่การกำหนดลักษณะสัญญาการจ้างงานในรูปแบบต่าง ๆ โดยใช้เขียนเป็นสัญญาโดยมีวัตถุประสงค์ให้ครอบคลุมเหตุผลที่มีอยู่จำกัด (bounded rationality) ในสภาพแวดล้อมที่ไม่แน่นอน และป้องกันการเอารัดเอาเปรียบ (opportunism) ที่มีโอกาสเกิดขึ้น โดยแสดงอยู่ตาราง 1.1

ตาราง 1.1 แสดงสันนิษฐานทางพฤติกรรมกับการใช้สัญญา

สันนิษฐานทางพฤติกรรม (behavioral assumption)
เหตุผลที่มีอยู่จำกัด (bounded rationality)
การเอาเปรียบรัดเอาเปรียบ (opportunism)
การใช้สัญญา (contract)
ข้อตกลง (promise) ที่ไม่สมบูรณ์ในสัญญา
เป็นไปไม่ได้ที่เขียนสัญญาครอบคลุมทั้งหมด

            การใช้สัญญาแบบ contingency claim เพื่อลดประเด็นในเรื่องไม่สามารถรู้ได้หมดจากเหตุผลที่มีอยู่จำกัดที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่แน่นอน การใช้สัญญาแบบ sequential spot ขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาดเพื่อที่จะลดความเสี่ยงที่เกิดจากการเอารัดเอาเปรียบที่มีโอกาสเกิดขึ้น และสัญญาแบบ authority relation ซึ่ง Simon ได้ใช้หลักการยอมรับ (area of acceptance) โดยใช้หลักเหตุผลในการทำงาน ที่มาจากอำนาจหน้าที่เป็นทางการ ซึ่งข้อดีคือไม่ต้องมาเปลี่ยนสัญญาบ่อย ๆ แต่ก็ไม่ได้ตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงและไม่แน่นอน เหมือนกับสัญญาสองแบบแรก
            นอกจากนั้น Williamson ยังพูดถึงความร่วมมือซึ่งเป็นหลักสำคัญในหลักเศรษฐศาสตร์ว่าแบ่งเป็นความร่วมมือแบบดีเลิศ (consummate coordination) จะส่งผลดีต่อทัศนคติในการทำงาน ซึ่งตรงข้ามกับความร่วมมือแบบพอเป็นพิธี (perfunctory coordination) ที่เป็นการทำงานให้ได้เพียงแค่ตามมาตรฐานในระดับต่ำสุดที่ยอมรับได้
            Williamson ได้สรุปว่าโครงสร้างตลาดแรงงานภายในที่มีประสิทธิภาพ (internal labor market structure efficiency) ประกอบ ด้วยต้นทุนการต่อรองที่ต่ำ โดยที่ค่าแรงจะขึ้นอยู่กับเนื้องานไม่ใช้ตัวคนงาน (based on job not worker) ในองค์การที่มีการรวมตัวกัน (collective organization) จะเน้นความร่วมมือแบบดีเลิศมากกว่าแบบพอเป็นพิธี ซึ่งนำไปสู่การเลื่อนตำแหน่งในองค์การ (promotion) ทำให้คนงานมีทัศนคติดที่ดีต่อการส่งเสริมวิธีฝึกอบรมในงาน (on-the-job training) รวมทั้งมีการลงทุนในการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน เพื่อป้องกันการเอารัดเอาเปรียบจากการใช้ทักษะเฉพาะของงานที่อยู่ในคน ๆ เดียว
           แนววิเคราะห์ : Williamson ประเมินการตัดสินใจขององค์การในการผลิตสินค้าและบริการภายในเปรียบเทียบกับภายนอกโดยใช้แนวคิดการประยุกต์ใช้สัญญาทางเศรษฐศาสตร์และแบบตลาด (economic contracts and market model) กับความสัมพันธ์ในการจ้างงาน (employment relations) เป็นการมองการกระบวนการตัดสินใจในความสัมพันธ์ของนายจ้างและลูกจ้างเปรียบเสมือนกับการทำธุรกรรมในตลาด (market transaction) และใช้การวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์การตลาดในการประเมินทางเลือกในแบบตลาดแรงงานภายในและการใช้สัญญา (internal labor market and contract model) โดยใช้แนวคิดของ Simon ที่ว่าข้อจำกัดทางด้านเหตุผล (bounded rationality) และป้องกันการหาโอกาสเอารัดเอาเปรียบ (opportunism) ขึ้นในการทำธุรกรรมอย่างเป็นเหตุเป็นผลกับตลาดแรงงานภายใน (internal labor market)

Theory of the Firm: Managerial Behavior, Agency Cost and Ownership Structure – Michael C. Jensen & William H. Meckling

           Ronald H. Coase เขียน The Nature of the Firm กล่าวว่า เมื่อต้นทุนในการใช้กลไกของตลาดที่เกิดขึ้นนั้นสูงกว่าต้นทุนของบริษัท จึงเป็นที่มาในการจัดตั้งบริษัท (firm) และนำไปสู่การสร้างผลกำไรที่มากขึ้นต่อไป เช่น ต้นทุนของการไปหาข้อมูลเองสูงกว่าต้นทุนของการซื้อหนังสือพิมพ์มาอ่าน ทำให้เกิดบริษัทจัดทำสำนักพิมพ์ขึ้น เป็นต้น
            Jensen และ Meckling กล่าวถึง ทฤษฎีหน่วยผลิต (theory of the firm) ว่าคือทฤษฎีของตลาด (theory of market) ที่บริษัท (firm) เป็นตัวแสดงสำคัญในการทำหน้าที่ลงทุนในการผลิตสินค้าและบริการรวมทั้งส่งมอบเพื่อให้ได้กำไรสูงสุด (maximize profit) ส่วนสิทธิในทรัพย์สิน (property right) เป็นสิทธิที่จะจัดสรรค่าใช้จ่ายและผลตอบแทนให้กับผู้เกี่ยวข้องในองค์การจากทฤษฎีตัวแทน (agency theory) เป็นการให้ผู้จัดการหรือลูกจ้างเป็นตัวแทนของเจ้าของ (owner/principal) จะต้องมีต้นทุนของตัวแทน (agency cost) ว่าเป็นต้นทุนที่ในการใช้ตัวแทนในการสร้างผลประโยชน์ให้กับเจ้าของให้มากที่สุด (best interest of principal) ) แต่ก็เป็นไปได้ที่ว่าตัวแทนอาจดำเนินการตามผลประโยชน์ของตัวเอง (self-interest) ดังนั้นจึงมีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น คือ ค่าใช้จ่ายที่เป็นผลตอบแทนที่จูงใจ (incentive) อย่างเหมาะสม ค่าใช้จ่ายในการติดตามการทำงาน (monitoring cost) เพื่อไม่ให้ตัวแทนทำงานผิดจากเป้าหมายที่เจ้าของกำหนด ค่าใช้จ่ายที่ให้ตัวแทนทำตามตามพันธะสัญญา (bonding cost) เพื่อให้เจ้าของมั่นใจว่า จะได้รับการชดเชยเมื่อตัวแทนสร้างความเสียหายให้ และค่าใช้จ่ายอื่นที่เกิดขึ้น (residual loss) ในการควบคุมไม่ให้เกิดความแตกต่าง (divergence) ของผลประโยชน์เจ้าของกับการกระทำจากการทำงานของตัวแทน
            Coase ได้วิจารณ์ถึงข้อจำกัดของบริษัทที่เกิดจากการจัดสรรทรัพยากรตามอำนาจหน้าที่ (authority) แทนที่จะใช้การแลก เปลี่ยนตามกลไกตลาด (market) ซึ่งก็ตรงกับแนวคิดของ Alchian และ Demsetz เช่นกัน ดังนั้นจึงได้สรุปว่าองค์การโดยส่วนใหญ่จะเป็นนิติสมมติ (legal fictions) ที่ทำหน้าที่เป็นแกน (nexus) ของสัญญาในแต่ละปัจเจกบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน กล่าวคือบริษัทไม่ใช่ปัจเจกบุคคล แต่เป็นที่รวมของกระบวนการอันซับซ้อนที่มีหลายวัตถุประสงค์ของปัจเจกบุคคลที่ขัดแย้งกันอยู่ ซึ่งจะนำสู่ความสมดุล (equilibrium) จากสัญญาที่มีความสัมพันธ์กัน ได้เปรียบเทียบพฤติกรรมของบริษัทคือพฤติกรรมของตลาดนั่นเอง
            แนววิเคราะห์ : Jensen และ Meckling เสนอให้ใช้กลไกตลาดในในการจัดตั้งบริษัทจากหลักเศรษฐศาสตร์ รวมทั้งการจ้างงานโดยใช้ทฤษฎีตัวแทน (agency theory) ในการแก้ปัญหาผลประโยชน์ที่ขัดแย้ง (conflict of interest) ระหว่างผู้ถือหุ้นและฝ่ายบริหาร

Learning from Organizational Economics – Jay B. Barney & William G. Ouchi

            Barney และ Ouchi มองการทำธุรกรรม (transaction) เป็นหน่วยวิเคราะห์ (unit of analysis) โดยมองความสัมพันธ์ที่เกิดจากปัจเจกบุคคล กลุ่ม องค์การ และสิ่งแวดล้อม Williamson ได้กล่าวว่าการทำธุรกรรมนั้นใกล้เคียงกับ ทฤษฎีการแลกเปลี่ยน (exchange theory) ของสังคมวิทยาและจิตวิทยาสังคม และได้กล่าวถึงทฤษฎีการพึ่งพาทรัพยากร (resource dependent theory) ของ Pfeffer และ Salanick ว่าทุกองค์การล้วนพึ่งพาทรัพยากร ในการวิเคราะห์ในการหาจุดสมดุลย์ (equilibrium analysis) ดังนั้นแนวคิดขององค์การ (concept of organization) กล่าวถึงองค์การทางด้านเศรษฐศาสตร์ ในการเปรียบเทียบประสิทธิภาพระหว่างโครงสร้างที่ใช้ลำดับขั้น (hierarchy) กับโครงสร้างที่ใช้ตลาด (market) ในการตัดสินใจในการทำธุรกรรม
            สรุปสิ่งที่เรียนรู้จากทฤษฎีองค์การที่นำมาใช้กับองค์การทางเศรษฐศาสตร์คือการตัดสินใจในภาวะที่เหตุผลจำกัด (bounded rational decision making) และการวิจัยเชิงประจักษ์ (empirical research) เพื่อปรับปรุงความสามารถของแบบด้านเศรษฐศาสตร์ (economic model) ต่อไป
            แนววิเคราะห์ : Barney และ Ouchi ได้นำหลักเศรษฐศาสตร์และทฤษฎีองค์การมาประยุกต์ในการจัดสรรทรัพยากรโดยใช้กล ไกตลาดเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เป็นสิ่งที่เรียนรู้จากองค์การด้านเศรษฐศาสตร์

Managing Business Transactions – Paul H. Rubin

             Rubin กล่าวว่า จากทฤษฎีต้นทุนการทำธุรกรรม (transaction cost theory) โดยมีหลักที่ว่าคนจะเห็นแก่ตัว ชอบเอาเปรียบ และเป็นไปไม่ได้ที่จะเขียนสัญญาที่สมบูรณ์เพื่อป้องกันไม่ให้คนเอารัดเอาเปรียบหรือโกงได้ทั้งหมด และได้เสนอว่าการเอาเปรียบที่เกิดขึ้นก่อนทำสัญญา (precontractual opportunism) บางครั้งเรียกว่า การปกปิดข้อมูล (adverse selection) ซึ่งจะนำไปสู่ความเสียเปรียบของคู่สัญญา และการเอาเปรียบที่เกิดขึ้นหลังทำสัญญา (postcontractual opportunism) เช่น การหนีงาน (shirking) ค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนตัวแทนที่สูง (agency cost) และความเสี่ยงทางศีลธรรม (moral hazard) ดังนั้น Rubin เสนอให้ใช้กลไกตลาดในการลดปัญหาที่เกิดจากการเอารัดเอาเปรียบ เช่น ใช้เงื่อนใขการค้ำประกันและความน่าเชื่อถือ (use of hostage and credible commitment) รวมทั้งสร้างรูปแบบการร่วมลงทุน (joint venture) การแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน (reciprocal exchange) การติดตามจากผู้ตรวจสอบจากภายนอกและคณะกรรมการ (outside auditor and boards of directors) การสร้างชื่อเสียง (reputation) และการใช้จริยธรรม (ethics) เข้ามาช่วยสร้างความยุติธรรมให้กับทุกฝ่ายที่มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholders)
            แนววิเคราะห์ : Rubin ใช้กลไกตลาดในการจัดการทำธุรกรรมทางธุรกิจ ประกอบด้วยความสัมพันธ์ทางสัญญาซึ่งอยู่ในขอบ เขตของสิ่งที่จะนำมาแลกเปลี่ยน อีกทั้งปัญหาความไม่แน่นนอนของอนาคต ที่ทำให้พันธะสัญญาของการแลกเปลี่ยนที่กำหนดขาดความสมบูรณ์ ความไม่สมบูรณ์ดังกล่าวจึงขึ้นอยู่กับความไว้วางใจต่อกันและกันของคู่สัญญาเป็นสำคัญ ซึ่งต่อมาอาจนำไปสู่การฉกฉวยโอกาสได้ในภายหลังการแลกเปลี่ยน บางกรณีนำไปสู่การผูกขาด ทำให้แต่ละฝ่ายฉวยโอกาสโก่งราคาหรือการบริการขาดคุณภาพทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการป้องกันและติดตาม ซึ่งถ้าการแลกเปลี่ยนแบบนี้ราคาสูงเกินไปก็ทำให้ความสัมพันธ์ทางการตลาดล้มเหลว เพราะเต็มไปด้วยการฉกฉวยโอกาส


เชิงอรรถ

1จาก “Classic of Organization Theory Sixth Edition” โดย Jay M. Shafritz, J. Steven Ott, Yong Suk Jang, 2005, Belmont: หน้า 248-282.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความสัมพันธ์ระหว่างค่านิยมเกี่ยวกับงาน ความพึงพอใจในงาน และความผูกพันองค์การ

ความสัมพันธ์ระหว่างค่านิยมเกี่ยวกับงาน ความพึงพอใจในงาน และความผูกพันองค์การ โดย ดร. อนุรักษ์ วัฒนะถาวรวงศ์   ความสัมพันธ์ระหว่างค่านิ...