วันพุธที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2552

แนวคิดยุคหลังสมัยใหม่ (Postmodern)

แนวคิดยุคหลังสมัยใหม่ (Postmodern)


โดย ดร. อนุรักษ์ วัฒนะถาวรวงศ์

Postmodern Thought in a Nutshell: Where Art and Science Come Together – William Bergquist

            ที่มาของแนวคิดหลังยุคสมัยใหม่ (postmodernism) มาจากแหล่งที่มาอย่างแรกคือการอภิปรายและการสนทนาในเรื่องของยุคโครง สร้างนิยม (structuralism) ยุคหลังโครงสร้างนิยม (poststructuralism) แนวคิดการรื้อสร้าง (deconstruction) ยุคหลังทุนนิยม (postcapitalism) ทฤษฎีการวิพากษ์ (critical theory) และแนวคิดสตรีนิยม (feminism) แหล่งที่สองคือการวิจารณ์รูปแบบของศิลปะร่วมสมัย (contemporary art forms) โดยเฉพาะในสถาปัตยกรรม วรรณกรรม และภาพเขียน รวมทั้งการดำรงชีวิตร่วมสมัย (contemporary lifestyle) แหล่งที่สามคือการวิเคราะห์ทางสังคมของสถานที่ทำงานและเศรษฐกิจ และแหล่งสุดท้ายคือทฤษฎีความสับสนวุ่นวาย (chaos theory)
            ทฤษฎีวัตถุวิสัยนิยม (objectivism) อยู่ในยุคสมัยใหม่ที่ใช้แนวคิดเสรีนิยม (liberal) และแนวคิดอนุรักษ์นิยม (conservative) เป็นหลักทั่วไปในการปรับปรุงความเป็นอยู่ของมนุษย์ แก้ปัญหาความขัดแย้ง ฟื้นฟูสิทธิมนุษยชน และใช้จัดระเบียบของโลกหรือชุมชน ซึ่งตรงข้ามกับทฤษฎีการสร้างความรู้ในตนเองได้ (constructivism) ที่ใช้สร้างความจริงของสังคม โดยไม่ยึดติดกับความจริงที่เป็นสากลหรือหลักการใด ๆ ของอดีต เพราะมีความเชื่อที่ว่าสังคมนั้นไม่อยู่นิ่ง ยืดหยุ่น และไม่สามารถคาดการณ์ได้ตลอดเวลา ซึ่งแนวคิดยุคหลังสมัยใหม่จะใช้แนวทางของทฤษฏีการสร้างความรู้โดยใช้ภาษา (language) ที่มองเป็นความจริงของตัวมันเอง กล่าวคือ ถ้าความจริงเป็นสิ่งที่สังคมสร้างขึ้น ภาษาจะเป็นสิ่งที่ใช้อธิบายความจริงของตัวมันเอง เช่น เงินใช้เป็นสื่อในการแลกเปลี่ยนของทรัพย์สินต่าง ๆ ภาษาก็เช่นกันเป็นสิ่งที่แลกเปลี่ยนสิ่งที่ต้องอธิบาย
             แนวคิดยุคหลังสมัยใหม่มองความเป็นโลกไร้พรมแดน (globalization) และมองทุกอย่างมีความแตกต่างเป็นกลุ่ม ๆ (segmentalism) ที่อยู่ในสังคม เพราะในปัจจุบันเราต้องเจอกับความขัดแย้ง ความแตกต่าง และสิ่งที่คาดการณ์ไม่ได้ตลอดเวลา ชุมชนของแนวคิดยุคหลังสมัย ใหม่จะเป็นแบบวิถีชีวิต (lifestyle) ที่ได้อยู่ใกล้กันแต่จะมารวมตัวกันตามกิจกรรมที่ตัวเองชอบ เช่น ชมรมรถปอร์เช่ จากความไม่แน่นอนทำให้ไม่สามาถคาดการณ์ได้ เช่น ปรากฎการเอลนินโญ่ (El Nino) หรือโลกร้อน (global warming) นอกจากนั้นแนวคิดยุคหลังสมัยใหม่ยังมองภาพเป็นส่วน ๆ และมองขัดแย้งกัน (fragmented and inconsistent image) เป็นการสนใจสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมากกว่าอดีต Gitlin (1988) กล่าวว่าอเมริกาไม่มีวัฒนธรรมของตัวเองที่เด่นชัด เพราะเป็นที่รวมของหลากหลายวัฒนธรรม จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะสร้างคำนิยามต่าง ๆ ในโลกร่วมสมัยนี้เพราะในโลกนี้เต็มไปด้วยความขัดแย้ง และจะมีปรากฎการณ์ใหม่ ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลาในยุคหลังสมัยใหม่ สิ่งที่ขัดกันในสมมติฐานของยุคหลังสมัยใหม่ไม่มีการพิสูจน์ว่าผิด ทุกข้อมูลสามารถนำมาใช้วิเคราะห์ได้หมด ยิ่งมีขัดแย้งกันของข้อมูล ก็ยิ่งสามารถใช้ข้อมูลในการสร้างสมมติฐานของยุคหลังสมัยใหม่ได้ ขณะที่ยุคสมัยใหม่จะเน้นรูปแบบที่กำหนดไว้ แต่ยุคหลังสมัยใหม่จะเน้นรูปแบบที่แตกต่างและซับซ้อนกว่า เนื่องจากความหลากหลายและแตกต่างนี้ ทำให้แนวคิดยุคหลังสมัยใหม่มองถึงความเสมอภาคและความเท่าเทียมกันอีกด้วย เพราะโลกไม่ได้เป็นแบบเรียบง่ายเหมือนในอดีตอีกต่อไปแล้ว1

The New Public Service: Serving Rather than Steering – Robert B. Denhart & Janet Vinzant Denhart

            ในการการจัดการภาครัฐแนวใหม่ (new public management) เป็นการกำกับดูแลมากกว่าที่จะทำเอง (steering than rowing) เป็นการใช้แนวคิดทางธุรกิจมาประยุกต์กับการจัดการภาครัฐ โดยใช้ทฤษฎีเจ้าของและตัวแทน มีการใช้กลไกตลาด ใช้การมุ่งเน้นลูกค้าและการให้ผล ตอบแทนจูงใจตามผลงาน รวมทั้งมีการรับผิดชอบที่ตรวจสอบได้ (accountability) ดังนั้นการจัดการภาครัฐแนวใหม่เป็นตัวแบบปทัสถาน (normative model) ของการบริหารรัฐกิจที่ถูกมองว่าเป็นทางเลือกที่ต้องการมากกว่าการจัดการภาครัฐแบบเดิม
            ที่มาของการบริการสาธารณะแนวใหม่ (new public service) มาจากทฤษฎีประชาธิปไตยของประชาชน (theory of democratic citizenship) ที่เป็นแนวคิดของ King และ Stiver (1998) ที่มองประชาชนมีความเป็นประชาชนมากกว่าที่จะมองเป็นแค่เพียงลูกค้า มีการร่วมกันใช้อำนาจและลดการควบคุม รวมทั้งสร้างความมั่นใจในผลที่เกิดจากความร่วมมือ ซึ่งตรงข้ามกับการจัดการภาครัฐแนวใหม่ที่มุ่งเน้นประ สิทธิภาพ แต่ในการบริการสาธารณะแนวใหม่นี้จะมุ่งเน้นการตอบสนองและสร้างความไว้วางใจของประชาชนมากกว่า ส่วนในตัวแบบของชุมชนและประชาสังคม (models of community and civil society) รัฐนั้นมีความจำเป็นที่จะต้องทราบถึงความต้องการต่าง ๆ ของผู้คนในชุมชน และในทฤษฎีองค์การมนุษยนิยมและทฤษฎีวาทกรรม (organizational humanism and discourse theory) ที่มีการใช้นอกเหนือแนวคิดปฎิฐานนิยม (positivism) ในการบริหารรัฐกิจแบบดั้งเดิมแล้ว ยังได้มีทางเลือกอื่น ๆ ที่เพิ่มขึ้นคือทฤษฎีการตีความ (interpretive theory) ทฤษฎีการวิพากษ์ (critical theory) และแนวคิดยุคหลังสมัยใหม่ (postmodernism) ที่ไม่เน้นการใช้อำนาจหน้าที่และการควบคุม แต่จะมุ่งไปสู่ความต้องการและความเกี่ยวข้องกับพนักงานในองค์การภาครัฐ เช่นเดียวกับลูกค้าและประชาชนมากกว่า การใช้ทฤษฎีที่กล่าวมานี้ก็เพื่อสร้างความเข้าใจในองค์การภาครัฐให้มากขึ้น โดยใช้หลักธรรมาภิบาลที่จะต้องมีพื้นฐานของความซื่อสัตย์สุจริตและการสื่อความหมาย (discourse) ที่เปิดเผยในกลุ่มต่างๆรวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชน เป็นการมุ่งเน้นการสนทนาปัญหาบ้านเมือง (public dialogue) ซึ่งเป็นที่มาของการบริการสาธารณะแนวใหม่ ความแตกต่างแนวคิดการจัดการทั้งสามแบบจะแสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนใน ตาราง 1.1 ซึ่งได้เปรียบเทียบการบริหารรัฐกิจแบบเดิม การจัดการภาครัฐแนวใหม่ และการบริการสาธารณะแนวใหม่

ตาราง 1.1 เปรียบเทียบการบริหารรัฐกิจแบบเดิม การจัดการภาครัฐแนวใหม่ และการบริการสาธารณะแนวใหม่
ลักษณะ
การบริหารรัฐกิจแบบเดิม
การจัดการภาครัฐแนวใหม่
การบริการสาธารณะแนวใหม่
พื้นฐานทางทฤษฏีและแหล่งของความรู้
ใช้ทฤษฎีทางการเมือง และวิจารณ์ด้านสังคมและการเมืองโดยใช้สังคมศาสตร์
ใช้ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ มีบทสนทนาที่ซับซ้อนที่มีพื้นฐานจากปฏิฐานนิยมและสังคมศาสตร์
ใช้ทฤษฎีประชาธิปไตย มีหลายวิธีในการสร้างองค์ความรู้รวมถึงแบบปฎิฐาน การตีความ การวิพากษ์ และแนวคิดยุคหลังสมัยใหม่
การใช้ความเป็นเหตุเป็นผลและแบบของพฤติกรรมมนุษย์
การเห็นความเป็นเหตุเป็นผลของผู้บริหาร
ความเป็นเหตุเป็นผลทางเทคนิคและเศรษฐศาสตร์ เป็นมนุษย์เศรษฐกิจหรือผู้ตัดสินใจมองผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นหลัก
ความเป็นเหตุเป็นผลแบบยุทธศาสตร์ มีการทดสอบเหตุผลหลายแบบ (การเมือง เศรษฐกิจ และองค์การ)
แนวคิดผลประโยชน์สาธารณะ
กำหนดและแสดงโดยทางการเมืองในรูปแบบของกฎหมาย
แสดงผลประโยชน์ของปัจเจกบุคคลเป็นองค์รวม
ผลลัพธ์เกิดจากการสนทนาเกี่ยวกับค่านิยมที่ใช้ร่วมกัน
การสนองตอบของเจ้าหน้าที่รัฐ
ลูกค้าและผู้ก่อตั้ง
ลูกค้า
ประชาชน
บทบาทของรัฐ
ดำเนินการเอง (ในการกำหนดนโยบายและนำนโยบายไปปฎิบัติ ที่มุ่งเน้นวัตถุประสงค์ทางการเมืองเดียว)
กำกับดูแล (เหมือนกับการปลดปล่อยให้กลไกตลาดทำงานเอง)
ให้บริการ (ต่อรองและเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของประชาชน กลุ่มในชุมชน รวมทั้งสร้างค่านิยมร่วมกัน)
กลไกในการบรรลุวัตุประสงค์เชิงนโยบาย
ใช้วิธีการบริหารโดยหน่วยงานของรัฐที่มีอยู่
สร้างกลไกและโครงสร้างผลตอบแทนในการบรรลุวัตถุประสงค์เชิงนโยบายโดยภาคเอกชนและหน่วยงานที่ไม่มุ่งหวังผลกำไร
สร้างการรวมกลุ่มของภาครัฐ ภาคเอกชนและหน่วยงานที่ไม่มุ่งหวังผลกำไรเพื่อบรรลุความต้องการที่ได้ตกลงร่วมกัน
วิธีการรับผิดชอบที่ตรวจ สอบได้
เจ้าหน้าที่ของรัฐในโครงสร้างลำดับขั้นเป็นผู้รับผิดชอบตามผู้ที่มาจากการเลือกตั้งในระบบประชาธิปไตย
เป็นการผลักดันทางตลาดที่ใช้ผลประโยชน์ส่วนตัวในการสร้างผลสัมฤทธิ์ที่ประชาชนส่วนมากต้องการ (หรือ ลูกค้านั่นเอง)
เป็นหลายแง่มุม รัฐต้องให้ความสนใจในกฎหมาย ค่านิยมของชุมชน ปทัสถานทางการเมือง มาตรฐานความเป็นมืออาชีพ และผลประโยชน์ของประชาชน
อำนาจในการบริหาร
อำนาจในการบริหารถูกจำกัดโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐเท่านั้น
มีขอบเขตที่กว้างในการบรรลุเป้าหมายแบบมีความเป็นเจ้าของ
มีความจำเป็นที่ต้องใช้อำนาจในการบริหารได้แต่ต้องมีขอบเขตจำกัดและมีความรับผิดชอบที่ตรวจสอบได้
โครงสร้างองค์การ
เป็นองค์การแบบราชการที่มีอำนาจจากบนสู่ล่างและมีการออกกฎหมายควบคุมลูกค้า
เป็นองค์การรัฐแบบกระจายอำนาจที่มีการควบคุมหลักอยู่ภายในหน่วยงานของรัฐ
เป็นโครงสร้างแบบความร่วมมือที่มีผู้นำร่วมกันทั้งภายในและภายนอก
การจูงใจพื้นฐานของเจ้าหน้าที่รัฐ
เป็นค่าใช้จ่ายและผลประโยชน์ต่าง ๆ ในการบริการประชาชน
ใช้แนวคิดความเป็นเจ้าของ เป็นความต้องการทางอุดมคติที่จะลดขนาดของรัฐ
เป็นการบริการสาธารณะ ที่มีความต้องการที่จะช่วยเหลือสังคม

คุณลักษณะของการบริการสาธารณะแนวใหม่

            1. เป็นการให้บริการมากกว่าการกำกับดูแล (serve rather than steering) ซึ่งเป็นบทบาทที่สำคัญของรัฐในการช่วยให้ประชาชนได้รับผลประโยชน์ร่วมกันมากกว่าที่จะควบคุมหรือกำกับดูแลนโยบายอย่างเดียว
            2. ผลประโยชน์สาธารณะเป็นเป้าหมายไม่ใช่แค่ผลพลอยได้ที่เกิดขึ้น (public interest is aim, not byproduct) รัฐต้องสร้างแนวคิดร่วมกันของผลประโยชน์สาธารณะโดยมีเป้าหมายที่จะสร้างผลประโยชน์ร่วมกันและความรับผิดชอบร่วมกัน
            3. คิดแบบยุทธศาสตร์และทำตามหลักประชาธิปไตย (think strategically, act democratically) นโยบายและโครงการต่าง ๆ ที่จะตอบสนองความต้องการสาธารณะจะต้องทำได้อย่างมีประสิทธิผลและมีการรับผิดชอบโดยใช้ความพยายามร่วมกัน และกระบวนการที่มีความร่วมมือ
            4. การให้บริการประชาชนมากกว่าที่จะเป็นลูกค้า (serve citizens, not customers) ผลประโยชน์สาธารณะนั้นมาจากการสนทนาเกี่ยวกับค่านิยมที่ใช้ร่วมกันมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตัวของปัจเจกบุคคลที่นำมารวมกัน ดังนั้นรัฐไม่เพียงแต่ต้องตอบสนองต่อความต้อง การของลูกค้าแต่จะต้องสร้างความสัมพันธ์ของความไว้วางใจและความร่วมมือร่วมใจกันระหว่างประชาชนอีกด้วย
            5. ความรับผิดชอบที่ตรวจสอบได้นั้นไม่ใช่ของง่าย (accountability isn’t simple) รัฐควรจะให้ความสนใจมากกว่าการใช้กลไกตลาด คือต้องสนใจสถานภาพที่เป็นอยู่ (statutory) รัฐธรรมนูญ ค่านิยมของชุมชน ปทัสถานของการเมือง มาตรฐานความเป็นมืออาชีพ และผลประโยชน์ของประชาชน
            6. ให้คุณค่าในความเป็นคนไม่ใช่ประสิทธิภาพ (value people, not just productivity) รัฐและเครือข่ายจะประสบความสำเร็จในระยะยาวถ้ามีการใช้กระบวนการที่มีความร่วมมือร่วมใจและมีการเป็นผู้นำร่วมกันโดยมีพื้นฐานจากการให้เกียรติผู้คนทั้งหมด
            7. ให้คุณค่าความเป็นประชาชนและการบริการสาธารณะมากกว่าความเป็นเจ้าของ (value citizenship and public service above entrepreneurship) ผลประโยชน์สาธารณะจะมีความก้าวหน้าในทางที่ดีถ้ารัฐและประชาชนได้มุ่งมั่นร่วมกันที่จะช่วยเหลือสังคมมากกว่าที่จะใช้ความเป็นเจ้าของที่ทำเหมือนกับว่าเป็นตัวเองเป็นเจ้าของในเงินของรัฐ2

Postmodernism and American Public Administration in 1990s – Peter Bogason

            แนวคิดยุคหลังสมัยใหม่นิยม (postmodernism) เป็นการใช้วิธีการตีความ (interpretivist approach) ในการวิเคราะห์ที่จะออกมาเป็นรูปของภาษา (language) มองกระบวนการทางสังคมเป็นการใช้ภาษา ซึ่งตรงข้ามกันกับหลักปฎิฐานนิยม (positivism) วิธีการวิเคราะห์แบบตีความนี้จะต้องใช้การสื่อสารที่เจอกันตัวต่อตัว (face-to-face communication) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วาทกรรมของแท้ (authentic discourse) เหมือนกับการโต้วาทีนั่นเอง วิธีการนี้ต้องใช้ความจริงในวาทกรรม (warrant for disclose) ที่จะต้องแสดงความจริงใจ ซื่อสัตย์ สร้างความไว้วางใจ มีความตั้งใจจริงในการแก้ปัญหา และต้องสร้างการมีส่วนร่วม รวมทั้งความสามารถในการรับฟังด้วย ซึ่งเป็นพื้นฐานของประชาธิปไตยที่เป็น
ธรรมาภิบาลและจะนำไปสู่การมีส่วนร่วมของประชาชนในกิจการสาธารณะ (public affairs)
            การวิเคราะห์แบบยุคหลังสมัยใหม่ได้ใช้ความสัมพันธ์นิยม (relativism) และการวิเคราะห์แบบใช้ภาษา (linguistic analysis) รวมถึงวิธีการใช้แนวปฏิบัตินิยม (pragmatist approach) จากพื้นฐานของการวิเคราะห์แบบวาทกรรม ที่จะเข้าใจความเป็นจริง (reality) และใช้ประสบการณ์ของมนุษย์ โดยการแยกความจริงออกจากค่านิยมพี้นฐานนิยมออกจากความสัมพันธ์นิยม ปรากฎการวิทยาออกจากปฏิฐานนิยม ในการสร้างสมมติฐานของแนวปฎิบัตินิยม
            การใช้แนววิเคราะห์ยุคหลังสมัยใหม่ในรัฐประศาสนศาตร์ของอเมริกัน จะใช้ทฤษฎีวิพากษ์และการวิเคราะห์เชิงวาทกรรม (critical theory and discourse analysis) การสร้างความรู้ด้วยตนเองของสังคมและการต่อต้านพื้นฐานนิยม (social constructivism and anti-fundamentalism) รวมถึงแนวปฎิบัตินิยม (pragmatism) ที่มีพื้นฐานจากการวิเคราะห์เชิงวาทกรรม นักวิเคราะห์ยุคหลังสมัยใหม่จะมุ่งเน้นการใช้วิธีการวิเคราะห์แบบรื้อสร้าง (deconstructive analysis) เพื่อสร้างความเข้าใจที่ตีความหมายได้หลายแบบ และใช้วิธีสร้างความรู้ด้วยตนเองของสังคม (social constructivism) ในการศึกษาข้อเท็จจริงในสังคมที่นักทฤษฎีแบบอัตวิสัยนิยม (subjectivist) ในรัฐประศาสนศาสตร์ศึกษาไม่ได้ เช่น ค่านิยมในด้านจริยธรรม ทำให้เกิดการค้นพบความสัมพันธ์ทางด้านสังคมที่เกิดจากการรื้อสร้างบริบท มุ่งเน้นกระบวนการของความสัมพันธ์ที่มีการรับรู้ร่วมกัน โดยมีพื้นฐานของวาทกรรมในปัญหาร่วมกัน ความเป็นห่วงเป็นใย หรือเป้าหมายที่ไม่มีการบิดเบือนไปจากความจริง
            นอกจากนั้นยังมีการใช้ทฤษฎีควอนตัม (quantum theory) เป็นการมองความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาของสังคมทั้งรับรู้ได้และรับรู้ไม่ได้ โดยมองได้ถึงในระดับจุลภาค เช่น ชุมชน เพราะมีความแตกต่างกันในสังคม ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ที่ต้องการความร่วมมือ (collaboration) มากกว่าการควบคุม (regulation)3

Modernity, Postmodern Conditions and the Public Sector – Peter Bogason

            ในสังคมยุคสมัยใหม่ (modern) จะใช้แนวคิดความเป็นเหตุเป็นผล (rationality) ความเป็นอุตสาหกรรม (industrialization) และระบบราชการ (bureaucratization) ที่มีคุณลักษณะของความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน (specialization) การรวมอำนาจ (centralization) ความเป็นทางการ (formalization) และการบูรณาการ (integration) แต่แนวคิดในยุคหลังสมัยใหม่ (postmodern) จะตรงข้ามกัน คือใช้แนวคิดการสร้างเหตุผล (reasoning) และการแตกกระจาย (fragmentation) ที่มีคุณลักษณะของความเป็นปัจเจกบุคคลนิยม (individualism) ความร่วมมือระหว่างประเทศ (internationalization) การแบ่งแยกขององค์การ (organizational segregation) และการกระจายอำนาจ (decentralization) ซึ่ง Bogason ได้แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของแนวคิดยุคสมัยใหม่และหลักการของยุคหลักสมัยใหม่ ดังตารางที่ 1.2 นี้

ตาราง 1.2 เปรียบเทียบแนวคิดสังคมยุคสมัยใหม่และเงื่อนไขของยุคหลังสมัยใหม่
ยุคสมัยใหม่ที่มีความเป็นเหตุเป็นผล
(modern rationalization)
ยุคหลังสมัยใหม่ที่มีเหตุผล
(postmodern reasoning)
▪ วิสัยทัศน์ทั่วโลก (global visions)
▪ สนใจเฉพาะจุด (particular interests)
▪ การผลิต (production)
▪ การบริโภค (consumption)
▪ ความจำเป็นพื้นฐาน (basic needs)
▪ คุณภาพชีวิต (quality of life)
▪ เงื่อนไขการทำงาน (conditions of work)
▪ เวลาว่างพักผ่อน (leisure time)
▪ การผลิตเป็นจำนวนมาก (mass production)
▪ เชี่ยวชาญเฉพาะด้านแบบยืดหยุ่น (flexible specialization)
▪ สังคมการผลิต (production society)
▪ สังคมข้อมูลข่าวสาร (information society)
▪ สังคมการแบ่งชนชั้น (class society)
▪ สังคมพหุนิยม (pluralistic society)
▪ บูรณาการ (integration)
▪ ความแตกต่าง (differentiation)
▪ วัฒนธรรมระดับชาติ (national culture)
▪ ภาพพจน์ระดับนานาชาติ (international images)
▪ ระดับประเทศ (national state)
▪ ระดับนานาชาติ (international regimes)
▪ การเมืองแบบพรรค (party politics)
▪ การเมืองแบบบุคคล (personality politics)
▪ เอกฉันท์ทางการเมือง (politics of consensus)
▪ โน้วน้าวทางการเมือง (politics of persuation)
▪ การวางแผน (planning)
▪ เกิดขึ้นเฉพาะหน้า (spontaneity)
▪ เหตุผล (reason)
▪ จินตนาการ (image)
▪ องค์การแบบผลประโยชน์ (interest organizations)
▪ ขบวนการทางสังคม (social movement)
▪ รวมอำนาจ (centralization)
▪ การจายอำนาจ (decentralization)
▪ มองเป็นภาพรวม (wholes)
▪ มองแบบแตกกระจาย (fragments)

            Bogason ยังได้กล่าวถึงทฤษฎีรัฐ (state theory) ตั้งแต่การใช้อำนาจอธิปไตย (sovereign) ที่เป็นความสนใจของการก่อตั้งรัฐที่ต้องปกป้องตัวเอง การใช้โครงสร้างลำดับขั้น (hierarchy) การมุ่งเน้นแต่ความมีประสิทธิภาพ (efficiency) จนในยุคหลังสมัยใหม่ที่จะต้องสนใจในความต้องการของประชาสังคม (civil society) มากกว่า เพราะมีความแตกกต่างกันในสังคม ศาสนา และชาติพันธ์ ที่เป็นอำนาจของสาธารณชน (public power) ดังนั้นจะต้องมีการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น (loci) ที่อยู่ในพื้นที่ของประชาชนเพื่อตอบสนองความต้องการที่มีความแตกต่าง (fragmentation) ให้มีประสิทธิผลอีกด้วย4

Learning and Self-Organization: Organization as Brains – Gareth Morgan

            Morgan ได้เปรียบเทียบสมองของคนกับระบบ holographic ซึ่งภาพจะประกอบตัวเองได้แม้ว่าจะมีชิ้นส่วนเสียหาย และได้มององค์การเช่นเดียวกับสมอง ที่เป็นระบบการตัดสินใจเหมือนกัน คือ มีกระบวนการใช้ข้อมูล มีการเรียนรู้ที่ซับซ้อน และมีลักษณะทั้งรวมศูนย์และกระจายออกคล้ายระบบ holographic
            ในการสร้างองค์การแห่งการเรียนรู้ (learning organization) จะใช้ระบบ cybernetic ที่มีกลไกการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารในการตรวจสอบตัวเองเพื่อสร้างความมั่นคง โดยใช้ข้อมูลป้อนกับทางลบ (negative feedback) ที่ใช้ค้นหาข้อผิดพลาดและแก้ไขตัวเองอัตโนมัติ ระบบ cybernetic นี้นำไปสู่กระบวนการเรียนรู้นั่นเอง เป็นการเรียนรู้แบบ double-loop มากกว่า นั่นคือ การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นเมื่อสิ่งที่ต้องการให้บรรลุผลหรือเป้าหมายไม่สอดคล้องกับผลการกระทำ องค์การแห่งการเรียนรู้จะต้องพัฒนาความสามารถดังนี้
             1. ค้นหาและคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมเพื่อหาสิ่งแตกต่างที่มีความสำคัญ เช่น Apple มองสร้างความแตกต่างที่เป็นนวัตกรรมในอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ CNN สร้างบทบาทการนำเสนอข่าวสาร 24 ชั่วโมงทั่วโลก เป็นต้น
            2. พัฒนาความสามารถในการสร้างคำถามท้าทายและการเปลี่ยนแปลงปทัสถานของการทำงานและข้อสันนิษฐาน ตั้งคำถามต่าง ๆ ว่า อยู่ในธุรกิจที่ถูกต้องมีสินค้าและบริการใหม่ หาช่องว่างในตลาด สะท้อนความคิดเห็นของลูกค้า เพิ่มคุณภาพและลดต้นทุน รวมถึงใช้เครือข่ายการจัดการในตัวเองแทนองค์การแบบลำดับขั้น เช่น การประยุกต์ใช้ TQM ใช้การเรียนรู้แบบ double-loop
            3. กำหนดทิศทางยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมและรูปแบบขององค์การที่เกิดขึ้น โดยใช้วิสัยทัศน์ ปทัสถาน ค่านิยม ข้อจำกัด (limit) หรือข้อขัดแย้ง (paradox) ในการสร้างการเรียนรู้ร่วมกัน เช่น ใช้การเรียนรู้ของญี่ปุ่นแบบ ringi ที่ให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจจนกระทั่งมีการเห็นด้วยอย่างเอกฉันท์ ซึ่งเป็นการเรียนรู้แบบ double-loop
            การมององค์การเป็นสมองแบบ holographic ที่เป็นการจัดการตัวเองและสร้างใหม่ (self-organization and regeneration) มีหลักดังนี้
           1. หลักการสร้างภาพรวมไปสู่ส่วนต่างของทั้งหมด (build the whole into the parts) คือ การใช้วิสัยทัศน์ ค่านิยมและวัฒนธรรมมาเป็น DNA ขององค์การ ใช้เครือข่ายอัจฉริยะ มีโครงสร้างที่สร้างตัวเองได้ใหม่ และมีการรวมกันเป็นทีมที่มีบทบาทที่แตกต่างกัน
           2. หลักสำคัญของความซ้ำซ้อน (importance of redundancy) ในกระบวนการใช้ข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งทักษะและการออกแบบงาน
          3. หลักความหลากหลายที่เป็นความต้องการ (requisite variety) เป็นความซับซ้อนภายในที่ต้องเข้ากันได้กับสิ่งแวดล้อม
         4. หลักคุณสมบัติพื้นฐาน (minimum specs) เป็นการกำหนดไม่ให้ทำสิ่งที่เกินความจำเป็น
         5. หลักการเรียนเพื่อที่จะเรียนรู้ (learning to learn) เป็นการค้นหาและคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม โดยใช้การเรียนรู้แบบ double-loop และปรับกลยุทธ์เองได้ (emergent design)5



เชิงอรรถ
1จาก “Postmodern Thought in a Nutshell: Where Art and Science Come Together” โดย – William Bergquist, 1993, หน้า 478-517.
2จาก “The New Public Service: Serving Rather than Steering” โดย Robert B. Denhart & Janet Vinzant Denhart, 2000, หน้า 549-558.
3จาก “Postmodernism and American Public Administration in the 1990s” โดย Peter Bogason, หน้า 165-192.
4จาก “Modernity, Postmodern Conditions and the Public Power” โดย Peter Bogason, หน้า 13-41
5จาก “Learning and Self-Organization: Organizations As Brains” โดย Gareth Morgan, 1998, หน้า 70-109.

1 ความคิดเห็น:

  1. ลองตรวจสอบข้อมูลอีกทีได้ไหมครับ ผมว่า ตารางไม่ขึ้นครับ ผมมาขอความรู้ครับ

    ตอบลบ

Generational Differences in Work Values

I. Introduction to Generational Work Values   Definition and Importance Generational work values are the collective attitudes, beliefs, and ...