วันพุธที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ทฤษฎีองค์การอำนาจและการเมือง

Power and Politics Organization Theory
ทฤษฎีองค์การอำนาจและการเมือง

โดย ดร. อนุรักษ์ วัฒนะถาวรวงศ์


            ทฤษฎีองค์การโครงสร้างสมัยใหม่ ทฤษฎีองค์การเศรษฐศาสตร์ และทฤษฎีองค์การระบบหรือสิ่งแวดล้อมจะมองความเป็นเหตุเป็นผล (rational) โดยที่จะต้องบรรลุวัตถุประสงค์ขององค์การ เป็นการตอบคำถามว่าจะออกแบบและจัดการให้สามารถบรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล ดังนั้นสมาชิกองค์การก็จะถูกจำกัดด้วยระบบที่มีกฎที่เป็นทางการ อำนาจหน้าที่ และปทัสถานของพฤติกรรมที่มีเหตุผล (norm of rational behavior) แต่ในทฤษฎีองค์การอำนาจและการเมืองจะปฎิเสธแนวคิดของความเป็นเหตุผล แต่จะมององค์การว่าเป็นระบบที่ซับซ้อนที่ประกอบด้วยปัจเจกบุคคล (individual) และ กลุ่ม (coalition) ซึ่งมีความแตกต่างกันในความต้องการ ความเชื่อ ค่านิยม ความชอบ มุมมอง และความคิด โดยที่แต่ละกลุ่มจะแข่งขันกันเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด และข้อขัดแย้งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นกิจกรรมทางอำนาจและการเมืองส่งผลให้มีการสร้างและรักษาระดับการมีอิทธิพลเพื่อใช้เป็นอาวุธในใช้ในการแข่งขันและแก้ปัญหาข้อขัดแย้ง สรุปได้ว่า อำนาจ การเมือง และอิทธิพลจะเป็นส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้ในชีวิตขององค์การ
            ทฤษฎีองค์การโครงสร้างสมัยใหม่ ทฤษฎีองค์การเศรษฐศาสตร์ และทฤษฎีองค์การระบบหรือสิ่งแวดล้อมจะมองความเป็นเหตุเป็นผล (rational) โดยที่จะต้องบรรลุวัตถุประสงค์ขององค์การ เป็นการตอบคำถามว่าจะออกแบบและจัดการให้สามารถบรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล ดังนั้นสมาชิกองค์การก็จะถูกจำกัดด้วยระบบที่มีกฎที่เป็นทางการ อำนาจหน้าที่ และปทัสถานของพฤติกรรมที่มีเหตุผล (norm of rational behavior) แต่ในทฤษฎีองค์การอำนาจและการเมืองจะปฎิเสธแนวคิดของความเป็นเหตุผล แต่จะมององค์การว่าเป็นระบบที่ซับซ้อนที่ประกอบด้วยปัจเจกบุคคล (individual) และการรวมกลุ่ม (coalition) ซึ่งมีความแตกกต่างกันในความต้องการ ความเชื่อ ค่านิยม ความชอบ มุมมอง และความคิด โดยที่แต่ละกลุ่มจะแข่งขันกันเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด และข้อขัดแย้งก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นกิจกรรมทางอำนาจและการ-เมืองส่งผลให้มีการสร้างและรักษาระดับการมีอิทธิพลเพื่อใช้เป็นอาวุธที่ใช้ในการแข่งขันและแก้ปัญหาข้อขัดแย้ง ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า อำนาจ การเมือง และอิทธิพลจะเป็นส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้ในชีวิตขององค์การ
นักทฤษฎีองค์การอำนาจและการเมืองไม่เห็นด้วยที่ว่าเป้าหมายถูกกำหนดโดยผู้ที่มีอำนาจ แต่ผลที่มาจากการต่อรองของปัจเจกบุคคลและกลุ่มต่างหาก และการเปลี่ยนแปลงในเป้าหมายก็เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของความสมดุลย์ในอำนาจที่เกิดขึ้นระหว่างกลุ่มต่าง ๆ เนื่องจากในองค์การมีเป้าหมายที่ขัดแย้งกันอยู่ ดังนั้นทฤษฎีองค์การอำนาจและการเมืองมีความสำคัญในการตัดสินใจในการจัดสรรทรัพยากร (resource allocation decision) ที่มีเหตุผลเป็นทางการ (official rationale) และถูกต้องตามกฎหมาย (legitimacy)
            แหล่งที่มาของอำนาจ (source of power) ในองค์การคือ การควบคุมทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด เช่น เงินกองทุน ข้อมูลที่ถูก ต้อง เวลาและทักษะในการทำงานในโครงการ เป็นต้น การเข้าถึงผู้ที่มีอำนาจ เช่น ลูกค้าที่สำคัญ คณะกรรมการบริหาร หรือผู้ที่มีอำนาจควบคุมทรัพยาการที่มีอยู่จำกัด ความสามารถในการใช้กฎขององค์การ คือรู้ว่าจะทำอย่างไร ไม่ให้คนอื่นทำอย่างไร และความไว้วางใจ คือ ทำให้คนอื่นเชื่อใจนั่นเอง

Understanding the Role of Power in Decision Making – Jeffery Pfeffer

            แนวคิดของอำนาจ (concept of power) คำนิยามของอำนาจ คือการที่จะทำให้สิ่งหนึ่งเกิดขึ้นตามที่ต้องการ ซึ่งเป็นความสามารถที่ซ่อนอยู่ที่มีอิทธิพลต่อผู้อื่น ดังนั้นแนวคิดของอำนาจ คือบริบท หรือความสัมพันธ์เฉพาะ ที่ว่ามีอำนาจหรือไม่มีอำนาจเป็นการเปรียบเทียบความสัมพันธ์กันในสังคม เช่น ฝ่ายกฎหมายมีอำนาจต่อฝ่ายอื่น ๆ แต่มีอำนาจน้อยลงเมื่อเทียบกับที่ปรึกษาจากภายนอก หรือหน่วยงานรัฐต่าง ๆ ดังนั้นอำนาจของฝ่ายจะเปลี่ยนแปลงตลอด
            แนวคิดของอำนาจที่มาจากหน้าที่ (authority) คืออำนาจที่เป็นทางการและถูกต้องตามกฎหมาย ที่ได้มาจากตำแหน่งที่เป็นทางการ เช่น หัวหน้ากับลูกน้อง ซึ่งเป็นการยอมรับในสังคมเพื่อในการใช้อำนาจอย่างถูกต้องและมีประสิทธิผล
            คำนิยามของการเมืององค์การ (definition of organizational politics) หมายถึง กิจกรรมต่าง ๆ ในองค์การในการได้มา พัฒนา หรือใช้อำนาจและทรัพยากรอื่น ๆ เพื่อที่จะบรรลุผลที่ตั้งใจไว้ในสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนหรือไม่มีข้อสรุปในการตัดสินใจ ดังนั้นการเมืองก็คือ การศึกษาอำนาจในทางปฎิบัติ คือเพื่อให้บรรลุผลที่ต้องการ นอกจากนั้นยังมีความหมายเช่นเดียวกับการสร้างหรือปกป้องผลประโยชน์ของตนเองหรือกลุ่ม หรือเป็นการเอาชนะการต่อต้านหรือฝ่ายตรงข้าม
แบบในการตัดสินใจขององค์การ (models of organizational decision making)
            1. แบบทางเลือกที่เป็นเหตุผล (rational choice models) เป็นการที่มนุษย์ตัดสินใจอย่างมีเหตุผลเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของตนเท่านั้น (maximized value) และมีเป้าหมายตรงกัน (consistency) แต่เนื่องจากเหตุผลที่มีอยู่จำกัด (bounded rationality) ทำให้การตัดสินใจนั้นได้เพียงพึงพอใจมากที่สุด (satisficing) เพราะคนมีข้อมูลและทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ข้อดีของตัวแบบนี้คือสามารถพยากรณ์พฤติกรรมได้แน่นอนและเฉพาะเจาะจงถ้ารู้เป้าหมายขององค์การอื่น ๆ
            2. แบบการตัดสินใจแบบราชการ (bureaucratic models of decision making) เป็นการตัดสินใจทำตามมาตรฐานระเบียบการปฎิบัตการ (standard operating procedures) มากกว่าผลประโยชน์สูงสุด ซึ่งทางเลือกที่ตัดสินใจโดยคำนึงถึงกฎและกระบวน การที่ปรับตัวและมีประสิทธิผลในอดีต ทำให้พฤติกรรมถูกกำหนดโดยระเบียบการปฎิบัติที่กำหนดไว้ก่อนหน้านี้หรือการตัดสินใจที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ด้วยเหตุผลของความไม่มีการเปลี่ยนแปลง (stability) ซึ่งตรงข้ามกับองค์การแบบการเมืองที่อำนาจจะเป็นตัวกำหนดการตัดสินใจและการเปลี่ยนแปลง
            3. แบบกระบวนการตัดสินใจ (decision process models) ซึ่ง Strava อธิบายทฤษฎีการตัดสินใจว่านโยบายที่เป็นผลมาจากการสินใจโดยคนหนึ่งคนหรือหลายคนและขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่ตัวเองประสบอยู่ และสถานการณ์ก็เกิดจากกระบวนการที่มาก่อนผลของการตัดสิน ดังนั้นการพยากรณ์นโยบายจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่รู้รายละเอียดของกระบวนการที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ March ได้แย้งว่าแบบกระบวนการตัดสินใจเป็นแนวคิดของสิ่งที่ชอบ (concept of preference) เป็นการที่คนเพียงแต่รู้ว่าตัวเองชอบอะไรหลังจากที่ได้ผ่านประสบการณ์แล้ว ตัวอย่างแบบกระบวนการตัดสินใจของทางเลือกสังคม คือ แบบขยะและกระป๋อง (garbage can model) แนวคิดนี้คือจุดการตัดสินใจที่เป็นโอกาสของหลาย ๆ ปัญหาและวิธีการแก้ไขที่ทิ้งโดยสมาชิกองค์การ และในสถานการณ์ขยะและกระป๋องนี้ การตัดสินใจเป็นผลมาจากการตีความหมายของหลาย ๆ กระแส (stream) ในองค์การ และกระ-แสนี้ประกอบด้วย ปัญหา วิธีการแก้ไข สมาชิกองค์การ และโอกาสทางเลือกต่าง ๆ ดังนั้นบางคนก็จะได้ขยะ (garbage) ขณะที่อีกคนได้กระป๋อง
            4. แบบการเมืองขององค์การ (political models of organizations) ขณะที่การตัดสินใจแบบใช้เหตุผลไม่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดจากความแตกต่างของผลประโยชน์และเป้าหมายได้ แบบการเมืองจะมององค์การเป็นพหุนิยม (pluralistic) และแบ่งเป็นความหลากหลายของผลประโยชน์ กลุ่มย่อย และวัฒนธรรมย่อย ความขัดแย้งถูกมองเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นปกติในองค์การ ดังนั้นผลที่เกิดขึ้นคือการต่อรองและการประนีประนอม ผลการตัดสินใจแทบจะไม่ได้มาจากสิ่งที่คนใดคนหนึ่งชอบภายในองค์การ เพราะความชอบ (preference) ของแต่ละคนขัดแย้งกัน ดังนั้นอำนาจที่มาจากหลายฝ่ายจะเป็นกระบวนการตัดสินใจในการเลือก และผู้ที่มีอำนาจมากที่สุดจะได้รับผลตอบแทนมากที่สุดในการเมืองขององค์การ
จากมุมมองการตัดสินใจหลายแบบจะทำให้มีความสามารถพยากรณ์ที่แตกต่างกันได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ทำให้มีสามารถเสนอข้อแนะนำต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการวางแผนกลยุทธ์

ตาราง 1.1 ภาพรวมของแบบการตัดสินใจขององค์การ

มิติ
เหตุผล
ราชการ
กระบวนการตัดสินใจ
อำนาจทางการเมือง
เป้าหมาย
ตรงกัน
ตรงกันอย่างมีเหตุผล
ไม่ชัดเจน คลุมเคลือ
ตรงกันภายในสังคมของสมาชิก แต่ไม่ตรงกันและเป็นพหุนิยม ภายในองค์การ
อำนาจและการควบคุม
รวมอำนาจ
รวมอำนาจน้อยกว่าและขึ้น
อยู่กับกฎระเบียบ
กระจายอำนาจ ไม่มีกฎเกณฑ์
เปลี่ยนแปลงตามการรวม
กลุ่มและกลุ่มผลประโยชน์
กระบวนการตัดสินใจ
มีระเบียบ
และมีเหตุผลมาก
เป็นวิธีการที่เป็นเหตุผล
อยู่ในโปรแกรมและ
มาตรฐานวิธีการปฎิบัติการ
เป็นครั้งๆไป
ไม่มีระเบียบ
ขึ้นอยู่กับแรงดึงและแรงผลักของผลประโยขน์
กฎและปทัสถาน
ปทัสถานของการทำให้ดีที่สุด
เกิดขึ้นก่อนหน้านี้
ทำเป็นประเพณี
แบ่งเป็นกลุ่มและเป็นช่วงในการร่วมกันตัดสินใจ
ตามกลไกตลาด
ข้อขัดแย้งเป็นเรื่องปกติ
ข้อมูลและการหาข้อ
เรียกร้อง
มีข้อมูลมากมาย
และเป็นระบบ
ลดการใช้ข้อมูลโดยใช้
กฎและระเบียบปฎิบัติ
การรวบรวมข้อมูล
ไม่ได้จัดเป็นระเบียบ
ข้อมูลถูกใช้และไม่ใช้
ตามหลักยุทธศาสตร์
ความเชื่อเกี่ยวกับ
ความสัมพันธ์ของการกระทำและผลที่ตามมา
อย่างน้อยก็รู้ถึงความเป็น
ไปได้ของการกระจาย
มีข้อตกลงที่เห็นด้วยร่วมกันอย่างเอกฉันท์
เทคโนโลยีไม่ชัดเจน คลุมเคลือ
ไม่เห็นด้วยกับเทคโนโลยี
การตัดสินใจ
ทำตามทางเลือกที่มี
การเพิ่มคุณค่ามากที่สุด
ทำตามขั้นตอน
ที่กำหนดไว้เป็นประจำ
ไม่ได้เกี่ยวกับความตั้งใจ เป็น
ผลจากความลงตัวของบุคคล
การแก้ปัญหา และปัญหา
ผลจากการต่อรองและ
การปฎิสัมพันธ์
ของผลประโยชน์
หลักอุดมคติ
ประสิทธิภาพและ
ประสิทธิผล
ความแน่นนอน
ยุติธรรม คาดการณ์ได้

ไม่จริงจัง
ต่อกันแบบหลวม ๆ สุ่มเอา
มีการต่อสู้ดิ้นร้น ขัดแย้ง
มีผู้ชนะและผู้แพ้
สรุป Pfeffer ได้บูรณาการหลักการและการประยุกต์ใช้ของทฤษฎีองค์การอำนาจและการเมืองโดยศึกษาลักษณะการตัด สินใจในรูปแบบและมุมมองต่าง ๆ กันเพื่อสร้างความเข้าใจบทบาทของอำนาจที่มีผลต่อการตัดสินใจ

Democracy and the Iron Law of Oligarchy – Robert Michels

            การต่อสู้ช่วงชิงกันระหว่างการปกครองโดยคนชั้นสูง (aristocracy) และประชาธิปไตย (democracy) ในประวัติศาสตร์นั้นก็คือการช่วงชิงระหว่างคนกลุ่มน้อยกลุ่มเก่า ซึ่งป้องกันอำนาจตัวเองกับคนกลุ่มน้อยกลุ่มใหม่ที่จะความทะเยอทะยานในการแย่งอำนาจนั่นเอง Michels ได้ยกตัวอย่างของลัทธิมาร์กซิส เมื่อชนชั้นล่าง (proletarians) ได้เข้ายึดอำนาจทางการเมือง และโอนทรัพย์สินของเอกชนไปให้รัฐเป็นเจ้าของทั้งหมด เพื่อที่จะไม่ให้เกิดความแตกต่างของชนชั้นในสังคม และในระหว่างที่ทุนนิยมได้ถูกแทนที่โดยคอมมิวนิสต์ อำนาจก็จะตกอยู่ในมือของกลุ่มที่นำการปฎิวัติเพียงไม่กี่คนที่มาจากชนชั้นล่างที่ปฎิวัติ และมีลักษณะเป็นเผด็จการ (dictatorship) ซึ่งตรงกันข้ามกับแนวคิดประชาธิปไตย และปัญหาของแนวคิดสังคมนิยมคือปัญหาทางด้านเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเป็นการหาวิธีที่จะกระจายความร่ำรวยให้กับทุกคน
           ในปรากฎการณ์ทางสังคมนั้น สังคมจะอยู่ไม่ได้ถ้าขาดชนชั้นผู้นำทางการเมือง (dominant or political class) และชนชั้นปกครอง (ruling class) ซึ่งหมายถึง รัฐบาลก็คือองค์การของคนกลุ่มน้อย (organization of a minority) นั่นเอง และเป้าหมายของคนกลุ่มน้อยเหล่านี้เป็นการควบคุมส่วนที่เหลือของสังคมโดยใช้กฎหมายในการจัดระเบียบ ซึ่งจริง ๆ แล้วคนกลุ่มน้อยที่เป็นผู้ปกครองไม่ได้เป็นตัวแทนที่แท้จริงของคนส่วนใหญ่ เนื่องจากว่าคนกลุ่มใหญ่ไม่มีความสามารถที่จะเป็นรัฐบาลที่ปกครองตัวเองได้
ดังนั้นหลักการที่ว่าชนชั้นปกครอง (dominant class) ต้องเกิดขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งก็มาจากหลักคณาธิปไตย (oligarchy) และชนชั้นทางการเมืองที่เกิดขึ้นในทุก ๆ ครั้งก็มาจากความสัมพันธ์ระหว่างพลังที่แตกต่างกันของสังคมในการแข่งขันชิงความเป็นใหญ่ (supremacy) ในประวัติศาสตร์ที่มีการปฏิวัตินั้นก็เป็นแค่เพียงแค่การต่อต้านอย่างต่อเนื่องเพื่อเปลี่ยนอำนาจจากกลุ่มหนึ่งไปสู่อีกกลุ่มหนึ่ง เปรียบเสมือนกับแค่เพียงการผ่านของความอิจฉาไปสู่ความโลภ และการปฎิวัติทางสังคมไม่ได้มีผลที่จะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภายในเลย เพราะกลุ่มเดิมก็ถูกแทนที่โดยกลุ่มใหม่ซึ่งเป็นเพียงคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้นเอง แม้แต่นักอุดมคติที่ได้อำนาจแล้วก็ไม่อาจเลี่ยงการจากคอรัปชั่นได้ แม้แต่ในสังคมแบบประชาธิปไตย
           สรุป ในการปกครองคนกลุ่มใหญ่ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดก็ตามจะขึ้นอยู่กับคนกลุ่มน้อยที่จะเป็นผู้นำทางการเมือง ตั้งแต่มีความพยายามเปลี่ยนแปลงการปกครองที่มาจากการปฎิวัติเรื่อยมา จนกระทั่งเป็นการปกครองแบบประชาธิปไตยโดยที่มีการเลือกตั้งมาจากเสียงส่วนใหญ่ ผู้ที่ถูกเลือกขึ้นมาเป็นผู้ปกครองก็เป็นเพียงแค่คนที่เป็นคนส่วนน้อยนั่นเองที่มีสิทธิใช้อำนาจปกครองในที่สุด เปรียบเสมือนกฎเหล็กของหลักคณาธิปไตยนั่นเอง

The Bases of Social Power – John R. P. French Jr. & Bertram Raven

อำนาจ อิทธิพลและการเปลี่ยนแปลง (power, influence, and change)
           การเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตวิทยา (psychological change) อำนาจมีความหมายคือ อิทธิพลซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงด้านจิตวิทยา ซึ่งประกอบด้วย การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ความคิดเห็น ทัศนคติ เป้าหมาย ความต้องการ ค่านิยม และทุกแง่มุมต่าง ๆ ในด้านจิตวิทยา
           ทฤษฎีอิทธิพลทางสังคม (theory of social influence) ได้กำหนดให้อำนาจจำกัดอยู่ที่การมีอิทธิพลต่อ คน คือ P เกิดจากการกระทำทางสังคม (social agent) คือ O ซึ่ง O เป็นได้ทั้งคน บทบาท ปทัสถาน กลุ่ม หรือบางส่วนของกลุ่ม
           อำนาจของสังคม (social power) อำนาจของสังคมของ O/P ในระบบ a หมายถึง ความสามารถสูงสุดที่เป็นไปได้ของ O ที่มีอิทธิพลต่อ P ในระบบ a และผลที่เกิดขึ้นจะเป็นทั้งพลังที่เป็นทิศทางเดียวกับอิทธิพลของ O และในทิศทางตรงกันข้ามที่เป็นพลังการต่อต้าน ดังนั้นอำนาจมาจากพลังทั้งสองอย่างมารวมกันได้ดังนี้

อำนาจของ O/P (a) 5 (fa,x 2 fa,x)max

           ขณะที่ทั้งสองแหล่งของพลังเป็นการกระทำของ O เมื่อไรก็ตามที่ส่วนประกอบของพลังอันแรกมากกว่าอันที่สอง อำนาจจะเกิดขึ้นในทางบวก แต่ถ้าพลังอันที่สองมีมากกว่าอันแรก O จะมีอำนาจที่เกิดขึ้นในทางลบกับ P
           การขึ้นต่อกันของ s (a) ต่อ O การเปลี่ยนแปลงของระบบนี้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงในปัจจัยบางอย่างที่มีการขึ้นต่อกัน เช่น ในเรื่องของความคิดเห็นอาจเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงภายใน เช่น ความต้องการ หรือไม่ก็จากการเปลี่ยนแปลงภายในนอก เช่น การโต้แย้งของ O ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ทางด้านจิตวิทยาจะมาจากการขึ้นต่อกันที่เป็นพลวัตร (dynamic dependence) ตัวอย่างเช่น พนักงานสามคนโดยที่หัวหน้างานสั่งให้ทุกคนเพิ่มผลผลิตให้ได้จาก 100 ชิ้น เป็น 115 ชิ้นต่อวัน หลังจากนั้นหนึ่งสัปดาห์ผลผลิตก็เพิ่มเป็นผลผลิตใหม่ที่ 115 ชิ้น และกำหนดไม่ให้หัวหน้างานอยู่กำกับดูแลต่อมา ปรากฎว่าผลผลิตของพนักงาน A ตกลงมาเหลือ 100 ชิ้นต่อวันทันที แต่พนักงาน B และ C ตกลงมาเหลือ 110 ชิ้นต่อวัน ดังนั้นสรุปได้ว่า อัตราใหม่ของ A ขึ้นอยู่กับหัวหน้างานโดยสมบูรณ์ ขณะที่อัตราใหม่ของ B และ C ขึ้นอยู่กับหัวหน้างานเพียง 5 ชิ้น สมมติต่อว่าถ้าหัวหน้างานกลับมา ผลผลิตของ B และ C ก็จะกลับมาที่ 115 ชิ้นโดยที่หัวหน้างานไม่ต้องสั่งต่อ ในอีกหนึ่งเดือนต่อมาถ้า B และ C สามารถสร้างผลผลิตได้คงที่ที่ 115 ชิ้นต่อวัน มีความแตกต่างว่าระดับการผลิตของ B จะขึ้นอยู่กับ O ที่ 5 ชิ้น ขณะที่ C นั้นเชื่อฟังในคำสั่งจากหัวหน้างานมากกว่าที่ให้หัวหน้างานกดดันจากภายนอกเพื่อรักษาระดับการผลิตไว้ ดังนั้นถ้าหัวหน้างานไม่อยู่ ผลผลิตของ B จะตกลงมาเหลือ 110 แต่ C จะยังคงรักษาไว้ได้ที่ 115 ชิ้นต่อวัน ในกรณีนี้ พนักงาน B มีระดับการขึ้นต่อกันกับโอกาสที่ O จะสังเกตความสอดคล้องของ P ในระบบ ดังนั้นระดับการสังเกตจะขึ้นอยู่กับสภาพของระบบ (ความแตกต่างระหว่างความคิดเห็นภายในและพฤติกรรมที่แสดงออก) และอุปสรรคทางสภาพแวดล้อมในการสังเกต (O อยู่ห่างจาก P ไกลเกิน ไป)

พื้นฐานของอำนาจ (the bases of power)
           1. อำนาจที่เป็นรางวัล (reward power) คือ อำนาจที่มีพื้นฐานมาจากความสามารถในการให้รางวัล โดยที่อำนาจของ O/P จะเพิ่มขนาดของรางวัลที่ P ได้เห็นว่า O จัดให้ได้ เช่น การเพิ่มการจ่ายเป็นอัตรารายชิ้นในโรงงานเป็นแรงจูงใจในการเพิ่มผลผลิต
           2. อำนาจที่ใช้การบังคับ (coercive power) ซึ่งอำนาจของ O/P มาจากความคาดหวังว่า P จะถูกทำโทษโดย O ถ้าไม่ได้ทำตามสิ่งที่ต้องการ เช่น อำนาจในการไล่คนงานออกถ้าผลผลิตต่ำกว่ามาตรฐาน
           3. อำนาจโดยชอบธรรม (legitimate power) เป็นความรู้สึกที่ว่า “ควรจะ” (oughtness) ที่มาจากปทัสถานหรือค่านิยมภายในเช่นจากพ่อแม่ จากครู จากศาสนา หรือในรูปแบบจริยธรรม พื้นฐานของอำนาจที่ถูกต้องนี้มาจาก ค่านิยมทางวัฒนธรรม (cultural value) การยอมรับโครงสร้างทางสังคม (acceptance of social structure) เช่น ลำดับขั้นบังคับบัญชา และตำแหน่ง (designation) เช่น หัวหน้าแผนกยอมรับอำนาจของรองประธานที่ได้อำนาจมาจากประธาน เป็นต้น
           4. อำนาจจากการอ้างอิง (referent power) เป็นอำนาจของ O/P ที่มีพื้นฐานจากลักษณะที่เหมือนของ P กับ O คือมีความ รู้สึกของ P ที่เหมือนเช่นเดียวกับ O นั่นเอง ยิ่ง P และ O มีความเหมือนมาก ก็จะทำให้อำนาจจากการอ้างอิงของ O/P มากขึ้นด้วย
           5. อำนาจจากความเชี่ยวชาญ (expert power) เป็นอำนาจของ O/P ที่ขึ้นอยู่กับความรู้ของ P ที่ให้กับ O เช่น คำแนะนำของทนายในเรื่องกฎหมาย
สรุป French และ Raven ได้เสนอพื้นฐานของอำนาจทั้งห้าอย่างดังกล่าวไว้ข้างต้นในอำนาจของสังคม และอำนาจที่ได้จากการบังคับและอำนาจที่ได้มาจากความเชี่ยวชาญมีประสิทธิผลน้อยที่สุด

The Power of Power – James G. March

           วิธีการศึกษาอำนาจ (approaches to the study of power)
           1. การศึกษาจากการทดลอง (experimental study) มีแนวคิดจาก Lewin ที่ว่า อำนาจของ b เหนือ a คือ อำนาจที่มากที่สุดของ b ที่มีต่อ a และการต่อต้านที่มากที่สุดของ a ที่จะทำได้ โดยศึกษาความสามารถในการชักจูงผู้อื่น มีวิธีการโดยการสร้างความแตกต่างที่เกิดขึ้นและวัดผลเปรียบเทียบ ผลที่เกิดขึ้นคือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมขึ้นอยู่กับประเด็นที่เกี่ยวข้อง ลักษณะของกลุ่มและฐานของอำนาจ
           2. การศึกษาจากชุมชน (community study) สันนิษฐานว่าการตัดสินใจของชุมชนมาจากอำนาจที่มาจากผู้มีอำนาจหลายคนที่อยู่ในชุมชน โดยศึกษาในการประเมินอำนาจของคนที่อยู่ในชุมชนจากการถามและสังเกตการตัดสินใจที่เกิดขึ้น ผลที่เกิดขึ้นคือรู้ถึงอำนาจที่กระจายอยู่ในชุมชน ความสัมพันธ์ของอำนาจและลักษณะสังคมเศรษฐกิจ และรู้ว่ามีการใช้อำนาจอย่างไร
           3. การศึกษาจากสถาบัน (institutional study) ใช้แนวคิดเกมส์ (concept of game) ของ Neumann โดยใช้การศึกษาเชิงประจักษ์ (empirical study) เพื่อทดสอบความถูกต้อง ผลก็คือข้อมูลไม่สนับสนุนสมมติฐาน

แบบทางเลือกสังคมและแนวคิดอำนาจ (model of social choice and the concept of power)
           1. แบบโอกาส (chance model) สันนิษฐานว่าทางเลือกคือเหตุการณ์ของโอกาส เป็นการใช้อำนาจที่เป็นอิสระ มีสามรูป แบบคือ แบบไม่บังคับ (unconstrained model) เป็นการต่อรองที่เกิดขึ้น แบบอำนาจเท่ากัน (equal-power model) และแบบเผชิญหน้า (encounter model) เป็นการเลือกสองทาง คือชนะหรือแพ้
           2. แบบพลังพื้นฐาน (basic force model) สันนิษฐานว่าการพยายามใช้อำนาจในระบบส่งผลต่อการตัดสินใจในทางเลือก คือผู้ที่สามารถใช้อำนาจได้ในระบบเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ
           3. แบบพลังที่ได้ใช้ (force activation model) สันนิษฐานว่าอำนาจของทุกส่วนไม่ได้ถูกใช้ทั้งหมดทุกครั้ง คือ บางส่วนของผู้มีส่วนร่วมใช้อำนาจเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ
           4. แบบพลังที่มีเงื่อนไข (force-conditioning models) สันนิษฐานว่าอำนาจของส่วนประกอบถูกเปลี่ยนแปลงที่มีผลมาจากทางเลือกในอดีต คือการเลือกตามผลที่การตัดสินใจไว้แล้ว
           5. แบบพลังที่หมดลง (force depletion models) สันนิษฐานว่าอำนาจของส่วนประกอบถูกเปลี่ยนแปลงที่มีผลมาจากความพยายามของทางเลือกในอดีต มองอำนาจเหมือนทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดลง
           6. แบบกระบวนการ (process models) สันนิษฐานว่าทางเลือกคืออำนาจที่เป็นอิสระ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์หรือโอกาส เป็นซึ่งประกอบด้วย แบบแลกเปลี่ยน (exchange model) มีเกณฑ์ในการตัดสินใจ เช่น เสียงส่วนใหญ่ ความเห็นเอกฉันท์ แบบการแก้ปัญหา (problem-solving model) มีเกณฑ์ในการแก้ปัญหา แบบกระจายการสื่อสาร (communication-diffusion model) โดยที่ระบบมีความเชื่อมโยงของการสื่อสารที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการโดยที่ข้อมูลกระจายไปอยู่ทั้งระบบ แบบการตัดสินใจ (decision-making model)
           สรุป March ได้ค้นหาถึงคำนิยาม แนวคิด และวิธีการ โดยใช้การศึกษาเชิงประจักษ์ในด้านอำนาจของสังคมที่อยู่ในองค์การและชุมชน

The Power Game and the Players – Henry Mintzberg

           การใช้อำนาจ (exercise of power) สมาชิกที่อยู่ในระบบของ Hirchman (1970) มีทางเลือกพื้นฐานอยู่สามประการดังนี้ ความภักดี (loyalty) คืออยู่และทำตามเป้าหมาย การลาออก (exit) คือการจากไปและไม่ยุ่งเกี่ยว และการมีปากมีเสียง (voice) คืออยู่ต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงระบบ
           พื้นฐานของอำนาจทั่วไป (general bases of power) ประกอบด้วย อำนาจในการควบคุม คือทรัพยากร (resource) ทักษะทางเทคนิค (technical skill) และองค์ความรู้ (body of knowledge) ที่จำเป็นในการขับเคลื่อนองค์การ อำนาจที่มาจากการที่มีวัตถุดิบอยู่กับคนจำนวนน้อย อำนาจในสิ่งที่ทดแทนไม่ได้ (nonsubstitutable) อำนาจที่มาจากสิทธิเฉพาะ เช่น อำนาจของรัฐในการออกกฎหมายบังคับ และอำนาจที่มาจากผู้ที่สามารถใช้อำนาจที่กล่าวมาได้ทั้งหมด
           เจตนาและทักษะ (will and skill) อย่างไรก็ตามการมีอำนาจพื้นฐานนั้นยังไม่เพียงพอ ปัจเจกบุคคลต้องแสดงท่าทีในการที่จะเป็นผู้มีอิทธิพล (Influencers)ในกรณีที่อำนาจพื้นฐานมีลักษณะที่เป็นทางการ ก็อาจจะใช้ความพยายามเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ในหลายรัฐบาลได้ผ่านกฎหมายที่ไม่เคยได้รับการปฏิบัติตาม เพราะไม่มีหน่วยงานที่เข้มแข็งพอในการที่จะบังคับใช้กฎหมาย คล้ายกับการที่ผู้จัดการหลายคนที่พบว่าอำนาจในการออกคำสั่งของตนมีความหมายน้อยมาก และไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร ในทางตรงกันข้าม ถ้าอำนาจพื้นฐานมีลักษณะที่ไม่เป็นทางการ ก็จำเป็นที่จะต้องใช้ความพยายามอย่างมากเพื่อให้อำนาจนั้นใช้ได้ เช่น คนที่ตั้งใจนำเสนอบ่อย ๆ คนนั้นก็จะกลายเป็นผู้ที่มีอิทธิพลได้ เป็นต้น
           นอกจากนี้ในการที่ต้องการจะให้การทำงานบรรลุตามเป้าหมายที่ต้องการ จำเป็นจะต้องตระหนักว่าอำนาจนั้นมีขอบเขตกว้างขวางกว่าการทำความเข้าใจเพียงแค่อำนาจพื้นฐานเท่านั้น และต่างก็มีความตั้งใจและสามารถใช้อำนาจหน้าที่ของตนในการแสวงหาผลลัพธ์ที่ต้องการ กล่าวคือ ผู้ที่มีอิทธิพลนั้นจะเลือกในสิ่งที่เป็นประโยชน์ส่วนของตนเอง และตั้งใจทำในสิ่งที่สำคัญต่อตนเอง และมีความคาดหวังไว้ว่าจะต้องได้รับในสิ่งที่ต้องการ จากการศึกษาของ Patchen (1974) ยังพบว่า ผู้ที่มีอิทธิพลจะเลือกพื้นที่ที่ส่งผลกระทบต่อตนเองมากที่สุด และคล้อยตามในกรณีที่อยู่ในพื้นที่ของผู้มีอิทธิพลคนอื่น
           ที่สุดแล้วผู้ที่มีอิทธิพลนั้นไม่ใช่เพียงแค่มีอำนาจพื้นฐานเท่านั้น แต่บ่อยครั้งยังต้องมีทักษะทางการเมืองไปพร้อมกันด้วย ซึ่งบางครั้งอำนาจที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการก็ไม่ได้เป็นตัวสนับสนุนที่ดีพอ เนื่องจากไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ และบางครั้งก็ขาดการจัดลำดับที่ดี โดยทักษะทางการเมืองก็คือ ความสามารถในการใช้อำนาจพื้นฐานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการเข้าถึงแหล่งทรัพยากร การสื่อสาร และทักษะในการเจรจาต่อรอง ตลอดจนการแสวงหาพันธมิตรที่จำเป็น
           ทั้งนี้ทักษะทางการเมืองนั้น ยังเชื่อมโยงกับคุณลักษณะ หรือภาวะผู้นำที่มีอยู่โดยธรรมชาติของผู้นำ เช่น การมีเสน่ห์ การร่างกายที่แข็งแรง การมีลักษณะที่ดึงดูดใจ หรือที่ Kipnis เรียกว่า คุณสมบัติส่วนตัว (personal resources) และสำหรับบารมี (charisma) นั้น ถือเป็นคุณสมบัติที่คนอื่นทั่วไปไม่มี และเป็นสิ่งที่ดึงดูดจูงใจให้บุคคลอื่นปฏิบัติตาม ส่งผลให้มีบางคนกลายเป็นผู้มีอำนาจขึ้นมาได้จากการที่ได้รับการสนับสนุนจากบุคคลอื่น กล่าวได้ว่าอำนาจนั้นมาจากความพยายามและความสามารถในการใช้อำนาจพื้นฐาน
           การจัดกลุ่มผู้เล่นตามลำดับที่ปรากฎให้เห็น (the cast of players in order of appearance) Mintzberg ได้แสดงให้เห็นความแตกต่างของผู้มีอิทธิพลภายในและผู้มีอิทธิพลภายนอก ผู้มีอิทธิพลภายใน (internal influencer) คือพนักงานเต็มเวลาที่ใช้เสียง (voice) รับผิดชอบในการตัดสินใจและปฎิบัติงานถาวรในงานประจำเพื่อที่จะให้ผลออกมาตามเป้าหมายขององค์การ และผู้มีอิทธิพลภายนอก (external influencer) คือพวกที่ไม่ใช่พนักงานซึ่งใช้อิทธิพลที่มีผลต่อพฤติกรรมของพนักงาน ในการใช้อำนาจ (power play) จะแบบกลุ่มของผู้ทรงอิทธิพลได้ดังนี้
           กลุ่มในส่วนแรกเป็นการรวมกลุ่มของผู้มีอิทธิพลภายนอก (external coalition)
           1. กลุ่มเจ้าของ (owners) เป็นผู้ถือสิทธิที่ถูกต้องตามกฎหมายขององค์การ
           2. กลุ่มสมาคม (associates) เป็นกลุ่มผู้ส่งสินค้า (suppliers) ในการส่งมอบปัจจัยนำเข้า กลุ่มลูกค้า (clients) ในการรับมอบปัจจัยนำออกที่เป็นสินค้าและบริการ เช่นเดียวกับกลุ่มคู่ค้า (trading partners) และกลุ่มคู่แข่ง (competitors)
           3. กลุ่มพนักงาน (employee associations) เป็นสหภาพ (unions) และสมาคมวิชาชีพ (professional associations) ซึ่งใช้สามารถใช้เสียง (voice) ที่ส่งผลต่อการตัดสินใจและการปฎิบัติโดยตรง
           4. กลุ่มสาธารณะ (publics) เป็นกลุ่มที่เป็นตัวแทนของผลประโยชน์เฉพาะหรือทั่วไปของสาธารณะโดยส่วนใหญ่ ประกอบด้วย กลุ่มผลประโยชน์ทั่วไป (general interest) เช่น ครอบครัว และผู้นำทางความคิดเห็น กลุ่มผลประโยชน์เฉพาะ (special interest) เช่น การเคลื่อนไหวของกลุ่มอนุรักษ์นิยม หรือสถาบันของชุมชนของท้องถิ่น และรัฐบาลในรูปแบบทั้งหมด เช่น ระดับชาติ ระดับภาค ระดับท้องถิ่น กระทรวงและกรม ตัวแทนด้านกฎหมาย เป็นต้น
           5. กลุ่มอำนวยการ (directors) ขององค์การที่เป็นตัวแทนของทั้งสี่กลุ่มแรกและเป็นตัวแทนของผู้มีอิทธิพลภายใน กลุ่มนี้เป็นการรวมกลุ่มแบบเป็นทางการ (formal coalition) และเป็นการเชื่อมต่อ (interface) ระหว่างการรวมกลุ่มทั้งจากภายในและภายนอก
กลุ่มต่อมาจะเป็นการรวมกลุ่มของผู้มีอิทธิพลภายใน (internal coalition)
           6. กลุ่มบริหารระดับสูง (top or general management) ที่อยู่ระดับบนของสายบังคับบัญชา เช่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO)
           7. กลุ่มปฎิบัติการ (operators) เป็นพนักงานซึ่งผลิตสินค้าและบริการหรือผู้ที่ให้การสนับสนุนการผลิตโดยตรง เช่น ผู้ควบคุมเครื่องจักรในโรงงาน หรือหมอและพยาบาลในโรงพยาบาล
           8. กลุ่มผู้จัดการ (managers) เป็นผู้ที่อยู่ในสายบังคับบัญชาจากระดับบริหารระดับสูง มาเป็นผู้บังคับบัญชาชั้นต้น (first-line supervisors) ให้กลุ่มปฎิบัติรายงานโดยตรงอย่างเป็นทางการ อาจเรียกว่า กลุ่มผู้จัดการในสายบังคับบัญชา (line managers)
           9. กลุ่มนักวิเคราะห์ (analysts of the technostructures) เป็นกลุ่มผู้เชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษาในการออกแบบและการปฎิบัติงานของระบบในการวางแผนและควบคุมอย่างเป็นทางการ เช่น นักวิเคราะห์กระบวนการทำงาน นักบัญชีต้นทุน และนักวางแผนระยะยาว
           10. กลุ่มสนับสนุน (support staff) ประกอบด้วยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษาในการสนับสนุนทางอ้อมให้กับกลุ่มปฎิบัติการและส่วนที่เหลือในองค์การ เช่น พนักงานในห้องเอกสาร พ่อครัวในห้องอาหาร นักวิจัย นักประชาสัมพันธ์ และนักกฎหมาย เป็นต้น
รูป 1.1 เป็นการจัดกลุ่มผู้เล่น (the cast of players)
           11. กลุ่มอุดมคติ (ideology) เป็นกลุ่มสุดท้ายในองค์การเป็นความเชื่อร่วมกันของผู้มีอิทธิพลภายในที่จะแสดงความแตกต่างขององค์การระหว่างตัวเองกับองค์การอื่น
รูป 1.1 เป็นการแสดงตำแหน่งของกลุ่มทั้งสิบเอ็ดกลุ่มอย่างเป็นแบบแผน โดยที่การรวมกลุ่มภายในจะอยู่ตรงกลาง โดยมีประธานเจ้าหน้าที่บริหารอยู่สูงสุดตามด้วยสายบังคับบัญชาของกลุ่มบริหารและกลุ่มปฎิบัติการ ทั้งสองข้างซ้ายขวาจะขนาบด้วยกลุ่มนักวิเคราะห์และกลุ่มสนับสนุน เหนือประธานเจ้าหน้าที่บริหารเป็นการรายงานขี้นตรงต่อคณะกรรมการอำนวยการ และที่อยู่รอบนอกเป็นการรวมกลุ่มภายในนอก โดยที่เจ้าของจะอยู่ใกล้ชิดกับส่วนบนสุดของสายบังคับบัญชาในระดับสูง และคณะกรรมการอำนวยการที่ส่งผลของอิทธิพลได้ และกลุ่มสมาคมจะอยู่ล้อมรอบกลุ่มปฎิบัติการเช่นเดียวกับกลุ่มพนักงาน ขณะที่กลุ่มสาธารณะจะอยู่ขอบนอกของระบบอำนาจทั้งหมด ดังนั้นในรูป 1.1 นี้จะแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของกลุ่มต่าง ๆ ที่ซับซ้อนอยู่ในองค์การ

           สรุป กลุ่มผู้เล่นเกมแห่งอำนาจทั้งหมดนี้ได้ถูกตั้งสมมติฐานว่าแต่ละกลุ่มจะต้องมีความต้องการภายในที่ส่งผลให้แสดงบทบาทต่างกัน เนื่องจากบุคคลจะมีแรงขับจากความต้องการที่หลากหลายและความต้องการทั้งหมดก็จะก่อให้เกิดผู้มีอิทธิพลจะนำไปสู่พฤติกรรมต่าง ๆ มากมายไม่มีสิ้นสุด

Power Failure in Management Circuit – Rosabeth Moss Kanter

           การที่พนักงานได้มองว่าผู้จัดการเป็นผู้มีอิทธิพลในระดับเหนือขึ้นไป ทำให้สถานะของพนักงานมีขวัญกำลังใจที่ดี ไม่ต่อต้านเจ้านาย หัวหน้าที่ยิ่งมีอำนาจมากเท่าไรก็ยิ่งมีความเป็นไปได้ในการกระจายอำนาจนั้นมากขึ้นด้วย เช่นในการให้รางวัลคนเก่ง การสร้างทีมที่วางผู้ใต้บังคับบัญชาในตำแหน่งที่สำคัญต่าง ๆ ในทางตรงข้าม การไร้อำนาจ (powerlessness) เป็นลักษณะของเจ้านาย (bossiness) มากกว่าการเป็นผู้นำที่แท้จริง (true leadership) ในองค์การใหญ่ ๆ จะมีพวกไร้อำนาจที่ไร้ประสิทธิผล จัดการไม่เป็น ใช้กฎระเบียบอย่างเคร่งครัดในการจัดการ พวกนี้มีความรับผิดชอบแต่ไม่มีอำนาจ คือ รับผิดชอบในผลลัพธ์แต่ไม่มีทรัพยากรในการจัดการ จะส่งผลให้เกิดความล้มเหลวในที่สุด คนพวกนี้มองดูตัวเองไม่มีอำนาจ อ่อนแอ และจะถูกผู้ใต้บังคับบัญชาต่อต้าน ดังนั้นจึงมีแนวโน้มที่จะใช้การลงโทษในรูปแบบของการสร้างอิทธิพล
           อำนาจมีความหมายถึงการที่ทำให้บรรลุผล (efficacy) และความสามารถ (capacity) ที่จะต้องนำพาองค์การไปสู่เป้าหมายได้ ซึ่งเป็นความสามารถในการจัดสรรทรัพยากรเพื่อทำงานให้สำเร็จ ความหมายในสัญลักษณ์ของอำนาจที่แท้จริงคือการบรรลุ ผลสำเร็จ (accomplishment) นั่นเอง
อำนาจมาจากที่ไหน (where does power come from?) ประสิทธิผลของอำนาจนั้นจะทำให้เกิดความสามารถในการเข้า ถึงทรัพยากร ข้อมูลข่าวสาร และการสนับสนุนในการทำงาน และความสามารถในการได้รับความร่วมมือ ดังนั้นแหล่งของอำนาจในองค์การประกอบด้วย
           1. สายจัดหา (lines of supply) เป็นอิทธิพลต่อสิ่งแวดล้อม คือ ความสามารถในการจัดหาสิ่งที่มีความจำเป็นต่อองค์การ เช่น วัตถุดิบ เงินทุน ทรัพยากรต่าง ๆ ที่จะกระจายในรูปแบบของผลตอบแทนหรือชื่อเสียง
           2. สายข้อมูลข่าวสาร (lines of information) จำเป็นที่จะต้องรู้ถึงข้อมูลข่าวสารทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการ
           3. สายสนับสนุน (lines of support) ในการทำงานที่ให้ได้มาซึ่งความคิดสร้างสรรค์ กิจกรรมที่มีความเสี่ยงจะต้องได้รับการอนุมัติ โดยต้องการข้อมูลสนับสนุนเรื่องตัวเลขที่สำคัญขององค์การเพื่อใช้ในการทำงานให้บรรลุผลตามเป้าหมาย

ตารางที่ 1.2 ปัจจัยขององค์การที่ส่งผลให้มีอำนาจและไม่มีอำนาจ
ปัจจัย (factors)
มีอำนาจ
ไร้อำนาจ
- กฎระเบียบที่มาจากงาน
- ขั้นตอนในการทำงาน
- การสร้างงานประจำ ซ้ำซาก
- ความหลากหลายของงาน
- ผลตอบแทนจากความเชื่อถือได้และพยากรณ์ได้
- ผลตอบแทนจากผลงานที่สร้างสรรค์
- ความยืดหยุ่นในการใช้คน
- ความจำเป็นในการอนุมัติการตัดสินใจที่ไม่เกิดขึ้นบ่อย
- สถานที่ตั้ง
- การประชาสัมพันธ์กิจกรรมงาน
- ลักษณะความสัมพันธ์ของงานกับปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่
- จุดสนใจของงาน
- การติดต่อระหว่างบุคคลในงาน
- การติดต่อกับเจ้าหน้าที่อาวุโส
- การเข้าร่วมในโปรแกรม การสัมนาและการประชุม
- การมีส่วนร่วมกันในงานการแก้ปัญหา
- ความก้าวหน้าของผู้ใต้บังคับบัญชา
น้อย
น้อย
น้อย
สูง
น้อย
มาก
สูง
ต่ำ
ส่วนกลาง
สูง
ส่วนกลาง
อยู่นอกหน่วยทำงาน
สูง
สูง
สูง
สูง
สูง
มาก
มาก
มาก
ต่ำ
มาก
น้อย
ต่ำ
สูง
อยู่ห่างออกไปไกล
ต่ำ
อยู่รอบนอก
อยู่ในหน่วยทำงาน
ต่ำ
ต่ำ
ต่ำ
ต่ำ
ต่ำ

           นอกจากนั้นมุมมองของอำนาจที่เป็นระบบมาจากกิจกรรมของงาน (job activities) และพันธมิตรทางการเมือง (political alliances) โดยที่อำนาจที่มาจากกิจกรรมของงานเป็นการใช้ดุลพินิจ (discretion) ซึ่งไม่ใช่งานประจำ มีความยืดหยุ่น ต้องปรับตัว และมีความสร้างสรรค์ การรับรู้ (recognition) จากการเห็นและสังเกต และความสัมพันธ์กัน (relevance) ในจุดที่แก้ปัญหาองค์การ ส่วนอำนาจที่มาจากพันธมิตรการเมืองมาจากการติดต่ออย่างใกล้ชิดกับผู้สนับสนุน (sponsors) เช่นพวกที่อยู่ระดับสูงขององค์การที่มีอำนาจอนุมัติ และสนับสนุนได้ เครือข่ายเพื่อนร่วมงาน (peer networks) เช่นกลุ่มผู้ที่คุ้นเคยที่ให้การรับรองชื่อเสียง ส่งข้อมูลข่าวสารและข่าวลือ (grapevine) ที่เร็วกว่าช่องทางข้อมูลที่เป็นทางการ และผู้ใต้บังคับบัญชา (subordinates) ที่สามารถแบ่งเบาภาระหน้าที่และเป็นตัวแทนในมุมมองของผู้บังคับบัญชาได้
           ดังนั้นเมื่อผู้จัดการมีอำนาจ ก็สามารถจะโน้มน้าวและจูงใจผู้ใต้บังคับบัญชาได้ แต่ผู้ที่ไม่มีอำนาจจะอยู่ในโลกที่แตกต่างออกไป ขาดทรัพยากร ข้อมูลข่าวสาร และการสนับสนุน และส่งผลให้ทำให้คนอื่นช้าลงและเน้นการลงโทษ

ตำแหน่งกับความไม่มีอำนาจ (positions of powerlessness)
ตาราง 1.3 ได้สรุปให้เห็นถึงลักษณะอาการและแหล่งที่มาของความไม่มีอำนาจในตำหน่งที่สำคัญขององค์การ
ตำแหน่ง
ลักษณะอาการ (symptoms)
แหล่งที่มา (sources)
ผู้บังคับบัญชาขั้นต้น
(first-line supervisors)




- ควบคุมงานด้วยกฎระเบียบ

- มีแนวโน้มทำงานเองแทนที่จะสอนงาน รวมทั้งไม่พัฒนาและไม่ให้ข้อมูลผู้ใต้บังคับบัญชา
- ต่อต้าน และกดหัวผู้ใต้บังคับบัญชา

- งานประจำ หรือ งานที่ใช้กฎระเบียบซึ่งไม่ได้ควบคุมการจัดหา
- มีข้อจำกัดในการได้ข้อมูลข่าวสาร

- มีข้อจำกัดในความก้าวหน้าหรือการมีส่วนร่วมของตัวเองหรือผู้ใต้บังคับบัญชา
ผู้เชี่ยวชาญ
(staffs professionals)


- ปกป้องอาณาเขตตัวเอง ควบคุมข้อมูลข่าวสาร


- ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง
- งานประจำถูกมองเป็นการทำงานจริงของสายหลักองค์การ กลับมาเน้นแต่ความเชี่ยวชาญให้เป็นมาตรฐาน ไม่มีความก้าวหน้าในอาชีพ
- ถูกแทนที่ได้ง่ายจากผู้เชี่ยวชาญภายนอก
ผู้บริหารระดับสูง
(top executives)
- เน้นการตัดงบประมาณในการหวังผลระยะสั้น

- ควบคุมการสื่อสารของข้างบนสู่ข้างล่างแบบเบ็ดเสร็จ
- กลับมาหาพวกที่คิดเหมือนกัน
- ไม่สามารถควบคุมการจัดหาทรัพยากรเนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป
- มีข้อจำกัดหรือถูกปิดกั้นจากข้อมูลของสายบังคับบัญชาระดับล่างขององค์การ
- สายสนับสนุนที่ลดลงจากการท้าทายที่ชอบธรรม เช่น จากสาธารณะ หรือ กลุ่มผลประโยชน์

           ในการขยายอำนาจต้องแบ่งกัน (to expand power, share it) อำนาจขององค์การจะโตได้ต้องมีการแบ่งอำนาจโดยมีการกระจายอำนาจ (delegation) ซึ่งไม่ใช่เป็นการละทิ้งอำนาจ (abdication) ซึ่งผู้ใต้บังคับบัญชาจะมุ่งเน้นและช่วยเหลือผู้บังคับบัญชาได้อย่างมีอำนาจได้เต็มที่ แทนที่จะคอยต่อต้านเพราะคิดว่าผู้บังคับบัญชาไม่มีอำนาจโดยต้องการแต่จะควบคุมอย่างเดียว
           สรุป Kanter ได้พูดถึงความล้มเหลวของอำนาจที่อยู่ในระบบการจัดการ แสดงให้เห็นถึงจุดยืนขององค์การที่มีแนวโน้มที่จะมีปัญหาที่เกี่ยวกับอำนาจและเสนอว่าการที่ไม่มีอำนาจ (powerlessness) เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมากกว่าการที่มีอำนาจในองค์การ1

เชิงอรรถ

1จาก “Classic of Organization Theory Sixth Edition” โดย Jay M. Shafritz, J. Steven Ott, Yong Suk Jang, 2005, Belmont: หน้า 283-351.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความสัมพันธ์ระหว่างค่านิยมเกี่ยวกับงาน ความพึงพอใจในงาน และความผูกพันองค์การ

ความสัมพันธ์ระหว่างค่านิยมเกี่ยวกับงาน ความพึงพอใจในงาน และความผูกพันองค์การ โดย ดร. อนุรักษ์ วัฒนะถาวรวงศ์   ความสัมพันธ์ระหว่างค่านิ...